รถติดแถมฝนโหมกระหน่ำ 7 ทริคขับรถลุยน้ำท่วมอย่างไร? รถไม่พัง
เมืองไทยก้าวเข้าสู่หน้าฝนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสายฝนโหมกระหน่ำลงมาทำให้เกิดน้ำท่วม แล้วยิ่งบ้านเรามักเผชิญกับปัญหารถติดอยู่แล้วแน่นอนว่าเราต้องเจอกับปัญหา X2 ทั้งน้ำท่วม + รถติด
โดย TomTom Traffic Index เว็บไซต์สถิติด้านการจราจร ได้เผยข้อมูลการจราจร ปี 2564 ว่าจากการอันดับการจราจรใน 404 เมือง ใน 58 ประเทศ ใน 6 ทวีป พบว่า กรุงเทพฯ ประเทศไทย อยู่อันดับ 74 ของโลก เสียเวลาในการเดินทาง (รถติด) 71 ชั่วโมงต่อปีเลยทีเดียว
เมื่อฝนตกทำน้ำท่วมผนวกกับปัญหารถติด ทำให้รถยนต์แสนรักของเราต้องเผชิญกับการลุยน้ำท่วมซึ่งเสี่ยงต่อการเครื่องยนต์พังได้ ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงขอนำทริคขับรถลุยน้ำท่วมอย่างไร? รถไม่พังมาฝาก

ขับรถลุยน้ำท่วมสร้างความเสียหายกับตัวรถได้อย่างไร?
รถยนต์แต่ละคันถูกพัฒนาให้สามารถลุยน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ารถประเภทเอสยูวีและรถกระบะจะมีความสามารถในการลุยน้ำได้ลึกกว่ารถเก๋ง แต่ถึงกระนั้นหากอ้างอิงตามที่ผู้ผลิตกำหนดจะพบว่ารถกระบะยกสูงสามารถลุยน้ำที่มีระดับความลึกได้ราว 800 มิลลิเมตร ซึ่งรถเก๋งทั่วไปสามารถลุยน้ำได้ต่ำกว่านั้นมาก มิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ได้
ความเสียหายที่น่าเป็นห่วงที่สุดจากการขับรถลุยน้ำคือ น้ำจะถูกดูดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์แทนที่จะเป็นอากาศตามปกติ ทำให้การจุดระเบิดชะงักลง ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับลงในทันที ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อน้ำเข้าไปยังกระบอกสูบที่มีแรงดันมหาศาลอยู่ภายใน ก็จะเกิดเป็นแรงต้านการอัดของลูกสูบ
ส่งผลให้ก้านสูบเกิดการคดงอ หรือหากน้ำเข้าไปเป็นปริมาณมากก็อาจรุนแรงถึงขั้นแตกหักได้เลย โดยความเสียหายจากกรณีก้านสูบคดหรือหักนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ และมักจะมีปัญหาอื่นๆ พ่วงตามมาด้วย ขณะที่ค่าซ่อมก็ต้องกำเงินไว้อย่างน้อยๆ 30,000 บาท จนบางคนถึงขั้นยอมยกเครื่องใหม่ไปเลยก็มี

ทริคขับรถลุยน้ำท่วมอย่างไร? รถไม่พัง
1. คาดการณ์ความลึกของน้ำท่วม
หากทางข้างหน้ามีน้ำท่วมขังแล้วเราจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำไป ควรประเมินความลึกของน้ำด้วยการเช็กกับระดับทางเท้า โดยทางเท้าทั่วไปจะมีความสูงตั้งแต่ 10 - 30 เซนติเมตร ดังนั้น หากน้ำท่วมเอ่อล้นปริ่มทางเท้า แสดงว่าระดับน้ำค่อนข้างสูงจนเป็นอันตรายสำหรับรถเก๋งทั่วไปได้
2. ใช้ความเร็วให้ต่ำที่สุด
หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าการขับรถลุยน้ำจะต้องเร่งเครื่องสูงเพื่อป้องกันรถดับ เนื่องจากขณะเร่งรอบสูง เครื่องยนต์ก็จะดูดเอาอากาศจากท่อไอดีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพิ่มโอกาสเสียงที่น้ำจะถูกดูดเข้าเครื่องยนต์จนทำให้ก้านสูบงอหรือหักได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการเร่งรอบสูง ใช้ความเร็วช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. ปิดแอร์
ทราบไหมว่าขณะที่เราขับรถลุยน้ำแล้วเปิดแอร์รถยนต์ไว้ด้วยนั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำเข้าห้องเครื่อง และอาจทำให้รถดับได้ เพราะใบพัดจากพัดลมจะพัดน้ำจากพื้นถนนให้เข้ามาในห้องเครื่อง ทำให้ระบบรวนได้ง่ายๆ หรือใบพัดอาจพัดเศษขยะ กิ่งไม้เข้ามาทำให้ใบพัดแอร์เสียหายได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าต้องขับรถลุยน้ำท่วมจึงควรปิดแอร์แล้วเปิดกระจกจะดีกว่า

4. ใช้เลนที่ระดับน้ำต่ำที่สุด
บนถนนที่มีน้ำท่วมขังมักมีการชะลอตัวของจราจร เพราะหลายคนจะหลีกไปใช้เลนที่มีน้ำตื้นที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรใจร้อนขับในเลนที่มีน้ำท่วมขังสูง เพราะหากเกิดเครื่องยนต์น็อกขึ้นมา นอกจากจะต้องเสียเงินซ่อมรถแล้ว ยังเสียหน้ารถคันอื่นอีกต่างหาก ทางที่ดีควรใจเย็นให้มากที่สุด อีกทั้งเราควรชะลอความเร็วเมื่อเจอน้ำขัง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เช่น ตกหลุม หรือชนกับสิ่งที่จมน้ำอยู่ เช่น ขอบทางเท้า หรือต้นเสา เป็นต้น
5. รักษาระยะห่างคันหน้า
เวลาขับรถลุยน้ำท่วมควรรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะประสิทธิภาพในการเบรกจะลดลงกว่าเดิม หากขับรถติดกับคันหน้ามากเกินไป แล้วเกิดเบรกกะทันหันอาจทำให้เบรกไม่ทันได้ แนะนำให้เหยียบเบรกย้ำเป็นช่วงๆ เพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรก ช่วยให้ผ้าเบรกแห้งไว
6. ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อประคองเครื่องยนต์ไม่ให้ดับ
หากเป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ให้ใช้เกียร์ L รถยนต์เกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1 หรือ 2 ถ้าเป็นรถเกียร์ธรรมดา ให้เหยียบคลัตช์ (Clutch) ด้วย ป้องกันปัญหาคลัตช์ลื่น
7. เครื่องดับห้ามสตาร์ทเครื่องใหม่
กรณีเลวร้ายที่สุดก็คือ เมื่อตัดสินใจขับรถตอนน้ำท่วมไปแล้ว เกิดรถดับกลางทาง สิ่งที่ควรทำคือการเข็นรถเข้าข้างทาง โดยพยายามหาพื้นที่สูงเข้าไว้ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้คลื่นน้ำที่เกิดจากรถยนต์คันอื่นไหลเข้าสู่รถของเรา โดยต้องไม่พยายามสตาร์ทรถใหม่เด็ดขาด เนื่องจากเสี่ยงที่จะทำให้น้ำไหลเข้าสู่เครื่องยนต์และทำให้เกิดความเสียหาย

หลังจากรถหลังลุยน้ำท่วม ควรทำอย่างไร?
1. เบรกรถย้ำๆ หลังขับรถลุยน้ำท่วม
เวลาขับรถลุยน้ำ แน่นอนว่าน้ำจะต้องเข้าไปในระบบเบรก ดรัมเบรก (Drum Brake) และผ้าเบรก ซึ่งหลังจากที่ขับรถผ่านพื้นที่น้ำท่วมมาแล้ว ให้ขับรถช้าๆ แล้วเบรกรถย้ำๆ บ่อยๆ เพื่อเป็นการไล่น้ำออกจากเบรก ในกรณีรถเกียร์ธรรมดาควรย้ำคลัตช์ด้วยเพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น
2. อย่าเพิ่งดับเครื่องยนต์ทันที
แม้ว่าจะขับรถผ่านจุดน้ำท่วมมาแล้ว เมื่อถึงที่หมายก็อย่าเพิ่งดับเครื่องยนต์ทันที ควรติดเครื่องไว้สักพัก เพื่อไล่ความชื้นในห้องเครื่องและไล่น้ำออกจากหม้อพักไอเสียให้หมด เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์สะดุดหรือมีปัญหา
3. เช็กว่าน้ำซึมเข้ารถหรือไม่
หากต้องขับรถลุยน้ำท่วมสูง หลังจากที่รถจอดในพื้นที่แห้งแล้ว ควรตรวจเช็กว่าน้ำซึมเข้ารถหรือไม่ โดยเปิดแผ่นยางรองพื้น หรือพรมปูพื้น หากพบคราบน้ำหรือมีน้ำซึมเข้ามา ควรรื้อพรมหรือยางปูพื้นออกมาเช็ดและเป่าให้แห้ง หรือจอดรถตากแดดทิ้งไว้ เพื่อป้องกันพรมขึ้นราหรือรถอับชื้น
4. ล้างรถให้สะอาด
หลังจากขับรถลุยน้ำมาแล้ว อย่าลืมล้างรถให้สะอาด เพื่อเป็นการล้างพวกคราบสกปรก เศษทราย เศษขยะต่างๆ ที่ติดอยู่กับรถและห้องเครื่อง ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ในภายหลังได้
5. นำรถเข้าศูนย์บริการ
หากใครที่ยังไม่มั่นใจ สามารถนำรถเข้าไปเช็กสภาพได้ที่ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถ ให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็กว่ามีอะไรเสียหายหรือไม่ เช่น เครื่องยนต์ ระบบเบรก ระบบไฟ เป็นต้น
รถของเราสามารถลุยน้ำได้ก็จริง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นระดับน้ำสูงมาก ซึ่งการขับรถลุยน้ำจำเป็นต้องใช้สมาธิอย่างสูง เพื่อประคองรถให้ฝ่าน้ำท่วมไปได้อย่างปลอดภัยทั้งรถและคุณ อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเจอทั้งสายฝนกระหน่ำทำน้ำท่วมบวกกับปัญหารถติดในเวลาเดียวกัน ดังนั้นต้องใช้สมาธิจดจ่อในการขับรถมากกว่าเดิม การรู้เท่าทันและการเตรียมตัวที่ดี จะช่วยให้สามารถประคับประคองสถานการณ์ ขับรถไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
แหล่งอ้างอิง :
https://www.posttoday.com/world/643503
https://news.thaipbs.or.th/content/313305
https://www.dlt.go.th/site/phitsanulok/m-news/2159/view.php?_did=35973
https://www.toyotabuzz.com/blog/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1