เทคโนโลยีจิ๋ว สกัดสารสมุนไพร สู่ตำรับยา ผลักดันสู่การค้า
ปัจจุบันสมุนไพรไทยมีคุณประโยชน์มากมาย และในประเทศไทยถือเป็นแหล่งสมุนไพรที่หลากหลายชนิด โดย ดร.ภญ. อรัญญา มโนสร้อย ผู้คิดค้นและวิจัยด้านสมุนไพรไทย เล่าว่า “เดิมอยู่ในวงการวิจัยสมุนไพรมานานกว่า 30 ปี โดยการใช้เทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีสารสกัด เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันผลิตสินค้าด้านสมุนไพร”
“ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่ผลิตจากด้านนวัตกรรมมีหลายอย่าง เช่น วิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการต่อยอดกลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น ทำยา และเครื่องสำอางสมุนไพร เป็นต้น ต่อมานำลูกประคบมาต่อยอดด้วยการทำเป็นสเปรย์สมุนไพร รวมทั้งต่อยอดข้าวหมากที่เป็นอาหารภูมิปัญญาไทยสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น”
ที่มา “ตำรับยาสมุนไพรไทย” ด้วยการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริม
ดร.ภญ.อรัญญา เล่าว่า “เมื่อตอนที่ได้ศึกษาปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นได้นำเทคโนโลยีนาโนมาประยุกต์ใช้กับสมุนไพรไทย โดยอานุภาพของเทคโนโลยีนาโน สามารถกักเก็บสมุนไพรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการใช้การกับผิวหนังมนุษย์ อย่างเช่น เครื่องสำอางบางชนิดมีสารละคายเคือง หากเราสกัดจากสมุนไพรจะลดปัญหาการละคายเคืองผิวหนังได้”
“นอกจากนี้ เมื่อสองปีที่ผ่านมา ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยให้ทุนมาเพื่อทำฐานข้อมูลสารสกัดจากสมุนไพรทั่วประเทศ ให้กลายเป็นฐานข้อมูลเพื่อทำเครื่องสำอาง ซึ่งขณะนี้ทำเสร็จแล้วในระยะที่ 1 ตอนนี้กำลังทำระยะที่ 2 โดยเขามีจุดประสงค์ให้ผู้ประกอบการใช้เพื่อสืบค้นว่า สมุนไพรตัวไหนสมควรจะทำเครื่องสำอางประเภทอะไร เป็นต้น”
“ทั้งนี้ ฐานข้อมูลที่ทำได้ใช้ชื่อว่า ฐานข้อมูลมโนสร้อย 1, 2 และ 3 ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทำยา อาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง โดยฐานข้อมูลเหล่านี้จะเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และจะมีโปรแกรมไว้สำหรับสืบค้น อีกทั้งส่วนตัวยังได้ทำฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรมโนสร้อย 3 ที่เป็นของตนเอง ซึ่งทำขึ้นมาเพื่อการวิจัยทั้งสิ้น โดยเรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสกัดดูว่า สารสมุนไพรแต่ละอย่างมีคุณประโยชน์อย่างไร และบันทึกไว้แล้วกว่า 80,000 ตำรับยาสมุนไพร คาดจะทำให้ได้ 200,000 ตำรับยาสมุนไพร แล้วค่อยเปิดเผยให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษา”
ตำรับยามีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร
1. จากการรวบรวมสมุนไพรเป็นตำรา สามารถเป็นแหล่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์ใช้งานได้จริง
2. เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา เพราะสมุนไพรไทยมีประวัติมายาวนาน
3. ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
“สำหรับค่าใช้จ่ายในการคิดค้นและผลิตสินค้าด้านสมุนไพร ดร.ภญ.อรัญญา เล่าว่า “ในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย จะมีต้นทุนไม่เท่ากัน แต่ส่วนผลการตอบรับจากการต่อยอดสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะผู้บริโภคคำนึงถึงคุณภาพของสินค้ามากขึ้น อีกทั้งเริ่มคำนึกถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน”
“รางวัลทางด้านนวัตกรรมที่ได้รับมีมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างเช่นล่าสุด ในโครงการวิจัยน้ำลายเทียมจากพืชสมุนไพร ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นปี 2558 จาก สกว. เป็นต้น”
“การต่อยอดสมุนไพรสู่สินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือ เรานำของเดิมที่เป็นภูมิปัญญาไทยแต่ก่อนมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิผลให้ดีขึ้น และจากความสำเร็จในการนำสมุนไพรไทยมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ทุกผลิตภัณฑ์ ล้วนเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจทั้งสิ้น” ดร.ภญ.อรัญญา ทิ้งท้าย

