‘เทรนด์ IoT อัจฉริยะ ที่มาพร้อมการทรานส์ฟอร์ม ‘ภาคขนส่งไทย’ สู่การเป็น Logistics Hub

Mega Trends & Business Transformation
28/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 4563 คน
‘เทรนด์ IoT อัจฉริยะ ที่มาพร้อมการทรานส์ฟอร์ม ‘ภาคขนส่งไทย’ สู่การเป็น Logistics Hub
banner
หลังจากบทความที่แล้ว เราได้พูดถึงปัจจัยจากสถานการณ์โรคระบาด Covid 19 ที่นำมาสู่การพัฒนาของระบบเทคโนโลยี ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Digital Disruption ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรูปแบบธุรกิจเกิดขึ้นใหม่

แพลตฟอร์ม และ นวัตกรรมต่าง ๆ ที่อาศัยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลกระทบหลายภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์รูปแบบเดิมที่การทำงานและการใช้งานเปลี่ยนแปลงไป  เช่นการที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์หลายราย นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการขนส่งและโลจิสติกส์  


ในครั้งนี้ มาดูกันว่า เทรนด์ IoT อัจฉริยะ ที่มาพร้อมการทรานส์ฟอร์ม ‘ภาคขนส่งไทย’ สู่การเป็น Logistics Hub จะทำอย่างไร? เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายและความสำเร็จ  

เทคโนโลยีในอนาคตด้านโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มศักยภาพไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 กำหนดว่าไทยจะพัฒนา ยกระดับศักยภาพโลจิสติกส์ทั้งระบบ และเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการโลจิสติกส์

ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค และภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและพร้อมเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2579  



สถานการณ์ ‘โลจิสติกส์ไทย’ ในปัจจุบัน

ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าภาคโลจิสติกส์ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องการผ่อนปรนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในหลายประเทศทั่วโลก จากการส่งออกสินค้า

รวมถึงธุรกิจ e-Commerce ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจในกิจกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของประเทศไทยในภาพรวม  

โดยหากย้อนไปเมื่อปี 2565 เฉพาะเดือนมกราคม ธุรกิจโลจิสติกส์จดทะเบียนเปิดใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากถึง 444 ราย เพิ่มขึ้น 39.6% จากเดือนเดียวกันของปี 2564 โดยสาขาที่มีอันดับการจัดตั้งมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การขนส่งและขนถ่ายสินค้า การขนส่งทางถนน และกิจกรรมตัวแทน รับจัดส่งสินค้า 

แม้ว่าการลงทุนในธุรกิจนี้จะคึกคัก แต่ไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์มากขึ้น เพราะหากดูสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของไทยเมื่อปี 2564 มีสัดส่วน13.8% ลดลง 0.2% จากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 14% แต่หากนำมาเทียบกับค่าเฉลี่ยต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยทั่วโลกที่เฉลี่ยอยู่เพียง 10.8 % ของจีดีพี

ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยังเผชิญความท้าทาย ทั้งจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ค่าขนส่งทางถนนสูงขึ้น ค่าระวางเรือสูงขึ้น ไม่นับรวมต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการ SME อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายสินค้าคงคลังนานขึ้น 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับว่าเป็นแรงกดดันที่ทำให้ต้องผู้ประกอบการ SME ต้องหันมาปรับตัวและยกระดับเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์

เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพราะหากไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีด้านนี้ได้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


 
4 เทคโนโลยี ที่มีผลต่อการผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทย

โอกาสในการพัฒนาและยกระดับโลจิสติกส์ของไทย เป็นไปได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ในส่วนของภาครัฐ ได้วางกลยุทธ์ส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ในภูมิภาคด้วยการส่งเสริมการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย

การสร้างโอกาสทางการค้าและการรับรู้ศักยภาพของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยในระดับสากล การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย ให้ได้รับการรับรองคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขัน และขยายธุรกิจบริการในระดับสากล

ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และสนับสนุนภารกิจการเชื่อมโยงการค้าสู่ e-Commerce กับการขนส่งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Logistics)

ในส่วนของภาคเอกชน จำเป็นต้องศึกษาและปรับเปลี่ยนเพื่อนำเทคโนโลยีที่กำลังเป็นเทรนด์มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนและสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย
 
ปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในธุรกิจโลกจิสติกส์ในทุก ๆ ส่วนหรือเรียกว่า Internet of Thing (IoT) และมีเทรนด์เทคโนโลยีโลจิสติกส์ล้ำ ๆ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ โดรน ปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง และบล็อกเชน ที่กำลังมาสร้างความเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ 
 


1. โดรนขนส่งสารพัดประโยชน์

เริ่มจากเทคโนโลยี “โดรน” หรืออากาศยานไร้คนขับ ไม่ใช่ของเล่นแต่กำลังกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้ในทางการทหาร และใช้งานในเชิงพาณิชย์  โดยเฉพาะตลาดบริการบริการโดรนทั่วโลกมีมูลค่ามากถึง 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อ 5 ปีก่อน

ซึ่งในจำนวนเป็นการใช้งานในธุรกิจขนส่ง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยถูกนำมาใช้ทั้งในการขนส่งทางเรือและทางราง ซึ่งโดรนมาช่วยเสริมทำให้สามารถติดตาม ตรวจสอบการขนส่งในแต่ละขั้นตอนได้แบบเรียลไทม์

ขณะที่การขนส่งทางถนน ได้มีการประยุกต์นำโดรนมาช่วยขนส่งในพื้นที่ห่างไกล ที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อมและเป็นอุปสรรคในการบรรทุก การขนส่งทางอากาศ ได้นำโดรนมาใช้แทนเครื่องบินในบางจุด ซึ่งพบว่าขณะนี้ ธุรกิจโลจิสติสก์นำโดรนมาประยุกต์ใช้มากขึ้น  

ทั้งนี้ มีตัวอย่างบริษัทขนส่งที่ประยุกต์นำระบบโดรนมาใช้ในการบริการในประเทศแล้วหลายราย อาทิ

• Wing บริษัทในเครืออัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ได้เริ่มนำโดรนมาใช้ตั้งแต่ปี 2012 เป็นโดรนขนาดเล็กและระบบนำทาง สำหรับบรรทุกสินค้าน้ำหนักประมาณ 3.3 ปอนด์ (1.5 กก.)

• Amazon Prime Air ของ Amazon ได้นำโดรนส่งของมาใช้ในปี 2013 โดยมีความสามารถบินไกได้ถึง 15 ไมล์ (24 กม.) บรรทุกสินค้าได้ถึง 5 ปอนด์ (2.3 กก.)

• บริษัท Flyrex สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล ที่นำโดรนที่บรรทุกน้ำหนักได้ 6.2 ปอนด์ (2.8 กก.)

• Wingcopter สตาร์ทอัพที่ให้บริการโดรนเชิงพาณิชย์ทางการแพทย์ มีโดรนที่สามารถบินได้ไกลถึง 75 ไมล์ (120 กม.) บรรทุกได้ถึง 13 ปอนด์

• Zipline บริษัทในสหรัฐฯ ที่ให้บริการส่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

นอกจากนี้ยังมี UPS Flight Forward บริษัท DHL และ Boeing ที่เน้นโดรนขนาดใหญ่ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการใช้โดรนในแต่ละประเทศ ยังมีกฎหมายที่เข้มงวด ทำให้การใช้โดรนไม่แพร่หลาย และข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักบรรทุก และระยะเวลาในการบินในระยะทางไกล ๆ ซึ่งทำให้บริษัทผู้พัฒนาโดรนมุ่งพัฒนาให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นอีกในอนาคต 
 


2. หุ่นยนต์ปฏิวัติระบบโลจิสติกส์

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาปฏิวัติวงการโลจิสติกส์ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาการใช้แรงงานคน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในธุรกิจโลจิสติกส์หลาย ๆ ส่วนได้

ยกตัวอย่างเช่น การใช้โกดังอัตโนมัติ (Automated Warehouse) ที่เข้ามาช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งการลดการใช้คน การลดขั้นตอน และการควบคุมคุณภาพสินค้าได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าการใช้ระบบ AI ในธุรกิจโลจิสติกส์ จะมีการเติบโต 14% ภายในปี 2569



3. แมชชีนเลิร์นนิ่ง 

ขณะที่เทคโนโลยี ‘แมชชีนเลิร์นนิ่ง’  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพัฒนาอัลกอริทึมและรูปแบบเชิงสถิติที่ระบบคอมพิวเตอร์ใช้เพื่อทำงานต่าง ๆ โดยอาศัยรูปแบบและการอนุมานแทน

โดยระบบคอมพิวเตอร์ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อประมวลผลข้อมูลในอดีตในปริมาณมาก และสามารถระบุรูปแบบข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้คาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ระบบนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ AI

ซึ่งภาคธุรกิจมักจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา สร้างเติบโตให้ธุรกิจ เช่น ใช้วิเคราะห์ข้อมูลความเห็นของลูกค้าที่มีปริมาณมากเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว สำหรับนำข้อมูลเหล่านั้น วิเคราะห์และตัดสินใจในการทำการตลาด เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูล พบว่าขณะนี้มีหลายบริษัทได้เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้ เช่น 

• บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกที่วางระบบคลังสินค้าอัตโนมัติที่ อ.วังน้อย จ.อยุธยา 

• บริษัท DHL Express ใช้นำ DHL Bot แขนกลมาใช้สนับสนุนระบบปฏิบัติการแยกพัสดุขนาดเล็กในเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ทำให้สามารถคัดแยกพัสดุได้ 1,000 ชิ้นต่อชั่วโมง 

• บริษัท FedEx Express ในเครือบริษัทเฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ใช้หุ่นยนต์ DoraSorter ในการคัดแยกสินค้าที่ศูนย์คัดแยกขนส่งอีคอมเมิร์ชที่จีน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 5,200 ตร.ม. และมีเป้าหมายจะติดตั้งหุ่นยนต์นี้มากกว่า 4 ล้านตัวในปี 2568 เป็นต้น
 


4. บล็อกเชน

สุดท้ายคือเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ ระบบการจัดเก็บข้อมูลเป็นชุด ๆ แล้วนำมาเรียงต่อกันคล้ายขบวนรถไฟ หากมีข้อมูลชุดใหม่ก็สามารถมาต่อ และขยายต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่สามารถลบข้อมูลเดิมได้ ระบบบล็อกเชนจึงได้รับความสนใจมากขึ้นจากที่มีจุดแข็งเรื่องความโปร่งใส เพราะสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเดิมที่ลบไม่ได้ 

เทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่เพียงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการเงินของทั่วโลก แต่ยังเริ่มมีบทบาทในธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย โดยมีการนำมาใช้เก็บรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลของสินค้าที่จัดเก็บประเภทต่าง ๆ จำนวนหลายล้านชิ้น

ทำให้สามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการขโมยพัสดุ รวมถึงลดขั้นตอนในการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนให้เร็วขึ้น  ทั้งนี้ ตัวอย่างธุรกิจโลจิสติกส์ที่นำบล็อกเชนมาใช้ในปัจจุบันมีหลายราย อาทิ FedEx, DHL Express และ UPS เป็นต้น

การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่ จากข้อมูล พบว่าบริษัทโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยี IoT อยู่แล้ว

โดยใช้ในแอปพลิเคชัน IoT สำหรับการจัดการสินค้าคงคลัง 20% การจัดการยานพาหนะ 18% และการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ 18% กำลังเป็นที่นิยมมากที่สุดในบรรดาบริษัทโลจิสติกส์ของไทย



และในอนาคต พบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทโลจิสติกส์ในประเทศไทย กำลังวางแผนที่จะลงทุนในโดรน ถึง 41% ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่ง 32% และบล็อกเชน 32% เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ 

เทคโนโลยีเหล่านี้ ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ระบุว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด และยังเพิ่มรายได้อีกด้วย

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
4204 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
4202 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1057 | 25/03/2024
‘เทรนด์ IoT อัจฉริยะ ที่มาพร้อมการทรานส์ฟอร์ม ‘ภาคขนส่งไทย’ สู่การเป็น Logistics Hub