เคล็ด(ไม่)ลับ ส่งไม้สืบทอดธุรกิจครอบครัว วางแผนอย่างไร? ให้ประสบความสำเร็จ

Family Business
10/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 12123 คน
เคล็ด(ไม่)ลับ ส่งไม้สืบทอดธุรกิจครอบครัว วางแผนอย่างไร? ให้ประสบความสำเร็จ
banner
การส่งต่อความสำเร็จในธุรกิจครอบครัว (Family Business) จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งหรือทายาทธุรกิจนั้น นับว่าเป็นความท้าทายของ ผู้ส่งมอบและผู้รับมอบธุรกิจ เนื่องจากการเริ่มต้นกิจการนั้นอาจเริ่มจากความชอบ - ความสามารถของผู้ก่อตั้งธุรกิจในรุ่นแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทั้งจากภายในและภายนอกส่งผลไปถึงกระบวนการส่งต่อธุรกิจให้กับทายาทธุรกิจ ดังนั้น การวางแผนสืบทอดจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กิจการของครอบครัวนั้นสามารถยืนหยัดต่อไปอีกหลายเจเนอเรชัน 

รุ่นส่งมอบควรเตรียมตัวและวางแผนอย่างไร เพื่อส่งไม้ต่อการสืบทอดธุรกิจครอบครัว (Family Business) สู่ทายาทธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ประสบความสำเร็จเป็นไปอย่างราบรื่น





การวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว (Family Business) ล่วงหน้าสำคัญมาก


การส่งต่อหน้าที่ หรือความรับผิดชอบภายในธุรกิจครอบครัว (Family Business) มักจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเป็นเรื่องที่ครอบครัวมักไม่พูดคุยกัน บางครอบครัวโชคดี ได้รุ่นพ่อ - รุ่นปู่ที่ไว้ใจ และให้อิสระแก่รุ่นถัดมาได้บริหารงานอย่างเต็มที่ และเกษียณตัวเองออกไปดูแลอยู่ห่างๆ แต่ครอบครัวส่วนมากในกิจการครอบครัว รุ่นพ่อหรือปู่มักจะยังไม่ปล่อยมือจากกิจการง่ายๆ เนื่องจากยังห่วงกิจการอยู่ หรือยังไม่ไว้ใจให้รุ่นถัดไปขึ้นมาสืบทอด เรียกได้ว่าอยากทำงานจนลมหายใจสุดท้าย ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เสมือนการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมให้รุ่นต่อไปได้เข้ามารับช่วงกิจการต่อ

การวางแผนสืบทอดธุรกิจให้ทายาทธุรกิจใช้เวลานาน อาจเป็นเวลาหลายปี


การวางแผนสืบทอดให้ออกมามีประสิทธิภาพนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และต้องมีเวลาให้ผู้ที่จะขึ้นมารับช่วงต่อได้เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของการเรียนรู้งาน การบริหารงาน การร่วมงานกับคนในครอบครัว ซึ่งบางคนที่ต้องมารับช่วงต่อโดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงาน หรือไม่มีความรู้ด้านธุรกิจของครอบครัวเลย การรับช่วงต่อธุรกิจโดยไม่ได้วางแผนก็อาจทำให้ธุรกิจชะงัก - การบริหารงานไม่ราบรื่น ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้า 5 - 10 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มีความพร้อมในด้านทักษะทางธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

จากรายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัว (Family Business) ทั่วโลกปี 2564 (ฉบับประเทศไทย) ระบุว่า ธุรกิจครอบครัวไทย 11% มีการเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการสืบทอดธุรกิจ โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร และสื่อสารอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับ 30% ของธุรกิจครอบครัว ทั่วโลก นอกจากนี้ แม้ในปี 2564 ธุรกิจครอบครัวไทยอยู่ในระยะชะลอตัว แต่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้น 58% ในปี 2565



เข้าใจปัญหา ‘ธุรกิจครอบครัว’ อะไร? คืออุปสรรคในการสืบทอด


การที่ธุรกิจครอบครัว ไม่สามารถถ่ายโอนธุรกิจไปสู่ทายาทรุ่นต่อไปให้สืบทอดธุรกิจต่อไปได้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่มักเกิดจากที่คนรุ่นพ่อแม่ยังไม่ไว้วางใจในตัวทายาทที่จะเข้าสืบทอดตำแหน่งมากนัก ทำให้พนักงานเกิดความสับสนว่าจะเชื่อฟังใคร อีกทั้งผู้สืบทอดตำแหน่งอาจร้อนวิชาเกินไป ต้องการที่จะดำเนินธุรกิจในแบบของตนเองโดยไม่ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน จนทำให้เกิดความผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ผู้สืบทอดตำแหน่งอาจมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญกับค่านิยมองค์กร จนอาจนำมาสู่ค่านิยมองค์กรผิดเพี้ยนไป 

ปัญหาของไทยธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่เหมือนกับต่างประเทศ 


- ขาดการจัดโครงสร้างที่ดี
- ขาดการวางแผนกลยุทธ์ด้านธุรกิจและการเงิน
- ขาดกลไกการจัดสรรผลประโยชน์
- ขาดมาตรการทางกฎหมายในการระงับข้อพิพาท
- ขาดกรรมการอิสระหรือที่ปรึกษาที่มีความรู้ มีประสบการณ์
- ขาดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิก
- ขาดนโยบายการจ้างงานโดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัวที่เข้ามาทำงาน
- ขาดมืออาชีพที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
- ขาดแนวคิดแยกปัญหาระหว่างธุรกิจ หรือครอบครัว
- ขาดการวางแผนถ่ายโอนอำนาจและเลือกผู้นำในครอบครัว

 

3 เคล็ด(ไม่)ลับ ส่งไม้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) อย่างไร? ให้ประสบความสำเร็จ 


1. วางแผน เตรียมปลูกฝังทายาท เพื่อเตรียมส่งมอบ

การจะส่งมอบธุรกิจครอบครัว ควรเริ่มต้นให้เร็ว โดยการวางตัวผู้นำและปลูกฝังประสบการณ์ด้วยการให้ทายาทเข้ามาฝึกงานในช่วงที่กำลังเรียนอยู่ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการสืบทอด ทั้งการทำงานในแผนกต่างๆ การตั้งโจทย์ให้ทายาทเข้าไปรับผิดชอบ การจำลองตั้งคณะกรรมการธุรกิจกรณีมีลูกหลานหลายคนเพื่อวางแผนตามที่ได้มอบหมาย และนอกจากการบริหารอย่างมืออาชีพแล้ว อาจต้องมีที่ปรึกษามืออาชีพด้วย เพื่อนำประสบการณ์ของที่ปรึกษามาช่วยผู้นำรุ่นใหม่บริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
 
2. กำหนดกติกา สร้างข้อตกลงร่วมกัน 

ควรสร้างกฎกติกาข้อตกลงร่วมกันในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นแผนการจ้างงาน วางแผนสำหรับการเกษียณอายุของผู้นำ จัดตั้งธรรมนูญครอบครัว ภาษี กฎหมาย ทรัพย์สิน การวางแผนการลงทุน และการเงินให้มีประสิทธิภาพ  นอกจากกำหนดกฎกติกาแล้ว ควรจะต้องมีคณะกรรมการเพื่อช่วยในการพิจารณา คัดเลือก ประเมินผล ทายาทที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการคัดเลือกผู้นำตามกฎเกณฑ์ได้อย่างมีมาตรฐาน จะนำมาซึ่งแผนการเติบโตในหน้าที่การงาน และผลตอบแทนต่างๆ ที่จะได้รับในการทำงาน ส่งเสริมให้ธุรกิจครอบครัว สามารถส่งมอบให้รุ่นต่อไปได้อย่างประสบความสำเร็จ


3. ความสามัคคีเป็นสิ่งที่ต้องทำ 

กระบวนการสืบทอดกิจการที่ดีควรสร้าง รักษา และส่งเสริมความสามัคคีในครอบครัว เนื่องจากบ่อยครั้งการไม่ลงรอยกันของครอบครัวถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของความสำเร็จในการวางแผนสืบทอดกิจการ ดังนั้นความสามัคคีนอกจากจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ยังสื่อถึงคุณภาพที่มุ่งเน้นในการบริหารธุรกิจอีกด้วย



สรุป 10 กลยุทธ์การส่งผ่านธุรกิจให้ทายาทธุรกิจ


1. ไม่ควรให้รุ่นที่ 3 ขึ้นตำแหน่งใหญ่ทันที
2. ไม่ควรแต่งตั้งให้สมาชิกครอบครัวเป็นกรรมการในบริษัทเลยทีเดียว
3. ช่วงส่งผ่านธุรกิจเจ้าของควรดูแลกำกับอยู่ห่างๆ
4. เจ้าของธุรกิจไม่ควรสอนลูกเอง
5. ควรเน้นการสร้างระบบ โดยการจ้างมืออาชีพ
6. คนรุ่นใหม่ไม่ควรตัดสินใจเร่งขยายการลงทุน
7. การทำธุรกิจหากผลประโยชน์มีความขัดแย้งกันให้แยกกันตั้งบริษัท
8. ต้องเรียนรู้การเมืองในองค์กร
9. ป้องกันไม่ให้คนที่ไม่ซื่อสัตย์เข้ามาบริหารจัดการ
10. การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในธุรกิจแต่ละรุ่นเกิดขึ้นค่อนข้างมาก ดังนั้น ต้องมีการวางแผน และมีระบบการทำงานที่ดี



เพื่อแนะนำทายาทธุรกิจการสืบทอดธุรกิจครอบครัว

เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ดังนั้นต้องมีการวางแผนการจัดการให้ดีเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ นอกจากนี้หากต้องมีที่ปรึกษามืออาชีพเข้ามาช่วยให้คำแนะนำการส่งไม้ต่อกิจการ เจ้าของธุรกิจก็ควรต้องมีส่วนด้วยอีกแรง เพื่อแนะนำทายาทธุรกิจให้เกิดความเข้าใจในการบริหาร - วัฒนธรรมองค์กรอย่างถ่องแท้ ปูทางสู่การเติบโตเพื่อประสบความสำเร็จในระยะยาวต่อไป
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์  อุรพีพัฒนพงศ์
https://forbesthailand.com/commentaries/insights/6-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%AD.html
https://www.thansettakij.com/columnist/214086
https://www.thansettakij.com/columnist/216686



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“ระบบบริหารแบบคู่ขนาน” คืออะไร?  ทำไมถึงสำคัญต่อการสืบทอดธุรกิจครอบครัว

“ระบบบริหารแบบคู่ขนาน” คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญต่อการสืบทอดธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว (Family Business) แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ตรงที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ…
pin
3 | 08/10/2024
เผย 4 กฎเหล็ก ของ โฮชิเรียวคัง (Hoshi Ryokan) ที่ทำให้ธุรกิจเรียวคังของครอบครัว สืบทอดยาวนานกว่า 1,300 ปี

เผย 4 กฎเหล็ก ของ โฮชิเรียวคัง (Hoshi Ryokan) ที่ทำให้ธุรกิจเรียวคังของครอบครัว สืบทอดยาวนานกว่า 1,300 ปี

ประเด็นเรื่องการทำธุรกิจครอบครัวในบทความนี้ จะพูดถึงแนวทางและกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) สามารถยืนหยัดและเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดหลายทศวรรษ…
pin
2 | 05/10/2024
"เขย/สะใภ้" มีสิทธิ์แค่ไหน เป็นคนใน หรือ คนนอก ธุรกิจครอบครัว?

"เขย/สะใภ้" มีสิทธิ์แค่ไหน เป็นคนใน หรือ คนนอก ธุรกิจครอบครัว?

ในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว (Family Business) ประเด็นสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้น ๆ คือ การกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกธุรกิจครอบครัว…
pin
3 | 29/09/2024
เคล็ด(ไม่)ลับ ส่งไม้สืบทอดธุรกิจครอบครัว วางแผนอย่างไร? ให้ประสบความสำเร็จ