คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ หรือคุณโจ้ CEO ของ QueQ ซึ่งเป็น Startup ที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของการรอคิวร้านอาหาร ได้ให้สัมภาษณ์กับเราถึงเหตุผลที่ก้าวเข้ามาทำ Startup ตัวนี้ว่า “การรอคิวมันอยู่คู่กับคนเมืองมานานแล้ว และมีโซลูชั่นบางอย่างที่เข้ามาแก้ไขทางร้านค้า แต่ไม่เคยมีโซลูชั่นไหนเข้ามาแก้ไขฝั่งลูกค้าจริง ๆ เลย เราจึงได้หันมาสนใจตรงจุดนี้ และสร้าง QueQ ขึ้นมา”
นอกจากนั้น เพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้อย่างทั่วถึงในยุคสมัยนี้ คุณโจ้จึงได้ทำ QueQ ขึ้นมาในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น “แทนที่เราจะไปหน้าร้านเพื่อรับบัตรคิว เราก็สามารถจองคิวผ่านมือถือได้เลย” ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ QueQ ก็คือ ไม่ต้องยืนรอหน้าร้านให้เสียเวลา หลังจากได้รับบัตรคิวออนไลน์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นแล้ว ก็สามารถไปเดินเล่น ใช้เวลาไปทำธุระอย่างอื่นได้ และเมื่อถึงคิวของเราก็จะมีการแจ้งเตือนให้ทราบ ทำให้เราสามารถกลับไปทานได้ทันที ไม่เสียสิทธิ์ จากการตอบโจทย์คนเมืองอย่างแท้จริงและตรงเป้าหมาย ทำให้ตอนนี้ QueQ มีฐานผู้ใช้งานต่อเดือนโดยประมาณกว่า 7 หมื่นคน และยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 3 แสนครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ที่ติดต่อเข้ามาขอใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปัจจุบัน QueQ เปิดให้บริการที่ประเทศอินโดนิเซียไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็น Startup ที่น่าจับตามองของประเทศไทยตัวหนึ่งเลยทีเดียว
สิ่งที่ยากที่สุดของการทำ QueQ ไม่ใช่เรื่องการบริหารเงิน หรือเรื่องค่าใช้จ่าย คุณโจ้เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ยากที่สุดว่า “มีหลายคนคิดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบคิวนี้ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือตอนเริ่มต้น เราโชคดีที่มีร้านอาหารเจ้าใหญ่ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทดลอง เพราะถ้าไม่มีคนให้โอกาส ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ พอเค้าลองกับเราแล้วประสบความสำเร็จ เราก็สามารถขยายไปแบรนด์อื่น ๆ ได้ คนแรกที่จะเปิดโอกาสให้เราเนี่ยยากที่สุด”
แต่แน่นอนว่าธุรกิจอะไรที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จได้ ย่อมมีผู้อื่นลอกเลียนแบบหรือคู่แข่งนั่นเอง ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า คุณโจ้ใช้วิธีการอะไรในการเอาชนะคู่แข่งเหล่านั้น “สิ่งที่เราได้เปรียบถ้าเทียบกับ Startup หรือธุรกิจจากต่างประเทศก็คือ เราเข้าใจตลาดและเข้าใจคนไทยมากกว่า เราทุ่มเทให้กับร้านอาหาร เข้าไปเป็นผู้ช่วย เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทุกอย่างทุกขั้นตอนว่าพวกเขาเจออะไรบ้าง เราตอบสนองอย่างไรได้บ้าง ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้เราเหนือกว่าเขา
ส่วนคู่แข่งในประเทศไทย จริง ๆ เรามีจุดอ่อนที่เหมือนจะกลายมาเป็นจุดแข็งให้ธุรกิจเราก็คือ ตัวฮาร์ดแวร์ ตัวตู้ที่เราต้องลงทุน แต่ส่วนนี้เองที่สร้างการรับรู้และการจดจำให้กับตัว QueQ ได้อย่างมาก จากจุดอ่อนเลยกลายเป็นจุดแข็ง ทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมากได้”
และแน่นอนว่า Startup ไม่ว่าจะรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ หน้าใหม่ หรือหน้าเก่า ล้วนแล้วแต่ต้องเคยผ่านการพิทชิ่งมาแล้วทั้งนั้น เราจึงไม่พลาดที่จะขอเคล็ดลับการพิทชิ่งของคุณโจ้ว่า ทำอย่างไรให้โดนใจกรรมการ เพื่อมาฝากเพื่อน ๆ เป็นแนวทางในการพิทชิ่งต่อไป “การเสนองานกับการพิทชิ่งมันคนละโลกกัน การพิทชิ่งจะมีศาสตร์ของมันอยู่ เนื่องด้วยเวลาจำกัดและนักลงทุนวันหนึ่งก็ต้องฟัง 10-20 พิทชิ่ง จึงเป็นเหมือนจิตวิทยาที่ทำยังไงให้นักลงทุนตั้งใจฟังของเรา และไม่หลุดสนใจ ซึ่งก็จะมีโครงสร้างของมันอยู่ และเราก็ต้องคิดว่าภายในเวลาที่กำหนดนั้น เราจะทำยังไงให้นักลงทุนเข้าใจได้ในเวลาจำกัด โดยเคล็ดลับของผมก็คือ ซ้อมเยอะๆ”
นอกเหนือจากการฝึกซ้อมแล้ว คุณโจ้ก็ได้ฝากอีกหนึ่งเคล็ดลับการพิทชิ่งให้ประสบความสำเร็จไว้อีกว่า “การพิทชิ่งครั้งแรก ๆ มันจะเฟลมาก จะตะกุกตะกัก ต่อให้ซักซ้อมมาดีแค่ไหน ก็จะไม่รู้เรื่อง แต่ว่าถ้าเรา Forgive ไม่คิดถึงครั้งแรกว่าเราเป็นยังไง กล้าที่จะพิทชิ่งต่อไป เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคำว่า Forgive สำคัญสุด”
หลายคนคงคาดหวังถึงก้าวต่อไปของ QueQ กันอย่างใจจดใจจ่อว่า จะมีลูกเล่นอะไรออกมาให้พวกเราได้ใช้บริการ และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับพวกเราอีก โดยคุณโจ้ได้เปิดเผยให้ทราบว่า “เราไม่ได้มอง QueQ เป็นระบบจองคิวแล้วก็จบตั้งแต่แรก แต่เรามองว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนใช้เวลาให้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เราจึงเริ่มมองเห็นเส้นทางใหม่ ๆ ร้านอาหารที่ว่างในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เราก็อาจจะเอาช่วงเวลาตรงนั้นมาลดราคาอาหารลง เพื่อทำการดึงลูกค้าเข้ามาในร้านเพิ่มขึ้น เป็นต้น อีกทั้งเราจะทำให้สามารถดูโปรโมชั่นของแต่ละร้านค้าที่ร่วมรายการกับ QueQ ได้”
สุดท้ายนี้เป็นข้อคิดจากคุณโจ้ที่อยากฝากถึงคนที่ต้องการเข้ามาทำ Startup ให้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า Startup เกิดได้เพราะความหลงใหล และมีใจกับมันจริงๆ “Startup เนี่ยเฟล 90% เป็นซอมบี้ (โตแบบเอื่อยๆ) 5-6% เหลือแค่ 4-5% ที่สามารถไปต่อได้ และถ้าคิดว่าทำ Startup มันจะเท่ จะหล่อ จะสบาย จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ปีแรก ๆ เป็นปีที่รุนแรงมาก ถ้ามีวันหยุดแสดงว่าเราช้าแล้ว มันคือทำงานทุกวัน ไม่มีเวลาทำงานชัดเจน ถ้าเหนื่อยขนาดนี้แล้วเราไม่มี Passion ไม่หลงใหล เราก็จะอยู่กับมันไม่ได้ แล้วก็พาลเลิกไปก่อน 2 อย่างนี้เป็นอะไรที่คิดว่าถาจะเริ่มต้นจริง ๆ เราต้องรู้มาก่อน”


