เปิดนวัตกรรมรักษ์โลก ลดปัญหา Food Waste ขยะอาหารเหลือทิ้งเจ้าปัญหา ชนวนใหญ่ทำโลกร้อน
รู้หรือไม่! ในแต่ละปีอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็น “ขยะอาหาร” (Food Waste) ที่ถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ และยังสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 8% ในขณะที่คนกว่า 830 ล้านคนทั่วโลกกลับประสบภาวะอดอยาก สำหรับประเทศไทยกว่า 60% ของขยะมาจากขยะอาหาร และคนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี
ทั้งนี้ ขยะอาหาร (Food Waste) และการสูญเสียอาหาร (Food Loss) เป็นปัญหาระดับโลกที่ทางสหประชาชาติคาดการณ์ว่า 14 % ของอาหารนั้นจะเสียไปตั้งแต่ขั้นตอนต่าง ๆ หลังการเก็บเกี่ยว (ก่อนจะถูกส่งไปร้านค้าปลีก) และอีก 17 % จะเสียเปล่าไปที่ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและครัวเรือน และประมาณ 8 - 10 %ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้นเกี่ยวข้องกับอาหารที่ไม่ได้ถูกบริโภค ขณะที่ประเทศไทยมีขยะอาหารสูงถึง 9.68 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 38% ของขยะทั้งหมด ในจำนวนนี้มีอาหารส่วนเกินที่ยังทานได้ปะปนอยู่ถึง 39% ของอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด

ขยะอาหาร ทำไมกลายเป็นหนึ่งในต้นเหตุของ “ภาวะโลกร้อน”
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ถ้าหากเกิดการสะสมของขยะอาหารในปริมาณที่เยอะ และเกิดการเน่าเสียตามมา สิ่งที่ได้จากกระบวนการเน่าเสียก็คือ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ เป็นก๊าซที่เกิดจากการสะสมของเสียประเภทสารอินทรีย์ แล้วเปลี่ยนเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้เกิด ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่ สามารถช่วยลดขยะจากอาหารและทำให้ระบบอาหารมีความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น ด้วยการลดของเสียและการสูญเสียทั่วทั้งซัพพลายเชนลงได้ อย่างไรก็ตาม ‘ขยะอาหาร’ เป็นวิกฤตที่จัดการได้และเป็นโอกาสให้ SME รุ่นใหม่ในธุรกิจอาหารสร้างคุณค่าและไอเดียใหม่ ๆ จากขยะอาหารที่ให้ทั้งกำไรและใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพิ่มความเข้มแข็งของธุรกิจและเติบโตได้อย่างยั่งยืน บทความนี้จึงขอยกตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจที่จะมาช่วยแก้ปัญหาขยะจากอาหารได้ ดังนี้

1. สติกเกอร์ StixFresh นวัตกรรมที่สามารถคงความสดหรืออายุการเก็บรักษาผลไม้ก่อนเน่าเสียได้นานถึง 14 วัน
หลายคนอาจสงสัยแค่สติ๊กเกอร์ธรรมดาที่แปะบนผลไม้สด แล้วจะทำให้ผลไม้คงความสดนานขึ้นได้อย่างไร อันที่จริงแล้วสติ๊กเกอร์ StixFresh ปลอดสารพิษนี้ใช้สารประกอบจากพืชธรรมชาติ เป็นสารต้านจุลชีพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตโดยพืชเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค เมื่อติดลงบนผลไม้ สารนี้จะกระจายออกเพื่อสร้างชั้นป้องกันที่ปกคลุมพื้นผิวของผลไม้และทำให้กระบวนการสุกช้าลง โดยสามารถคงความสด หรืออายุการเก็บรักษาผลไม้ไม่ให้เน่าเสียนานถึง 14 วัน

สำหรับ สติกเกอร์ StixFresh ถูกคิดค้นขึ้นโดยบริษัท Ryp Labsได้รับรางวัล Best Sustainability Initiative และ Best Packaging Technology จาก World Food Innovation Awards 2019 ด้วยวิธีที่ง่ายและปลอดภัยในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ เพียงลอกและแปะสติกเกอร์ StixFresh ลงบนแอปเปิล ลูกแพร์ อะโวคาโด แก้วมังกร กีวี มะม่วง ส้ม และผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ เพื่อช่วยรักษาให้ผลไม้นั้นคงความเนื้อแน่น หวาน และชุ่มฉ่ำ ได้ยาวนานกว่าเคย ซึ่งขณะนี้ StixFresh กำลังเร่งพัฒนาสูตรหรือสารมหัศจรรย์นี้เพื่อยืดอายุผลไม้ เช่น เบอร์รี่ รวมถึงผักชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

2. แอป ‘FoodStory’ ระบบบริหารจัดการร้านอาหาร ที่มีระบบ Waste Management ช่วยแจ้งเตือนเวลาวัตถุดิบเหลือน้อย และใกล้จะต้องสั่งเพิ่มในปริมาณที่เหมาะสม
แอป ‘FoodStory’ จะช่วยลดปัญหาขยะและเพิ่มกำไรให้กับร้านอาหาร โดยแก้ปัญหา “วัตถุดิบเหลือใช้” ได้เป็นอย่างดี เช่น การคำนวณผักสด 10 กิโลกรัม ผ่านทางฟีเจอร์ของ FoodStory POS ซึ่งได้ผลลัพธ์ของการนำผักสดมาปรุงอาหารได้จริง 30 จาน โดยไม่ขาดหรือเกิน เป็นต้น เป็นระบบบริหารจัดการร้านอาหารที่จะช่วยให้ร้านอาหารเติบโตอย่างยั่งยืน

3. Flashfood และ Too Good to Go แอปพลิเคชันแสดงรายการสินค้าใกล้จะหมดอายุ
Flashfood จับมือกับร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านท้องถิ่น มอบส่วนลดของอาหารที่ใกล้จะหมดอายุ ซึ่งการใช้งานแอปพลิเคชัน เพียงผู้ใช้เลือกร้านค้าจากแผนที่บนหน้าจอโทรศัพท์ เลือกซื้อสินค้าที่ต้องการ จากนั้นก็ไปรับสินค้าที่โซนของ Flashfood ในร้านค้าได้เลย ซึ่งผู้ใช้จะได้รับข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับอาหารต่าง ๆ ในแต่ละวันด้วย

นอกจากนี้ทาง Flashfood ยังจำหน่ายวัตถุดิบจากชาวไร่ ชาวสวน ที่ไม่เป็นที่ต้องการของร้านค้า อาทิ รูปทรงบิดเบี้ยว ไม่สวยงาม ในราคาถูกให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของ Flashfoodbox ที่ประกอบไปด้วยสินค้าประเภทผัก, ผลไม้ และโปรตีน ซึ่งจะส่งตรงให้ถึงที่บ้าน นอกจากเรื่องของการช่วยลดขยะอาหารโลกแล้ว ผู้บริโภคยังได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย
นับว่าเป็นวิธีที่ช่วยส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนและลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้ง สร้างมูลค่าความเสียหายอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลก และก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก โดยทางบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายโมเดลธุรกิจนี้ไปยังเมืองอื่นต่อไปในอนาคต

สำหรับบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า มีแอปพลิเคชันที่ให้บริการ “สั่งอาหารป้ายเหลือง” หรือสินค้าลดราคา ที่สายประหยัดคุ้นเคยในช่วงเวลาเย็น ๆ ตามซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งอาหารเหล่านี้ยังสามารถบริโภคได้และมีคุณภาพดีด้วย จึงเป็นที่น่าเสียดายหากจะต้องถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
จากตัวเลขสถิติ Thailand Development Research Institute อ้างอิงว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยได้ทำการปล่อยอาหารจำนวน 17.1 ล้านตันให้กลายเป็นขยะอาหาร (Food Waste) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน

Oho! Sustainable Food Outlet เป็นแอปพลิเคชันสั่งอาหารป้ายเหลืองรักษ์โลกฝีมือคนไทย ที่ช่วยเปลี่ยนธุรกิจอาหารในประเทศให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยแนวคิด Food Rescue ที่ผู้ขาย ผู้ซื้อ และโลก ต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน จากการที่ Oho ได้พูดคุยกับร้านค้ามากกว่า 5,000 แบรนด์ พบว่าไม่ใช่แค่ซูเปอร์มาเก็ตที่มีสินค้าขายไม่หมด แต่ร้านอาหารเกือบทุกประเภทประสบปัญหาต้องทิ้งอาหารคุณภาพดีในแต่ละวัน เช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิด Food Tech Solution เพื่อให้คนไทยสามารถร่วมแก้ปัญหา Food Waste ได้ง่าย ๆ

จากการคำนวณ เมื่อกินอาหารป้ายเหลือง 1 มื้อ สามารถลด CO2 ที่เกิดจากขยะอาหารได้ถึง 800 กรัม เทียบเท่ากับการลด CO2 ที่เกิดขึ้นจากการขับรถถึง 4.4 กิโลเมตร เพียงเปิดแอปพลิเคชัน Oho ก็สามารถเลือกสินค้าป้ายเหลืองจากร้านอาหารและซูเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน โดยสามารถสั่งกลับบ้าน รับที่ร้าน หรือรับประทานที่ร้านได้ทุกเมื่อ และยังมีส่วนลด 25%-80% เรียกว่า เป็น WIN-WIN Solution ที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่ขายอาหารได้หมด ลูกค้าที่กำลังมองหาอาหารคุณภาพดีในราคาจับต้องได้ และเยียวยาโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง

4. Inno Waste เครื่องแปรรูปขยะสดให้กลายเป็นปุ๋ยผงคุณภาพดี
Inno Waste สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ของไทย ประดิษฐ์เครื่องแปรรูปขยะสดในครัวเรือนและชุมชน รวมไปถึง ภัตตาคาร ร้านอาหารต่าง ๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยผงคุณภาพดีสำหรับปลูก พืช ผัก ผลไม้ ต้นไม้ออกจำหน่าย

ยกตัวอย่าง ‘ภัตตาคาร เล่งหงษ์ นครสวรรค์’ ผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน Green Restaurant เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อน โดยนำเทคโนโลยีเครื่องแปรรูปขยะสดมาช่วยลดขยะที่จะก่อมลพิษต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำขยะมาย่อยด้วยสารจุลินทรีย์ที่เป็นโปรไบโอติกส์ เปลี่ยนจากเศษอาหารกลายเป็นปุ๋ยออร์แกนิกภายใน 24 - 48 ชั่วโมง ให้เกษตรกรที่ทำสมาร์ทฟาร์มใส่ผลผลิตเพื่อให้ได้วัตถุดิบปลอดสารพิษกลับคืนมาสู่ร้านอาหารนี้ นอกจากจะช่วยลดขยะแล้วยังได้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพลูกค้าอีกด้วย
อ้างอิง
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1487/iid/87343
https://www.salika.co/2021/03/30/food-waste-simple-innovation/
https://www.weforum.org/agenda/2021/03/sticker-helps-cut-food-waste/?fbclid=IwAR1AL23uZfCZmEaHvgzs0k752XXGWpCwQsJ91gcq-BpN90CEKUJK8PFTyus
https://www.salika.co/2023/02/21/technology-for-food-waste-management/
https://social.nia.or.th/2022/open0037/
https://www.springnews.co.th/spring-life/825686