BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย ส่วนผสมความยั่งยืน

SME Update
26/02/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 4029 คน
BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย ส่วนผสมความยั่งยืน
banner
เมื่อสถานการณ์โรค Covid-19 เกิดขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ถูกบีบบังคับให้ขับเคลื่อนไม่ได้ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป นอกจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว วิกฤติการณ์นี้ยังทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือการที่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนที่เราใช้ไปกับการท่องเที่ยวได้โอกาสในการฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง



BCG Tourism คืออะไร ?

สำหรับแนวคิด BCG Tourism เป็นการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์กับการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบ่งปันประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ประเทศไทย เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในเรื่องอาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคมเกษตรกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายในประเทศ ถือว่าเป็นต้นทุนที่แข็งแรงต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว BCG Tourism ไปสู่ความยั่งยืน หากเข้าใจที่จะต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
 
โดยใช้แนวคิด ความยั่งยืน (Sustainability)  คือ ความใส่ใจรายละเอียดในทุกมิติที่ไม่ใช่แค่เพียงมิติด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันต้องประกอบไปด้วย 3 มิติด้วยกัน คือ ผู้คน (People) และผลกำไร (Profit) โลก (Planet)  หรือที่เราเรียกว่า 3P ที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลและนำมาปรับใช้กับธุรกิจ

โดยครอบคลุมด้านสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economic) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) ซึ่งในแนวคิดของความยั่งยืน (Sustainability) นั้นก็พัฒนามาจากการทำธุรกิจในสมัยก่อนที่เรามุ่งเน้นแต่เรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว

โดยไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบด้าน กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้แบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ นั้นต้องหันมาใส่ใจกับการให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ที่มากกว่าเรื่องของผลกำไร รวมทั้งคนใน Generation ใหม่ ๆ ก็ให้ความใส่ใจกับแบรนด์ที่ใส่ใจโลกและสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจยุคใหม่

เพื่อเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างสิ้นเปลือง หลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะให้สถานที่ท่องเที่ยวและพัฒนา หรือแปรรูปผลผลิตด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ จึงสามารถนำแนวคิด BCG Model มาประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีอินทรีย์ในไทยได้

ทั้งนี้การดำเนินงานภายใต้ BCG Model และยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะมีส่วนผลักดันให้เกิดรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมทางการเงิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม (Responsible Tourist) และเต็มใจใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสะท้อนภูมิปัญญาไทย ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสู่แนวทาง BCG Tourism เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ BCG Model เพื่อส่งเสริมธุรกิจสีเขียว แนวทางผสมผสานความยั่งยืน (Sustainability) ได้แก่

1. การท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน (Local Tourism)

ประเทศไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่หลากหลาย เช่น เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง เป็นต้น สามารถประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสอดแทรกแนวคิดความยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิลของเสีย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ 


 
ยกตัวอย่างเช่น ‘ไร่รื่นรมย์’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ที่ ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย สร้าง บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ สร้างคาเฟ่ และฟาร์มสเตย์ ที่มีทั้งร้านอาหารออร์แกนิกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น สด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย พร้อมที่พักท่ามกลางธรรมชาติล้อมรอบด้วยภูเขา สามารถชมวิวได้ 360 องศา พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าออร์แกนิก เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูปในแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มธัญพืช และยังมีศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และพลังงานสะอาด โดยจัดคอร์สอบรมทุกเดือน เช่น คอร์สการทำเกษตร คอร์สทำนา คอร์สทำอาหารและเบเกอรี่ อีกด้วย



โดยตั้งใจอยากเป็นเกษตรกรผลิตอาหารสะอาด ปลอดภัย เพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคทุกคน พร้อมยึดมั่นในการทำธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้บริโภค และระบบนิเวศโดยรวม ช่วยเกษตรกรมีความยั่งยืน (Sustainability)





อีกหนึ่งตัวอย่าง ในการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสู่แนวทาง BCG Tourism คือ ‘บันดาหยา’ แห่งเกาะหลีเป๊ะ ที่เมื่อนักท่องเที่ยวมายังเกาะหลีเป๊ะจะเกิดการใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ บันดาหยามองเห็นถึงความสำคัญในการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม จึงมีการสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร โดยใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และยังมีระบบการจัดการแยกขยะ มีการนำเศษอาหารมาทำแก๊สชีวภาพ ตอบโจทย์การใช้พลังงานซักผ้า - อบผ้า รีสอร์ทยอมลงทุนในส่วนนี้เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความยั่งยืน (Sustainability) 



นอกจากนี้ยังมีการทำโปรเจกต์ ‘เซฟหลีเป๊ะ’ ทุกปี เนื่องจากอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้ซึมซับธรรมชาติ แล้วสร้างกลับคืนให้กับเกาะหลีเป๊ะ เช่น บันดาหยาจะมีทริปสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีกิจกรรมแทรก อาทิ ปลูกปะการัง แล้วมาดูพัฒนาการเติบโตในปีหน้าว่าปะการังที่เราปลูกเป็นอย่างไรบ้าง 


 
โดยมีวัตถุประสงค์ก็คือต้องการปลูกฝังให้นักท่องเที่ยวมีการท่องเที่ยวแบบรักธรรมชาติ โดยใช้งบประมาณของรีสอร์ทเอง เพื่อร่วมคืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก นอกจากนี้รีสอร์ทยังผลักดันในเรื่องอื่น เช่น รณรงค์การเก็บขยะ มีการใช้กล่องพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มายังเกาะหลีเป๊ะมีจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการที่ดี ไม่มีการบำบัดน้ำเสีย สิ่งแวดล้อมที่อยู่กับเราจะอยู่ได้ไม่นาน 


2. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) 

หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 มนุษย์หันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงควรต่อยอดและยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาด ความปลอดภัย และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และร่วมมือกับชุมชนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม เช่น โรงแรมนำเสนออาหารสุขภาพโดยอุดหนุนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร  หรือส่งเสริมกิจกรรมทางสุขภาพ เช่น ปั่นจักรยาน เดินป่า ซึ่งเจ้าของธุรกิจร่วมมือกับชุมชนเพื่อสนับสนุนพื้นที่ นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและเป็นการกระจายรายได้แก่ชุมชนอีกด้วย



ยกตัวอย่าง เช่น  ‘พบสนุกม่อนแจ่ม’ สถานที่ท่องเที่ยวที่มาพร้อมกิจกรรมสุดตื่นเต้นท้าทายท่ามกลางธรรมชาติตอบแทนสังคมด้วยการพัฒนาชุมชนโดยรอบในพื้นที่ บ้านถวาย ต.ขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

ปัจจุบันการท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวาย ซึ่งเป็นแหล่งแกะสลักไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ค่อนข้างซบเซา จึงคิดอยากจะตอบแทนคนในท้องถิ่น ด้วยการทุ่มทุนเนรมิตพื้นที่กลางทุ่งนาของตนเองให้เกิดเป็นรีสอร์ท และร้านกาแฟ และมีกิจกรรมเพื่อให้ผู้มาท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรม ได้ออกกำลังกายกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวาย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกครั้ง  

นอกจากนี้ยังได้มีการจ้างงานคนในพื้นที่เข้ามาทำงาน ถือเป็นตัวอย่างการจ้างงานคนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเดิมทีทุ่งนาไม่ได้พัฒนามากขนาดนี้ ก็ได้ช่วยกันพัฒนาถนน มีไฟฟ้าใช้งาน ถือเป็นโอกาสในการตอบแทนสังคมด้วย





จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเล่าเรื่องที่ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของสินค้าและบริการได้ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี พร้อมทั้งต้องต่อยอดความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในมิติด้านการท่องเที่ยวมีศักยภาพมากขึ้น



 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนใน BCG Tourism 

เกษตรกร  

- ผลิตอาหารปลอดภัย ปลอดสารพิษ ส่งให้สถานประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร

- รับเศษขยะเหลือใช้จากโรงแรมมาทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในแปลงเกษตร

- ปรับปรุง สวน ไร่ ฟาร์มให้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาพัก

- ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านเกษตรปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว ผู้บริโภค  

-เลือกโรงแรม ร้านอาหารที่สนับสนุนธุรกิจสีเขียว เช่น ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์

-ใช้ทรัพยากรในโรงแรมให้เหมือนว่าทรัพยากรนั้นเป็นของเรา เช่น โรงแรมที่จัดอาหารแบบบุฟเฟต์ เราควรตักในปริมาณที่เรากินหมด เพื่อลดกระบวนการกำจัดขยะ

-ซื้อทริปสั้น ๆ ไปเที่ยวชมชุมชนรอบ ๆ โรงแรม เพื่อสนับสนุนชาวชุมชน ได้เอื้อประโยชน์การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนนั่นเอง



ผู้ประกอบการ SME ร้านอาหาร โรงแรม 

-เลือกซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ใช้วิธีปลูกแบบอินทรีย์ ออร์แกนิค

-เลือกซื้อสินค้าจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุน ลดพลังงานจากการขนส่ง

-แยกขยะอย่างเป็นระบบ ในส่วนขยะอินทรีย์ สามารถส่งให้เกษตรกรไปทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ หรือจะแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวไปลองใช้ที่บ้านก็ได้

-สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ให้เห็นถึงที่มาที่ไปของอาหาร ตั้งแต่ปลูก จนมาเป็นจานได้

-สามารถจัดอบรมให้กับฟาร์ม ไร่ ที่สนใจเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้



ใช้ BCG Model พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model จะช่วยให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวมีบทบาทร่วมกันในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน เชื่อว่ายังมีอีกหลายชุมชนที่ต้องการทำแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นวิถีอินทรีย์ด้วยแนวคิด BCG Model ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ ส่งเสริมโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้า GI ซึ่งจะทำให้เกิดกระจายรายได้สู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ในพื้นที่ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป

อีกทั้งการผลักดันแนวทางในการส่งเสริมเมืองรองและชุมชน เพื่อกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยนำเสนอ Local Experience เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจมาสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่โดยตรง ชูจุดเด่นโดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ในแง่มุมที่ต่างกันไป ต่อยอดความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดของเสียให้มากที่สุด (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


ที่มา
การท่องเที่ยวไทย
https://tatacademy.com/th/publish/articles/2393645f-50aa-43e5-930b-1b0f538e1402
https://tatacademy.com/th/publish/article/e64b2554-d206-4e07-8c83-5df6a1f4fe65
https://www.salika.co/2021/10/25/bcg-model-new-hope-for-tourism-industry/
https://osothoonline.com/bcg-tourism/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1049 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1388 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1667 | 25/01/2024
BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย ส่วนผสมความยั่งยืน