กรณีศึกษา ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก ภาษีคาร์บอน กับโอกาสในวิกฤตธุรกิจที่ปรับตัวได้ ไปต่ออย่างยั่งยืน (PART 2)

ESG
28/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 13334 คน
กรณีศึกษา ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก ภาษีคาร์บอน กับโอกาสในวิกฤตธุรกิจที่ปรับตัวได้ ไปต่ออย่างยั่งยืน (PART 2)
banner
จากตอนที่แล้ว ได้พูดถึงมาตรการ CBAM ของ EU กระทบผู้ส่งออกไทย ที่เริ่มบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป  เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความพร้อม หาไม่แล้วความเสียหายจะตามมาอย่างใหญ่หลวงขนาดไหน สำหรับบทความนี้ มาดู ตัวอย่าง อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ‘ภาษีคาร์บอน’ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กับโอกาสในวิกฤตของ SME ไทย หลังยุโรป เริ่มใช้ ‘ภาษีคาร์บอน’ ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร

ปัจจุบันประเทศสหภาพยุโรปที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) หรือ GHG มากสุดคือ เยอรมนี ตามด้วยฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ สเปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ฉะนั้นสินค้าอุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG ต่อ GDP สูงก็มีโอกาสที่ถูกเก็บภาษีคาร์บอนได้แก่ ปูนซิเมนต์ พลาสติก เตาอบ ปิโตรเลียม เหล็ก ปุ๋ย แก้ว อลูมิเนียม นํ้าตาล (EC, Conversation/CC-BY-ND) กลุ่มเสี่ยงสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งไปยุโรปคือ อลูมิเนียม เหล็กและ ซีเมนต์ แต่ต่อไปจำนวนผลิตภัณฑ์จะมีมากขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์และอลูมิเนียม มีแหล่งพลังงานที่ปล่อย GHG มาจากการใช้นํ้ามันเตา ดีเซล ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ภาษีคาร์บอนที่ประเทศต่าง ๆ เก็บวัดจาก ‘ราคาคาร์บอน 2564’



ต่างประเทศเก็บภาษีคาร์บอนเท่าไหร่

ปัจจุบัน พบว่า สวีเดนเก็บภาษีคาร์บอนสูงสุดของโลกอยู่ที่137 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ 101 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 ญี่ปุ่น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัว CO2 (เก็บจากพลังงานฟอสซิลทั้งหมด) สิงคโปร์เก็บ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล) แอฟริกาใต้ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคารที่ใช้พลังงานฟอสซิล) ฝรั่งเศส 52 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ประเทศในยุโรปเก็บภาษีสูงทำให้รถยนต์ในยุโรปกำหนดการปล่อย CO2 ตํ่าตามภาษีคาร์บอนที่เก็บสูง อาทิ สวีเดน 93 กรัมต่อกิโลเมตร (137 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน Co2) ฟินแลนด์ 100 กรัมต่อกิโลเมตร (73 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน Co2) และเยอรมัน 113 กรัมต่อกิโลเมตร (29 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน Co2)



ผลกระทบ จากการเก็บภาษีคาร์บอน

สำหรับ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ” พบว่า ในยุโรปการเก็บภาษีคาร์บอน 1 ยูโร ทำให้ GHG ลดลงไป 0.73% เงินเฟ้อเพิ่ม 0.8% กรณีแคนาดาเก็บภาษีคาร์บอน 170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 ในปี 2030 (Estimate Impacts of a $170 carbon tax in Canada, 2021) จะทำให้ GDP ลดลง 1.8% คนจะว่างงาน 184,000 คน สอดคล้องกับผลกระทบในประเทศโปแลนด์เมื่อเก็บภาษีคาร์บอนจะทำให้ GDP การลงทุน การบริโภค รายได้ของแรงงานลดลง แต่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น (Distributional Effects of Emission Pricing in a Carbon-Intensive Economy: The Case of Poland, 2020) และกรณีประเทศสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีคาร์บอน 25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 11% ขนส่งเพิ่ม 1.8% อุตสาหกรรม 1.1% เกษตร 0.7% สถาบันการเงิน 0.4% และค่าส่งค้าปลีกเพิ่ม 0.3%
 
ทั้งนี้จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เพียงการส่งออกไป EU เท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ว่าแม้แต่การส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสินค้าไปให้ประเทศอื่นที่จะนำไปผลิตสินค้าส่งออกสู่ EU อีกทอดหนึ่งก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศไทย อาจต้องเสียภาษี CBAM เมื่อส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยัง EU เพราะสินค้านั้นมีชิ้นส่วนที่ผลิตโดยมี Carbon Footprint เกินเกณฑ์ที่กำหนด จึงมีความเสี่ยงที่บริษัทต่างชาติไม่อยากมาตั้งฐานการผลิตในไทย หากไทยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตได้

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินค่าใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) แต่ละสินค้าที่ต้องจ่าย นับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการส่งออก อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า มีค่าใบรับรอง 8.12 ล้านเหรียญสหรัฐ/ตัน, อะลูมิเนียม 7.66 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปุ๋ย 0.001 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ EU นำเข้าจากไทย แต่ยังไม่อยู่ในมาตรการ CBAM ในอนาคตหากมีการบังคับใช้ CBAM จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มในการออกใบรับรอง ดังนี้ สินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 456.81 ล้านเหรียญสหรัฐ อาหาร 233.51 ล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย 130.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ยาง 91.23 ล้านเหรียญสหรัฐ พลาสติก 60.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เคมีภัณฑ์ 43.74 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมมูลค่าที่ต้องจ่ายเพิ่ม 1,016.78 ล้านเหรียญสหรัฐ

นั่นหมายความว่า เมื่อมีการบังคับใช้มาตรการ CBAM จะส่งผลกระทบกับสินค้าไทย คือ 1.ทำให้ราคานำเข้าสินค้าไทยไป EU แพงขึ้น 2.ทำให้ส่งสินค้าไป EU ได้น้อยลง 3.ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของไทย 



ตัวอย่าง ธุรกิจที่ปรับตัว เพื่อให้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ธุรกิจรายใหญ่ในต่างประเทศได้นำแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG มาใช้ในการวางแผนธุรกิจอย่างกว้างขวาง รวมถึงนโยบายการเงินจากธนาคาร และกองทุนต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล สำหรับมิติด้านสิ่งแวดล้อม สามารถวัดได้จากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตทางตรงและทางอ้อมของธุรกิจ 



ยกตัวอย่างเช่น บริษัท PepsiCo ผู้ผลิตน้ำอัดลมชื่อดังที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ต้องการน้ำตาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานรับรอง Bonsucro ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมตั้งแต่ชาวไร่อ้อยไปจนถึงโรงงานน้ำตาล ทำให้โรงงานน้ำตาลไทยที่ขายให้แก่บริษัท PepsiCo ต้องปรับการผลิตให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน
 
นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อย ตั้งแต่การบริหารจัดการแปลง การใส่ปุ๋ย การใช้ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ซึ่งถือเป็นการวางแผนธุรกิจและจัดการวัตถุดิบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตัวอย่าง องค์กรธุรกิจอื่นในต่างประเทศที่มีการวางแผนธุรกิจภายใต้ ESG ได้แก่ กลุ่ม RE1009,  Nestle, Coca Cola, Unilever และ Kellogg เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ แผนธุรกิจของภาคเอกชน มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เร็วและมีมาตรการที่เข้มข้นมากกว่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายของประเทศ อย่างการตั้งเป้าที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยปี 2593 (2050) หรืออีก 28 ปีข้างหน้า ขณะที่แผนของ RE100 มีเป้าในปี 2573 (2030) หรือภายใน 8 ปีเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทชั้นนำของโลกได้มีการปรับเป้าให้เร็วขึ้น 



อย่างเช่น บริษัทรถยนต์ Toyota จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ปี 2593 (2050) ได้ปรับเป้าให้เร็วขึ้นเป็นปี 2578 (2035) ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีการจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในหลายประเทศรวมถึงไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเหล่านี้ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาฐานลูกค้าและอาจจะเป็นการเพิ่มโอกาสแก่ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้



อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไทย ตื่นตัวปรับแผนรับมือ ภาษีคาร์บอน

ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรม หรือ ส.อ.ท. ระบุว่า อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้ให้ข้อมูลผ่านกรมเจรจาการค้าฯ ในการประสานการทางยุโรป ในหลายประเด็น เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงกติกา CBAM ค่อนข้างบ่อย การรักษาความลับทางธุรกิจ การเพิ่มค่า Default Value ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ค่าช่วง Penalty (ค่าปรับช่วงเปลี่ยนผ่าน) มีช่วงกว้างเกินไปและไม่ควรมีการคิด Penalty ระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านก่อนการเก็บจริง นอกจากนี้ควรให้ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเวลาในการปรับตัวมากขึ้น

ล่าสุดกลุ่มได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลกลางในการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม Life Cycle Assessment (LCA) โดยเฟสแรกมุ่งเน้นหาค่ากลางการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อรองรับมาตรการ CBAM ที่เริ่มให้แจ้ง 1 ต.ค.นี้ ความสำเร็จจะส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM สามารถนำไปเปรียบเทียบกับยุโรปหรือค่ากลางของประเทศ และหาจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM ในอนาคต



สำหรับสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ทั้งหล่อบิลเลต อะลูมิเนียมหน้าตัด และอะลูมิเนียมแผ่นม้วน 11 โรงงาน นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น เคเบิล ลวดเกลียว ส่วนประกอบสิ่งก่อสร้าง กระป๋องอะลูมิเนียม ชิ้นส่วนรถยนต์ และอื่น ๆ ทั้งหมดจะทราบต้นทุนที่รวมกับค่า CBAM certification ในกรณีที่ต้องจ่าย เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขันต่อไป



โอกาส SME ไทย หลัง EU เริ่มใช้ ‘ภาษีคาร์บอน’

สำหรับความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือการจัดภาษีคาร์บอนของ EU  ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิตเท่าที่ควร เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว มีผลกระทบเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม EU เท่านั้น

แต่ระบบซัพพลายเชนทั่วโลกเชื่อมต่อกัน ดังนั้นเมื่อมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนของ EU เริ่มบังคับใช้ ผู้ประกอบการรายย่อยในไทยที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป จะถูกกดดันให้รายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน จะส่งผลต่อความสามารถการในแข่งขันด้านราคาบนเวทีโลก



ศักยภาพตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ซึ่งราคาคาร์บอนเครดิตไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากราคาในปี 2561 อยู่ที่ 21 บาท พุ่งขึ้นเป็น 200 บาท ในปี 2566 เติบโตขึ้นถึง 952% ทำให้มีราคาเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 83 บาท อีกทั้งประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 437 ล้านตันคาร์บอนต่อปี และมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยเพียง 0.3% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด ขณะที่ในฝั่งสหภาพยุโรป มีการซื้อขายเครดิตสูงถึง 36% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด 

นั่นหมายความว่า ประเทศไทยมีความต้องการซื้อน้อยกว่าซัพพลายที่มี เป็นโอกาสให้ประเทศไทยนำคาร์บอนเครดิตส่วนเกินไปซื้อขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศพันธมิตรอย่างจีนที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก จึงมีความต้องการคาร์บอนเครดิตสูง

ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการยางพารา บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) มีการตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือมาตรการนี้ จึงเห็นโอกาสด้วยการลงทุนปลูกยางพาราใน สปป.ลาว เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งต้นยางพาราเป็นต้นไม้ที่ดูดซับคาร์บอนได้ดี 1 ไร่ ดูดซับได้ถึง 4 ตัน ทำให้บริษัทสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว



ตลาดคาร์บอนเครดิต โอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย

สำหรับประเทศไทย ภาคเกษตรกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มากเป็นอันดับสอง โดย 60% ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าว ด้วยวิธีการทำนาเปียก ข้าวจึงถูกแช่น้ำนานจนเน่าเสีย ทำให้เกิดก๊าซมีเทนในดิน ซึ่งปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก 

จึงมีการพัฒนาโครงการนำร่องปลูกข้าวแบบนาเปียกสลับแห้งร่วมกับองค์กรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีปลูกข้าว โดยวิธีนี้สามารถลดคาร์บอนได้ครึ่งหนึ่งของการปลูกข้าวแบบปกติ ลดต้นทุนการใช้น้ำ อีกทั้งยังให้ผลผลิตที่ดีกว่า ซึ่งโครงการจะมีการแบ่งรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนา และสามารถขายข้าวในรูปแบบ Low Carbon Rice ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย เมื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ



โอกาสในวิกฤตกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

จากปัจจัยกดดันทางการค้าที่กล่าวมา ทำให้เทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เพียงทางรอดจากวิกฤตโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางให้ธุรกิจทำกำไรจากเทคโนโลยีและบริการเหล่านี้อีกด้วย ไม่เพียงมาตรการภาครัฐ แต่ภาคธุรกิจจำนวนมากก็สมัครใจลดโลกร้อนด้วยการประกาศว่าจะเป็น Net Zero กันอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง บริษัทไมโครซอฟต์ ประกาศว่า จะทำให้ได้ภายในปี 2573 โดยใช้พลังงานสะอาดในทุกโรงงานและสำนักงานทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจึงมีตลาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันถือว่าความต้องการพลังงานสะอาดในประเทศไทยยังมีมากกว่าที่ผลิตได้เสียอีก

สำหรับนักลงทุนที่มองการณ์ไกล นี่คือสัญญาณพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเริ่มกระจายพอร์ตมาลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ EU บังคับเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2569 เพราะแค่ปัจจุบันโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยก็เซ็นสัญญาขายไฟเต็มกำลังการผลิตล่วงหน้ากันไปเป็น 10 ปีแล้ว สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพียร์ พาวเวอร์ (PeerPower) มี Project Green Energy ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนหุ้นคราวด์ฟันดิง เป็นโอกาสให้ธุรกิจ SME ได้ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า และก๊าซชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเพื่อเปิดบัญชีนักลงทุนกับแพลตฟอร์มเพียร์ พาวเวอร์ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชี

ขณะที่ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เตรียมบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยจะส่งผลต่อไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยเร่งปรับกระบวนการผลิต ลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออก ไม่เพียงแต่ตลาดยุโรปเท่านั้นที่ออกมาตรการนี้ สหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณาออกมาตรการลักษณะนี้เช่นกันคือกฎหมาย US Clean Competition Act และอาจเริ่มเก็บค่าภาษีคาร์บอนภายในปี 2569

โดยปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดใหญ่ของไทยสำหรับการส่งออกอาหารทะเล อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรส ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยปรับธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับเทรนด์สีเขียว จะช่วยรองรับกระแสอนาคตนี้ และรักษาศักยภาพการแข่งขันไทยในเวทีนานาชาติได้

ยิ่งไปกว่านั้น การออกกฎเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนของตลาดต่างประเทศ ยังเป็น “โอกาสใหม่ของธุรกิจสีเขียว” ไม่ว่าจะเป็นหลอดกระดาษ กล่องชานอ้อยแทนโฟม น้ำยาล้างจานที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เนื้อสัตว์จากพืชและแมลงทอดที่ลดก๊าซเรือนกระจกแทนการทำปศุสัตว์แบบเดิม ฯลฯ ที่ไทยสามารถส่งขายในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา สำหรับมาตรการ CBAM จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2569 จะต้องรายงานข้อมูล พร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี



ผู้ส่งออกของไทยไปยัง EU ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สามารถรองรับมาตรการดังกล่าว เพื่อรักษาลูกค้าเดิมไว้และขยายตลาดออกไปหากประเทศอื่น ๆ ดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกับ EU เช่น ในสหรัฐอเมริกา วุฒิสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่คล้ายกับของ EU ที่เรียกว่า US-CBAM ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 เช่นกัน โดยเบื้องต้นจะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้ ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์โรงกลั่น ปิโตรเคมี กรดอะดิปิก ผลิตภัณฑ์แก้ว กระดาษและเยื่อกระดาษ และเอทานอล

ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยและประเทศอื่น ๆ สามารถเปลี่ยนวิกฤตของมาตรการ CBAM ให้กลายเป็นโอกาสเพื่อรักษาและขยายฐานตลาด EU และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงแรกของมาตรการซึ่งผู้ส่งออกยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมได้

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการทวนสอบรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรตามมาตรฐาน ISO 14064-1 และระดับโครงการตามมาตรฐาน ISO 14064-2 สามารถขอรับบริการได้จากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO (MASCI) เพื่อพร้อมรับมาตรการ CBAM ของ EU และมาตรการ CBAM ของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการจัดการด้านสิ่งแดล้อมที่ส่งเสริมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่ามาตรการดังกล่าว ได้จุดประกายให้ทั่วโลกหันมาใช้มาตรการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือในตลาดอื่น ๆ รวมถึงอาจมีการขยายขอบข่ายไปยังสินค้าอื่นที่ส่งผลต่อไทยมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวได้ทั้งในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถสร้างโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ที่สำคัญสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจต่อไปในอนาคต


อ้างอิง



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
112 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2840 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3841 | 30/03/2024
กรณีศึกษา ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก ภาษีคาร์บอน กับโอกาสในวิกฤตธุรกิจที่ปรับตัวได้ ไปต่ออย่างยั่งยืน (PART 2)