3 Step เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องทำอย่างไร? ให้ไปถึงเส้นชัย

Edutainment
04/08/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1530 คน
3 Step เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องทำอย่างไร? ให้ไปถึงเส้นชัย
banner
ประเทศไทยตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon neutrality ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emissions ภายในปี 2065 ‘ภาคธุรกิจ’ เป็น Keyword สำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้

ถือเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือ Net Zero จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการและวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นหนทางที่ผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ จะเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้

‘Carbon neutrality’ กับ ‘Net Zero Emissions’ มีความสำคัญอย่างไร?

ก่อนอื่นเราจึงต้องเข้าใจคำนิยามของ ‘Carbon Neutrality’ กับ ‘Net Zero Emissions’ ก่อน ว่าคืออะไร มีความแตกต่างกันและสำคัญอย่างไร ซึ่งความจริงแล้ว ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เท่ากับศูนย์ แต่มีกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน ดังนี้

ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา

โดยผ่านขั้นตอน 3 Step ได้แก่
1) การลด
2) ชดเชย 
3) ดูดกลับ 

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ห่างกันถึง 15 ปี เนื่องจาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตัดกลไกการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตออกไปนั้นเอง

ดังนั้นหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero ได้ นั่นหมายถึงว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้

จะเห็นได้ว่าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สามารถทำได้หลากหลายวิธี ที่จะทำให้ธุรกิจเราบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ในที่สุด โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังเยียวยารักษาโลกให้น่าอยู่ขึ้นอีกด้วย

ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการนำขั้นตอนทั้ง 3 Stepไปปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ จะสามารถนำธุรกิจไปสู่หมุดหมาย Net Zero ได้อย่างแท้จริง



Step ที่ 1 : ‘Energy Efficiency’ ถือก้าวแรกของการลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การลดการใช้พลังงาน เป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ โดยตั้งเป้าการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยใช้ มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency: EE) เช่น

-การปรับ เปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED 

-การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์และระบบ เช่น ติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่ผนัง หลังคาหรือห้องใต้ดิน รวมไปถึงการเลือกทาสีและใช้หลังคากันความร้อน เพื่อควบคุมอุณหภูมิที่เย็นสบายภายในอาคาร เป็นต้น

-การติดตั้งระบบควบคุมและเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น การติดตั้งระบบจัดการแสงอัจฉริยะ และสมาร์ทมิเตอร์ (Smart Meter)

- การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ประหยัดพลังงาน หรือเลือกประเภทอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น เตาไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (Induction Stove) แทนที่เตาไฟฟ้า

- ออกแบบอาคารสีเขียว เพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC นับว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่จะช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคารอย่างน้อยร้อยละ10 ซึ่งจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3 - 5 % และคืนทุนไม่เกิน 3 ปี แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว

โดยจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานที่ลดลง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ธุรกิจที่ให้ความสำคัญการประหยัดพลังงานและและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

- บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO : Energy Service Company) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการลดต้นทุนด้านพลังงานและมีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานให้แก่ผู้ลงทุนได้ ด้วยการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนเข้ามาช่วยลดพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดย ESCO จะเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจต่าง ๆ แทนอาคารหรือโรงงาน ตั้งแต่การออกแบบโครงการ การขออนุญาตก่อสร้าง การหาแหล่งเงินทุน การติดตั้ง ตลอดจนการตรวจวัดเพื่อพิสูจน์ผลประหยัด โดยที่ ESCO จะต้องรับประกันผลการประหยัด หมายความว่า ถ้าไม่สามารถประหยัดได้ตามที่ตัวเองสัญญาไว้ก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับบริการ

- ผู้ประกอบการ SME ต้องลดการปล่อยคาร์บอนด้วยพลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงมาก เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานชีวภาพจากของเสียจากพืชหรือมูลสัตว์ในการผลิตไฟฟ้า


อ้างอิง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
กระทรวงพลังงาน

สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

สถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI)



Step ที่ 2 : “การชดเชยคาร์บอน”

หมายถึง กิจกรรมส่งเสริมให้ซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร หรือ ผลิตภัณฑ์ หรือ บุคคลเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมดังกล่าว ลดลง หรือ เท่ากับศูนย์

โดยธุรกิจที่ไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ทั้งหมด  ต้องชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมาด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ในกรณีที่สามารถชดเชยคาร์บอนได้บางส่วนและยังคงเหลือปริมาณการปล่อยคาร์บอนอยู่ส่วนหนึ่ง เรียกว่า “Carbon Offset” ส่วนกรณีที่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด เรียกว่า “Carbon Neutral”

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราต้องชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทอื่นที่ขายคาร์บอนเครดิต

อ้างอิง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)



Step ที่ 3 : "กำจัด" - "กักเก็บ"

การไปถึงเส้นชัย Road to Net Zero เมื่อเราลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำพลังงานหมุนเวียนมาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังหลงเหลือก๊าซคาร์บอนอยู่ ก็ต้องใช้มาตรการ "กำจัด" 

โดยใช้เทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอนที่ปล่อยออกมาให้กลายเป็นศูนย์ นั่นหมายความว่าเมื่อเราผลิตสินค้าแล้วปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ จะต้องดูดซับ หรือดูดกลับก๊าซคาร์บอน รวมถึงการปลูกป่า เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนให้ได้เท่ากับที่ปล่อยออกไปทั้งหมดนั่นเอง

เช่น ‘ป่าชายเลน’ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถดูดกลับคาร์บอนได้กว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่

ขณะที่ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในภาคป่าไม้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero GHG Emissions ผู้ประกอบการที่ต้องการคาร์บอนเครดิตจากระบบนิเวศ

เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตอาจเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

หากโครงการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 3 แสนไร่และปริมาณคาร์บอนที่กับเก็บได้ในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยศักยภาพฯ คาดว่าจะเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 MtCO2

และสุดท้ายคือการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษเป็นศูนย์ได้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่แหล่งกำเนิด และกักเก็บไว้ใต้พื้นดิน หรือใต้ทะเลอย่างถาวร 

กล่าวคือ หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน ไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตนั่นเอง

จึงเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เป็นศูนย์ ซึ่งการกำจัดคาร์บอนจากอากาศสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sequestration) คือการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนในอากาศ นำมากักเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติ เช่น มหาสมุทร ดิน และชั้นหิน

2. การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) คือการดักจับก๊าซคาร์บอน จากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ อย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล โดยเมื่อดักจับมาแล้ว จะนำไปกักเก็บที่แหล่งกักเก็บต่ออีกที

3. คาร์บอนเทค (Carbontech) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าคาร์บอนที่ดักจับมาได้ ไปต่อยอดกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น นำไปผสมในคอนกรีต หรือนำไปผลิตวัสดุที่มีคาร์บอนเป็นส่วนผสม

อ้างอิง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
776 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
11059 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
13516 | 03/10/2023
3 Step เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องทำอย่างไร? ให้ไปถึงเส้นชัย