อัพมูลค่าให้ ‘เปลือกมังคุด’ สังเคราะห์สู่ ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ ใช้ประโยชน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ตอบโจทย์ Zero Waste

SME Update
20/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2958 คน
อัพมูลค่าให้ ‘เปลือกมังคุด’ สังเคราะห์สู่ ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ ใช้ประโยชน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ตอบโจทย์ Zero Waste
banner
ด้วยความที่ ‘เมืองไทย’ มีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด ส่งผลให้เกิดของเหลือทิ้งที่เป็นวัสดุเกษตร (Agricultural Waste) เช่น ซังข้าวโพด ยอดอ้อย ฟางข้าว ต้นข้าวฟาง ใบสำปะหลัง ใบและต้นสัปปะรด เปลือกผลไม้ เยอะขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดสร้างมูลค่าให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ อาทิ การใช้นวัตกรรมจัดการ ‘เปลือกข้าวโพด’ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), หรือการนำใยมะพร้าว แกลบ เปลือกข้าวโพด ฟางข้าว หญ้าเนเปีย เยื่อกล้วย ชานอ้อย ผักตบชวา และไผ่ มาผลิตเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รวมถึงการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลงชีวภาพ เป็นต้น

ซึ่งล่าสุดมีการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์กับ ‘มังคุด’ ในบ้านเรา ซึ่งแต่ละปีมีผลผลิตกว่า 3 แสนตัน จำนวนนี้เป็นมังคุดเพื่อการส่งออกถึง 70% และขายในประเทศอีก 30% และเมื่อรับประทานเสร็จแล้วเปลือกจะถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ ดังนั้นจึงควรมีการนำมังคุดไปใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น..
1. แก้อาการท้องเดิน - ท้องเสีย
2. ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

เนื่องจากเปลือกผลมังคุดจะมีสาร ‘แทนนิน’ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์สำหรับการสมานแผล - ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี อาทิ เชื้อที่ทำให้เกิดหนองและมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบลงได้ดี เมื่อนำเปลือกตากแห้งต้มกับน้ำปูนใสจะช่วยแก้อาการดังกล่าวได้

หรือจะฝนกับน้ำดื่ม เพื่อแก้อาการเป็นบิด (ปวดเบ่ง มีมูก และอาจมีเลือดออก) โดยใช้เปลือกผลแห้งประมาณครึ่งผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียมฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้วดื่มทุกชั่วโมง



และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคนให้ความสนใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวคิดการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเป็นหนึ่งในแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมกับลดปัญหาขยะ ตอบโจทย์ Zero Waste ดังนั้น ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์วิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (ASESS) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ ได้เปิดเผยว่า ศูนย์ ASESS นำแนวคิดการนำวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่าถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ด้วยวิธีการนำมาสังเคราะห์เป็น ‘วัสดุนาโนสีเขียว (Green Nano Material)’ เพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งทางด้านการแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ เกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม ตลอดจนนิติวิทยาศาสตร์



เปิดแนวคิดเปลี่ยนเปลือกมังคุด สู่ ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ 

ศูนย์ ASESS ได้รับโจทย์จากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) เรื่องการพิสูจน์หลักฐานรอยนิ้วมือในที่เกิดเหตุในพื้นที่เกิดเหตุต่างๆ รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในปัจจุบันคือ ‘ผงฝุ่น’ มีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพกพา (เนื่องจากต้องใช้ควบคู่กับอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงต้องนำกลับมาตรวจที่ห้องแล็บเท่านั้น) ระยะเวลาในการพิสูจน์หลักฐานอย่างน้อย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ตลอดจนความคลาดเคลื่อนจากการตรวจ

ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.เขมฤทัย อธิบายว่า เนื่องจากร่างกายของมนุษย์จะมีสารคัดหลั่ง เมื่อนิ้วมือไปสัมผัสบนพื้นผิวต่างๆ สารคัดหลั่งจะไปติดกับพื้นผิวของวัตถุพยานผิวทำให้เกิด ‘รอยนิ้วมือ’ โดยวิธีการตรวจที่ใช้ในปัจจุบันคือนำผงฝุ่นไปปัดให้รอยนิ้วมือปรากฏ แต่ในบางกรณีหรือบางพื้นผิวจะมีรอยนิ้วมือแฝงที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทางศูนย์วิจัยฯ จึงหาวิธีการใหม่ที่ทำให้พิสูจน์ลายนิ้วมือได้ในทุกสถานการณ์


ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

จากโจทย์ข้างต้นนำไปสู่การพัฒนา ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ เพื่อยกระดับการค้นหาคำตอบให้สังคม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ ASESS, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผ่านประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่..

1. นวัตกรรมด้านสังคม 
โดยนำวัสดุนาโนมาพัฒนาเป็นเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝง ตรวจการปลอมแปลงเอกสาร และตรวจพิสูจน์สารระเบิด ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสามารถในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน อีกทั้งเพิ่มความมั่นใจของประชาชนต่อกระบวนการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ลดค่าใช้จ่ายจากที่ต้องนำเข้าอุปกรณ์หรือสารเคมีราคาแพงจากต่างประเทศ

2. นวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
เช่น การผลิตผ้าก๊อซปิดแผลดูดซับสูงและต้านเชื้อแบคทีเรีย (Beyond Gauze) พัฒนาจากวัสดุนาโนสามารถดูดซับสารคัดหลั่งที่ออกมาจากบาดแผลได้มาก และมีราคาถูกกว่าท้องตลาด, สายสวนปัสสาวะป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยนำเอาวัสดุนาโนที่มีสมบัติมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ไปใช้เคลือบพื้นผิวสายสวนปัสสาวะ เนื่องจากพบว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนเป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบมากเป็นลำดับต้นๆ และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด

3. นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อาหารและการเกษตร 
โดยพัฒนาเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Salmonella ที่ปนเปื้อนอยู่ในไก่ โดยใช้วิธีการตรวจวัดแบบรวดเร็วเพื่อช่วยในการคัดกรองเบื้องต้นของกระบวนการผลิต เซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง นอกจากนั้นยังมีการทำสเปรย์อินทรีย์เคลือบกันน้ำ

สำหรับเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นมังคุด เผศ. ดร.เขมฤทัย เผยว่า เนื่องจากตอนแกะเปลือกมังคุดแล้วเปื้อนมือ จึงเกิดความสงสัยคิดว่ามีสารสำคัญบางอย่าง เพราะถ้าเปื้อนมือได้ ก็ต้องติดบนพื้นผิวที่มาจากสารคัดหลั่งบนวัตถุพยาน จนทางศูนย์ฯ ได้ทดลองแล้วพบว่า ผงจากเปลือกมังคุดสามารถใช้ตรวจหาลายนิ้วมือได้ทุกประเภท แถมลดการใช้สารเคมี และใช้เวลาตรวจเพียงแค่ 10 วินาที ที่สำคัญไม่ใช้สารเคมีที่เป็นผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและสิ่งแวดล้อม



ผงเปลือก ‘มังคุด’ ทำไม? ช่วยลดขั้นตอนตรวจรอยนิ้วมือได้

สำหรับด้านการทำงาน ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงอย่างรวดเร็วโดยใช้ผงเปลือกมังคุด ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ในการกลิ้ง ภาชนะบรรจุผงเปลือกมังคุด อุปกรณ์กดทับวัตถุพยาน สามารถใช้งานได้ 2 วิธี

วิธีที่ 1 โรยผงเปลือกมังคุดลงในภาชนะ นำกระดาษหรือวัตถุพยานวางตามลงไป จากนั้นนำอุปกรณ์กดทับวางทับลงบนวัตถุพยาน เพียง 10 วินาที ยกอุปกรณ์ออก เป่าหรือเคาะผงส่วนเกินที่ติดอยู่ออกจากกระดาษหรือวัตถุพยานออก จะปรากฏลายนิ้วที่มีสีน้ำตาลขึ้น หากต้องการให้ลายนิ้วมือชัดมากขึ้นก็มากลับเป็นสีขาวดำได้ 

วิธีที่ 2 การใช้อุปกรณ์ลูกกลิ้ง เพื่อตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานที่เคลื่อนไม่ได้ เช่น ประตู กระจก หรือวัตถุอื่นๆ เช่น ขวด กระป๋อง ก็สามารถตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงได้เช่นกัน

ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ลงได้มาก และถ้าเทียบระหว่างผงเปลือกมังคุด กับการใช้สารละลายนินไฮดริน (Ninhydrin) ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวสารละลายนี้ปกติจะไม่ทำในที่เกิดเหตุ ต้องนำหลักฐานกลับไปทำในห้องแล็บเท่านั้น โดยใช้วิธีการพ่นหรือจุ่มแช่ลงในสารละลายนินไฮดรินแล้วนำขึ้นมาตากไว้ข้ามวัน ขณะที่ผงเปลือกมังคุดใช้เวลาเพียง 10 วินาที หรือแม้จะใช้ผงฝุ่นดำก็สามารถใช้ได้แค่พื้นผิวที่ไม่มีรูพรุนเท่านั้น

ทั้งนี้ ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงโดยใช้ผงเปลือกมังคุด ได้มีการทดสอบร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานและได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้งานได้จริง หลังจากนี้ทางศูนย์ฯ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการหรือ SME ที่สนใจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป



การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่างเช่น การนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นผง ตรวจรอยนิ้วมือ ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียของคนไทยที่น่าสนับสนุน ในการร่วมกันพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างเป็นธุรกิจ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทยต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งตอบโจทย์กระแส Zero Waste ซึ่งกำลังมาแรงในปัจจุบัน


แหล่งอ้างอิง : 
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/335/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C/ 
https://www.naewna.com/local/658459 
https://www.nia.or.th/-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%94-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3.html 
https://mgronline.com/science/detail/9650000027788 
https://www.arda.or.th/kasetinfo/south/mangosteen/used/01-02.php 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1054 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1400 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1677 | 25/01/2024
อัพมูลค่าให้ ‘เปลือกมังคุด’ สังเคราะห์สู่ ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ ใช้ประโยชน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ตอบโจทย์ Zero Waste