Zero Waste Agriculture ธุรกิจเกษตรยุคใหม่เปลี่ยนขยะเป็นศูนย์ สร้างความยั่งยืนให้โลก

ESG
22/02/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 5940 คน
Zero Waste Agriculture ธุรกิจเกษตรยุคใหม่เปลี่ยนขยะเป็นศูนย์ สร้างความยั่งยืนให้โลก
banner
จากเวที COP27 มีการกล่าวถึงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ทำให้มีความต้องการอาหารสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร มาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของโลก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดเปลี่ยนขยะการเกษตรให้เป็นศูนย์ แล้วแนวคิด ESG จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร...ได้อย่างไร?



สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรในต่างประเทศ

จากงานวิจัย Global and regional drivers of land-use emissions แสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึง ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซมีเทน  โดยคำนึงถึงการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมทางการเกษตร  พบว่าประเทศที่ยากจนกว่าในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแอฟริกาใต้ ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
 
ส่วนในทวีปเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในระดับน้อยกว่า แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางภาคเกษตร มีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของประชากร

ส่วนทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยกว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เป็นลบ แต่อย่างไรก็ตาม มลพิษที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ยังคงมีสาเหตุมาจากการทำฟาร์ม

ส่วนทวีปยุโรป มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินต่ำที่สุด อยู่ที่ 0.5 ต่อคนต่อปี แต่ตัวเลขในภูมิภาคอื่นสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรโลกที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เกษตรกรและผู้กำหนดนโยบาย ต้องร่วมมือกันหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อโลก

อย่างไรตาม นักวิจัยได้เสนอแนวทางการจัดการด้านภาคเกษตร และการใช้ที่ดินเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ดีขึ้น จะช่วยลดการถางป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งดักเก็บคาร์บอนชั้นดี การเปลี่ยนมาใช้วิธีไถพรวนและเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงการจัดการดินและของเสียจากปศุสัตว์ รวมถึงการลดขยะอาหาร หรือเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวแบบใหม่ที่สร้างก๊าซมีเทนน้อยกว่า



ภาคการเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร?

พื้นที่การเกษตร เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เนื่องจากพื้นที่เกษตรทั่วโลกมีถึง 5,023 ล้านเฮกตาร์ หรือ ร้อยละ 40 - 50 ของพื้นที่ผิวโลก ก๊าซเรือนกระจกหลักที่ปล่อยมาจากพื้นที่เกษตร ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) โดยประมาณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 10 - 12 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งโลก 

 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร เป็นการปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุของจุลินทรีย์แ ละการเผาเศษวัสดุการเกษตรในที่โล่ง 



ส่วนก๊าซมีเทน เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุในสภาวะที่มีออกซิเจนจำกัดจากการย่อยอาหารของสัตว์ จากการหมักมูลสัตว์ หรือเศษซากพืช และจากนาข้าว ขณะที่ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เกิดจากการเปลี่ยนรูปของไนโตรเจนในดินและมูลสัตว์ ซึ่งส่วนมากเกิดจากการใส่ไนโตรเจนในปริมาณมากเกินความต้องการของพืช 



ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ผ่านมา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ทำให้มีความต้องการอาหารที่สูงขึ้น มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้น และคิดเป็น 3 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรทั้งโลก ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของโลก 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘Zero Waste’  คือ การกำจัดขยะให้มีปริมาณน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม หรือการทำให้ขยะเหลือศูนย์ ด้วยการเลือกใช้วัตถุที่สามารถนำกลับมาแปรรูปให้ใช้ได้ใหม่ ลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด



ภาคการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขนาดไหน?

ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก 54,000 ล้านตันต่อปี เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม จาก FAO ในระบบของภาคอาหารหรือ Food System มีการปล่อยก๊าซอยู่ที่ 16,500 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซ 7,200 ล้านตัน คิดเป็น 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ทำให้ภาคปศุสัตว์จัดเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซค่อนข้างสูง



ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคปศุสัตว์ จาก Academic พบว่าในส่วนของการผลิตอาหารสัตว์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45% การหมักในระบบการย่อยอาหารของสัตว์อีก 39% อันนี้เป็น 2 ส่วนสำคัญของภาคปศุสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง



การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ในปี 2559 มีการปล่อยก๊าซอยู่ที่ 354.4 ล้านตัน ภาคที่มีการปล่อยก๊าซสูงสุดคือภาคพลังงาน 72% ลำดับ 2 คือภาคเกษตร 52.2 ล้านตัน 14.7% โดยภาคการเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซมากสุด คือ การปลูกข้าว 51% รองลงมาอันดับ 2 และอันดับ 3 ใกล้เคียงกัน คือการปล่อยก๊าซออกไซด์จากดิน และปศุสัตว์ อยู่ที่ 21%



ทําไม? ภาคเกษตรต้องปรับตัว เพื่อรองรับกระแสโลกร้อน

เหตุที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์ต้องสนใจเรื่องก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีการส่งออกและมีมูลค่าสูงมาก เราส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จะกระทบต่อเกษตรกร ทำให้ผลผลิตและรายได้ลดลง เราจึงต้องปรับตัวและร่วมลดก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่แข็ง มีมูลค่าการส่งออกที่สูงไม่แพ้กัน มูลค่าที่มีการส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐมีสูงกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้น จึงต้องให้ความสำคัญ ถ้าทางยุโรป หรือสหรัฐฯ มีมาตรการอะไรที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรขึ้นมา อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ทิศทางโลกจึงมุ่งสู่พลังงานสะอาดและกระบวนการผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยประเทศสหรัฐอเมริกา จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (carbon  border tax) สำหรับสินค้านำเข้าที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน โดยจะจัดเก็บเมื่อผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มใช้ปี 2024 

ส่วนสหภาพยุโรป หรือ EU มีแผนปฏิรูปสีเขียว มาตรการสำคัญที่อาจกระทบผู้ประกอบการไทย คือ การเก็บค่าธรรมเนียม หรือภาษีคาร์บอน (CBAM) ของสินค้าที่นำเข้า เริ่มรายงานปี 2023 และบังคับใช้เต็มรูปแบบปี 2026  มาตรการเหล่านี้ มีโอกาสจะขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมภาคเกษตรในอนาคต  



‘Zero Waste Agriculture’ ทางออกการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

Zero Waste Agriculture หรือ เกษตรกรรมปลอดของเหลือ เป็นแนวคิดการทำเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนบนห่วงโซ่การจัดการผลผลิต ทั้งปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และ แปรรูปผลผลิตที่ได้ โดยนำของเหลือที่ไม่ได้ใช้จากห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงและแปรรูปทุกลำดับ ไปทำประโยชน์ต่อเนื่องโดยไม่เป็นสาเหตุการปนเปื้อนดินน้ำอากาศและชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้ Zero Waste Agriculture แต่เดิมเป็นเพียงกระแสด้านสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพด้านผลผลิต ซึ่งใครทำก็จะเป็นคนได้ประโยชน์ไป แต่เมื่อเกษตรกรรมได้เข้าสู่ยุคแห่งการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยมีการใช้ทั้ง IoT และ Artificial Interlligence/Machine Learning ในขั้นการใช้ DeepTech ตัวอย่างกรณีการทำเกษตรอาหาร ก็ให้ได้ผลผลิตเป็นอาหารใกล้ 100% ที่สุด จนของเหลือและขยะในห่วงโซ่มีน้อยใกล้ศูนย์ 
ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเก็บเกี่ยวใช้สอยที่ไม่เป็นอาหาร ก็สามารถแปรรูปและสร้างสมดุลของห่วงโซ่การผลิต จนของเหลือและขยะในห่วงโซ่มีน้อยใกล้ศูนย์เช่นกัน



ดังนั้น การพูดถึง Zero Waste Agriculture นับจากนี้ไป จึงไม่ได้มีแต่ เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy กับเกษตรเพื่อพลังงาน หรือ Green Energy รวมทั้งเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Environment และเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว หรือ Green Tourism อีกต่อไป 

เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ยังถือว่ามีของเหลือและส่วนเกินให้ต้องจัดการอยู่มาก ซึ่งบางกรณีมีมากยิ่งกว่าผลผลิตส่วนที่ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แรก หรือ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้จริงด้วยซ้ำไป

สะท้อนให้เห็นว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับโลกร้อนด้วยเทคโนโลยี มีความก้าวหน้า สามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก FAO พูดถึงการพัฒนาวิธีให้อาหารสัตว์ การจัดการมูลสัตว์ บางบริษัทผลิตอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยของสัตว์ เช่น อาหารไก่ไข่รักษ์โลก อาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปริมาณไนโตรเจนในสิ่งขับถ่าย หรือนำมูลสัตว์ไปทำความร้อน ผลิตกระแสไฟฟ้า การเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง  ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ ๆ  รวมถึงทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร 



ตัวอย่างฟาร์มที่ปรับตัวสู่วิถี Zero Waste Agriculture ได้อย่างครบวงจร อย่างเช่น บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด  ฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 400,000 ตัว ที่รีโนเวทฟาร์มเนื่องจากปัญหาของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คือชาวบ้านรอบบริเวณฟาร์มจะไม่ค่อยชอบเนื่องจากมีกลิ่นและแมลงวันรบกวน จึงทำให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเป็นฟาร์มสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น ไม่มีแมลง และของเสียเล็ดรอดออกไปนอกฟาร์ม 



โดยพื้นที่ฟาร์มทั้งหมดเกือบ 100 ไร่ จะใช้เลี้ยงไก่ 20% ส่วนอีก 80% จะปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอน โดยโรงเรือนไก่ไข่เป็นระบบปิดที่มีระบบการจัดการมูลไก่ด้วย ซึ่ง 1 วันมีประมาณ 40 ตัน ทำให้เป็น Zero Waste ด้วยการนำไปผลิตไบโอแก๊ส (Biogas) ปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในฟาร์ม ใช้ในฟาร์ม 100% ปั่นไฟใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการนำมูลไก่ไปหมักแล้วจำหน่ายเป็นปุ๋ย และมีฟาร์มจระเข้สำหรับกินไก่ที่ตายแล้วด้วย



อีกหนึ่งธุรกิจการเกษตรที่ใช้แนวคิด ESG ด้วย Zero Waste คือ บริษัท สุขสมบูรณ์ น้ำมันปาล์ม จำกัดปาล์ม ที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์  โดยวัตถุดิบปาล์มในโรงงานจะไม่มีอะไรเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากมีการจัดการแบบ Zero Waste เบื้องต้นจะใช้ปาล์มไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ก่อนที่จะนำพลังงานไปกลั่นน้ำมันพืช ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นการนำพลังงานมาหมุนเวียนใช้ในโรงงานทั้งหมด



โดยกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการภายใต้หลักการ Zero Waste คือ การนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยไม่เกิดการสูญเสียและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างครบวงจรที่มีความยั่งยืน (Sustainability)



ปัจจุบันกลุ่ม บริษัทสุขสมบูรณ์ ต่อยอดไปสู่โรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) และโรงไฟฟ้าชีวภาพ (Biogas) นอกจากทำโรงกลั่นแล้วยังต่อยอดไปเป็นภาคอุตสาหกรรม Oleochemical เรียกว่าจากปาล์มสู่ Bio Economy ที่จะมาทดแทน By-Product จากปิโตรเลียมพวกพลาสติก อุตสาหกรรมเคมี น้ำมันเครื่อง น้ำยาซักล้าง สบู่ ผงซักฟอก ทั้งหลายเหล่านี้ทำมาจากปิโตรเลียม แต่จากนี้ไปโลกเข้ามาสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า การใช้รถยนต์แบบเติมน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น By-Product จากปิโตรเลียมก็จะลดน้อยลงด้วย ส่งผลให้น้ำมันปาล์มและผลพลอยจากจากปาล์มจะมาทดแทนในตลาดนี้



สะท้อนให้เห็นว่า การใช้แนวคิด ESG ด้วย Zero Waste จะตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และเป็นต้นแบบให้ธุรกิจเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับอานิสงส์ในการทำธุรกิจ ไม่ถูกกีดกันทางการค้า รวมถึงโอกาสในการขอสินเชื่อที่สูงขึ้นด้วย 


อ้างอิง
โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)https://shorturl.asia/JTtf9
https://www.prachachat.net/public-relations/news-852035
https://www.sdgmove.com/2021/02/26/greenhouse-gas-farming-paris-agreement/
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
https://www.nectec.or.th/ace2022/wp-content/uploads/2022/09/SS10_2_%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A3.pdf
https://thaipublica.org/2014/09/organic-rice-research-and-greenhouse-gas-emissions/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2357 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3809 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3441 | 18/03/2024
Zero Waste Agriculture ธุรกิจเกษตรยุคใหม่เปลี่ยนขยะเป็นศูนย์ สร้างความยั่งยืนให้โลก