6 ขั้นตอน ‘ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว’ เพื่อเตรียมตัวเป็น ‘บริษัทมหาชน’

Family Business
24/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 24057 คน
6 ขั้นตอน ‘ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว’ เพื่อเตรียมตัวเป็น ‘บริษัทมหาชน’
banner
บทความที่แล้ว เราได้พูดถึงตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวที่นำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต 


ครั้งนี้ เราจะมาดูว่าในการนำธุรกิจครอบครัว (Family Business) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น มีขั้นตอนสำคัญๆ ที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง ซึ่งหลัก ๆ มี 6 ขั้นตอน  ดังนี้
 


1. จัดโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจน 

ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มีการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม หากบริษัทมีโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีกลไกที่เหมาะสม จะช่วยลดความขัดแย้ง และนำไปสู่การจัดการความขัดแย้งหรือการแก้ปัญหาอย่างตรงประเด็น



2. จัดโครงสร้างการถือหุ้น (Shareholding Structure) 

โครงสร้างของผู้ถือหุ้นมีผลต่อการดำเนินงานของกิจการ เพราะทำให้มีสิทธิในการควบคุมการบริหารงานทั้งในด้านนโยบายการบริหารงานและผลการดำเนินงาน ดังนั้น ควรแบ่งสัดส่วนการเป็นเจ้าของ (Ownership) และสัดส่วนของน้ำหนักในการโหวต หรืออำนาจในการตัดสินใจต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้นให้ชัดเจน 



3. โครงสร้างคณะกรรมการ

ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ ดังนั้น ในการเตรียมความพร้อมสู่บริษัทมหาชน ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องปรับโครงสร้างคณะกรรมการให้เป็นไปตาม พรบ.หลักทรัพย์ฯ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน



4.เตรียมการด้านระบบบัญชีให้มีมาตรฐานตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ 

กรรมการ ผู้บริหาร สมุห์บัญชี และ CFO ต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำงบการเงินที่มีความโปร่งใสทางการเงินตามมาตรฐานการบัญชี โดยจัดหาที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้วางระบบการควบคุมภายใน ผู้ตรวจสอบบัญชี  จัดทำระบบบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 



5. เตรียมระบบควบคุมภายใน 

เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ เช่น มีระบบควบคุมด้านการปฏิบัติการ (Operational Control) เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง หรือช่วยป้องกันความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น จัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการทำรายงานและจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้พร้อมต่อการตรวจสอบ เป็นต้น

ส่วนการควบคุมด้านการจัดการ (Management Control) จะทำให้มีระบบการควบคุมแบบ Check and Balance ที่ดี โดยการปรับโครงสร้างของบริษัททางกฎหมายให้เหมาะสม แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรและปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ หรือมีการกำหนดอำนาจอนุมัติที่ชัดเจนและเหมาะสม เช่น รายการสั่งซื้อที่มีมูลค่าสูงควรให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้อนุมัติ เป็นต้น



6. สรรหาผู้ประสานงาน หรือ นักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations หรือ IR)

เพื่อเชื่อมต่อระหว่างบุคคลภายนอกกับบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัท และสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เป็นการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ นักลงทุน คู่ค้าทางธุรกิจ ฯลฯ 



‘ปัจจัย’ ที่มีผลต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับธุรกิจครอบครัวที่ก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรทราบถึงแนวทางการบริหารธุรกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีปัจจัยที่สำคัญดังต่อไปนี้ 

1. ปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตัวอย่างเช่น นำหลัก ESG มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จะได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน

ซึ่งหมายถึง ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักบรรษัทภิบาลเพื่อบริหารความเสี่ยงและพัฒนากิจการไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ได้แก่ คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน มีการดูแลผู้มีส่วนได้เสียของกิจการรวมทั้งสังคมใกล้และสังคมไกล และยึดแนวทางในการบริหารกิจการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี เพื่อให้กิจการเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 

2. ความสัมพันธ์ของคนในธุรกิจครอบครัว

กล่าวคือ ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน มีความพึงพอใจกับสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ  พอใจสภาพการทำงานกับมืออาชีพ และมีความผูกพันกับธุรกิจ จะส่งผลให้มีผลประกอบการที่ดี 

3. การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งธุรกิจ (Business Holding Company : BHC) 

เพื่อถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ของครอบครัว ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถระดมทุนจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการระดมทุนและการร่วมทุนกับธุรกิจครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำรงรักษาผลประโยชน์และสวัสดิการที่ดีของสมาชิกครอบครัวเอาไว้ต่อไปได้



ข้อดี-ข้อเสีย สำหรับการนำธุรกิจครอบครัวสู่ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีดังนี้

ข้อดี

1. มีแหล่งเงินทุนระยะยาว ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสามารถระดมทุนจากนักลงทุน หรือหาผู้ร่วมลงทุนได้มากขึ้น

2. เพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกิจครอบครัว จากการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเพื่อแสดงความโปร่งใส ทั้งนี้เพราะบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องถูกตรวจสอบระบบบัญชีการเงินอย่างเข้มข้น โดยผู้ประกอบการต้องมีบัญชีเดียว มิฉะนั้น จะไม่สามารถนำธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ 

3. มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ เมื่อนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จะต้องมีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด เพราะส่งผลต่อความเชื่อถือของนักลงทุนและราคาหุ้น

ข้อเสีย

1. สัดส่วนความเป็นเจ้าของลดลง เพราะต้องแบ่งหุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ หากคนในครอบครัวที่ถือหุ้นด้วยไม่เห็นชอบอาจทำให้มีปัญหาความขัดแย้งได้

2. เมื่อนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการตามกฎระเบียบ ของตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ทำให้ขาดอิสระในการบริหารจัดการธุรกิจ

3. เมื่อนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเพื่อความโปร่งใส ทำให้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความลับทางการค้า

จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่า การนำธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจครอบครัวจึงจำเป็นต้องพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบว่า ควรนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง หรือควรสงวนธุรกิจครอบครัวเอาไว้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่นดีกว่า…

พบกันใหม่ กับสาระดี ๆ ของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในบทความหน้า 
ขอขอบคุณ GURU รับเชิญ :  รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
4004 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5300 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
6367 | 30/03/2024
6 ขั้นตอน ‘ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว’ เพื่อเตรียมตัวเป็น ‘บริษัทมหาชน’