4 เรื่องจริงกว่าจะมาเป็นธุรกิจ ‘หลอดกระดาษ’ ไม่ใช่ผู้ร้ายทำลายธรรมชาติ แต่เป็นหลอด ‘ฮีโร่’ กู้โลก!
ด้วยความที่กิจการทางบ้าน ทำธุรกิจแกนกระดาษมายาวนานเกือบ 40 ปี
เมื่อทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 อย่าง คุณนภัสนลิน วีรณรงค์ชยกุล หรือคุณเปิ้ล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด นักบริหารคนรุ่นใหม่ที่หวังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก จึงนำแรงบันดาลใจมาต่อยอดธุรกิจผลิตหลอดกระดาษที่มีความโดดเด่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

1. ธุรกิจ...ใส่ใจโลก ปกป้องสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจครอบครัว รายหนึ่ง มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันมาตลอดหลายปี คือ การออกทริปจิตอาสา เก็บขยะตามสถานที่ต่าง ๆ และหนึ่งในนั้น คือ การเก็บขยะในท้องทะเล ทำให้เห็นปัญหาของขยะพลาสติกที่ปลิวลงสู่ทะเลจำนวนมาก
ซึ่งครอบครัวนี้พบว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกปลิวลงสู่ท้องทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก มีผลต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ในทะเล และกว่าพลาสติกเหล่านั้นจะย่อยสลายก็ต้องใช้เวลานานถึง 450 ปีเลยทีเดียว

2. สู่จุดเริ่มต้น ของธุรกิจ ‘หลอดกระดาษ’
คุณนภัสนลิน ทายาทธุรกิจ ของบริษัทผลิตแกนกระดาษที่ดำเนินกิจการมายาวนานเกือบ 40 ปีแห่งนั้น เห็นแกนกระดาษมากมายที่วางอยู่บนโต๊ะ จึงลองเอาสก็อตเทปสี ๆ มาพันรอบแกนกระดาษ แล้วเกิดไอเดียว่า
“….ถ้าหากย่อส่วนแกนกระดาษให้เล็กลงเป็นหลอดสำหรับดูดน้ำแทนหลอดพลาสติก น่าจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้…” จึงหาเทคโนโลยีเพื่อผลิตหลอดกระดาษคุณภาพสูง พร้อมเดินเครื่องผลิตทันที

3. ไม่หวังผลกำไร แต่ทำเพราะมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
ด้วยเป้าหมายที่ทำด้วยใจรักษ์โลก ผลพลอยได้เป็นกำไร แม้ช่วงแรก ๆ ตลาดยังไม่เปิดใจ ยังไม่มีใครใช้ จึงทำเองใช้เองกับคนรอบข้าง ด้วยกระบวนการผลิตแกนกระดาษและหลอดกระดาษไม่ได้ต่างกันมากนัก เพียงปรับเล็กน้อยเท่านั้น
คุณนภัสนลิน เผยว่า “เราไม่มี Sale ขาย มีแค่ Facebook Page ที่ไม่ใช่การขาย แต่ใช้เป็นช่องทางสื่อสารให้ข้อมูล โดยใส่ Passion ของเราเข้าไป ปรากฏว่า มีลูกค้าสั่งมา 5,000 หลอด ดีใจว่า...ในที่สุดก็มีคนเห็นด้วยกับเราแล้ว ทำให้มีกำลังใจ จึงเริ่มติดต่อลูกค้าที่เป็นโรงแรมตามชายฝั่งทะเล ที่เขามองเห็นปัญหาเหมือนเราว่าไม่อยากให้ขยะหลอดพลาสติกปลิวลงสู่ทะเล”

4. ใช้ ‘หลอดกระดาษ’ = ทำลายป่า เป็นเพียงมายาคติ
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การใช้หลอดกระดาษ แทน หลอดพลาสติก เป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือทำลายสิ่งแวดล้อมจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อมาผลิตเป็นกระดาษ คุณนภัสนลิน สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า ช่วงแรก ๆ ถูกโจมตีเหมือนกัน
ซึ่งจริง ๆ แล้วหลอดกระดาษที่ผลิตนั้น มาจากการปลูกป่าเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษ ไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า โดยเราจะเลือก Supplier ที่มีสัญลักษณ์ FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งหมายถึง เป็นกระดาษที่มาจากไม้ที่ใช้ปลูกเพื่อการทำกระดาษโดยเฉพาะ มีการปลูกทดแทนเพื่อใช้หมุนเวียนกันไป เป็นป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างรับผิดชอบ อยากให้เปลี่ยน Mindset ที่ไม่ใช่เพียงมายาคติ หรือความเชื่อจากในอดีตที่ถ่ายทอดกันมา