พาชม 4 ‘โรงคั่วกาแฟ’ รักษ์โลก ที่มาพร้อมการสร้าง ‘ความยั่งยืน’ ให้เกษตรกรไทย
กาแฟ เครื่องดื่มที่หลายคนติดอกติดใจในรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และกลิ่นหอมละมุน จนกลายเป็นเมนูที่ต้องมี ในทุก ๆ วัน นอกจากความสดชื่นที่ได้รับ การดื่มกาแฟยังเป็นเหมือนมนต์สะกดที่สร้างความรู้สึกพิเศษให้กับคนรักกาแฟ เพราะมีคาเฟอีน ช่วยกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายมีความสุข ได้แบบไม่รู้ตัว
ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีรายงานว่า ความต้องการกาแฟใช้ในประเทศ ในปี 2565 คาดว่ามีปริมาณความต้องการประมาณ 89,208 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 จากปีก่อน (ปี2564 ปริมาณ 86,701 ตัน) เนื่องจากความต้องการของโรงงานแปรรูปมีเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งปลูกกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งสิ้น 268,211 ไร่ ซึ่งภาครัฐ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ควบคุมการเพาะปลูก เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟคุณภาพมีผลผลิตต่อไร่สูง ลดต้นทุน รวมทั้งผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด
เพื่อต้อนรับเทศกาลสำหรับคอกาแฟทั่วโลก ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี นั่นคือ วันกาแฟสากล หรือ International Coffee Day ที่องค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization) กำหนดให้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองและส่งเสริมเครื่องดื่มกาแฟ รวมไปถึงการเชิดชู ‘เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั่วโลก’ ตั้งแต่เกษตรกร นักคั่ว บาริสต้า เจ้าของร้านกาแฟ และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองวันกาแฟสากล บทความนี้ Bangkok Bank SME ได้รวบรวม 4 โรงคั่วกาแฟของคนไทย ที่นอกจากจะชูรสชาติกาแฟชั้นเยี่ยมให้กับลูกค้ามายาวนาน ในการดำเนินงาน ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ในอุตสาหกรรมอีกด้วย
• The Coffee Bean Roasting คุณภาพยืนหนึ่ง เสิร์ฟความกลมกล่อม สู่การเป็นโรงคั่วกาแฟแถวหน้าสร้างความยั่งยืนเกษตรกรไทย
จาก Passion สู่ผู้ชำนาญธุรกิจโรงคั่วกาแฟ
จุดเริ่มต้นจาก Passion ที่ชอบดื่มด่ำรสชาติกาแฟ สู่ธุรกิจโรงคั่วกาแฟที่ชำนาญการผลิตเมล็ดกาแฟคั่ว จากแนวคิดที่อยากสร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรมกาแฟไทยของ คุณสุขเกษม ขำทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ คอฟฟี่ บีน โรสติ้ง จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจจากการคั่วและจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟ เมื่อปี 2540 จากโรงคั่วเมล็ดกาแฟเล็ก ๆ ในพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร สู่โรงงานคั่วเมล็ดกาแฟมาตรฐานสากล
โดยคุณสุขเกษม มองว่า นอกจากจะทำอย่างไรให้ขายได้แล้ว ‘เดอะ คอฟฟี่ บีน โรสติ้ง’ ยังเข้าไปส่งเสริมพร้อมให้คำแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพราะเชื่อว่าหากมีการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทยให้มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกาแฟไทยเติบโตได้ ดังนั้น หากเกษตรกรปรับมาผลิตกาแฟคุณภาพ จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน
• ‘สันติพาณิชย์ Coffee & Roaster’ ครีเอทรสชาติพิชิตใจ Specialty Coffee
กูรูเบลนด์กาแฟเชื่อมโยงแหล่งผลิต และส่งต่อความรู้
ด้วยความชื่นชอบในการลิ้มรสกาแฟ กลายเป็นแรงผลักดันให้ คุณจิรศักดิ์ สุทธาดล CEO & Founder สันติพาณิชย์ Coffee & Roaster นำ Passion ดังกล่าว มาต่อยอดสร้างธุรกิจโรงคั่วและร้านกาแฟ ณ จังหวัดสระบุรี เอาใจคอ Specialty Coffee รังสรรค์รสชาติให้แตกต่าง อย่างสร้างสรรค์เป็นการเฉพาะ การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 Thailand National Roasting Championship 2019
คุณจิรศักดิ์ เผยว่า ในอดีตตนเองเคยทำงานกับสถาบันการเงิน แล้วอยากกลับไปทำงานที่บ้าน (จังหวัดสระบุรี) พร้อมกับดูแลคุณพ่อจึงตัดสินใจลาออก และด้วยความที่ชอบกาแฟเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเกิดแนวคิดอยากเปิดร้านกาแฟ หลังจากนั้นตนเองได้ไปเรียนบาริสต้า แล้วมีการพูดถึงการคั่วกาแฟ ซึ่งตัวเองรู้สึกสนใจ ก่อนเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจทำธุรกิจคั่วกาแฟ
ตนเองเริ่มจากการคั่วด้วยเครื่องคั่วกาแฟเล็ก ๆ 1 เครื่อง คั่วกาแฟ 10 - 100 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งขณะนั้นลูกค้าคือกลุ่มร้านกาแฟ โดยทางสันติพาณิชย์ต้องการคั่วกาแฟส่งร้านกาแฟโดยตรง เนื่องจากไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีลูกค้า เพียงแต่ต้องมีเมล็ดกาแฟที่ตอบโจทย์ความต้องการของร้านกาแฟในหลากหลายระดับ
“หลังจากนั้นได้มีการศึกษาด้านกาแฟเพิ่มขึ้น เช่น การคั่วกาแฟ การชิมกาแฟ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคอกาแฟมากยิ่งขึ้น”
อาทิ การไปร่วมกับกาแฟแม่บู่หยา จ.เชียงใหม่ ที่มีการส่งต่อองค์ความรู้การ Processing กาแฟ ทำให้เกษตรกรกล้าลงทุนทำบ่อหมัก ลานตากเมล็ดกาแฟ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ร่มเงาในสวนกาแฟ เหล่านี้ไม่เพียงสามารถสร้าง Value Chain ระหว่างโรงคั่วกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ยังเป็นการสร้าง Value added ให้กับสินค้า และเป็น Long Term Relationship สำหรับธุรกิจ
เหตุนี้ การไป Connect and Transfer กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรงไม่เพียงสามารถพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบโดยการส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกร ไม่เพียงสร้างการมีส่วนร่วมและแบ่งปันรายได้แก่สู่ชุมชนยังช่วยในเรื่องของการมีแหล่งซัพพลายวัตถุดิบที่เพียงพอให้กับธุรกิจอีกด้วยฃ
• Passion จุดเริ่มต้น ‘โรงคั่วกาแฟ’
ยกแก้ว นั่งจิบ ลิ้มรสชาติกาแฟคั่วใหม่ ที่ ‘โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว’
ปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำให้ธุรกิจนำเข้าอะไหล่คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้ คุณปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ เจ้าของธุรกิจต้องปิดกิจการที่มาพร้อมด้วยหนี้ก้อนโตถึง 50 ล้านบาท
หลังจากนั้น คุณปกรณ์ จึงเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ ก่อนมีโอกาสได้เดินทางมาที่ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ด้วยความรู้สึกที่อยากพักสมอง อยากทำการเกษตร จึงเริ่มต้นเช่าที่ดินแปลงเล็ก ๆ ประมาณ 5 ไร่ เพื่อทำเกษตรแบบผสมผสาน
เขาเล่าว่า วันหนึ่งได้พบกับ ‘กาแฟต้นแรก’ ที่ชาวบ้านปลูกไว้ จึงเกิดความสนใจอยากลองปลูกบ้าง โดยอำเภอวังน้ำเขียว ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับการปลูกกาแฟ จึงมีเกษตรกรปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสตาและอาราบิกาจำนวนไม่น้อย
“เมื่อได้เจอกับกาแฟต้นแรกแล้วเกิดความสนใจ เห็นโอกาสทางธุรกิจ ประกอบกับมีความต้องการสร้างมูลค่าให้กับกาแฟที่นี่ จึงได้ไปศึกษาการแปรรูปกาแฟที่หมู่บ้านดอยช้าง อำเภอแม่สวย จังหวัดเชียงราย”
โดยคุณปกรณ์ ได้สร้างแบรนด์ ‘โรงคั่วกาแฟ’ ขึ้นมา เพื่อคั่วกาแฟขายแบบคั่วเองขายเอง ช่วงเริ่มต้นมีเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 4-5 คน จากนั้นโรงคั่วกาแฟทำให้เกษตรกรคนอื่นเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จริง จึงทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเครือข่ายจาก 10 คน กลายเป็น 100 คน ซึ่งโรงคั่วกาแฟจะคัดเลือกเกษตรกรที่ต้องการปลูกกาแฟจริงจัง เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ ส่วนราคารับซื้อจากเกษตรกรไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่เป็นราคากลางที่ใช้ทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีเกษตรกรผ่านการคัดเลือกประมาณ 30 ราย โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟเฉลี่ยประมาณ 20 ไร่ต่อราย ให้ผลผลิตทั้งหมด 30 ตันต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการผลิตเพื่อจัดจำหน่าย ดังนั้นโรงคั่วกาแฟจึงร่วมมือกับหมู่บ้านดอยช้าง จังหวัดเชียงราย รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรที่นั่นมา 9 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจังหวัดน่านด้วย
นอกจากกาแฟคั่วแล้วคุณปกรณ์เผยว่า ‘โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว’ ยังได้มีการเปิดฟาร์มเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถานที่ดื่มกาแฟ รับประทานอาหาร-เบเกอรีต่าง ๆ ให้ผู้คนได้เยี่ยมชมสไตล์ฟาร์มเมอร์วิถีชีวิตการทำกาแฟ นอกจากนี้ยังมีช็อปผลิตภัณฑ์ที่มี เมล็ดกาแฟคั่ว คอสเมติกคอฟฟี่
ซึ่งเกิดจากการต่อยอดไอเดียประมาณ 20 รายการ อีกทั้งยังสร้างแหล่งปั้น ‘บาริสต้า’ ให้ความรู้แก่คนในพื้นที่นับร้อยคน ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงาน ให้มีอาชีพที่มั่นคง แล้วอาจไปขยับขยายเติบโตทำธุรกิจตัวเอง ขณะเดียวกัน เราก็ผันตัวเป็น ‘ผู้ผลิต’ ให้สำหรับคนที่ต้องการสร้างแบรนด์ตัวเอง โดยเราช่วยซัพพลายวัตถุดิบเพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน
นับตั้งแต่ปี 2555 ผลิตภัณฑ์ของโรงคั่วกาแฟมีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เขาสามารถจ่ายหนี้จำนวน 50 ล้านบาท ได้ในปี 2562
• 'ไพรัตน์ ฟู้ด' สร้างสรรค์ 'กาแฟเทพเสด็จ' ยกระดับ Thai Specialty Coffee สู่สากล
ผลผลิตจากดอยสูง เพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
คุณเสาวลักษณ์ ธาตุอินจันทร์ (คุณเล็ก) ผู้บริหารบริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด “กาแฟเทพเสด็จ” กาแฟพันธุ์ดีของคนไทย ผลผลิตจากดอยสูงใน จ. เชียงใหม่ สู่ Specialty Coffee ที่ต่างชาติยังติดใจ ภายใต้การพัฒนารสชาติ และปรับปรุงการแปรรูปเมล็ดกาแฟอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอนโดย “บริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด” จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสาน โดยยึดหลักแห่งการ “แบ่งปัน” มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
คุณเสาวลักษณ์ ทุ่มเท และศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง ถึงขั้นไปเข้าคอร์สเรียนกับสถาบันการเรียนรู้กาแฟพิเศษประเทศไทยใน กทม. เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องสายพันธุ์, การเพาะปลูก, การแปรรูป ไปจนถึงการคั่วเมล็ดกาแฟ
หลังจากได้วิชาความรู้ความเข้าใจมาอย่างเต็มเปี่ยม จึงได้นำความรู้เหล่านี้กลับมาแบ่งปันกับลุงป้าน้าอาชาวไร่ โดยทดลองเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเองก่อน แล้วจึงคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพมากพอที่จะเพิ่มมูลค่าไปแจกจ่ายให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล็ดกาแฟ ที่มีอยู่ราว 20 ครัวเรือน คุณเสาวลักษณ์ กล่าวว่า “แม้สายพันธุ์กาแฟที่เราเลือกปลูกอาจให้ผลผลิตได้น้อยกว่าพันธุ์ที่ชาวบ้านเคยปลูก แต่ก็สามารถขายได้ราคาดีกว่า”
“เราได้เปรียบตรงที่ เราเอาเมล็ดกาแฟจากบนดอยมาตากในพื้นที่ราบใน อ. ดอยสะเก็ด และมีโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทีอื่นยังไม่มี”
“ครอบครัวมีไร่กาแฟอยู่บนดอย ลุงป้าน้าอาเป็นคนดูแล เราไม่ได้เข้าไปยุ่ง แต่วันหนึ่ง พวกเขาบอกว่าจะไม่ทำแล้ว จะไปปลูกอย่างอื่น เพราะกาแฟถูกมาก เขาขายไม่ได้ราคา” เมื่อได้ยินดังนั้น จึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้นทางผลกาแฟที่ออกจากไร่ถึงมีราคาถูกมาก สวนทางกับปลายทางที่ร้านกาแฟขายกันแก้วละ 70-100 บาท ทำให้เริ่มเข้าไปศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง เพื่อหวังจะช่วยแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่าของผลผลิตเมล็ดกาแฟ
ในช่วงแรก ๆ เราขอแค่ให้เกษตรกรเก็บผลกาแฟเชอร์รี่สุก ๆ ให้ เราก็พอใจแล้ว พอนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูป แล้วนำไปจำหน่ายปรากฎว่าได้ราคาดีขึ้น เกษตรกรก็เริ่มเปิดใจที่จะปรับปรุง พัฒนากระบวนการเพาะปลูก
เราแนะนำเขาตั้งแต่เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง, การตัดแต่งกิ่ง, การกำจัดมอด เน้นเรื่องลดการใช้สารเคมี ให้ผลผลิตของเราคลีนที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอเกษตรกรนำไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง เราจึงเริ่มได้ผลกาแฟเชอร์รี่ที่มีคุณภาพมากขึ้น ขายได้ราคาที่มากขึ้นคุณเสาวลักษณ์ ทุ่มเท และศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง
ถึงขั้นไปเข้าคอร์สเรียนกับสถาบันการเรียนรู้กาแฟพิเศษประเทศไทยใน กทม. เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องสายพันธุ์, การเพาะปลูก, การแปรรูป ไปจนถึงการคั่วเมล็ดกาแฟ
หลังจากได้วิชาความรู้ความเข้าใจมาอย่างเต็มเปี่ยม จึงได้นำความรู้เหล่านี้กลับมาแบ่งปันกับลุงป้าน้าอาชาวไร่ โดยทดลองเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเองก่อน แล้วจึงคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพมากพอที่จะเพิ่มมูลค่าไปแจกจ่ายให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล็ดกาแฟ ที่มีอยู่ราว 20 ครัวเรือน
เชื่อว่า สินค้าจะราคาถูก หรือแพง หากคุณภาพดี ยังไงคนก็ซื้อ “เราไม่ได้หวั่นไหวกับราคาตลาด ไม่ค้ากำไรเกินควร บางทีผลผลิตบางอย่างราคาตลาดขึ้นไปถึง 500 บาทต่อกิโลกรัม แต่เราก็ขายของเราอยู่ที่ 300 บาท เราก็อยู่ได้แล้ว เกษตรกรก็อยู่ได้ มีความสุขทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค”
ทั้งหมดนี้ คือ 4 ธุรกิจตัวอย่างของผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ที่มีแนวคิดการดำเนินงาน โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งด้านการบริหารจัดการ คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล ไปพร้อมกับพัฒนาต้นน้ำอย่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพิ่มการมีส่วนร่วมในเรื่องการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
อ้างอิง :
http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/wiekhraaahsthaankaarnesrsthkicchphuumiphaakh_eduuenk.pdf
http://www.ico.org/