เยือนครั้งใด..ก็ใจระรัว ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ ที่พักเกาะหลีเป๊ะ ความลงตัวชวนหลงใหล ใส่ใจสังคมด้วยแนวคิด Sustainability

SME in Focus
08/04/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3538 คน
เยือนครั้งใด..ก็ใจระรัว ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ ที่พักเกาะหลีเป๊ะ ความลงตัวชวนหลงใหล ใส่ใจสังคมด้วยแนวคิด Sustainability
banner
‘เกาะหลีเป๊ะ’ สเปกแหล่งท่องเที่ยวขวัญใจชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งการจะฮอตฮิตติดตลาดเช่นในปัจจุบันแน่นอนว่านอกจากสถานที่ต้องมีความสวยงามทางธรรมชาติแล้ว ยังต้องมีการประชาสัมพันธ์ การทำ Marketing ทั้งการตลาดออฟไลน์และการตลาดออนไลน์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักด้วย Bangkok Bank SME ขอพาไปรู้จัก บริษัท บันดาหยา รีสอร์ท จำกัด เจ้าของธุรกิจ ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ และ ‘บันดาหยา วิลล่า’ หนึ่งในผู้บุกเบิกในการทำให้เกาะหลีเป๊ะดังไกลไปทั่วโลก 

สร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวให้กับเกาะดังแห่งจังหวัดสตูล ที่สำคัญดำเนินกิจการด้วยแนวคิด Sustainability คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับสังคม - ผู้คน และชุมชนท้องถิ่น แล้วทำให้นักท่องเที่ยวสุดประทับใจด้วย ‘เซอร์วิส’ อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วคุณจะหลงรัก ‘บันดาหยา’



ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นที่รัก ให้ทั้งโลกได้รู้จัก

คุณภัทรภร กวีรัชต์ Managing Director (MD) บริษัท บันดาหยา รีสอร์ท จำกัด เผยว่า เดิมทีคุณพ่อและคุณแม่ทำอาชีพประมงสมัยนั้นธุรกิจเฟื่องฟูมากเลยก็คือแพปลา ทางบ้านจึงมีการธุรกิจรับซื้อปลาสดด้วย ก่อนที่คุณพ่อจะเห็นโอกาสจากการที่ตนเองต้องนำปลาที่ซื้อมาไปฝากแช่ตามห้องเย็นต่างๆ เกิดแนวคิดอยากจะทำธุรกิจห้องเย็น ก่อนกลายเป็นอีกหนึ่งกิจการของธุรกิจครอบครัว (Family Business) ในปัจจุบัน

ด้วยความที่ทางบ้านไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนด้วยกัน แต่มีหนึ่งสถานที่ซึ่งเมื่อมีเวลาก็จะไปท่องเที่ยวกันทั้งครอบครัวหรือชวนเพื่อนมาร่วมทริปด้วยกันเสมอก็คือ ‘เกาะหลีเป๊ะ’ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป็นโอกาสประจวบเหมาะพอดี เนื่องจากมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะอยากพัฒนาที่ดิน โดยเป็นพื้นที่ตั้ง ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ และละแวกใกล้เคียงในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตมีโรงแรมหรือรีสอร์ทที่ใหญ่ๆ อยู่ 2 แห่ง แต่เป็นลักษณะ Local ซึ่งไม่มีบริการครบครันและตลอด 24 ชั่วโมง 


คุณภัทรภร กวีรัชต์ Managing Director (MD) บริษัท บันดาหยา รีสอร์ท จำกัด

“จากที่ทางบ้านเคยไปเที่ยวที่อื่น แล้วเราก็ชอบเกาะหลีเป๊ะมาก ซึ่งในอดีตการเดินทางค่อนข้างลำบากใช้เวลาเดินทางจากฝั่งมาที่เกาะหลีเป๊ะประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง แต่ยังยอมเสียเวลาเดินทางเพราะเกาะสวยจริงๆ ก่อนเกิดแนวคิดทำธุรกิจรีสอร์ท” 

ก่อนที่ตนเองจะตัดสินใจมาช่วยทางบ้านทำธุรกิจรีสอร์ทอย่างจริงจังหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งตอนนั้นรีสอร์ทยังไม่มีชื่อ จึงต้องเริ่มคิดชื่อแบรนด์ เริ่มสร้างแบรนดิ้งตั้งแต่การก่อสร้างที่พักยังไม่แล้วเสร็จ มีการสเก็ตช์ห้องต้นแบบออกมา มีการเซ็ตอุปกรณ์ในห้องพักจะมีอะไรบ้าง แล้วก็มีส่วนกลาง รวมถึงร้านอาหาร ซึ่งช่วงนั้นทำกันเองทั้งหมด ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 2549

จากนั้นมีการไปออกบูธงานท่องเที่ยวที่กรุงเทพฯ เพื่อทำให้เป็นที่รู้จัก อธิบายว่าเกาะหลีเป๊ะคือที่ไหน สวยงามอย่างไร ซึ่ง ณ ตอนนั้นคนไทยยังรู้จักค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังได้มีการออกบูธตามประเทศต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติรู้จักเกาะหลีเป๊ะมากขึ้นด้วย 



มีที่มาอย่างไร ทำไม? รีสอร์ทจึงชื่อ ‘บันดาหยา’

ในเรื่องนี้ คุณภัทรภร อธิบายว่า ตอนแรกมีการคิดชื่อค่อนข้างหลากหลาย หากใช้คำว่า ‘หลีเป๊ะ’ ก็จะซ้ำกับที่อื่น ไม่ Unique ซึ่งแต่ก่อนหาดที่รีสอร์ทตั้งอยู่นักท่องเที่ยวจะเข้าใจว่าคือหาดพัทยา แต่ที่จริงแล้วชื่อหาดบันดาหยา ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของเกาะหลีเป๊ะ โดยเป็นชื่อลมซึ่งลมนี้จะพัดรุนแรงมากโดยจะมีปีละหนึ่งครั้ง บ่งบอกว่าถึงช่วงไฮซีซั่นของเกาะหลีเป๊ะ

ตนเองจึงคิดว่าชื่อนี้เหมาะเป็นชื่อรีสอร์ท เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าหาดนี้ที่รีสอร์ทตั้งอยู่คือหาดบันดาหยา นำมาสู่ชื่อแบรนด์ ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ ด้วยความตั้งใจอยากให้ผู้คนที่เรียกหาดบันดาหยาตามชื่อที่ถูกต้อง และยังเป็นการสร้างสตอรีให้กับรีสอร์ทด้วย ช่วยให้ผู้คนจดจำได้ 



How to customer come to ‘Koh Lipe’

MD บริษัท บันดาหยา รีสอร์ท จำกัด กล่าวว่า ในอดีตการเดินทางมาที่เกาะหลีเป๊ะค่อนข้างลำบาก ใช้เวลานานประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง เพราะมีแต่เรือเดินทางที่เป็นเรือไม้ โดยเป็นเรือประมงดัดแปลง เห็นความลำบากในการเดินทาง เกิดความรู้สึกว่าควรต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

นำมาสู่ไอเดียทำธุรกิจ ‘บจ.บันดาหยา สปีดโบ๊ท’ รวมถึงการสร้างเส้นทางเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังเกาะหลีเป๊ะได้หลากหลายเส้นทาง เช่น เส้นทางจากจังหวัดภูเก็ต เกาะไหง เกาะมุก เกาะพีพี เกาะบุโหลน, เส้นทางที่มาจากจังหวัดสตูล, เส้นทางที่มาจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยทุกเส้นทางในการเดินทางด้วยเรือสปีดโบ๊ทมายังเกาะหลีเป๊ะจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง



‘บันดาหยา’ ทำธุรกิจ..ด้วยแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคม

คุณภัทรภร เล่าว่า เมื่อนักท่องเที่ยวมายังเกาะหลีเป๊ะจะเกิดการใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะพอสมควร บันดาหยามองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีการสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร โดยใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และยังมีระบบการจัดการแยกขยะ มีการนำเศษอาหารมาทำแก๊สชีวภาพ ตอบโจทย์การใช้พลังงานซักผ้า - อบผ้า รีสอร์ทยอมลงทุนในส่วนนี้เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความยั่งยืน (Sustainability) 

นอกจากนี้ยังมีการทำโปรเจกต์ ‘เซฟหลีเป๊ะ’ ทุกปี โดยเริ่มเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว เนื่องจากอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้ซึมซับธรรมชาติ แล้วสร้างกลับคืนให้กับเกาะหลีเป๊ะ เช่น บันดาหยาจะมีทริป 3 วัน 2 คืนสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีกิจกรรมแทรก อาทิ ปลูกปะการัง แล้วมาดูพัฒนาการเติบโตในปีหน้าว่า ปะการังที่เราปลูกเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น

โดยมีวัตถุประสงค์ก็คือต้องการปลูกฝังให้นักท่องเที่ยวมีการท่องเที่ยวแบบรักธรรมชาติ โดยใช้งบประมาณของทางรีสอร์ทเอง เพื่อร่วมคืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก แต่การระบาดของโควิด 19 ทำให้ต้องหยุดโปรเจกต์ชั่วคราว แต่รีสอร์ทก็ยังผลักดันในเรื่องอื่น เช่น รณรงค์การเก็บขยะ มีการใช้กล่องพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มายังเกาะหลีเป๊ะมีจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการที่ดี ไม่มีการบำบัดน้ำเสีย สิ่งแวดล้อมที่อยู่กับเราจะอยู่ได้ไม่นาน 

“เรามองว่าที่นี่คือบ้าน ไม่ใช่ที่ที่จะหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว เรามาทำธุรกิจที่นี่เพราะรักเกาะหลีเป๊ะจริงๆ อยากพัฒนาให้มีความเจริญ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”



ใคร? คือกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่สนใจเข้าพักกับ ‘บันดาหยา’

สำหรับเรื่องนี้ คุณภัทรภร เผยว่า ช่วงแรกๆ ในการทำธุรกิจรีสอร์ทจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศจากแถบสแกนดิเนเวียมาเข้าพักเกือบ 100% ตามมาด้วย ไทย มาเลเซีย จีน ซึ่งลักษณะการเข้าพักจะค่อนข้างแตกต่างกันคือ นักท่องเที่ยวยุโรปจะค่อนข้างพักนานอย่างน้อย 7 คืน เป็นต้น ส่วนนักท่องเที่ยวเอเชียจะเข้าพักประมาณ 3 วัน 2 คืน 

ช่วงก่อนการเกิดโควิด 19 นักท่องเที่ยจากแถบสแกนดิเนเวียจะอยู่ที่ 50% เอเชีย 50% โดยเกาะหลีเป๊ะเป็นการท่องเที่ยวแบบซีซั่นนอลประมาณ 7 เดือน (เดือน พ.ย. - พ.ค.) นักท่องเที่ยวยุโรปจะมาท่องเที่ยวบ้านเรา โดยช่วงไฮซีซั่นก่อนโควิด 19 ยอดจองห้องพักไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 หากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น (มิ.ย. - ต.ค.) จะมียอดจองห้องพักจากคนเอเชียเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ 30 - 40% ซึ่งพอเกิดการระบาดของโควิด 19 ทำให้ยอดการเข้าพักจากนักท่องเที่ยวยุโรปหายไป 



โควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างไรกับรีสอร์ท

คุณภัทรภร กล่าวว่า รีสอร์ทได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักมาก แต่ถ้าหาก ‘บันดาหยา’ ยอมแพ้ก็จะมีพนักงานนับร้อยคนที่ต้องกลายเป็นคนว่างงานไปด้วย จึงมีการพูดคุยกันว่าอาจต้องมีช่วงปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของทางภาครัฐ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเราต้องอยู่ให้รอด ประคับประคองกันไป เพื่อให้ทุกฝ่ายไปรอดทั้งพนักงานและธุรกิจ ซึ่งพนักงานก็เข้าใจ ร่วมด้วยช่วยกันฝ่าฟันวิกฤต และมีการปรับตัว Business Transformation เช่น เมนูอาหารจากเมนูต่างชาติ ก็ต้องปรับให้เป็นเมนูสำหรับคนไทยมากขึ้น ทำให้ออเดอร์หลากหลายมากขึ้น มีชาบู หมูกระทะ เพื่อให้ได้ฟีลลิ่งทะเลมากขึ้น เพราะบางคนอาจไม่ได้อยากรับประทานข้าว ปิ้งย่าง อาหารต่างชาติ การทำให้เมนูมีความหลากหลายจะช่วยดึงกลุ่มลูกค้าได้ 

“สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ยังมียอดเข้าพักไม่ถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ แต่คาดว่าในอนาคตสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เนื่องจากผู้คนเริ่มปรับตัวรู้จักป้องกันตนเองจากโควิด 19” 



ทำไม? ‘การรีวิว’ จึงเป็น Marketing ที่ดีที่สุด

คุณภัทรภร เผยเหตุผลให้เห็นภาพว่า สิ่งที่ตนเองบอกกับพนักงานทุกคนอยู่เสมอคือ เราต้องเซอร์วิสนักท่องเที่ยวให้ดี เพราะเป็นช่องทาง Marketing ที่ดีที่สุดของรีสอร์ท ดังนั้นการให้บริการต้องคิดว่าเมื่อเราไปเที่ยวอยากได้อะไร คำตอบแบบไหน เราก็ควรปฏิบัติแบบนั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจใน ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ ก็จะมีการบอกต่อกับเพื่อน ครอบครัว และคนอื่นๆ ว่าควรมาพักที่นี่ รวมถึงการทำให้รีสอร์ทเป็นที่รู้จักผ่านโซเชียลมีเดีย

Marketing ยุคนี้ ต้องทำให้ลูกค้าเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์ เพราะโลกออนไลน์เชื่อมถึงกันหมด เราต้องทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่างานบริการอาจมีผิดพลาดกันได้ แต่การแก้ไขทันทีคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ดีตรงไหนต้องพร้อมปรับปรุง อันไหนที่ดีก็น้อมรับไว้แล้วไปบอกพนักงาน ลูกค้าที่มาเที่ยวไม่ใช่ว่าใช้บริการเสร็จแล้วผ่านไป เพราะลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำสำคัญมาก เนื่องจากการมาใช้บริการอีกครั้งต้องเกิดจากความประทับใจ ภูมิใจในแบรนด์ของเรา จึงยินดีที่จะกลับมาใช้บริการจากบันดาหยา รีสอร์ทอีกครั้ง
 


ส่งท้ายบทสัมภาษณ์ คุณภัทรภร ได้ฝากถึงผู้ประกอบการ SME ว่า เราพัฒนาตัวเองและองค์กร อย่าลืมดูแลบุคลากรในองค์กรด้วย เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และเมื่อองค์กรพัฒนาแล้วสิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ‘สังคม’ ต้องคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง ซึ่งจะส่งผลดีทำให้กิจการมีความยั่งยืน (Sustainability) เนื่องจากธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องมีสังคมต้องมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น รีสอร์ทส่งเสริมให้มีโรงเรียน การสร้างโรงพยาบาลในเกาะหลีเป๊ะ เราต้องนึกถึงตัวเราและสังคมด้วย อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME เกิดความยั่งยืนอยู่ได้นาน

รู้จัก ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ เพิ่มเติมได้ที่






Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
273 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
322 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
952 | 17/04/2024
เยือนครั้งใด..ก็ใจระรัว ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ ที่พักเกาะหลีเป๊ะ ความลงตัวชวนหลงใหล ใส่ใจสังคมด้วยแนวคิด Sustainability