8 กับดักแบบไหน ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไทย...ไม่ตาย แต่ไม่โต

Family Business
26/01/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 23919 คน
8 กับดักแบบไหน ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไทย...ไม่ตาย แต่ไม่โต
banner
ปัญหาส่วนใหญ่ ของ ธุรกิจครอบครัว ที่หลาย ๆ ครอบครัวประสบอยู่เป็นประจำ นั่นคือมักจะติดอยู่ในกรอบความคิดบางอย่าง เช่น บางบ้านยึดติดแบบแผนดั้งเดิมที่รุ่นบุกเบิกสร้างไว้ หรือบางบ้าน รุ่นลูกหรือหลานไม่กล้าแสดงความเห็น เนื่องจากกลัวการไม่ยอมรับจากผู้ใหญ่ในครอบครัว วันนี้ เราได้รวบรวบ 8 กับดัก ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไทย...ไม่ตาย แต่ไม่โต ว่าอะไรคือ ปัญหาและแนวทางแก้ไข ควรทำอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ และนำไปปรับใช้กับธุรกิจ 



ติดอยู่ใน Comfort Zone ทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ไม่กล้าพัฒนา

ปัญหาเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จแล้วในรุ่นก่อตั้ง ที่ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นมาด้วยความยากลำบากทั้งสิ้น คนกลุ่มนี้จึงไม่เข้าข่ายการติดกับดัก แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้นกับทายาทเจนเนอเรชันที่ 2 หรือ 3 ที่เข้ามาบริหารในช่วงที่ธุรกิจ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวความผิดพลาด ทำให้เสียโอกาสในการก้าวหน้า

การที่คน ๆ หนึ่ง เติบโตขึ้นโดยไม่ได้เรียนรู้ปัญหา และได้รับการซัพพอร์ตโดยครอบครัว จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้ามาบริหารธุรกิจ อาจจะรับแรงกดดันไม่ได้ ทำให้ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจในทุกเรื่อง 

วิธีแก้ ทำได้โดย Family Business รุ่นผู้ใหญ่ ต้องบ่มเพาะทายาทตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดความเคยชินกับความสะดวกสบายจนเกินไป ฝึกให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหา บางบ้านให้ทายาท หาเงินส่งตัวเองเรียน หรือฝึกให้หารายได้พิเศษเองหากมีของที่อยากได้เป็นพิเศษ อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในบริบทใกล้เคียงกัน คือการปลูกฝังทายาทให้เข้าใจว่าการเป็นลูกหลานของเจ้าของธุรกิจ ไม่ได้หมายถึงการมีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น แต่หมายถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ต้องมากกว่าพนักงานทั่วไป



ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ

เจ้าของธุรกิจครอบครัวที่เปลี่ยนมือ มักจะประสบปัญหาเรื่องทายาท ขาดความเชื่อมั่น ต้องย้อนกลับไปดูว่าทำไมทายาทธุรกิจ ที่บริหารงานในตำแหน่งต่าง ๆ ถึงขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจเกิดจากความสำเร็จของผู้ใหญ่ พ่อ-แม่ ที่มีความสามารถและประสบการณ์เหนือกว่า ทำให้ความคิดของทายาท มีความเข้าใจว่าอำนาจการตัดสินใจแบบเด็ดขาด จะต้องเป็นของผู้มีอาวุโสมากกว่า หรือเมื่อตัดสินใจไปแล้ว ไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ทำให้ทายาทเกิดความกลัว

ทัศนคติของผู้ใหญ่บางคน ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ มักจะมองเรื่องความผิดพลาดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น จนส่งผลมาถึงทายาทที่มักจะมี Mindset ว่า  เมื่อไหร่ที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารที่มีอาวุโสกว่าเสมอ เพราะหากตัดสินใจเองแล้วผิดพลาดจะหมายถึงถูกต่อว่า และไม่ได้รับการยอมรับ

การที่คนจะเก่งได้ ต้องเรียนรู้ทั้งความสำเร็จ และความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนที่เพิ่มความแข็งแกร่งและเพิ่มความมั่นใจที่มากขึ้น



ทำธุรกิจแบบพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป

หากเราให้ใครเข้ามาเป็น CEO บริหารธุรกิจให้ ในฐานะเจ้าของ ต้องหมั่นเช็คว่า หากไม่มี CEO คนนี้แล้ว ธุรกิจของครอบครัวสามารถดำเนินงานต่อได้หรือไม่ ซึ่งหากครอบครัวมีระบบการสร้าง Successor หรือคนที่จะมารับช่วงต่อ มีการสอนงานให้ผู้รับสืบทอดอยู่ ก็จะรับมือความเสี่ยงได้ หากไม่มี ก็อาจจะลำบาก 

ความเสี่ยงที่ 2 คือ Agency Course คือการใช้มืออาชีพที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ เขาจะเลือกบริหารไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ หากความต้องการตรงกัน ก็ไม่มีปัญหา ในทางกลับกันหากเป็นแนวคิดคนละแบบ เจ้าของธุรกิจต้องมีความชัดเจน ว่าเราต้องการให้เขาขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางใดตั้งแต่การตกลงกันในช่วงแรก และหมั่นย้ำเตือน  พร้อมวางระบบ Monitor และ Audit ที่เหมาะสม หากระบบเข้มแข็ง ก็จะเป็นการควบคุมการบริหารจากคนนอกและธุรกิจครอบครัวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ 



ไม่มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน

คนที่เป็นคนวางเป้าหมาย ย่อมต้องเป็นคนในครอบครัว ถ้าในครอบครัวสามารถสื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมา ปัญหาเรื่องนี้จะน้อยลง แต่หากในครอบครัวบางบ้าน สมาชิกไม่สามารถพูดความต้องการได้อย่างแท้จริง เพราะอาจจะไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดความไม่สะดวกใจ หรือสมาชิกบางคนที่มีอำนาจเหนือคนอื่น ๆ ด้วยความอาวุโส มีความมั่งคั่ง มีฐานะที่ดีกว่า จึงมีอิทธิพลในการโน้มน้าวสมาชิกคนอื่น ๆ ให้ทำตามได้ 

หากจะลดปัญหาเรื่องนี้ ข้อแรกคือ ทุกคนต้องกล้า ที่จะพูดถึงเป้าหมายที่จะนำพาธุรกิจไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หากสมาชิกทุกคนมีวิจารณญาณที่ดี มีการรับฟังกัน ก็จะมีการสื่อสารด้านการบริหารธุรกิจให้ออกมาในแง่มุมที่ดี 



ขาดการบริหารความเสี่ยงทางกฎหมาย

เรื่องของภาษี ย่อมมาคู่กับความมั่งคั่งของการทำธุรกิจครอบครัว ที่ต้องให้ความสำคัญ เมื่อธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น การป้องกันความเสี่ยงจากข้อขัดแย้ง หรือการทำผิดข้อตกลงที่มีร่วมกัน เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเอกสารในทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น เรามีการตกลงกันในครอบครัวว่าจะไม่ขายหุ้นให้คนนอก

 ซึ่งในขณะที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังราบรื่น อาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อไหร่ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิก มีการกระทบกระทั่งกัน เมื่อถึงจุดหนึ่ง สมาชิกบางคนอาจจะเกิดความรู้สึกว่า อยากจะขายหุ้นให้คนอื่นเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจแทน  ก็อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางลบ ด้วยเหตุนี้ การทำเอกสารข้อตกลงระหว่างสมาชิกในครอบครัว จึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่น 1.ข้อบังคับบริษัท 2.พินัยกรรม 3.สัญญาผู้ถือหุ้น 

บางบ้าน ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่มากกว่านั้น ก็อาจจะเพิ่มสัญญาก่อนสมรส กรณีที่เป็นสามี ภรรยา เพื่อให้ข้อตกลงไม่ถูกบิดพลิ้ว เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป



ไม่เปิดใจรับฟัง

กับดักนี้ มีหลายสาเหตุ เช่นคนที่อยู่ต่างเจนเนอเรชัน เมื่อมองไปที่สมาชิกในครอบครัวอาจจะมีความต่างระหว่างกัน เช่น รุ่นก่อตั้งที่เป็นผู้ใหญ่ อาจจะเห็นว่าทายาท ขาดประสบการณ์ในการทำงาน  ไม่มีความสามารถมากพอในการดำเนินธุรกิจ มีอคติ ขณะเดียวกัน เด็ก มักจะมองผู้ใหญ่ว่า ทำอะไรแบบเดิม ๆ ซึ่งสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไป แต่ผู้ใหญ่ไม่มีการปรับใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น กลายเป็นภาพที่มองมีความต่างระหว่างช่วงวัยของกันและกัน 

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ อาจจะทำได้โดยมีเวทีสำหรับเปิดใจคุยกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว หรืออาจจะหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น และกล้าที่จะเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น



ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือหยุดพัฒนาตัวเอง

บางธุรกิจครอบครัว จะมีการวางรากฐานเพื่อปูทางสู่การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ ให้แก่สมาชิกในครอบครัวตนเอง ที่เรียกว่า หลักสูตรครอบครัว แต่หลายบ้านยังติดกับดักเรื่องความเคยชิน และไม่ไขว่คว้าหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การทำงาน ทำให้ขาดกาสการเติบโต

ซึ่งการเรียนรู้นั้น อาจจะไม่ต้องมีการวางแผนมาก่อน แต่เกิดจากความใฝ่เรียนรู้ ซึ่งเรียกว่าเป็นการพัฒนาตนเองตามโอกาสที่เข้ามาแบบไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งการทำธุรกิจ ต้องหมั่นพัฒนาเพื่อก้าวให้ทันโลก ปัญหาของวัยผู้ใหญ่ คืออาจจะมีความสำเร็จที่สร้างมาเอง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติม หรือด้วยภาระความรับผิดชอบที่มาก ทำให้ไม่มีโอกาสในการหาความรู้ใหม่ ๆ ขณะที่เด็ก ๆ จะมีเวลาที่มากกว่า ทำให้เรียนรู้ได้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ

สิ่งที่ควรทำคือ แม้คุณจะเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ยังต้องวางแผนการจัดทำโปรแกรมเพื่อพัฒนาสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นทางการ บางหัวข้อ เช่น หลักสูตรการเปิดใจรับฟังคนรอบข้าง ซึ่งอาจจะบังคับให้เรียนทุกคนเพื่อการอยู่ร่วมกัน  บางหัวข้อ สำหรับผู้บริหาร หรือบางหัวข้อ สอนสำหรับคู่สมรสโดยเฉพาะ นอกจากนี้ควรมี Workshop หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เป็นต้น



ไม่สรรหา ‘มืออาชีพ’

หากธุรกิจครอบครัว ขาดมืออาชีพมาทำงานด้วย อาจจะมาจากการที่ผู้บริหารระดับสูงไม่มั่นใจว่า บุคคลนั้น สามารถบริหารงานในรูปแบบของธุรกิจครอบครัว ที่ประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัวที่มาร่วมบริหารด้วย ได้หรือไม่ เพราะในช่วงเวลาที่ต้องมีการคัดเลือกคนมาบริหารในตำแหน่งสำคัญ ๆ สมาชิกในครอบครัวมักจะมีโอกาสมากกว่ามืออาชีพ ซึ่งเป็นคนนอกที่เก่ง และมีทางเลือก อาจจะรู้สึกลังเลในการเข้าร่วมในธุรกิจครอบครัว

ขณะที่ บางครอบครัว ก็มองข้ามความจำเป็นที่จะต้องใช้คนนอกเข้ามาร่วมบริหาร เพราะเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง รวมถึง เรื่องหนึ่งที่อาจจะเป็นปัญหา คือเมื่อตัดสินใจเลือกมืออาชีพที่มีศักยภาพสูงเข้ามาบริหาร ธุรกิจครอบครัว จะต้องจ้างในอัตราเงินเดือนที่สูงมาก ๆ ทำให้เลือกที่จะบริหารครอบครัวเฉพาะคนในครอบครัวเดียวกัน  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องพิจารณาถึงลักษณะของครอบครัวที่แตกต่างกันมาประกอบการตัดสินใจด้วย เช่น หากคนในครอบครัวมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือขาดทักษะในการบริหารงานเฉพาะด้าน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ 

หากผู้นำธุรกิจครอบครัว มีการเลือกใช้มืออาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหาร มีวิสัยทัศน์ที่ดี ที่จะนำธุรกิจให้เติบโตไปในแนวทางที่วางไว้ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้การทำธุรกิจ ประสบความสำเร็จ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
117 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
4996 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4576 | 30/03/2024
8 กับดักแบบไหน ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไทย...ไม่ตาย แต่ไม่โต