‘7 เคล็ดลับ’ กำจัดปัญหายุ่งยากในการรับมือตำแหน่งที่หายไปใน ‘ธุรกิจครอบครัว’

Family Business
24/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 25787 คน
‘7 เคล็ดลับ’ กำจัดปัญหายุ่งยากในการรับมือตำแหน่งที่หายไปใน ‘ธุรกิจครอบครัว’
banner
ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไป หรือธุรกิจครอบครัว (Family Business) ล้วนประกอบด้วยบุคคลที่รับผิดชอบการในหน้าที่ ประจำตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สร้างการเติบโตและก้าวหน้าให้แก่ธุรกิจ ขณะเดียวกัน การวางตัวบุคคลในแต่ละตำแหน่งนั้น ไม่มีความแน่นอนเสมอไป เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา เช่น ลาออก เป็นโรคร้ายแรง เสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจเกิดแบบกะทันหันโดยที่องค์กรไม่ทันตั้งตัว ทำให้ไม่มีแผนรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างทันท่วงที 

...ด้วยเหตุนี้ การวางแผนหารือร่วมกันระหว่างสมาชิกในองค์กรหรือธุรกิจครอบครัว จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดการสะดุด และเกิดอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการในระยะยาว 



รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า การวางตัวผู้บริหารที่จะมารับช่วงต่องานสำหรับตำแหน่งที่ว่างลง ไม่ว่าธุรกิจแบบใดก็ตาม ต้องมีการวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจสะดุดหรือไม่ได้ไปต่อ โดยปัจจุบันผู้นำครอบครัว มักจะมีการปูทางเพื่อสร้างทายาทที่มีความเหมาะสมสำหรับการเข้ามาสืบทอดการบริหารงานตั้งแต่เด็ก ที่เรียกว่าการบ่มเพาะทายาท เช่น การจัดอบรม (Training) การสร้างสมประสบการณ์โดยให้ลูก ๆ ติดตามพ่อแม่ไปเรียนรู้งานในองค์กรในแผนกต่าง ๆ เป็นต้น 

ซึ่งการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับคัดเลือกผู้ที่จะก้าวเข้ามารับตำแหน่งต่าง ๆ ในอนาคต ฉะนั้น การวางแผนที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจของคุณเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ 

โดยบทความตอนนี้ จะขอพูดถึงการเตรียมพร้อมของธุรกิจครอบครัว กับการรับมือปัญหาจากตำแหน่งที่ว่างลงและจัดวางตัวผู้ที่จะสืบทอดแบบไร้รอยต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเคล็ดลับ 7 ประการ ดังต่อไปนี้



เคล็ดลับที่ 1 : ให้น้ำหนักกับแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์

การจัดการเรื่อง ‘คน’ ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทุกองค์กรต้องมี ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ แผนงานดังกล่าว สมาชิกทุกคนควรรับรู้ร่วมกัน โดยทั่วไป การจัดการด้านบุคลากรจะเป็นหน้าที่ของแผนกทรัพยากรมนุษย์ (HR) ที่จะวางแผนด้านกำลังคนให้เหมาะสมกับงาน ดังประโยค “Put the right man on the right job” ที่ใช้ได้ดีอยู่เสมอ เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ‘HR’  จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง 

โดยเฉพาะการบริหารคนให้กับธุรกิจครอบครัว ที่มีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ต้องใช้ความละเอียดอ่อนรวมถึงต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความสามารถรอบด้านการสื่อสารทำความเข้าใจงานในทุกส่วน สำหรับจัดวางคนที่ถูกต้อง เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อพิพาทเรื่องความยุติธรรม หรือความขัดแย้งจากระบบอุปถัมภ์ 



เคล็ดลับที่ 2 : เทรนนิ่ง หาทายาทที่มีแวว

รูปแบบของธุรกิจครอบครัว มีทั้งการบริหารแบบครอบครัวเดียว และครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสมาชิกจากหลายสายที่สืบทอดโดยคนในตระกูลเดียวกัน กรณีของครอบครัวเดียว อาจจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะการถ่ายทอดธุรกิจมีตัวเลือกคือทายาทสายตรงที่มาจากพ่อแม่เดียวกัน  ขณะที่ครอบครัวใหญ่ต้องอาศัยการจัดสรรและมีขั้นตอนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งในการจัดสรรคน

 วิธีการที่ดีที่สุด คือผู้นำธุรกิจครอบครัว ต้องบ่มเพาะทายาทให้พร้อม เช่นการจัดอบรมทักษะความรู้ให้ลูกหลานโดยเชิญคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาสอน หลังจากผ่านการอบรม ก็ทำการทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลความรู้ โดยมีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหาร หัวหน้างานในตำแหน่งต่าง ๆ รวมถึงผู้จัดการฝ่ายบุคคลร่วมกันให้คะแนน วิธีนี้จะทำให้ทราบว่าใครเป็น Specialist ด้านไหน เพื่อจะได้พัฒนาและส่งเสริมเพิ่มองค์ความรู้ในด้านนั้น ๆ ต่อไป หรือคนไหนต้องการการฝึกอบรมและพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนใด เป็นต้น



เคล็ดลับที่ 3 : วางแผนเชิงรุก

บางครั้งแม้จะมีแผนทรัพยากรบุคคลที่วางคนที่เหมาะสมกับงาน แต่ผู้นำครอบครัว ไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าอาจจะมีสมาชิกบางคนที่มีความสามารถบริหารงานเก่ง อยากลาออกจากบริษัทของตระกูลเพื่อสร้างกิจการที่ตนเองฝันไว้ วิธีรับมือเรื่องนี้ ขั้นแรกคือ ผู้นำครอบครัวอาจลองพิจารณาจากผู้ที่รับผิดชอบตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งหมดในองค์กร และตอบคำถามสองข้อต่อไปนี้ 

3.1 ผลกระทบของการขาดตำแหน่งนั้นไป ส่งผลต่อแผนกไหนบ้าง หากมีบางแผนกที่ยังสามารถสับเปลี่ยนบางคน มาทดแทนในตำแหน่งที่ว่างลงได้ ก็จะคลี่คลายปัญหาได้อย่างทันท่วงที

3.2 ตำแหน่งนั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจเราอย่างไรบ้าง? หากไม่หนักหนา และมีการคัดเลือก หรือวางตัวผู้สืบทอดตำแหน่งไว้ อาจจะให้โอกาสทายาทที่แข็งแกร่งที่สุดในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนี้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สืบทอดตำแหน่งอาจจะเป็นคนที่อยู่ในลำดับถัดไปในแผนที่องค์กรวางไว้ แต่อย่าเพิ่งมองข้ามพนักงานคนนอก ที่มีทักษะที่ดี และมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในการพิจารณา  



4. นัดประชุมวาระสำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจ

ความเสี่ยงของความขัดแย้งของการทำธุรกิจระหว่างคนในครอบครัว คือขาดการสื่อสารที่ดี จนบางครั้งก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งจากความไม่เข้าใจกันและอาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำครอบครัวจึงควรนัดหมายให้สมาชิกทุกคนมาประชุมร่วมกันในวาระสำคัญ ๆ  และหาโอกาสอธิบายถึงสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาภายใต้สถานการณ์บางอย่าง เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนทราบว่าในการบริหารองค์กรนั้น ทายาทบางคนอาจต้องละทิ้ง หรือวางมือจากตำแหน่งที่มีความสำคัญเพื่อปรับตัว และประคับประคองให้ธุรกิจไปรอด

การสร้างความเข้าใจร่วมกัน จะช่วยให้สมาชิกที่ต้องพบเจอปัญหารับมือความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ และไม่เกิดอคติต่อกัน



เคล็ดลับที่ 5 : วางแผน ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งได้เปรียบ  

‘อย่ารอจนกว่าจะเกิดวิกฤต แล้วค่อยวางแผน’  หากย้อนไปในยุคก่อน ธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิม จะใช้การสืบทอดโดยธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงทายาทผู้รับช่วงต่อ จะเรียนรู้โดยการซึมซับและถ่ายทอด Know How และสั่งสมประสบการณ์รอบตัวจากสิ่งที่พ่อแม่สร้างไว้ ทำให้ขาดประสบการณ์จากการเรียนรู้จากภายนอก ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ตำแหน่งว่างลง ทายาทขาดความพร้อมในการรับมืออุปสรรคต่าง ๆ 

ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าที่ได้ผล ควรจัดทำตั้งแต่เริ่มเขียนแผนธุรกิจ โดยมีระยะเวลาจากเริ่มต้น ไปจนถึง 5-10 ปีข้างหน้า จะช่วยให้การส่งต่อตำแหน่งราบรื่น ยิ่งเริ่มไว ยิ่งได้เปรียบ



เคล็ดลับที่ 6 : พัฒนาภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสาร

ธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ มักจะส่งลูกหลานไปเรียนที่ต่างประเทศในสายงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งเป้าหมายคือการสั่งสมประสบการณ์ ได้ความรู้ พัฒนาภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสาร หาไอเดียแปลกใหม่ที่นำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังอาจได้คอนเนคชันจากการมีเพื่อนที่ครอบครัวทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน สามารถต่อยอดให้เกิดการขยายธุรกิจทั้งนำเข้าและส่งออกได้อีกด้วย 

อีกทั้ง หากธุรกิจครอบครัวมีการจ้างงานคนนอกในตำแหน่งที่เกี่ยวกับงานด้านต่างประเทศ และมีความจำเป็นต้องว่างลง ทายาทที่มีประสบการณ์และสื่อสาภาษาต่างประเทศได้ จะสามารถแทนที่และรับช่วงต่อได้แบบไร้ปัญหา



เคล็ดลับที่ 7 : เก็บเกี่ยวความรู้นอกบ้าน

การเตรียมความพร้อมให้ทายาทธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง คือการเปิดโอกาสให้ลูกหลานไปทำงานที่บริษัทอื่น ๆ เพื่อหาความรู้และประสบการณ์ในสายงานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจของครอบครัว เช่น ฝ่ายต่างประเทศ  ฝ่ายสินเชื่อ ธุรกิจนำเข้า ส่งออก จัดซื้อ เพื่อให้รู้วิธีการดำเนินการจากประสบการณ์ตรง เป็นต้น 

นอกจากนี้ ทายาทธุรกิจที่ออกไปทำงานนอกองค์กร จะได้สัมผัสการทำงานแบบไม่มีสิทธิพิเศษในฐานะลูกหลาน ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงานในฐานะพนักงาน รู้จักการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน การทำงานเป็นทีม เมื่อครบกำหนดกลับมาสานต่อในตำแหน่งที่ว่างลง ทายาทจะมีภูมิต้านทานต่อความกดดัน และเข้าอกเข้าใจในการทำงานของคนในธุรกิจครอบครัวและลูกน้องได้เป็นอย่างดี 

แต่ละครอบครัวมีวิธีการบริหารที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าแบบไหน การเตรียมความพร้อมให้ทายาทธุรกิจมีศักยภาพ ช่วยลดอุปสรรคจากความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือการพัฒนารอบด้านทั้งการวางแผนการสืบทอดและการวางแผนการส่งต่อที่ดี จะทำให้ธุรกิจครอบครัวราบรื่น พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

พบกันใหม่ กับสาระดี ๆ ของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในบทความหน้า 
ขอขอบคุณ GURU รับเชิญ :  รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
2848 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5115 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
5294 | 30/03/2024
‘7 เคล็ดลับ’ กำจัดปัญหายุ่งยากในการรับมือตำแหน่งที่หายไปใน ‘ธุรกิจครอบครัว’