ESG สำคัญอย่างไร? ทำไม SME ไทยต้องปรับตัว เพื่อชนะใจผู้บริโภคใส่ใจ ความยั่งยืน(Sustainability)

ESG
13/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 7666 คน
ESG สำคัญอย่างไร? ทำไม SME ไทยต้องปรับตัว เพื่อชนะใจผู้บริโภคใส่ใจ ความยั่งยืน(Sustainability)
banner
ปัจจุบัน ‘แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน’ หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องด้วยการที่ธุรกิจยุคใหม่จะเอาชนะใจผู้บริโภคได้ ต้องไม่มุ่งแต่แสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก เพื่อนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ขอผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของกิจการด้วย





ESG สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ SME อย่างไร  เพื่อนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability)


ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ทำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการ SME ต่างๆ เริ่มหันมาใช้แนวคิดธุรกิจ ESG กันมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ายุคใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทด้วย

หลัก ESG จึงเป็นแนวทางในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนที่บริษัทต่างๆ ควรนำมาปรับใช้ปฏิบัตินอกเหนือจากการพิจารณาจากตัวเลขผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะแนวทางนี้สามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ และเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท เพราะอนาคตธุรกิจหรือผู้ประกอบการ SME ที่คาดหวังแต่ผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อาจจะถูกผู้บริโภคและนักลงทุนไม่ให้การสนับสนุนก็เป็นได้




แนวทางการปรับเปลี่ยนธุรกิจ สู่แนวคิด ESG

1. เริ่มต้นด้วยการศึกษาบริบทโดยรวมของความยั่งยืน (Sustainability) แล้วทำความเข้าใจ แนวคิด ESG

2. ย้อนกลับมองที่ธุรกิจตนเอง แล้วตั้งคำถามว่า สินค้าที่เราผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการผลิต ดูว่าคนที่จำหน่ายสินค้าให้เราเขาสนใจเรื่อง ความยั่งยืน (Sustainability) หรือไม่ แล้วของที่เขาผลิตนั้นคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่

3. ลองปรับโมเดลธุรกิจ หรือเปลี่ยนพาร์ทเนอร์ที่มีส่วนร่วมในเรื่องกระบวนการสร้างความยั่งยืน ก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อความยั่งยืน

4. หากต้องการลงทุนเพื่อต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควรทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม SROI (Social Return on Investment) เป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้สามารถวัดผลประโยชน์ของโครงการต่างๆ ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม SIA (Social Impact Assessment) เป็นการศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยผลกระทบทางสังคมจะคาดคะเนการเปลี่ยนแปลง ด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิต ที่จะเกิดขึ้น หากมีนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มกับเราต่อ 1 เหรียญ SROI ที่ได้คือเท่าไร หรือผลลัพธ์ทางสังคมที่จะได้กลับมาจะเป็นเท่าไร 



ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปรับตัวสู่แนวคิด ESG

แนวโน้มการกีดกันสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ  เช่น European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บคาร์บอนฟุตปริ๊นต์ของสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม เดินหน้าปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ซึ่งการบังคับใช้มาตรการ CBAM ไม่เพียงแต่กระทบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรป แต่ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดทั้งวงจรการผลิตสินค้านั้นๆ  



สุดท้ายผู้ประกอบการ SME ก็จะถูกกดดันจากบริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศให้ลดการปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการประกอบธุรกิจ (Carbon Footprint)  สำหรับ SME การปรับตัวที่จะช่วยลด Carbon Footprint ได้มากที่สุด คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)

ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ SMEs สามารถลด Carbon Footprint ได้แล้ว SME ยังได้ผลประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลงด้วยเช่นกัน
ดังนั้นมาตรการดังกล่าวนี้จึงเป็นตัวอย่างของผลกระทบที่ SME ต้องปรับตัว ปรับรูปแบบ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกฎกติกาการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนับวันจะยิ่งมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น 



ทำตามแนวคิด ESG แล้วดีอย่างไร?
ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น

ด้านการส่งเสริมจากภาครัฐของไทยมีกลไกส่งเสริมให้ SME ปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนเงินทุนให้ SME ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้ง Solar Cell เพื่อประหยัดไฟฟ้าในที่ทำงาน ฯลฯ และการให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ ได้แก่ การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักร และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 - 8 ปี (แล้วแต่ประเภทธุรกิจ) ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ยังมีสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ประหยัดมากขึ้นอีกด้วย


ชนะใจผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability)


 การคำนึงถึงสังคมส่วนรวม สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ SME ดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้คำนึงถึงราคาผลิตภัณฑ์อย่างเดียวแล้ว แต่จะเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่สอดรับกับค่านิยมของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่มีความตระหนักเรื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

จากผลสำรวจและงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยุคใหม่จำนวนมากหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาโดย CGS และ Voice of Green พบว่าผู้บริโภคมากกว่า 47% มีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 25 - 100% จากราคาเดิม สำหรับสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับผลสำรวจในประเทศไทยที่พบว่าผู้บริโภค 74% มีแนวโน้มที่จะหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมากกว่า 37% เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้ามีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคใหม่ไปแล้ว

 

ตัวอย่าง SME ที่ปรับใช้แนวคิด ESG แล้วประสบความสำเร็จและยั่งยืน (Sustainability)


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกระดับเกษตรไปสู่การปลูกป่าสมุนไพรในรูปแบบ Organic Farming และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร แบรนด์ ‘Plant Love’ เครื่องดื่มสมุนไพรสำเร็จรูปสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร ที่ขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ ด้วย ‘แนวคิด ESG’  สร้างป่าอาหาร สร้างงาน และสร้างรายได้ให้บ้านเกิด

โดยปลูกพืชสมุนไพรใต้ต้นไม้กว่า 200 ไร่ และให้เครือข่ายชาวชุมชนร่วมกันผลิตสมุนไพรแบบปลอดสารพิษ ด้วยการรับซื้อผลผลิต หาตลาดและใช้การแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตควบคู่ไปกับการสร้างป่าในชุมชนให้เป็นป่าอาหารที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชน


 


ส่วน ไทยวู้ดเด้นเกมส์ บริษัทของเล่นที่ทำจากไม้ภายใต้แบรนด์ ‘Big Play’ แบรนด์ไทยดีไซน์น่ารัก ที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืน ใส่ใจในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม้ที่เอามาทำของเล่นนี้ ไม่สร้างมลพิษต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการนำเศษไม้มาทำเป็นของเล่น เป็นการนำสิ่งไร้ค่ามาสร้างคุณค่า จากแนวคิดที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม





ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งคือ SC GRAND สร้างธุรกิจด้วยความเชื่อเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่ แบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการใช้วัตถุดิบเหลือใช้มาแปรสภาพให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่า ด้วยการใช้วัตถุดิบรีไซเคิล 100% เน้นการเลือกใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืน และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การไม่ใช้สีย้อมผ้า การไม่ใช้น้ำในการผลิต ด้วยการนำผ้าเก่ามารีไซเคิลและปั่นทอเป็นผ้าใหม่ที่สะอาด 

นอกจากนี้ยังสร้างแบรนด์ Circular เสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลจากเสื้อเผ้าเก่าและเศษเหลือใช้จากกระบวนการทอผ้า อีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคยุคใหม่ตระหนักถึงที่มาของสิ่งที่สวมใส่จากการได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG สู่ความยั่งยืน ที่สร้างรายได้จากการขายเสื้อผ้ารีไซเคิลและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมเคียงคู่ไปพร้อมๆ กันได้ 



สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นทิศทางของธุรกิจ SME หลังจากนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันต่างตื่นตัวหันมาวางกลยุทธ์บริหารความยั่งยืนตามแนวคิด ESG กันอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่มากขึ้น การที่ผู้ประกอบการ SME ไทยจับเทรนด์นี้ให้แน่นและปรับตัวนำไปประยุกต์ใช้ได้ก่อน จะช่วยสร้างความได้เปรียบและโอกาสทางธุรกิจของตนเองให้สดใสได้อย่างแน่นอน 





Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
427 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3658 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3357 | 18/03/2024
ESG สำคัญอย่างไร? ทำไม SME ไทยต้องปรับตัว เพื่อชนะใจผู้บริโภคใส่ใจ ความยั่งยืน(Sustainability)