Brand Story ‘ศิลปทอไทย’ โรงงานผลิตสำหรับสายแฟชั่น ‘Minimal Style’ ตอบโจทย์งานดีไซน์ระดับพรีเมียม

SME in Focus
18/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2470 คน
Brand Story ‘ศิลปทอไทย’ โรงงานผลิตสำหรับสายแฟชั่น ‘Minimal Style’ ตอบโจทย์งานดีไซน์ระดับพรีเมียม
banner
อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นของโลกและในประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบไทยส่วนใหญ่ มีจุดแข็งคือ ความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งด้านควบคุมการผลิตสินค้า บริหารจัดการในกระบวนการผลิต การปรับใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญ คือไอเดียธุรกิจ ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่านำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

บทความนี้ Bangkok Bank SME ได้รับเกียรติพูดคุยกับ คุณสมชาย ธัญญศิริ กรรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิลปทอไทย จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ Thai Arts Knitting factory Co.,Ltd. ทายาทธุรกิจที่คร่ำหวอดในธุรกิจสิ่งทอมายาวนาน ผ่านวิกฤตและอุปสรรคต่าง ๆ จนก้าวสู่ความสำเร็จ ด้วยกลยุทธ์และการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ปรับใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนางานฝีมือ เน้นคุณภาพมากกว่าการแข่งขัน จนกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกเสื้อไหมพรม ให้กับแบรนด์ชั้นนำ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วโลก 



คุณสมชาย เจ้าของ Thai Arts Knitting กล่าวว่า ผมเป็นเจน 2 ของธุรกิจครอบครัว เริ่มจากรุ่นพ่อแม่ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ช่วงนั้นธุรกิจเสื้อไหมพรมกันหนาว ที่มีต้นกำเนิดจากฮ่องกง ไต้หวัน เฟื่องฟูและได้รับความนิยมมาก เรามีช่างจากไต้หวันฝีมือดี บวกกับค่าแรงไม่สูง ธุรกิจจึงบูมมาก นอกจากขายในประเทศ ยังส่งออกไปอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ด้วย



ช่วงที่เข้ามาบริหาร คือประมาณเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ก่อนจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าแรงเริ่มสูงขึ้น โควต้าส่งออกที่เราได้มาใกล้จะหมด บวกกับจีนเริ่มเปิดประเทศ หลายคนกลัวที่จะแข่งกับจีน SME ส่วนใหญ่จึงหันไปเลือกใช้แรงงานจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงต่ำกว่า 

แต่เรามองว่า จีนเขาไปไกลกว่ามากและไม่ใช่คู่แข่ง อีกทั้งหากแข่งกับจีน ต้องลงทุนมหาศาล เพราะเขาเล่นในตลาดแมส Thai Arts Knitting จึงเลือกจะยึดมั่นในจุดแข็ง คือเรื่องคุณภาพ เสื้อไหมพรมเป็นงานที่ใช้เทคนิคสูง เราจึงวางตำแหน่งสินค้าในเซ็กเมนต์พรีเมียม ไม่เน้นปริมาณ แต่ขายคุณภาพระดับบน ถึงไฮพรีเมียม กำลังการผลิตไม่ต้องใหญ่ แต่ได้มาร์จิ้น และควบคุมคุณภาพได้ 



Thai Arts Knitting มีโรงงานของตัวเอง และรับผลิต OEM ด้วย วิธีการ Up Scale คือ ไหมพรมส่วนใหญ่จะใช้วัสดุจากผ้าฝ้าย แต่เรานำเข้าวัตถุดิบที่ทำจากขนสัตว์ เกรดสูงกว่า และผลิตแบบ Small Lot ข้อดี คือการที่ผลิตน้อย ๆ ทำให้เราปรับเปลี่ยนดีไซน์ได้เร็ว จากที่ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ทำให้เห็นว่าช่วงปลายปี คนไทยชอบบินไปซื้อเสื้อกันหนาวแบรนด์ดัง แต่เขาไม่รู้ว่าบางแบรนด์ผลิตที่ไทย 

เราจึงเห็นช่องว่างตลาด บวกกับช่วงนั้น ลูกสาวเรียนจบพอดี เขาจึงเริ่มเข้ามาทำช่องทางขายออนไลน์ โดยแยกไปสร้างแบรนด์ตัวเองชื่อ  inci.bkk เน้นเสื้อผ้าวัยรุ่นจากไหมพรม ที่ไม่จำเป็นต้องใส่เฉพาะฤดูหนาว แต่เป็นเทรนด์แฟชั่นที่ใส่ในชีวิตประจำวันได้ 



อุตสาหกรรมแฟชั่น น้อย แต่มาก

สมัยก่อนหากพูดถึงโรงงาน จะนึกถึงการผลิตจำนวนมาก ๆ ซึ่งไม่ว่าจะผลิต 300, 3000 หรือ 30,000 ตัว ต้นทุน-ค่าเดเวลลอปเม้นท์ เท่ากัน เพราะการผลิตเสื้อ 1 รุ่น ต้องทำตัวอย่าง ดีไซน์ ออกแบบ ฯลฯ อาจจะลงทุนถึงหลักหมื่น ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ถ้าคุณตั้งใจจะขาย 100 ตัว ต้นทุน คือตัวละ 100  ขาย 1,000 ตัว ๆ ละ 10 บาท ถ้า 10,000 ตัว คุณจะเหลือต้นทุนตัวละ 1 บาท 

ซึ่งการผลิตให้ลูกค้ากลุ่มพรีเมียมบางรายที่เป็นแบรนด์เนม เขาจะเน้นทำจำนวนน้อย 300 -  500 ตัว แต่มีคุณภาพสูง เราต้องนำเข้าวัตถุดิบพรีเมียม เขายอมจ่ายส่วนนี้ แล้วไปบวกมาร์จิ้นเพิ่มอีกหลายสิบเท่า ขอแค่เทคนิคการผลิตที่ดี ได้คุณภาพตรงความต้องการของเขา ซึ่งเราเป็นโรงงานผู้ผลิต ที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ลูกค้าได้ 



“อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นฟาสต์แฟชั่น มาเร็วไปเร็ว บริษัทสเกลใหญ่ ๆ อย่างแบรนด์ Zara ที่ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ออกคอลเลกชั่นใหม่เร็วมาก เขาจับพฤติกรรมคนไม่อยากใส่อะไรซ้ำ ๆ แต่ไม่ใช่ทุกร้าน จะเป็นแบบ Zara ได้ เพราะเขามีความพร้อมรอบด้านที่ทำให้มูฟได้เร็ว 

ขณะที่ ร้านเล็ก ๆ หากอยากทำแบบนั้น ทำได้ แต่เป็นสเกลเล็กลง ในตลาดยังมีช่องว่าง Zara อาจจะลงทุนแบบละ100,000 ตัว แต่ Capacity การผลิต เรามีไม่ถึง จึงเจาะกลุ่มลูกค้าที่ผลิตจำนวนน้อย ๆ ที่เราพร้อมซัพพอร์ตให้ได้ ปัจจุบัน ลูกค้าที่จ้างเราผลิตไม่ใช่แค่บูติคแบรนด์ แต่สเกลดาวน์ลงมาถึงสตาร์ทอัพ

ยกตัวอย่าง ธุรกิจของลูกสาว inci.bkk ก็เป็นสตาร์ทอัพทำธุรกิจแฟชั่น ยุคนี้ เด็กจบใหม่เขาอยากมีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งหลาย ๆ แบรนด์ทำแล้วประสบความสำเร็จ วัยรุ่นมี Energy แต่ที่ผ่านมาเขาไม่รู้จะเริ่มยังไง ถ้าคิดจะติดต่อผู้ผลิตจากจีน ก็อาจโดนปฏิเสธ อีกทั้งเรื่องการสื่อสาร เสี่ยงโดนหลอก หรืออาจได้ของไม่ตรงปก รวมถึงคิวผลิตก็รอนาน แต่โรงงานของเรา ช่วยให้สตาร์ทอัพกลุ่มนี้เติบโต ผลพลอยได้ คือเราได้เห็นดีไซน์ใหม่ ๆ ทำแล้วสนุกไปด้วย



โรงงาน = พื้นที่ Sharing แลกเปลี่ยนมุมมองสำหรับสายแฟชั่น

คุณสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อน OEM คือการทำตามออเดอร์ลูกค้า สเปคต้องเป๊ะ ดีไซน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่ในธุรกิจการ์เม้นท์ จะมีความรู้เรื่องเสื้อเชิ้ต หรือแพตเทิร์น ถึงขั้นเปิดคอร์สสอน แต่น้อยคนที่จะสอนความรู้เชิงลึก 

เช่นเทคนิคการถัก การทอ ลองนึกภาพ สมัยคุณยายถักนิตติ้ง แต่ยุคนี้สะดวกมาก มีเครื่องจักรช่วยทำงานดีไซน์มาผสมผสาน เราจะอธิบายและ Sharing สิ่งที่เรารู้กับลูกค้า เช่นเทคนิคต่าง ๆ เพราะกระบวนการถัก ต้องมีการไล่ระดับ มีความหนา บาง คุณสมบัติของวัสดุไหน เป็นยังไง 

“ยกตัวอย่าง ลูกค้าหลักในเมืองไทยที่ Thai Arts Knitting ผลิตให้เป็นแบรนด์ชื่อดังแบรนด์หนึ่งที่รู้จักกันดี เป็นบริษัทคนรุ่นใหม่ ทีมดีไซน์เป็นเด็กวัยรุ่น เขาถนัดเรื่องดีไซน์ แต่ไม่รู้เทคนิค ฉะนั้น เราจะเติมเต็มให้ คุณมีจินตนาการ เรามี Know How เปิดโรงงานแล้วพาไปดู เหมือนโอเพ่นเฮ้าส์ให้เห็นกระบวนการผลิต การ Development ว่าอะไรบ้างที่มีข้อจำกัด แบบไหนทำได้ ไม่ได้ 2 - 3 ปีมานี้ จะเห็นว่าดีไซเนอร์เริ่มพัฒนา รู้ว่าดีไซน์แบบไหนทำได้แค่ไหน และเป็นไปได้ 



การคุยกับพาร์ตเนอร์ทุกครั้งที่เขาจะออกคอลเลกชันใหม่ เราจะนั่งคุยกัน แล้วอธิบาย ปัญหาของคนยุคก่อน คนจีน ฮ่องกง เรื่องทักษะความรู้ เขาจะมีมายด์เซ็ตว่าจะไม่ถ่ายทอดให้ใคร เป็นสูตรลับ เหมือนเชฟทำอาหาร ธุรกิจจึงพัฒนาได้ยาก ช่วงที่ผมเริ่มทำ มีโรงงานนิตติ้งในไทยกว่า 50 เจ้า แต่วันนี้มีไม่ถึง 10 เจ้า เพราะไม่มีคนสานต่อ เราจึงอยากให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้การทำงาน 

“ผมไม่อยากใช้คำว่าเราสอน แต่เป็นการ Sharing แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ให้เขามีพื้นฐานการผลิต สมัยก่อนโรงงานจะไม่ให้ใครเข้ามาดู เป็นความลับ แต่เราอยากให้เขารู้ จะได้คุยภาษาเดียวกัน เป็น Open Innovation ให้ต่อยอดและพัฒนา ไม่จำเป็นต้องหวง ถ้าเปรียบเหมือนการทำกับข้าว ทุกคนมีสูตรแต่ไม่ใช่จะทำอร่อย ต้องอาศัยประสบการณ์ แต่ถ้าคุณรู้เรื่องการทำอาหาร หรืออธิบายได้ คุณจะปรับปรุงสูตรใหม่ ๆ ก็ทำได้



ยืนหนึ่งด้วย ‘ผีมือ - เทคนิคพิเศษ’ 

ลูกค้าแบรนด์แฟชั่น เขาอยากได้อะไรที่เป็นสีสัน Thai Arts Knitting จึงเริ่มทำจากจุดนั้น เสื้อไหมพรมส่วนใหญ่จะเห็นว่าไม่ค่อยมีลาย เป็นแค่เส้นไขว้กันไปมา แต่ของเราจะเป็นเสื้อไหมพรมที่มีดีไซน์สารพัดรูปแบบ เช่น เอาภาพธรรมชาติ ภูเขา ลำธาร เสือ ซึ่งเมื่อก่อนถ้าจะไล่สีต้องพ่นสี  แต่เราใช้วิธีการทอให้เหมือนเป็นการไล่สีขึ้นมา ทำกราฟิกจากคอมพิวเตอร์ ออกแบบ แล้วเอามาใส่ในเครื่องทอ เสื้อจะมีคาแรกเตอร์มากขึ้น

ล่าสุด เรารับ OEM ให้แบรนด์ชั้นนำชื่อดังแบรนด์หนึ่ง ที่ผู้หญิงทุกคนต้องมีไว้ในตู้ เคยมาปรึกษาว่า จะทำยังไงให้เสื้อไล่สีเป็นเฉด เราใช้เทคนิคเข้าไปช่วย ทำให้เป็นแบบที่เขาดีไซน์ออกมา ซึ่งแบรนด์ดังจะมีทั้งเสื้อจากการตัดเย็บ และจากวิธีนิตติ้ง ออกมาเป็นเสื้อสูททำงานซึ่งยังคงคาแรกเตอร์ของเขาที่เป็นเฉดไล่สี ด้วยวิธีการทอ พอทำได้ มันชาเลนจ์ ท้าทาย เป็นการคิดนอกกรอบ

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โรงงานอื่นคงไม่ทำ เพราะต้องหาวิธีการ ผลิตยาก และทำแค่หลักพันตัว ซึ่งงานโปรดักชั่นเขาคุยกันเป็นหลักหมื่นตัว อีกทั้งแรงงานไทยหายาก ในกรุงเทพฯ มีน้อย ต้องไปหาตามต่างจังหวัด หรือประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราคิดอีกแบบหนึ่งว่า จะใช้ความเล็ก ไม่ต้องมาก แต่สร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์



เสื้อที่มีสีสันของ Thai Arts Knitting ไม่ได้มาจากการย้อมผ้า เสื้อกันหนาวต้องย้อมมาจากเส้นด้ายเลย ถ้ามี 3 สีต้องใช้เส้นด้าย 3 หลอดในการทอ ต้องทำให้ต่อกันพอดีเหมือนจิ๊กซอว์ ช่วงที่เว้า หรือนูน ต้องล็อคเข้าหากัน ความโค้งต้องทอให้เป็นรูปโค้ง และกลับมาสบกันพอดี ถ้าขาดหรือเกิน จะไม่บาลานซ์ ลายที่ทอ ต้องย้อมสีจากเส้นด้ายตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ 

แล้วเอาเส้นด้ายกับสีมาร้อยเรียงกัน ต้องใช้ฝีมือคนในแต่ละตาเข็มให้มันต่อกัน นอกจากนี้ ต้องรู้วิธีซักเสื้อไหมพรม หรือเสื้อขนสัตว์ต้องใช้อุณหภูมิที่ถูกต้อง การทรีทเมนต์ของเสื้อแต่ละตัวไม่เหมือนกัน เวลา อุณหภูมิ การอบผ้า ล้วนมีผลต่อการยืดหดของผ้า เพราะมันมีรายละเอียดมาก เราถึงไม่กลัวการลอกเลียนแบบ ถ้ามาดู คุณถึงจะรู้



วัตถุดิบพรีเมียม ใส่ใจทุก Story 

ต้องยอมรับว่าเทรนด์เสื้อทอนิตติ้งในเมืองไทย ยังเป็นความนิยมกลุ่มเล็ก ๆ คือ วัยรุ่นที่มีความทันสมัย แต่ยังไม่ใช่กลุ่มคนทั่ว ๆ ไป Thai Arts Knitting อยากให้ทุกคนเห็นว่านิตติ้ง เป็น Product ที่ไม่เหมือนเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อทั่วไป แต่มีการผลิตที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน 

เราอยากจะมีช่องทางสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ที่มาของวัตถุดิบ บางอย่างมาจากพืช จากต้นไม้ เรานำมาจากป่าปลูก ไม่ใช่การทำลายป่าหรือตัดต้นไม้ โพลีเอสเตอร์ เราใช้แบบรีไซเคิล ขนสัตว์ที่เราซื้อวัตถุดิบจากเมืองนอก เราดูถึงสิทธิของสัตว์ แกะที่เลี้ยงต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่ถูกทำร้าย และต้องมีความเป็นออร์แกนิคไม่ผ่านเคมีคอล ไม่มีการฟอกย้อม



คนฝรั่งเขาอยู่เมืองหนาว ต้องมีเสื้อแคชเมียร์ติดตู้เสื้อผ้าไว้ เหมือนผู้ชาย ต้องมีสูท หรือเสื้อเชิ้ตสีขาว ไว้ใส่ในชีวิตประจำวัน ขนของแพะภูเขาที่นำมาถักเป็นเสื้อ อาศัยอยู่ในมองโกเลีย ตอนกลางวันอุณหภูมิร้อนมาก ขนจะระบายความร้อน ขณะที่กลางคืนอากาศติดลบ ขนกักเก็บความอบอุ่นได้ 

ด้วยคุณสมบัติพิเศษแบบนี้ จึงเป็นขนสัตว์ที่มีคุณภาพสูง แต่ขนสัตว์ไม่ได้มีแค่ แพะ ยังมี แกะ อูฐ จามารี กระต่าย แร็กคูน ซึ่งการนำขนสัตว์กลุ่มนี้ จะไม่ถูกต่อต้านเหมือนเฟอร์ ที่มาจากการถลกหนังสัตว์ แต่ใช้วิธีสาง หรือใช้แบตเตอรี่ไถ ซึ่งงอกใหม่ได้

หรือแม้แต่เรื่อง Functional ญี่ปุ่นเคยมานำเสนอเส้นด้ายที่ผสมวิตามินอี ใส่แล้วบำรุงผิว ตอนนี้จะเห็นว่ามีเทคโนโลยี นวัตกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งช่วยระบายเหงื่อได้ดี แอนตี้แบคทีเรีย หรือเส้นใยที่ใส่แล้วไม่ทำให้เกิดกลิ่นตัว ต่อไปอาจจะมีการใส่คอลลาเจนเข้าไปด้วย ใส่แล้วผิวสวย เป็นต้น



ขณะเดียวกัน แมททีเรียลในไทย มีโอกาสเติบโตไม่แพ้กัน เช่น เส้นใยกัญชง มีการนำมาเป็นส่วนผสมของการทำเสื้อนิตติ้ง หรืออีกหลายวัสดุในกลุ่มของพืช ฝ้าย ทอเป็นเส้นด้ายจากกัญชง หรือแม้แต่เส้นไหม เส้นใยที่เหมาะกับประเทศไทย คือกลุ่มผ้าฝ้าย คอตตอน 100% เพราะผ้าฝ้ายระบายอากาศได้ดี ดูแลรักษาง่ายซึ่งจะมีหลายเกรด ทั้งแบบธรรมดาและคุณภาพสูง ทั้งนี้ แต่ละประเภท ราคาต่างกัน ถ้าเป็นผ้าคอตตอน 100%  จะเน้นฟิตติ้ง ใส่แล้วพอดีตัว อยู่ที่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี และการดีไซน์ที่เหมาะกับการสวมใส่



ลดความสูญเปล่า (Waste) มุ่งสู่ Green Product

โรงงานเราจะเก็บข้อมูลในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้น เช่นในการผลิตแบบไล่สี ต้องมีการทดลอง ถ้าใส่สีดำมากไป ต้องลดลง เติมสีขาว มีการลองทำทั้งตัวก่อนผลิต หลังย้อมเราต้องคืนสภาพ ต้องดึงเส้นด้ายกลับมาทั้งหมดแล้วมาหาสัดส่วนเพื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ในทางเคมี เรียกว่า การถอดไหม เพื่อให้รู้ว่าแต่ละสี แต่ละพอร์ชั่น มีสัดส่วนเท่าไหร่ ทำให้จัดการคอร์สได้ พอเราสั่งวัตถุดิบ รู้ว่าต้องสั่งอันไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะมี Waste  5 - 10%

นอกจากนั้น ขั้นตอนการย้อมต้องใช้น้ำจำนวนมาก เราจะเลือกสั่งซื้อเส้นด้ายรีไซเคิล กับซัพพลายเออร์ที่ได้การรับรองว่าผ่านกระบวนการย้อมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่โรงงานที่ขายกล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์ ต้องได้รับการรับรองว่าใช้กระดาษรีไซเคิล พลาสติก หรือถุงพลาสติกที่ผลิตให้เรา ต้องได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็น ‘กรีนซัพพลายเชน’ 



ปัจจุบัน มายด์เซ็ตผู้บริโภคเปลี่ยนไป เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัว เด็กรุ่นใหม่ จะใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากกว่ารุ่นเรา ในธุรกิจแฟชั่น ลูกค้าที่ยอมจ่ายแพงขึ้น คือกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อม คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมความใส่ใจปัญหาเหล่านี้ เขารู้ว่าการทำลายโลกเป็นสิ่งผิด และไม่เหมาะสม ยุคเขาต้องมีการแยกขยะ เจนเนอเรชั่นเปลี่ยนไป ถ้าจะทำธุรกิจให้ยั่งยืน ต้องไม่มองไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงรุ่นข้างหลัง ที่เดินตามเรามาว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หรือธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

ตอนนี้ สิ่งที่เราคาดหวัง คืออยากสื่อสารไปให้ผู้บริโภค Follow the rule follow the world สร้างการรับรู้เกี่ยวกับ Sustainability ว่าจะทำอย่างไร ให้คนหมู่มากเข้าถึงเรื่องนี้ถึงจะขายได้ เพราะคุณค่าสินค้าทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ใส่เพราะราคาแพง แต่โลกไปไกลกว่านั้น ประเทศเราแค่เริ่มต้นโดยการไม่แจกถุง ยังมีบางคนที่ไม่เข้าใจ แต่ในต่างประเทศพกถุงผ้ากันนานมากแล้ว


คุณสมชาย ธัญญศิริ เจ้าของ บริษัท ศิลปทอไทย จำกัด หรือ แบรนด์ Thai Arts Knitting

คุณสมชาย กล่าวเสริมว่า ถ้าคุณทำตลาดส่งออกแม้แต่ถุงพลาสติกโพลีคาร์บอเนต ก็ต้องเป็นวัสดุรีไซเคิลลูกค้าให้ความสำคัญมาก เขาไม่ได้มองแค่ Product แต่ดูถึงกระบวนการผลิต แพคเกจจิ้งต้องไม่ไปสร้างขยะในประเทศเขา ตลาดหลักของเรา คือเยอรมัน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เน้นเทคโนโลยี และมีมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมสูง เทียบกับฝรั่งเศส จะเน้นแฟชั่นสิ้นเปลือง โชว์ความหรูหรา 

แต่ละปี เราต้องจ่ายเงินให้เขานำไปจัดการเรื่องรีไซเคิลขยะ และให้เราเข้าร่วมโครงการลดคาร์บอน จะมีออดิทมาตรวจโรงงาน ทุก ๆ ปี ทั้งเรื่องคุณภาพการผลิต และสิ่งแวดล้อม เคมีคอลบางชนิด เข้าประเทศเขาไม่ได้ เช่นกระบวนการย้อมบางอย่าง ซิป กระดุม โลหะต้องนิกเกิลฟรีเท่านั้น เพราะฉะนั้น โรงงานของเราไม่ใช่แค่ทำแล้วขาย หรือทำแล้วสวย แต่ต้องช่วยโลก 




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
38 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
374 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
379 | 22/04/2024
Brand Story ‘ศิลปทอไทย’ โรงงานผลิตสำหรับสายแฟชั่น ‘Minimal Style’ ตอบโจทย์งานดีไซน์ระดับพรีเมียม