‘ไนจีเรีย’ ความสูญเสียของตลาดข้าวไทยหรือโอกาสใหม่

SME Update
29/03/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 2418 คน
‘ไนจีเรีย’ ความสูญเสียของตลาดข้าวไทยหรือโอกาสใหม่
banner
‘ไนจีเรีย’ ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าน้ำมัน แต่การค้าน้ำมันของประเทศได้รับผลกระทบเป็นเวลานานจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งประเทศยังอยู่ในช่วงของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากการที่ต้องพึ่งพาแต่ภาคน้ำมันซึ่งเน้นการใช้เงินทุนเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคการเกษตรเติบโตไม่ทันกับจำนวนประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไนจีเรียซึ่งเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ต้องกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหาร  และท่านทราบหรือไม่ว่า ‘ไนจีเรีย’ เป็นประเทศที่เคยนำเข้า ข้าวไทย มากที่สุดในโลก ในปี 2554 ประมาณ ร้อยละ 15 ของการส่งออกข้าวไทย มูลค่า 775.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 23,256 ล้านบาท  ประเภทข้าวไทยที่นำเข้ามาในไนจีเรีย ร้อยละ 95 เป็นข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) ที่เหลือเป็นข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ สามารถกล่าวได้ว่า ข้าวไทย เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับผู้บริโภคไนจีเรีย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme


อย่างไรก็ดี โดยที่เศรษฐกิจของไนจีเรียได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก รัฐบาลไนจีเรียจึงดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า

ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไนจีเรียซึ่งเคยมีมูลค่าสูงสุดมากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ค่อย ๆ ลดจำนวนลง เหลือเพียง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 และทำให้ไทยตกอันดับจากการเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไนจีเรียจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ลงมาเป็นลำดับที่ 3 รองจากมาเลเซีย (715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอินโดนีเซีย (310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าหลักในตลาดไนจีเรีย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าข้าวไทยของไนจีเรียในปัจจุบันยังคงลดลง เนื่องจาก ไนจีเรียสามารถปลูกข้าวได้เอง ในรัฐ Kebbi ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไนเจอร์กับแม่น้ำริม่า (Rima) ที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตข้าวได้มากถึง 2.5 ล้านเมตริกตันในปี 2560 จากผลผลิตทั้งประเทศที่ 5.7 ล้านเมตริกตัน โดยข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดจะถูกส่งไปสีและผลิตเป็นข้าวพาร์บอยล์ (Parboiled rice) ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้สารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดในข้าวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ รัฐ Kebbi มีโรงสีทั้งหมด 6 แห่ง โรงสีที่ใหญ่ที่สุด คือ โรงสี Labana Rice ผลิตข้าวพาร์บอยล์ภายใต้ชื่อ Lake Rice ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเมือง Lagos (ตลาดผู้บริโภค) กับรัฐ Kebbi (ผู้ปลูก) และรัฐบาลไนจีเรียได้สนับสนุนให้ Lake Rice เป็นยี่ห้อข้าวประจำชาติของประเทศ  โรงสีที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่ง คือ โรงสี Wacot Rice Ltd เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการชาวอินเดียกับรัฐบาลรัฐ Kebbi นอกจากนี้ ยังมีโรงสีขนาดใหญ่อีก 4 แห่ง ซึ่งเป็นการลงทุนของนักธุรกิจจากรัฐอื่นที่เข้ามาแสวงประโยชน์ในธุรกิจข้าว

ในปัจจุบัน ชาวนาในรัฐ Kebbi ทำนาบนพื้นที่โดยเฉลี่ย 1-3 เฮกตาร์ต่อครัวเรือน มีชาวนาทั้งหมดประมาณ 2 แสนครัวเรือน ทำนาบนพื้นที่ทั้งหมด 2 แสนเฮกตาร์ (ประมาณ 1.2 ล้านไร่) สามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง มีผลผลิตในปี  2561 เกือบ 3 ล้านตัน ทำให้ไนจีเรียสามารถลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้ถึงร้อยละ 90 ของข้าวที่บริโภคทั้งหมดในประเทศ และสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลไนจีเรียประกาศนโยบายลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศให้อัตราเป็นศูนย์ภายในปี 2562 นี้

ความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลไนจีเรียสนับสนุนและเร่งรัดการเพิ่มผลผลิตข้าวในทุกระดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตอย่างรัฐ Kebbi โดยตั้งเป้าที่จะผลิตข้าวให้ได้ 3.5 ล้านตันภายในปี 2562 นี้ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อาทิ การชลประทานเพื่อลดความเสี่ยงของภัยแล้ง การอุดหนุนปัจจัยการผลิตในระดับต่าง ๆ การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ ๆ ทดแทนเครื่องมือการทำนาที่ล้าหลัง รวมทั้งการแสวงหาแหล่งนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรจากแหล่งเดิมอย่างสหรัฐฯ อินเดีย และจีน โ

โดยในส่วนของไทยนั้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยที่จำหน่ายสินค้าไปยังรัฐ Kebbi โดยตรงแล้วเช่นกัน โดยทางการรัฐ Kebbi ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการสั่งซื้อและเตรียมแจกจ่ายเครื่องเกี่ยวข้าวและรถไถนาที่ผลิตจากบริษัทของไทย อาทิ เครื่องเกี่ยวข้าว (reapers) และรถไถนา (power tillers) ของบริษัทรุ่งเพชร ซึ่งเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการใช้เครื่องจักรในพื้นที่นาขนาดเล็ก และมีความเป็นไปได้ที่จะยังมีการสั่งซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรจากไทยอีกเช่นกัน

จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการดำเนินความร่วมมือด้านเกษตรกับไนจีเรีย จากเดิมที่เน้นการส่งออกสินค้าไปขายแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นการส่งเสริมให้ชาวไนจีเรียรู้จักและใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรของไทย ซึ่งจะต้องดำเนินการในลักษณะบูรณาการ กล่าวคือ ไม่เฉพาะแต่การขายเครื่องมือทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงบริการหลังการขาย และการจัดหาอะไหล่เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ในระยะยาวต่อไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังอาจสนับสนุนการขาย ควบคู่กับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของชาวนา และการส่งเสริมเรียนรู้ศักยภาพของกันและกันผ่านโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการสูญเสียตลาดส่งออกข้าว เป็นที่ทราบดีว่า ไนจีเรีย บริโภคข้าวข้าวนึ่ง ,ขาว เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ตลาดข้าวขาวในปัจจุบันยังคงแข่งขันสูง ทั้งจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าและคู่แข่งในต่างประเทศทั้ง อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน บราซิล และสหรัฐฯ ทำให้การตลาดในการส่งเสริมการส่งออกข้าวของไทยเน้นเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น ในปี 2561 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ปริมาณ 11.13 ล้านตัน ลดลง 3.36% มูลค่า 5,623 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% และคิดเป็นเงินบาท 180,413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% ซึ่งการส่งออกข้าว แม้ปริมาณจะลดลง แต่ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนการผลักดันส่งออกข้าวในปี 2562  นี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายเร่งขยายตลาดสำคัญในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา และแคนาดา

ข้าวไทย

สรุปตอนท้าย คือ เป็นที่ทราบดีว่าปริมาณการนำเข้าของไนจีเรียลดลงเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปี 2555 ตามเหตุผลที่ให้ไว้แล้ว ความสูญเสียตลาดส่งออกข้าวนี้จึงเปลี่ยนเป็นความร่วมมือในภาคเกษตร ทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยี เครื่องมือการเกษตรที่ไทยมีความร่วมมือที่เหนียวแน่นกับทางไนจีเรีย ซึ่งนับเป็นโอกาสใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทย เพราะคนไนจีเรียนิยมบริโภคสินค้าไทย คิดดูว่าประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกาจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยอย่างไรบ้าง และว่ากันว่า “ถ้าธุรกิจคุณปักธงที่ไนจีเรียได้ คุณก็สามารถประสบความสำเร็จที่ใดก็ได้ในแอฟริกา”

อ้างอิง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ  กรุงอาบูจา
Bangkok Bank SME ราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก www.bangkokbanksme.com หรือ โทร call center 1333

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1245 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1617 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1890 | 25/01/2024
‘ไนจีเรีย’ ความสูญเสียของตลาดข้าวไทยหรือโอกาสใหม่