4 เคล็ดลับ ทำความเข้าใจในการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิก ‘ธุรกิจครอบครัว’

Family Business
15/06/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 27163 คน
4 เคล็ดลับ ทำความเข้าใจในการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิก  ‘ธุรกิจครอบครัว’
banner
เพราะธุรกิจครอบครัวมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความขัดแย้งได้ตลอดเวลามากกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะสภาพของธุรกิจครอบครัวมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบที่เป็นเครือญาติ ทำให้อาจจะมีความขุ่นข้องหมองใจต่อกันหรือมีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ง่าย

ดังนั้น การสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ  ที่อาจจะเกิดขึ้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง บทความนี้ จึงขอนำเสนอวิธีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในธุรกิจครอบครัว เพื่อให้การบริหารงานมีความราบรื่นและไม่สร้างปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวในภาพรวม



สาเหตุหลักของความขัดแย้งในครอบครัว 

รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ปัจจัยที่นำมาสู่ความขัดแย้งในครอบครัวว่า อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความคิดเห็นในการบริหารธุรกิจครอบครัวไม่ตรงกัน หรือมีความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว เช่น สมาชิกครอบครัวมีความขัดแย้งระหว่างกันส่วนตัวและลุกลามไปสู่ธุรกิจครอบครัว เช่น

• ผู้นำของครอบครัวเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว 
• สมาชิกของครอบครัวบางคนได้ครอบครองธุรกิจครอบครัวโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล 
• ทายาทของธุรกิจครอบครัวได้รับผลประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้รู้สึกความไม่ยุติธรรม เป็นต้น



ด้วยเหตุนี้ หากสมาชิกต้องการจะทำความตกลงระหว่างกัน ควรมีขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความราบรื่น ดังต่อไปนี้ 



1.ให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสาร เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

ในการทำข้อตกลงระหว่างกัน ควรมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เริ่มต้นด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างสมาชิกครอบครัว เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ตรงกัน หากเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่มีสมาชิกจำนวนมากยิ่งมีความจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน การมีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน เช่น กำหนดให้มีการประชุมช่วงเช้าก่อนเวลาทำงาน หรือมีการประชุมเป็นระยะตามวันเวลาที่กำหนด ฯลฯ

หรือในกรณีที่ธุรกิจครอบครัวมีการจัดตั้งคณะกรรมการครอบครัวหรือสภาครอบครัวแล้ว หากสมาชิกครอบครัวมีความขัดแย้งต่อกัน คณะกรรมการควรมอบหมายให้สมาชิกบางคนเป็นทีมงานศึกษาข้อมูลรายละเอียดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเบื้องลึก รวมทั้งทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ทำให้เป็นการบริหารความขัดแย้งจากสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เพราะมีการนำประเด็นข้อขัดแย้งสู่โต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ ทำให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวไปในทิศทางที่ต้องการร่วมกันภายใต้มุมมองที่รอบด้านทั้งมองกว้างและมองไกล เป็นการหาทางคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างประนีประนอม จะได้ไม่ส่งผลให้เกิดความบาดหมางต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อธุรกิจครอบครัวในภาพรวม



2. กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจครอบครัวให้สมาชิกครอบครัวได้รับทราบ 

ธุรกิจครอบครัว ควรมีข้อกำหนดในประเด็นต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น

สมาชิกของธุรกิจครอบครัวทุกคนจะต้องรับรู้และเข้าใจถึงค่านิยม/วิสัยทัศน์/พันธกิจ/วัฒนธรรม/พฤติกรรม/ความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว/นโยบายความเป็นเจ้าของ/การจ้างงาน/กองทุนครอบครัว/การบริหารกงสี/การบริหารสมาชิกของครอบครัวรุ่นใหม่/ผลประโยชน์ต่างๆ ที่สมาชิกครอบครัวจะได้รับ รวมทั้ง

2.1 หากสมาชิกครอบครัวมีความขัดแย้งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการครอบครัวหรือสภาครอบครัว เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาอย่างละมุนละม่อม ประนีประนอม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวไม่ให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง

2.2 หากเป็นความขัดแย้งในเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัว จะต้องมีการประชุมกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน



3.  วางแผนจัดการความขัดแย้งอย่างประนีประนอม

หากเกิดข้อพิพาทจากความขัดแย้งในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ (Deadlock) สมาชิกในครอบครัวควรจะต้องศึกษาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเบื้องลึก มีแผนเพื่อจัดการความขัดแย้งด้วยการประนีประนอม หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษ เช่น ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กรอบของปัญหา ประเด็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ประเด็นที่ค้นพบในระหว่างการศึกษาความขัดแย้งนั้น และกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ในเชิงบวก เพื่อหาข้อสรุปที่ผสมผสานระหว่างหลักการและการประนีประนอมและการมีน้ำใจต่อทุกฝ่าย

เมื่อสามารถตกลงกันได้ ต้องทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทำบันทึกสรุปผลข้อตกลงในทางบวก



4. มีที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกครอบครัว

การบริหารธุรกิจครอบครัวนั้น ควรให้บุคคลภายนอกเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษา เพื่อเป็นคนกลาง ให้แง่คิดมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัว รวมทั้งช่วยไกล่เกลี่ยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เพราะนอกจากจะช่วยให้สมาชิกครอบครัวเกิดความรู้สึกเกรงใจแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้สมาชิกครอบครัวบางคนใช้อารมณ์ในการพิจารณาสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง

ซึ่งข้อตกลงระหว่างกันของสมาชิกครอบครัว ควรสื่อสารให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวในภายหลัง 

อย่างไรก็ดี หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก การทำข้อตกลงระหว่างกันอาจจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น ถ้ามีความขัดแย้งต่อกัน ผู้นำครอบครัวอาจใช้วิธีเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในเชิงบวกด้วยการบริหารความขัดแย้งอย่างประนีประนอม อดทน หลากหลายวิธีตามความเหมาะสมหรือตามสถานการณ์

เช่น รับฟังปัญหาอย่างเปิดใจ (Open-minded) หรือจัดให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งของคนในครอบครัว จะได้สามารถควบคุมระดับความขัดแย้งให้เหมาะสม และไม่ส่งผลเสียต่อธุรกิจครอบครัว เป็นต้น



รศ. ทองทิพภา ทิ้งท้ายโดยฝากคำพูดของ Aron Pervin ที่ให้ข้อคิดในการประสานความสมดุลระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับการบริหารธุรกิจของครอบครัวไว้ว่า “ Family wants everything harmonious, while business has to changed or die ” ซึ่งได้แก่ ครอบครัวต้องการความสามัคคีปรองดอง ในขณะที่ธุรกิจต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด จะได้ไม่ต้องปิดกิจการไป

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากสมาชิกในครอบครัวมีการทำข้อตกลงร่วมกัน โดยผู้นำครอบครัวและสมาชิกของครอบครัวมีการปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อนำไปสู่การบริหารงานอย่างราบรื่น ย่อมช่วยลดความขัดแย้งลงได้ เพราะเป็นแนวทางที่จะสร้างกฎ กติกา เงื่อนไข ไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้นำไปสู่ความราบรื่นและความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจครอบครัวในระยะยาว อันเป็นผลจากรากฐานของความความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว

พบกันใหม่ กับสาระดี ๆ ของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในบทความหน้า 
ขอขอบคุณ GURU รับเชิญ :  รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ส่องกรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวของไทย ใช้กลยุทธ์อะไรในการปรับตัวสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก

ส่องกรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวของไทย ใช้กลยุทธ์อะไรในการปรับตัวสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก

Family Business หรือธุรกิจครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญและแกนหลักของการทำแบรนด์ ไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้น แต่รวมไปถึงภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก…
pin
2 | 30/04/2025
ธุรกิจครอบครัวที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นของตระกูล "Mars" และพลังแห่งการสืบทอดยาวนานกว่า 113 ปี

ธุรกิจครอบครัวที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นของตระกูล "Mars" และพลังแห่งการสืบทอดยาวนานกว่า 113 ปี

ในโลกของธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดำรงอยู่ของธุรกิจครอบครัวที่สามารถสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง…
pin
58 | 24/12/2024
ปูทางสู่ความยั่งยืน เจาะลึกระบบหลังบ้านธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตแบบบริษัทมหาชน

ปูทางสู่ความยั่งยืน เจาะลึกระบบหลังบ้านธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตแบบบริษัทมหาชน

11ธุรกิจครอบครัว (Family Business) มักเผชิญความท้าทายที่ซับซ้อนในการจัดการระบบหลังบ้าน โดยเริ่มจากวัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิมที่ยังยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเก่า…
pin
61 | 19/12/2024
4 เคล็ดลับ ทำความเข้าใจในการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิก  ‘ธุรกิจครอบครัว’