วิวัฒน์ฟาร์มปลา เพาะเลี้ยงปลากดคังรายใหญ่ที่สุดในไทย ปลาเศรษฐกิจกำไรงาม

SME in Focus
20/11/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 8767 คน
วิวัฒน์ฟาร์มปลา เพาะเลี้ยงปลากดคังรายใหญ่ที่สุดในไทย ปลาเศรษฐกิจกำไรงาม
banner

ธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาแม่น้ำ อีกหนึ่งอาชีพกระแสแรงที่คนมีต้นทุน และความรู้ด้านการเลี้ยงปลาสามารถต่อยอดจากการเลี้ยงปลาน้ำจืดเศรษฐกิจชนิดเดิมๆ ได้ อาทิ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสลิด และปลาสวาย ฯลฯ ขยายไปสู่การเพาะเลี้ยงปลาแม่น้ำ แต่ด้วยความยุ่งยากและต้องมีความรู้เฉพาะด้าน จึงทำให้ที่ผ่านมาตลาดนี้มีผู้เล่นน้อย แต่ถึงกระนั้น หากมีคนทำสำเร็จธุรกิจก็จะไร้ซึ่งคู่แข่งไปอีกหลายปี

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


เช่นเดียวกับกรณีของ คุณวิวัฒน์ เอกสุทธิ์ เจ้าของวิวัฒน์ฟาร์มปลา ธุรกิจเพาะพันธุ์และจำหน่าย ปลากดคังปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ มีพฤติกรรมการอยู่อาศัยตามแม่น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเนื้อปลากดคังเป็นที่นิยมนำมาปรุงเป็นเมนูอาหาร

เขาเล่าว่า เริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2531 โดยฟาร์มปลาตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตำแหน่ง สัตวบาล ที่บริษัทด้านธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์รายใหญ่ของประเทศมากว่า 10 ปี ได้รับความรู้ด้านการดูแลสัตว์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การควบคุมสายพันธุ์ และการทดสอบพ่อแม่พันธุ์ ประกอบกับความตั้งใจเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว ทั้งมองว่า ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์บกยังสูง เลยเลือกที่จะทำธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มีการจัดการที่ง่าย และต้นทุนต่ำกว่า

“สมัยก่อนเพาะพันธุ์ปลายังน้อย จึงลาออกจากงานมาเพาะปลา เรียนรู้อะไรเอง โดยเริ่มเพาะปลาดุกเป็นหลัก ผมเพาะเลี้ยงปลาดุกตั้งแต่สมัยปลากดุกบิ๊กอุยยังไม่เกิด”

 คุณวิวัฒน์ เล่าว่า เขาเริ่มที่ ปลาดุก ปลาเศรษฐกิจในช่วงนั้น และตลาดยังมีการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ไม่มาก เขาเป็นรายแรกๆ ที่มีการนำสายพันธุ์ปลาดุกอุย หรือปลาดุกนา มาผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาดุกรัสเซียจนได้เป็นสายพันธุ์ Hybrid คือ ปลาดุกบิ๊กอุยที่โตเร็ว เลี้ยงง่าย ทนต่อโรค โดยในช่วงแรกที่พัฒนาพันธุ์ใช้เวลาเลี้ยงไม่เกิน 2 เดือนก็จับขายได้ ขณะที่ปัจจุบันอาจจะต้องเลี้ยง 4-5 เดือน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์เลย

“ผมทำมาเป็นคนแรกๆ ทำฟาร์มปลากดุกอยู่ประมาณ 12-13 ปี ภายหลังเกิดคู่แข่งมากขึ้น และราคาปลาดุกเริ่มไม่ขยับ ที่สำคัญคือต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นมาก ทำให้มองว่าตลาดเริ่มตันแล้ว จึงมีแนวคิดว่าจะทำปลาตัวอื่น”


จากปลาดุกบิ๊กอุย สู่ ปลากดคัง ปลาแม่น้ำที่ยังไม่ค่อยมีใครเลี้ยง  

คุณวิวัฒน์ วิเคราะห์ว่า ปลาแม่น้ำ ในอนาคตต้องได้รับความนิยมสูง เนื่องจากปลาที่จับโดยธรรมชาติจะลดลง เลยปรับจากการเลี้ยงปลาดุก แล้วหันมาเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาแม่น้ำ ผ่านการลองผิด ลองถูกมามากพอสมควร เพราะการนำปลาแม่น้ำมาเพาะเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ทดลองขยายพันธุ์ปลายแม่น้ำหลายชนิดจนได้บทสรุปที่ ปลากดคัง ซึ่งเป็นปลาแม่น้ำตระกูลปลาหนัง หรือ Catfish เช่นเดียวกับปลาดุก

โดยนำประสบการณ์ผสมเทียมปลาดุกอุย มาปรับใช้กับปลากดคัง ซึ่งได้นำเงินทุนจากการเลี้ยงปลาดุกมารับซื้อพ่อแม่พันธุ์ปลากดคังมาผสมเทียม มาเลี้ยงและรีดเชื้อ รีดไข่ และเพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาล ใช้เรียนรู้อยู่ 3 ปีเต็ม กว่าที่จะประสบความสำเร็จ เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลากดคังได้สำเร็จ

“เอาแล้วโว๊ย! สำเร็จแล้วโว๊ย! หลังจาดลองผิด ลองถูกมา 3 ปีเต็ม ในที่สุดก็ปรับสูตรการผสมเทียมแม่ปลากดคังได้สำเร็จ ผมดีใจมาก”

คุณวิวัฒน์ เล่าต่อด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นว่า เคล็ดลับ คือต้องหาพ่อแม่พันธุ์ปลาที่อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ และต้องเข้าใจธรรมชาติของปลา พอจับจุดได้ จึงเริ่มเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เองด้วย เพราะปลาที่จับจากธรรมชาตินั้น เป็นไปได้ยากที่จะควบคมสายพันธุ์ให้คงที่ได้ ปัจจุบัน วิวัฒน์ฟาร์มปลาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และจำหน่ายลูกปลากดคังรายแรก และรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

“ช่วงเลี้ยงใหม่ๆ ลูกค้ายังไม่มากเท่าไหร่ เพราะเมื่อก่อนคนนิยมบริโภคปลาที่จับจากแม่น้ำ แต่ปัจจุบันเริ่มหายากขึ้น และตลาดบริโภคเพิ่มขึ้นมากทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญคู่แข่งยังน้อย

สำหรับราคาปลากดคังโดยทั่วไปตามท้องตลาดจะขายตามขนาด อาทิ ขนาด 3 กก.มีราคาประมาณ 180-200 บาท/กก. หรือขนาด 1-2 กก.ราคาจะอยู่ที่ 120 -150 บาท และอีกข้อดีของการเพาะเลี้ยงปลาแม่น้ำที่ คุณวิวัฒน์แนะนำคือ ขนาดปลาแม่น้ำที่ยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งมีราคาสูง ดังนั้นในช่วงที่จับปลาไม่ได้ หรือตลาดได้รับผลกระทบจนต้องหยุดอาทิ จากปัญหาการระบาดของโควิด 19 ก็ยังสามารถเลี้ยงไปเรื่อยๆ ได้ รอตลาดราคาดีค่อยจับขาย แถมได้ราคาดีด้วย

บอกเทคนิค เลี้ยงปลากดคังให้ได้ผล

1.น้ำต้องสะอาด โดยปลากดคังเป็นปลาธรรมชาติที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ดังนั้นการเพาะเลี้ยงให้ได้ขนาดที่สมบูรณ์ดีจะต้องบ่อหรือกระชังที่มีน้ำไหลผ่านตลอด หรือมีปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต

2.เลี้ยงด้วยอาหารเม็ด โดยให้อาหารวันเว้นวันง่ายและสะดวก

3.ในกรณีเลี้ยงในกระชังจะมีปลาธรรมชาติเข้าไปในกระชัง ซึ่งปลาจะเข้ามากินอาหารเม็ด และปลาเล็กๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นอาหารของปลากดคังอีกที ซึ่งด้วยอุปนิสัยของปลากดคังเป็นปลาที่กินสัตว์น้ำอื่นเป็นอาหาร

ขณะที่เคล็ดลับสำคัญในการเพาะพันธุ์ปลาให้สำเร็จอยู่ที่ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ไม่อ้วนหรือผอมมากไป จะทำให้ได้น้ำเชื้อและไข่ปลามีความสมบูรณ์ดี รวมทั้งธรรมชาติของปลากดคังจะหยุดไข่ในฤดูหนาว ประมาณช่วงตุลาคม- ธันวาคม แต่จะเริ่มมีรีดไข่และน้ำเชื้อในช่วง เดือนมีนาคม – พฤษภาคม ดังนั้นช่วงเวลาก็ส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จในการผสมเทียมปลากดคัง


ภายหลังได้รีดไข่และผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้ ถ้าไข่มีความสมบูรณ์ดีจะมีอัตราการฟักเป็นตัวถึง 80 % โดยในวิวัฒน์ฟาร์มสามารถผลิตและจำหน่ายตั้งแต่ลูกปลาทุกขนาด และมีสต๊อกพร้อมจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านตัวต่อเดือน ราคาปลานิ้วอยู่ที่ 1.50 - 4 บาท/ตัว และปัจจุบันมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในฟาร์มปลาจะมีการเลี้ยงทั้งแบบกระชัง บ่อซีเมนต์ และบ่อดิน ซึ่งการเลี้ยงแต่ละแบบก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน โดยเกษตรกรจะต้องมองที่ความพร้อมเป็นหลัก

“ก่อนขายลูกปลาผมจะฝึกให้ปลากินอาหารเม็ดเป็นก่อน และบอกวิธีให้เกษตรกรที่ซื้อลูกปลาไปเลี้ยง ทำให้เลี้ยงง่าย และยุ่งยากน้อยกว่าการให้อาหารสด”

อย่างไรก็ตาม คุณวิวัฒน์ บอกว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เขายังไม่มีแนวคิดที่จะเลี้ยงปลากดไซส์ใหญ่ (ขนาดตั้งแต่ 3 กก.ขึ้นไป) ออกสู่ตลาด เพราะไม่อยากจะไปแข่งขันกับเกษตรกรที่รับลูกปลาจากฟาร์มไปเลี้ยง ที่ผ่านมาจึงเพาะพันธุ์และขายลูกปลา มากกว่าการขายปลาไซส์ใหญ่ ทั้งต้องการให้ตลาดปลากดไซส์ใหญ่ขยายมากกว่านี้ด้วย  

จบโควิด ตลาดปลากดคังจะกลับมากระแสแรงอีกครั้ง

คุณวิวัฒน์ บอกอีกว่า ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหา ภายในฟาร์มปลาก็เช่นกัน พอมีสถานการณ์โควิด 19 ลูกค้าปลาก็หายไปบางส่วน เนื่องจากร้านอาหารปิด ตลาดปิด แต่เขามีแนวคิดว่า ข้อดีของปลากดคังคือตลาดไม่จำกัดไซส์ จึงสามารถเลี้ยงไปได้เรื่อยๆ และอย่างที่บอกว่า ขนาดยิ่งใหญ่ ราคายิ่งสูง  ดังนั้น หลังจากเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โอกาสของตลาดปลากดคังก็จะเปิดกว้างอีกครั้ง เพราะเป็นเมนูยอดนิยมสำหรับร้านอาหาร

“ผมว่าตลาดมันก็ไปของมันเรื่อยๆ และกลุ่มคนเลี้ยงปลากดคังส่วนใหญ่จะเป็นคนมีฝีมือ มีต้นทุน และยังมีตลาดรองรับอีกมาก แต่การตลาดวิวิวัฒน์ฟาร์มก็ยังเน้นปากต่อปาก เราเป็นฟาร์มใหญ่ที่ขายลูกปลา ลูกค้าประจำเชื่อมั่นในคุณภาพ และปัจจุบันก็ยังมีคู่แข่งน้อย”


ปลากดคังเพาะเลี้ยงโดยคนไทยลุยตลาดปลาเวียดนาม

สำหรับตลาดปลากดคัง คุณวิวัฒน์ ไม่ได้ขายเฉพาะในประเทศ แต่ช่วง 6 -7 ปีที่ผ่านมายังมีออเดอร์จากประเทศเวียดนาม โดยมีนายหน้ามาติดต่อขอซื้อปลาไปเพาะเลี้ยง หรือขายเป็นออเดอร์ใหญ่ ซึ่งการขนส่งพ่อค้าที่มารับซื้อจัดการกันเองทั้งหมด รูปแบบการขนส่งด้วยรถบรรทุกซึ่งใช้เวลาในการขนส่งราว 20 ชม. นับเป็นออเดอร์ล็อตใหญ่ที่จ่ายเงินก่อนมารับปลาด้วยซ้ำ แม้ตลาดนี้ยังมีไม่มากนักแต่ว่าด้วยแนวโน้มที่มองว่าคนนิยมบริโภคปลาแม่น้ำมากขึ้น ตลาดก็จะโตขึ้นได้เอง ที่สำคัญกำไรมากกว่าครึ่ง เหตุนี้จึงมองว่า ตลาดปลากดคังจะขยายไปในตลาดอาเซียนได้มากขึ้นในอนาคต

ไม่เฉพาะปลากดคัง ปลาแม่น้ำชนิดอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน อาทิ ปลาเนื้ออ่อน ปลาหมู ที่รสชาติอร่อย ราคาสูง หรือแม่แต่การเลี้ยงกุ้งฝอยที่ตลาดต้องการสูงและยังมีแนวโน้มที่ผลิตได้ไม่พอขาย ซึ่งภายในวิวัฒน์ฟาร์มก็ได้สนใจ และที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาพันธุ์ปลาแม่น้ำชนิดใหม่ หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับธุรกิจ ทั้งส่งต่อองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับรุ่นลูกและหลานได้สานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป

แต่สำหรับคุณวิวัฒน์ในวัย 64 ปี เขาบอกว่า ผมพอใจแล้ว จะขยับขยายอะไรก็แค่นี้ แนวคิดผมเล็กๆ แต่มีคุณภาพ เพาะปลาที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด ไม่เน้นปริมาณ จึงไม่เหนื่อยมาก ถึงเวลาก็วางมือ ปล่อยให้คนรุ่นหลังเค้าทำต่อ”


กว่า 18 ปีของคุณวิวัฒน์ในการริเริ่มเพาะเลี้ยงปลากดคังจนเกิดความสำเร็จในทุกวันนี้ เขาบอกว่าถึงแม้จะยาก แต่ข้อดีของการทำเรื่องยากๆ คือถ้าเราทำสำเร็จ ก็จะเหนือกว่าคู่แข่งขั้นหนึ่ง ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วิวัฒน์ฟาร์มปลาจึงเป็นธุรกิจที่ยังไร้คู่แข่ง แต่ก็ไม่ลืมที่จะพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มี และหาโอกาสใหม่อยู่เสมอ นี่คือวิถีของเกษตรกรไม่หยุดเรียนรู้ ต่อยอด และเมื่อถึงเวลาก็ส่งต่อให้คนรุ่นหลังสืบทอดองค์ความรู้นี้ หรือนำไปต่อยอดต่อไปในอนาคต  

รู้จักวิวัฒน์ฟาร์มเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.viwatfarm.com

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
167 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
266 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
895 | 17/04/2024
วิวัฒน์ฟาร์มปลา เพาะเลี้ยงปลากดคังรายใหญ่ที่สุดในไทย ปลาเศรษฐกิจกำไรงาม