SME ไทย ได้อะไรจากนโยบายรัฐฯ บูม ! ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษรับ AEC
จากที่เคยมีมูลค่า 377,000 ล้านบาท ในปี 2547 เพิ่มเป็น 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2558 หรือขยายตัว 3.48% เทียบกับปี 2557 ตัวเลขการค้าชายแดนกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ในด้านสัดส่วนการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 7% ของมูลค่าการค้าระหว่างของไทยกับโลก สะท้อนว่าไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองเห็นถึงจุดนี้ จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” กำหนดนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 เขต ครอบคลุม 10 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และสงขลา เพื่อสร้างความร่วมมือและเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างจริงจัง
10 เขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจ
สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดของรัฐบาล มุ่งเน้นไปในพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อและเป็นเป้าหมายของการพัฒนาภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคใน 10 จังหวัด เช่น ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเอเชียใต้ ที่กำลังมีการตั้งโครงการทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-พม่า-ไทย ร่วมกัน
ส่วนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) นั้น มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย สงขลา และนราธิวาส เป็นโครงการที่สำคัญจะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากจีน-เมียนมา-ไทย-มาเลเซียไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซียได้ในอนาคต
ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและตราดนั้น ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็น "Tourism Gateway" เชื่อมโยงการท่องเที่ยวบนเส้นทาง R1 จะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอาเซียน
นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของภูมิภาคโดยใช้เส้นทาง R12 ตั้งแต่จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ของไทยไปยังเกาะกง สีหนุวิลล์ และกำปอตของกัมพูชา เข้าสู่เวียดนามทางฮาเตียน ไปจนถึงแหลมกาม่าว (แหลมญวน) จังหวัดกาม่าวของเวียดนามตอนใต้ รวมทั้งการเชื่อมโยงการขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสีหนุวิลล์ และท่าเรือไคเม็บ และไฮฟองของเวียดนาม
อัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพียบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกประกาศฯ กำหนดประเภทกิจการที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก และระยะที่ 2 ออกมา พร้อมทั้งกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ เช่น กิจการที่รัฐให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service : OSS สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ของวงเงินลงทุน ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุน 50% เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้จะไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน แรงงานต่างด้าว และพื้นที่ให้เช่า อีกทั้งเสริมมาตรการสนับสนุนด้านอื่นๆ ด้วย เป็นต้น
ในอนาคตรัฐบาลมุ่งหวังที่จะยกระดับเขตพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นเป็น “Economic Gateway” ของประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชายแดนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะถูกนำไปโยงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เพราะวัตถุประสงค์ต่างเชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่คุณค่าทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Value Chain) และนำไปสู่การสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนขั้นสูงที่มีการใช้นวัตกรรมในการผลิต ทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME
SME รับสิทธิประโยชน์สุดพิเศษ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SME จะได้รับอย่างชัดเจนคือ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการขอรับสนับสนุนการลงทุนสำหรับ SME ที่มีความประสงค์จะลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นกรณีพิเศษ โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท แต่จะไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
พร้อมทั้งอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้ มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยจะคำนวณราคาเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศไทยโดยใช้มูลค่าตามบัญชี และต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการ
สำหรับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการ SME ที่สนใจลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้ สามารถพิจารณาอัตราค่าเช่าที่ดินและค่าธรรมเนียมสำหรับพื้นที่ให้เช่าของรัฐในแต่ละเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัดเป็นข้อมูล (ตามตารางราคาที่ดิน )
เมื่อรู้ดังนั้นแล้ว ผู้ประกอบการ SME ไทย ควรเตรียมพร้อมศึกษาลู่ทางการลงทุนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าสินค้าที่ตนผลิตนั้นสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ใด โดยสามารถตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือติดต่อผ่านไปยังกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้

