‘ธุรกิจครอบครัว’ ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ให้เกิดความราบรื่น ยั่งยืน

Family Business
13/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 15437 คน
‘ธุรกิจครอบครัว’ ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ให้เกิดความราบรื่น ยั่งยืน
banner
กรอบแนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ คือ มุ่งให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จะได้มีชีวิตที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเริ่มต้นจากการนำความรู้ความสามารถ ทักษะหรือศักยภาพที่ตนมี มาประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจตามกำลังความสามารถ และค่อย ๆ พัฒนากิจการให้เจริญเติบโตอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน โดยไม่ลงทุนเกินตัว หรือเกินกำลังความสามารถในการชำระหนี้ได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ทั่วโลกประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี จะเป็นการบริหารความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เพราะทำให้มีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ฉะนั้น การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว ด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ 

แต่การจะนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ธุรกิจครอบครัวควรเริ่มต้นอย่างไร ? 



การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 

ผู้ประกอบการ ควรเริ่มต้นจากการสำรวจเพื่อทบทวนสภาพธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจครอบครัวที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นมีผลประกอบการเช่นใด กิจการสามารถเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ มีการขยายกิจการที่หลากหลายเกินกว่าความสามารถที่จะรับผิดชอบหรือไม่ ธุรกิจครอบครัวมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ หรือไม่

ตัวอย่างเช่น มีการจัดการทางการเงิน อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt Ratio) มีการบริหารจัดการที่นำไปสู่การสร้างความสมดุล มั่นคง ยั่งยืนให้กับทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจ นวัตกรรมของสินค้า/บริการที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการ เช่น ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คนในชุมชนทั้งใกล้และไกล เป็นต้น  

ดังนั้น ในการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสำเร็จ สมาชิกของธุรกิจครอบครัวควรจะมีกรอบความคิด (Growth Mindset) ที่ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะได้มีการระเบิดจากข้างใน ทำให้มุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรพอเพียงที่ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานในทางสายกลาง พอประมาณ มีเหตุมีผล สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นลำดับขั้นตอน

บูรณาการความร่วมมือกับคนในองค์กรทุกระดับอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ เพื่อ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รอบคอบ ระมัดระวัง คำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด ยึดมั่นในความรู้คู่คุณธรรม ซื่อสัตย์ อดทน ซึ่งล้วนเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่แท้จริง



การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินธุรกิจ จะช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอด (Survival rate) ให้กับธุรกิจครอบครัวได้จริง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

ตัวอย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มมิตรผล ฟาร์มโชคชัย แดรี่โฮม บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจครอบครัวที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากสังคมในวงกว้าง 

ปัจจัยสู่ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวที่ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

วัฒนธรรมความพอเพียง ปลูกฝังให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวใช้แนวทางในการประกอบธุรกิจหรือใช้ชีวิตร่วมกันอย่างพอเพียง คำนึงถึงความพอประมาณ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีเหตุมีผล ให้ความสำคัญกับความรู้และความรอบรู้ มีวินัยทางการเงิน อดออม ยึดมั่นในคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่น อดทน รอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตอย่างสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

กรอบความคิดในการปรับตัวเพื่อฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว  (Resilience Mindset) เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวพร้อมปรับตัวรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง ทันท่วงที โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ทำให้สามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาด้านยอดขาย ธุรกิจครอบครัวต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น แสวงหา/พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ มานำเสนอให้แก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ อยากกลับมาใช้บริการของธุรกิจครอบครัวต่อไป 



การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น สนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวมีการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม หรือเป็นธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ของโลก/ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีความยืดหยุ่น สามารถรับมือกับผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม 

การเสริมสร้างคุณธรรมให้แก่สมาชิกในธุรกิจครอบครัว เช่น ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมในตนเองให้มีความพอเพียง ทั้งในด้านวัตถุและด้านจิตใจ ได้แก่ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทน อดกลั้น คำนึงถึงผลประโยชน์ของธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก

ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวอยู่ร่วมกันด้วยความดี ความถูกต้อง และเป็นธรรม ทำให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี มีแรงบันดาลใจที่จะทำงานเพื่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มกำลัง ทำให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข มีความรัก ความผูกพันในธุรกิจครอบครัวและสมาชิกของครอบครัว พร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

โดยไม่ละทิ้งธุรกิจครอบครัวไปประกอบอาชีพอื่น ทำให้สามารถส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะเป็นผลให้ธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 



หลักของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังนี้

ห่วงที่ 1 พอประมาณ ยึดหลักความพอดี ได้แก่ การประกอบธุรกิจครอบครัว หรือการใช้ชีวิตของสมาชิกครอบครัวจะใช้สติปัญญาในการพิจารณาความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนพื้นฐานความไม่ประมาท ไม่หลงไปกับกระแสวัตถุนิยม ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่ใช้จ่ายเกินตัวหรือใช้เงินไม่คุ้มค่า เพื่อให้ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จะได้สร้างความเข้มแข็งและความสมดุล มั่งคง ยั่งยืนให้แก่ธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม

ห่วงที่ 2 มีเหตุผล ยึดหลักความมีเหตุผล ทำให้การคิดและการปฏิบัติมีหลักในการพิจารณาตัดสินใจจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่า จะได้รับ เพื่อให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัด ส่งผลให้การตัดสินใจในธุรกิจครอบครัวจะคำนึงถึงประโยชน์ของธุรกิจครอบครัวและสมาชิกของครอบครัวเป็นหลัก 

ห่วงที่ 3 มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ยึดหลักการบริหารความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะได้พร้อมปรับตัวรับมือกับปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างใช้สติและปัญญา โดยไม่หวั่นเกรงปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เพื่อให้การประกอบธุรกิจครอบครัวเป็นไปในทิศทางของการสร้างความสมดุลและความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว รวมทั้งการสร้างความสมดุลและความยั่งยืนของทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

ทั้งนี้ การบ่มเพาะทายาทธุรกิจครอบครัว ให้ซึบซับการใช้เงื่อนไขความรู้และคุณธรรม เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นลูกหลานได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ ทักษะในการประกอบธุรกิจที่สร้างสรรค์ ฯลฯ ในรูปแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เป็นไปในทิศทางของการเจิญเติบโตอย่างสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  

นอกจากนั้น เพื่อให้ทายาทธุรกิจเติบโตอย่างงดงาม ควรส่งเสริมให้ทายาทธุรกิจมีคุณธรรมประจำใจ เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน พร้อมสร้างครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกันก็มีความรัก ความผูกพันต่อธุรกิจครอบครัว พร้อมสืบทอดสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ธุรกิจครอบครัวเพื่อส่งต่อให้แก่คนในรุ่นต่อไป…จากรุ่นสู่รุ่น



ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยการผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับการใช้ภูมิปัญญาไทย/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจครอบครัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ จะได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหรือตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) ในปัจจุบันและในอนาคต



พบกันใหม่ กับสาระดี ๆ ของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในบทความหน้า 
ขอขอบคุณ GURU รับเชิญ :  รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
4004 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5300 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
6368 | 30/03/2024
‘ธุรกิจครอบครัว’ ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ให้เกิดความราบรื่น ยั่งยืน