ประชุมโลกร้อน COP27 คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ แล้วไทยได้อะไร ? จากการประชุมครั้งนี้

ESG
25/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 14261 คน
ประชุมโลกร้อน COP27 คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ แล้วไทยได้อะไร ? จากการประชุมครั้งนี้
banner
เมื่อโลกที่เราอยู่ กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายรอบด้าน ทำให้กระแสความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากประชาคมโลก โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เชื่อว่า ESG ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างลุกขึ้นมาร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตซ้ำซ้อนที่ใกล้ตัวมากขึ้น



สำหรับเวทีการประชุมสำคัญที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP27’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 ที่จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565

การประชุม COP27 ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 35,000 คน รวมถึงตัวแทนรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์ และภาคประชาสังคม หลังประชุมอย่างตึงเครียดมาร่วมเกือบสองสัปดาห์เพื่อหารือแนวทางเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มุ่งประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage Fund) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น



COP27 คืออะไร ?

COP 27 คือเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 โดยเวที COP เป็นการประชุมภาคี (Conference of Parties) ด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ปี 1992 ที่รัฐภาคีเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกจะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมหารือกันเป็นประจำทุกปี

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว หากทุกประเทศยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อนอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และแก๊ส  อุณหภูมิของโลกในระยะเวลาอันสั้นนี้ จะเพิ่มสูงขึ้นไป 1.5 องศาเซลเซียสจากฐานของอุณหภูมิโลกเมื่อปี 1850 และหากว่าอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นเกินเพดาน 1.7-1.8 องศาเซลเซียส

โลกของเราก็จะพบกับหายนะครั้งยิ่งใหญ่ เพราะประชากรกว่าครึ่งโลกหนึ่งของโลกจะตกที่นั่งลำบากทันที เช่น ภาวะการไร้ที่อยู่อาศัยจากการที่พื้นดินหลายแห่งจมลงไปในทะเล พื้นที่ทำเกษตรหายไป รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องสูญเสียไปด้วย



สาระสำคัญที่สรุปได้จากการประชุม COP27 มีรายละเอียด ดังนี้

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องจัดตั้งกองทุนในการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย นับเป็นการต่อสู้ทางการทูต สำหรับหมู่เกาะเล็ก ๆ และประเทศเปราะบางอื่น ๆ ในการเอาชนะกับ 27 ชาติในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาแนวทางนี้ถูกต่อต้านจากประเทศร่ำรวยหลายประเทศ

การเกิดขึ้นของกองทุนดังกล่าว เป็นผลมาจากฐานคิดที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงต่างเคยทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมาในอดีต

ท้ายที่สุด ประเด็นดังกล่าวยุติลงได้ด้วยการตั้งข้อตกลงที่เรียกร้องให้เงินทุนที่ชดเชยมาจากแหล่งกองทุนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงสถาบันการเงิน แทนที่จะพึ่งพาประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก่อตั้งกองทุนได้สำเร็จ เพราะแม้จะมีการกำหนดจัดตั้งกองทุน แต่พบว่ายังขาดการระบุรายละเอียดที่ชัดเจน



โลกร้อนขึ้น ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ‘ค่าชดเชย’

เพื่อความยุติธรรม ค่าชดเชย กลายเป็นข้อเรียกร้องของประเทศขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยประเทศที่ร่ำรวยต้องเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากเป็น กลุ่มประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกรวมกว่าครึ่งโลก นับตั้งแต่มีการปล่อยคาร์บอน

ดังนั้น ประเทศร่ำรวยตามนิยามของ UN คือ  23 ประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีซ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก ต้องร่วมกันรับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอีกกว่า 150 ประเทศ ต้องร่วมกันรับผิดชอบคาร์บอนอีกครึ่งที่เหลือ

ทั้งนี้ จากข้อมูลการรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)) ระบุถึงดัชนีความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ช่วงปี 2000-2019 ซึ่งประเทศ 9 อันดับที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้แก่ เปอร์โต ริโก เมียนมา เฮติ ฟิลิปปินส์ โมซัมบิค บาฮามัส บังคลาเทศ ปากีสถาน และไทย

สิ่งที่ทั้ง 9 ประเทศนี้ต้องเจอคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก อีกทั้งประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรมากพอที่จะรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงปรับตัวในวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ได้เลย

หากพิจารณาจากตัวเลขโดยประมาณจากงานวิจัยระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 290-580 พันล้านดอลลาร์  (หรือราว 10.3-20.6ล้านล้านบาท) ซึ่งในปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศร่ำรวยสัญญาว่า จะมอบเงินปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือราว 1.425 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนได้ปรับตัว โดยทาง UN ให้ข้อมูลว่า เงินจำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่า 1 ใน 5 ของเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเสียอีก 



ทำไม ? ต้องมี ‘กองทุนชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1760 เรื่อยมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการทำเกษตรกรรม การใช้แรงงานมนุษย์มาพึ่งพาเครื่องจักรและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตมากขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะนำความทันสมัยและเทคโนโลยีมากมาย แต่ละประเทศต่างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ คาร์บอนบรีฟ ระบุถึงสถิติกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดตั้งแต่ปี 1850-2021 คำนวณจากแหล่งกำเนิดการปล่อยก๊าซคือเชื้อเพลิงฟอสซิล และการใช้ที่ดิน ใน 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีนและรัสเซีย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย 

ดังนั้นการ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) ก็เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศให้กับประเทศยากจน 100,000 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ทุกชาติเห็นตรงกันว่า ให้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการบรรเทาผลกระทบและปรับตัว แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการนำเงินนี้ไปใช้ในส่วนที่สามคือ ความเสียหายและการสูญเสีย เงินช่วยเหลือก้อนใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาฟื้นฟูตัวเองจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังเผชิญอยู่ อย่างเช่นบ้านเรือนที่ถูกทำลาย โรงพยาบาลที่ถูกน้ำท่วม และพืชผลการเกษตรที่แห้งตาย



ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา วิเคราะห์บทสรุปที่เกิดขึ้นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและจริงจัง

เพราะยังมีการเอาตัวเลขที่คาดการณ์ไว้สูงเกินไปมาคำนวณ จึงมองว่า ไทยควรลดการปล่อย โดยตั้งเป้าหมายจากปริมาณการปล่อยเดิม และหาแนวทางการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทนพลังงานฟอสซิลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability)

ส่วนการให้ความสำคัญกับกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) ก็พบว่า ไทยเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก เพราะการจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไม่ควรเป็นไปในรูปแบบการฟื้นฟูเยียวยาเมื่อเกิดภัยพิบัติเพียงอย่างเดียว

แต่ยังต้องรวมไปถึงกระบวนการช่วยให้ประชาชนสามารถตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์หรือสภาวะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงได้ ทั้ง วิกฤตน้ำท่วม ภัยแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งส่วนนี้ ต้องอาศัยทั้งงบประมาณ ความรู้ และการกระจายอำนาจ

เมื่อไม่มีแผนชัดเจน จึงไม่สามารถออกแบบโครงการเพื่อนำไปเสนอของบประมาณจากกองทุนดังกล่าวได้ และหากรัฐบาลมีความเอาจริงเอาจัง ไทยอาจเริ่มจากการเก็บภาษีคาร์บอนกับกลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในประเทศ เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจัดตั้งกองทุนที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สำหรับบริหารเงินทุนนั้น ให้แก้ปัญหาและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรง



ไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง เพื่อบรรลุเป้าหมาย

ภาคพลังงาน สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากที่สุด 60 mton  ในปี  2050 ( พ.ศ. 2593) ไทยยังต้องการแหล่งดูดซับคาร์บอนเพื่อเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประเมินว่า แหล่งดูดซับคาร์บอนอยู่ที่  95 mton ในปี 2050  จากภาคป่าไม้ เวียดนามตั้งเป้าหมายในปี 2593 เหมือนไทย ส่วนอินโดนีเซียตั้งเป้า Net-Zero GHG  ปี 2060

ภาคการผลิตไฟฟ้า ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เน้นแสงอาทิตย์และลม ลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล  มาตรการไปสู่เป้าหมาย  การติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ไม่ต้องอุดหนุนราคา เพราะต้นทุนต่ำกว่าไฟฟ้าฟอสซิลแล้ว เน้นลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบติดตั้ง  ลดต้นทุนการเงินในการติดตั้ง, เพิ่มความยืดหยุ่นในการระบบไฟฟ้า รองรับพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านทำสัญญาซื้อขายและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ และวางแผนการเปลี่ยนลดเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างครอบคลุม

ภาคอุตสาหกรรม (ความร้อน) เน้นการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานประสิทธิภาพสูง โดยเพิ่มแรงจูงใจและลดอุปสรรคให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสะอาดและประสิทธิภาพสูง ติดตั้งโซลาร์ ส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน  บังคับใช้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน และส่งเสริมการใช้ชีวมวลและไฮโดรเจนทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรม

ภาคขนส่ง เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน สำหรับขนส่งระบบสาธารณะ ระบบราง และรถส่วนตัว เสนอการส่งเสริมการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งมาตรการภาษีผู้ซื้อ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับผู้ผลิต  แล้วก็ต้องอาศัยการเปลี่ยนโหมดการเดินทาง จากรถส่วนตัวเป็นรถสาธารณะ จากถนนสู่ระบบรางขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ภาคขนส่งต้องเริ่มวางแผนเลย เพื่อให้เห็นผลในปลายปี 2573 และปี 2593
    
ผลการศึกษาเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น การเปลี่ยนผ่านตามเส้นทางนี้ต้องใช้เงินลงทุนต่อปีประมาณ 2-5 %ของ GDP ตั้งแต่วันนี้ถึงปี 2593  ทางเดินนี้ได้มากกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน  ยังได้ประโยชน์ส่วนอื่นด้วย บรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ  ลดความเสี่ยงและความผันผวนด้านราคาจากการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะพลังงานเป็นพื้นฐานต่อยอดเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากโมเดลนี้ภาคธุรกิจจะนำไปต่อยอด จะเกิดประโยชน์ในภาพรวมประเทศ


เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่า ความพยายามเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดตั้งกองทุน พร้อมสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังการประชุม COP27 จะเกิดจุดเปลี่ยนในการแก้ปัญหาโลกร้อนและความฝันของประเทศเล็กๆ ที่ร้องขอให้ประเทศร่ำรวยแล้วจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจะเป็นรูปธรรมเพียงใด แล้วจะมีการดำเนินการที่แสดงถึงการบรรลุผลให้สำเร็จตามที่ได้วางไว้ต่อไปเช่นไร


ที่มา :
https://www.sdgmove.com/2022/11/29/cop27-climate-change-conference-2022/
https://www.greenpeace.org/thailand/story/25559/climate-cop27-what-is-loss-and-damage-fund-cop27/
https://www.bbc.com/thai/international-63694335
https://dxc.thaipbs.or.th/news_update/cop-27-%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/
https://www.bangkokbiznews.com/world/1038930
https://techsauce.co/news/cop-27-responsibility-for-climate-change
https://www.thaipost.net/news-update/257169/
https://www.thaiquote.org/content/248821

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Supply Chain ปรับตัวอย่างไร? กับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) สู่ Net Zero (Part 2)

Supply Chain ปรับตัวอย่างไร? กับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) สู่ Net Zero (Part 2)

บทความก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำทั่วโลกและในประเทศ มีการกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว หรือ Green Procurement…
pin
69 | 27/12/2024
ส่อง! บริษัทใหญ่ ใช้ 4 แนวทาง สร้าง Green Supply Chain ชวนคู่ค้า สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน (Part 1)

ส่อง! บริษัทใหญ่ ใช้ 4 แนวทาง สร้าง Green Supply Chain ชวนคู่ค้า สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน (Part 1)

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ธุรกิจจะยั่งยืนไม่ได้ หากขาดการจัดหาวัตถุดิบ สินค้า บริการ และกระบวนการผลิตที่ดี ดังนั้นการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับแนวโน้ม…
pin
75 | 21/12/2024
โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น ๆ นั่นคือ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง…
pin
82 | 11/12/2024
ประชุมโลกร้อน COP27 คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ แล้วไทยได้อะไร ? จากการประชุมครั้งนี้