ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

Mega Trends & Business Transformation
10/04/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 4101 คน
ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์
banner

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้ แท้จริงแล้วอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลง “โครงสร้างประชากร” ที่มีคนสูงวัยมากขึ้น การเกิดลดลง และการเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่ม Gen Z


โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัย ของประเทศไทย (Aged Society) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งขณะนั้นไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 10.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ตอนนี้ ไทยมีคนสูงวัยเกินกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด



นิยามคำว่าผู้สูงวัยในที่นี้ หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปละมีสัญชาติไทย (ตามพ.ร.บ. ผู้สูงวัย ปี 2546) และจากสถิติของสำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า จนถึงเดือนธันวาคม 2566 ไทยมีประชากรสูงวัย ที่มีอายุ 60 ปี จำนวน 13 ล้านคน คิดเป็น 20.17% ของประชากรทั้งหมด


และไทยมีผู้สูงวัย ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของของประชากรทั้งหมด


ขณะที่สถิติการเกิดใหม่ของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5 แสนคน จากที่เคยเกิดสูงสุด 1 ล้านคน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ปี 2626 ไทยจะเหลือประชากรแค่เพียง 33 ล้านคนเท่านั้น


ส่วนที่สอง ไทยมีประชากรคนรุ่นใหม่ Generation Z ที่เกิดระหว่างปี 2540-2555 มีช่วงอายุ 11-26 ปี มีอยู่ที่ 7.6 ล้านคนที่กำลังเติบโตและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าอิทธิพลของคน Gen Z ในการซื้อสินค้าช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นสูงมาก


โครงสร้างประชากรเปลี่ยน “พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน”

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคตามไปด้วย ยกตัวอย่างเทศกาลสำคัญเช่น มหาสงกรานต์ 2567 ที่กำลังจะจัดขึ้น แน่นอนว่าผู้สูงวัยจะทำกิจกรรมอีกแบบ เช่น การไปวัดทำบุญ ไปเยี่ยมญาติ ไปทานข้าวกับครอบครัว




ขณะที่วัยรุ่นก็จะนิยมไปเล่นน้ำ ท่องเที่ยว และใช้บริการโรงแรม ที่ต้องวางแผนการจองล่วงหน้า ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องศึกษาข้อมูล และทรานสฟอร์มธุรกิจตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ทันเวลา เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจ



หากศึกษารายละเอียด จะพบว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค GEN Z จะพบว่มีความโดดเด่น ในเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย ชาว Gen Z ติดโลกออนไลน์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกดิจิทัล มีพฤติกรรมตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรวดเร็ว และไม่เกี่ยงเรื่องราคา มีข้อมูลจากการสำรวจของ Meta พบว่า คนไทย Gen Z มีการใช้ Facebook เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร ประมาณ 91% , กลุ่มที่ใช้ Instagram 83%


คน Gen Z ให้ความสำคัญกับสินค้าที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่เสพติดแบรนด์เนมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีพฤติกรรมที่เรียกว่า Multitasking เพราะทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน จึงอาจจะมีหลายกลุ่มพฤติกรรมที่แตกต่าง และเป็นกลุ่มลูกค้าออนไลน์ตัวจริง


ขณะที่ “คนสูงวัย” ก็นับว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มี “กำลังซื้อสูง” และมีความสนใจในสินค้าและบริการที่แตกต่างหลากหลายไม่ผิดกับวัยรุ่น จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เรียกว่า “Silver Age” ทั้งอาหารสุขภาพ ความสวยงาม เฟอร์นิเจอร์ สัตว์เลี้ยง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยดูแลตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนสูงวัย เช่น Saijai แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสที่ได้รับการพัฒนาเมื่อปลายปี 2564 เพื่อให้บริการคนสูงวัยที่บ้าน หรือ Care From Home



5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2567


โดยหากรวบรวมสรุป เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญที่จะมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการคว้าโอกาสทองในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น 5 เทคโนโลยี ดังนี้


1. ช่องทางการค้าโซเชียลมีเดีย Social Commerce

Oberlo ผู้ให้บริการ e-Commerce ชั้นนำของโลก ประเมินว่า ในปี 2568 จำนวนนักชอปปิงออนไลน์ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2.8 พันล้านคนหรือราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก การค้าออนไลน์ผ่าน Social Media Platform เช่น Facebook, Instagram, WeChat และ TikTok เติบโตก้าวกระโดด กระทั่งมีการคาดการณ์ว่ารายได้ของ Social Commerce โลก จะเพิ่มขึ้นจาก 0.7 ล้านล้านเหรีญสหรัฐ แตะระดับ 6.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573


ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทำให้การต่อยอดสู่การขายสินค้าทำได้ง่าย และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ จากทั่วทุกมุมโลก อย่างกิจกรรมมหสงกรานต์ตอนนี้ เมื่อรัฐบาลโปรโมทออกไป ทำให้มีนักท่องเที่ยวเริ่มจองโรงแรม และค้นหาข้อมูลด้านการทอ่งเที่ยวผ่านโซเชียลคอมเมิร์ช การรีวิวต่าง ๆ เข้ามาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพจของโรงแรม Marketplace หรือคลิปสั้น

2. ปัญญาประดิษฐ์สำหรับธุรกิจยุคใหม่ (Generative AI)

ขณะที่ตัวช่วยใหม่ อย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งภาคธุรกิจนิยมนำ Gen AI มาใช้ในหลายด้าน ทั้งการสร้าง Content ใหม่ ๆ การสร้างแคมเปญการตลาดให้โดนใจลูกค้า ตลอดจนการให้คำปรึกษา/แนะนำลูกค้า เช่น การใช้ ChatGPT ช่วยสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ รวมถึงช่วยคิดสโลแกนสินค้า หรือแคปชันโฆษณาได้ ช่วยออกแบบโลโก้ของแบรนด์


3. เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริง (Augmented Reality : AR)

AR ช่วยให้ผู้ใช้มองเห็นวัตถุในรูปแบบ 3 มิติในพื้นที่จริง ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ปัจจุบันหลายบริษัทใช้ AR เป็นตัวช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เช่น IKEA ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ของสวีเดนใช้ AR ช่วยลูกค้าจำลองการวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้านได้เสมือนจริง Rayban ผู้ผลิตแว่นตาของสหรัฐฯ ใช้ AR ให้ลูกค้าทดลองเลือกแว่นที่เข้ากับใบหน้า



ARtillery Intelligence บริษัทที่ปรึกษาด้าน AR ของสหรัฐฯ คาดว่า รายได้ของ AR โลกในปี 2567 จะแตะระดับ 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือโตถึง 5.4 เท่าจาก 5 ปีก่อน


4. การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจ (Big Data)

ในยุคดิจิทัล ใครมีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นับว่าใกล้เส้นชัยเข้าไปแล้ว เพราะ Big Data เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อยกระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความเสี่ยง การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และการพัฒนากลยุทธ์การตลาด



โดย International Data Corporation บริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ประเมินว่า ปี 2568 ปริมาณข้อมูลในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 25% และมีตัวอย่างบริษัทที่นำ Big Data มาช่วยเพิ่มราย เช่น Netflix ผู้ให้บริการ Streaming ของสหรัฐฯ นำ Big Data โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า Amazon ผู้ให้บริการ E-Commerce ระดับโลกใช้ Big Data วิเคราะห์เพื่อแนะนำสินค้าให้ตรงกับความต้องการลูกค้ามากที่สุด ช่วยให้รายได้ของบริษัทฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 35%


5. ผู้ช่วยด้านเสียง (Voice Assistant)

หลายคนคงเริ่มจะคุ้นเคยกับการใช้ฟังก์ชั่นค้นหาด้วยเสียง (Voice Search)จากการพัฒนา AI ให้สามารถสั่งการด้วยเสียง เพื่อนำมาใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้ง การค้นหาข้อมูล รวมถึงเป็นตัวช่วยสั่งซื้อสินค้า เช่น เครื่องมือสื่อสาร Voice Assistant ที่นิยม เช่น SIRI (Apple), Google Assistant และ Amazon Alexa จนมีการคาดการณ์ว่า ตลาด Voice Assistant Shopping คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 50% ในปี 2568-2569 จะโตเฉลี่ยปีละ 50.5



ทรานสฟอร์มสู่ ดิจิทัล จำเป็นแค่ไหน


การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ ก็เป็นทางหนึ่ง แต่อีกทางหนึ่งการเปลี่ยนผ่านกลยุทธ์การทำตลาดดิจิทัลด้วย โดยจากการวิจัยแนวโน้มการตลาด ปี 2024 ของ Smart insights ที่สำรวจผู้ตอบแบบสอบถาม 403 คนจากองค์กรต่าง ๆ พบว่า แนวโน้มการตลาดและกลยุทธ์ของแบรนด์ เปลี่ยนแปลงไปจากโควิด โดยงบประมาณการตลาดก่อนโควิดอยู่ที่ 11% ของรายได้ จากนั้นปรับลดลงเหลือ 6.4% ของรายได้ ก่อนที่จะฟื้นเพิ่มขึ้นเป็น 9% ซึ่งเป็นอัตราสูงเกือบเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด


ที่ปรากฎเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ คือ บริษัทประมาณ 47% ไม่มีกลยุทธ์การทำตลาดดิจิทัล ทั้งที่บอกว่ากำลังทำการตลาดดิจิทัล และการทำกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลนับเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน และมีความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลด้วย ดังนั้น จึงต้องมีแผนของแต่ละบริษัท เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมาย กลุยทธ์ และวิธีการส่งมอบ


สำหรับแนวทางในการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ด้านเทคโนโลยีจะทำอย่างไรนั้น พอสรุปรวบรวมได้ 5 ขั้นตอน ดังนี้


1. องค์กรต้องกำหนดกระบวนการทางธุรกิจใหม่ ที่ใช้ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม โดยกำหนดขั้นตอนการทำงานมีอะไรบ้าง และจะปรับไปอย่างไร เช่น การให้บริการตอบข้อมูลลูกค้าจะใช้ Chat GPT เป็นอุปกรณ์สำคัญ


2. เลือกเทคโนโลยีที่จะจะใช้ โดยหลักสำคัญจะต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงาน ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกเทคโนโลยีที่มี ซึ่งความเหมาะสมกับงานจะพิจารณาจากเมื่อนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ในกระบวนการทำงานแล้วทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่




3. สร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่พร้อมรับเทคโนโลยี เพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีคนที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ ไม่ใช่ทำให้รู้สึกว่า AI จะเข้ามาแย่งงานตำแหน่งงาน


4. กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่เป้าหมาย


5. กำหนดตัวชี้วัด ในการทำงาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของเทคโนโลยี



การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ไม่เพียงจะเป็นอาวุธสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องใช้ในช่วงนาทีทองอย่างเทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อชิงเค้กยอดจับจ่ายที่คาดว่าจะสะพัดมากถึง 2 แสนล้านเท่านั้น แต่ “ดิจิทัล ทรานสฟอเมชั่น” ยังเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างกรณีของแบรนด์ใหญ่กลายเป็นองค์กรที่ล้มเหลวอย่างโกดัก ที่ละทิ้งการปรับตัว จนพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยีกล้องดิจิทัลในที่สุด



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
4102 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
4062 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1042 | 25/03/2024
ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์