5 แพลตฟอร์ม สร้าง ‘AI generated art’ ให้ SME สร้างภาพได้เอง ไม่เก่ง Photoshop ก็ทำได้
ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นแบบไหน สิ่งสำคัญที่จะช่วยในการสื่อสาร สร้างการจดจำให้แบรนด์สินค้าของเรา ก็คือภาพที่สะดุดตา สะกดใจลูกค้าได้ในชั่วเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งนอกจากการครีเอทคำ Copywrite เก๋ ๆ ให้โดนใจ ยังต้องมีภาพสวย ๆ ที่เตะตา ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณหยุด และมองแบบไม่เลื่อนผ่าน
แต่คนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ อาจต้องคิดหนักกับการจ้างทีมกราฟิกดีไซน์มืออาชีพ ด้วยต้นทุนที่มีจำกัด หรือยังไม่พร้อมจะฟอร์มทีมใหม่ขึ้นมา บทความนี้ มีตัวช่วยด้วย 5 แพลตฟอร์ม ‘สร้างภาพ’ ได้เอง ไม่เก่งกราฟิก...ก็ทำได้ แถมไม่ต้องใช้โปรแกรมที่ยุ่งยากแต่อย่างใด
ซึ่งการสร้างภาพที่เรากำลังพูดถึง คือภาพที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในการทำสื่อโฆษณาทั้งช่องทาง Online และ Offline โดยใช้เครื่องมือที่กำลังเป็นกระแสกันอยู่ในตอนนี้ นั่นก็คือ Generative Artificial Intelligence Program หรือที่หลายคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า ‘Generative AI’ นั่นเอง

Generative AI คืออะไร?
Generative AI ถือเป็นปัญญาประดิษฐ์แห่งโลกยุคใหม่ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และสั่นสะเทือนในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงศิลปะ บันเทิง ครีเอทีฟดีไซน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง SME
ซึ่งถ้าหากคุณรู้หลักการทำงานของโปรแกรมนี้แล้ว สามารถนำศักยภาพของ Generative AI ในการสร้างภาพ ที่แทบจะไม่มีขีดจำกัด มาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพเพื่อใช้ประกอบในสื่อโฆษณา ภาพเพื่อการนำเสนองาน หรือภาพตกแต่งบนโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ ไปจนถึงสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ขอแค่คุณมี ‘ไอเดีย’ ก็สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านการออกแบบ หรือวาดรูปแต่อย่างใด

หลักการทำงานของ Generative AI
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การสร้างภาพโดยใช้ Generative AI ภาพที่ได้ออกมาเราจะเรียกว่า ‘AI Generated Art’ แปลตรงตัวก็คือ ศิลปะที่สร้างโดย AI นั่นเอง
ในการสร้าง AI Generated Art สิ่งสำคัญที่สุด คือ Prompt ซึ่งเปรียบเสมือนคำสั่งที่คุณป้อนเข้าสู่ระบบ เพื่อสื่อสารให้ AI เข้าใจว่าคุณต้องการจะสร้างภาพอะไร โทนสีแบบใด สไตล์ไหน มีองค์ประกอบอะไรอยู่ในภาพบ้าง ฯลฯ โดยการพิมพ์เป็นคำ ๆ และ/หรือประโยคสั้น ๆ ที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน คั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค
เมื่อพิมพ์คำ หรือคีย์เวิร์ดที่ต้องการครบแล้ว เราจะมาดูในส่วนของ Algorithms หรือที่ส่วนใหญ่มักใช้คำว่า Model ซึ่งเป็นเหมือนฟันเฟืองหลักในการประมวลผล Prompt เพื่อสร้างภาพ แต่ละแพลตฟอร์มจะมี Model หลัก ๆ ที่เหมือน หรือแตกต่างกันออกไปบ้าง
อาทิ SDXL 0.9 โมเดลใหม่ที่พัฒนามาจาก SDXL BETA สามารถสร้างภาพที่มีความละเอียดสูงเสมือนจริง และเก็บรายละเอียดได้ดีกว่า หรือโมเดล Stable Diffusion ซึ่งถูกพัฒนาออกมาหลายเวอร์ชั่น นิยมใช้สำหรับสร้างภาพแนวศิลปะ-ภาพวาด และภาพทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ให้เลือก อาทิ ขนาดภาพที่ต้องการ จำนวนภาพที่ต้องการสร้างต่อการ Generate 1 ครั้ง หรือ Advanced Prompt Editor ต่าง ๆ ตามที่แต่ละแพลตฟอร์มมีให้ ซึ่งบางแพลตฟอร์มก็อาจต้องพิมพ์คำสั่งเองทั้งหมด หรือบางแพลตฟอร์มก็พิมพ์แค่ Prompt และมีปุ่มให้กดเลือกฟังก์ชั่นต่าง ๆ

ตัวอย่างการสร้าง AI Generated Art
Prompt: strawberry cheesecake, garden background, professional photography, bokeh, natural lighting, canon lens, shot on dslr 64 megapixels sharp focus
Model: Stable Diffusion v2.1
ภาพที่ได้:

Prompt: a delicious cupcake, party background, professional photography, bokeh, natural lighting, canon lens, shot on dslr 64 megapixels sharp focus
Model: Stable Diffusion v2.1
ภาพที่ได้:

ภาพ AI Generated Art ที่ได้ออกมาหลังจากที่กด Generate มักจะยังมีความคมชัดไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานจริง ดังนั้น ผู้ใช้ควรนำภาพดังกล่าวไป Upscale (ขยายขนาดภาพ) เสียก่อน ซึ่งสามารถเลือกทำในแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้เลย
โดยกดที่คำสั่ง หรือสัญลักษณ์ Upscale และเลือกขนาดภาพที่ต้องการ จะสามารถขยายภาพจากต้นฉบับได้ตั้งแต่ 2 เท่าขึ้นไป บางแพลตฟอร์มอาจขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นได้ถึงเกือบ 16 เท่า จากนั้นจึงดาวน์โหลดภาพที่ขยายเสร็จแล้วมาใช้งานได้

5 แพลตฟอร์ม Generative AI ยอดนิยม
1. Midjourney
แพลตฟอร์มแจ้งเกิด Generative AI ที่มีรีวิวภาพสุดล้ำเหนือจินตนาการออกมาให้เห็นกันอย่างมากมาย ซึ่งในช่วงแรกมีการเปิดให้ทดลองใช้ฟรี

แต่ปัจจุบันหากใครต้องการใช้บริการของ Midjourney จะต้องสมัครสมาชิกเท่านั้น เริ่มต้นที่ 8$ ต่อเดือน (Basic Plan) ซึ่งราคานี้จะจำกัดให้สร้างภาพได้ไม่เกิน 200 ภาพต่อเดือน ส่วนสมาชิกที่จ่ายเดือนละ 30$ ขึ้นไปจะสามารถสร้างภาพได้อย่างไม่จำกัด

ตัวอย่างภาพที่สร้างจาก Midjourney

การใช้งาน Midjourney จะต่างจากแพลตฟอร์มอื่นตรงที่ ผู้ใช้งานต้องเข้าไปสร้างภาพในโปรแกรม Discord (สมัครใช้งานโปรแกรมได้ฟรี) ไม่สามารถสร้างภาพผ่านเว็บไซต์ได้โดยตรงเหมือนแพลตฟอร์มอื่น ๆ และต้องพิมพ์คำสั่งเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Prompt, ขนาดภาพ, สไตล์ภาพ ฯลฯ
เว็บไซต์: www.midjourney.com/
คลิปสอนวิธีการใช้งาน: https://www.youtube.com/watch?v=VUDjpOY3YeE

2. Nightcafe
แพลตฟอร์มยอดนิยมที่เน้นความเป็น AI art generator และ Community มี Model ให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย User Interface ค่อนข้างใช้งานง่าย และยังมี Prompt Presets ซึ่งเป็นชุดคำศัพท์-คีย์เวิร์ด สำหรับคนที่นึก Prompt ไม่ออกก็สามารถเลือกใช้งานในส่วนนี้ได้
Nightcafe สามารถใช้งานได้ทั้งแบบฟรี และจ่ายเป็น ‘Credit’ ซึ่งถูกใช้เป็นค่าเงินในแพลตฟอร์มนี้ ผู้ใช้งานสามารถเก็บสะสม Credit ได้หลากหลายวิธี เช่น การล็อกอินเข้าระบบ ในแต่ละวันจะได้รับ 5 Credits การเข้าร่วมประกวดภาพ เพื่อลุ้นรางวัลสูงสุดถึง 250 Credits การกดไลก์ภาพของผู้ใช้งานคนอื่น การแชร์ภาพ และการทำภารกิจอื่น ๆ ตามที่แพลตฟอร์มกำหนด หากเครดิตที่ได้มาฟรี ๆ ยังไม่จุใจ ก็สามารถสมัครสมาชิกแบบรายเดือนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าภาพที่สร้างโดยเสีย Credit มีแนวโน้มว่าจะมีคุณภาพดีกว่าการสร้างภาพแบบฟรีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการสร้างภาพแบบเสีย Credit จะใช้ขั้นต่ำอยู่ที่ 0.75 Credits ต่อ 1 ภาพ
ตัวอย่างภาพที่สร้างจาก Nightcafe

เว็บไซต์: https://creator.nightcafe.studio/
คลิปสอนวิธีการใช้งาน: https://www.youtube.com/watch?v=uQJuh_UoKTc

3. Neural.love
แพลตฟอร์มที่ใช้งานโดยจ่ายเป็น Credit เหมือนกับ Nightcafe โดยจะมี 5 Credits ให้ฟรีเมื่อสมัครใช้งาน หลังจากนั้นผู้ใช้สามารถเลือกแผนการใช้งานได้ว่าต้องการซื้อกี่ Credit ต่อเดือน หรือต่อครั้ง ซึ่งกำหนดขั้นต่ำ 100 Credits ในราคา 10$ ต่อเดือน ตามรายละเอียดในภาพด้านล่าง

ในส่วนของ Model ที่มีให้ นอกจาก NL 0.3 แล้ว Neural.love ยังมีฟังก์ชั่นให้ผู้ใช้สามารถสร้าง Model แบบ Custom ขึ้นมาใช้เองได้อีกด้วย ซึ่งการสร้าง Model ในแต่ละครั้ง เราจะต้องอัพโหลดภาพเข้าสู่เว็บไซต์เพื่อให้ AI เรียนรู้และจดจำภาพ อย่างน้อยจำนวน 20 ภาพ ในขั้นตอนนี้จะเรียกว่าการ Training ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 90 นาที และต้องจ่ายค่า Training ครั้งละ 10$
ตัวอย่างภาพที่ใช้อัพโหลด เพื่อ Training

ตัวอย่างภาพที่สร้างจาก Model ที่ Training โดยภาพด้านบน

เว็บไซต์: https://neural.love/
คลิปสอนวิธีการใช้งาน: https://www.youtube.com/watch?v=Y-V27uoXy5w

4. Openart
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มี Model ให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย ทั้งยังสามารถสร้าง Model ในสไตล์ตัวเองขึ้นมาใช้งานได้อีกด้วย เช่นเดียวกับการ Training ของ Neural.love แตกต่างกันที่ Openart จะใช้ภาพสำหรับการ Training เพียง 10-20 ภาพ และใช้เวลาแค่ประมาณ 30 นาทีเท่านั้น
ตัวอย่างภาพที่ได้จากการ Training (ด้านซ้าย) ซึ่งถูก Generate จากภาพถ่ายที่ผู้ใช้อัพโหลดเข้าระบบ (ด้านขวา) จะเห็นได้ว่าระบบ AI สามารถการจัดองค์ประกอบแสง สี ปรับปรุงรายละเอียด รวมถึงพื้นหลังได้เหมือนถ่ายจากช่างภาพมือโปร พร้อมนำไปเสนอลูกค้า หรือโปรโมตบนสื่อต่าง ๆ ได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง


ในส่วนของการสร้างภาพบนเว็บไซต์นี้จะต้องจ่าย Credit เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะมี Credits ฟรีให้ทดลองใช้ 200 Credits โดยจะใช้ขั้นต่ำ 1 Credits ต่อการสร้าง 1 ภาพ หากผู้ใช้งานต้องการซื้อ Credit เพิ่ม ก็มีแพ็กเกจแบบรายเดือนให้บริการเช่นกัน เริ่มต้นที่เดือนละ 9.99$

เว็บไซต์: https://openart.ai/
คลิปสอนวิธีการใช้งาน: https://www.youtube.com/watch?v=9XgMEeonIIA

5. Openai
Openai หรือที่หลายคนมักคุ้นกันในชื่อ DALL.E ซึ่งเป็น Model ระบบ AI หลักของแพลตฟอร์มนี้ ที่ถูกพัฒนาออกมาหลายเวอร์ชั่น ล่าสุดคือ DALL.E 2 เหมาะสำหรับการสร้างภาพเสมือนจริง และภาพศิลปะจาก Prompt ที่เป็นภาษาพูด เข้าใจง่าย
ตัวอย่างภาพที่สร้างจาก Openai

Openai ใช้ Credit ในการสร้างภาพ ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 115 Credits เป็นจำนวนเงิน 15$ ซึ่งการ Generate จะใช้ 1 Credit ต่อการ Generate 1 ครั้ง และ Credit จะมีอายุการใช้งานได้เพียง 12 เดือนเท่านั้น นับจากวันที่ซื้อ

เว็บไซต์: https://openai.com/dall-e-2
คลิปสอนวิธีการใช้งาน: https://www.youtube.com/watch?v=iBHAja_GV5I
ปัจจุบัน มีการนำภาพ AI Generated Art มาใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือเชิงธุรกิจกันอย่างกว้างขวาง อาทิ ภาพตัวอย่าง Interior Design, ภาพปกหนังสือ, ปกอัลบัม, โบชัวร์, ภาพสินค้าเพื่อการโฆษณา, การออกแบบบรรจุภัณฑ์, Story Board เพื่อนำเสนอลูกค้า, โลโก้สินค้า ฯลฯ
แนวโน้มจากรายงาน “The economic potential of generative AI” โดย “แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี” พบว่า Generative AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้โมเดลเชิงประสิทธิภาพสูง สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับโลกได้มากถึง 90-153 ล้านล้านบาทต่อปี เทียบเคียงได้กับการที่โลกเรา มีประเทศระดับสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ประเทศเลยทีเดียว (จีดีพีสหราชอาณาจักร 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564)
นอกจากนี้ Generative AI ที่องค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึง และนำมาใช้งานได้ เป็นตัวผลักดันคาดการณ์อัตราการใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงานให้เพิ่มเร็วขึ้นด้วย โดยแมคคินซีย์ คาดว่าครึ่งหนึ่งของกิจกรรมการทำงานในปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติแทนในระหว่างปี 2573-2603 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี
โดยรวมแล้ว แมคคินซีย์มองว่า Generative AI เป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยาด้านเทคโนโลยี” ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่เส้นทางการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และยังเพิ่มศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานไปพร้อมกันด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.midjourney.com/
https://creator.nightcafe.studio/
https://neural.love/
https://openart.ai/
https://openai.com/dall-e-2
https://www.mckinsey.com/~/media/mckinsey/business%20functions/mckinsey%20digital/our%20insights/the%20economic%20potential%20of%20generative%20ai%20the%20next%20productivity%20frontier/the-economic-potential-of-generative-ai-the-next-productivity-frontier-vf.pdf