แบตฯ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจุดประกายผู้ประกอบการ SME ไทย ใช้รถ EV ขับเคลื่อนธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

SME Update
14/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3534 คน
แบตฯ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจุดประกายผู้ประกอบการ SME ไทย ใช้รถ EV ขับเคลื่อนธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
banner
ในปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เพราะเป็นอุตสาหกรรมในการพัฒนา ประเทศในอนาคต และกำลังเป็นเทรนด์ที่จะเข้ามาแทนที่ยานยนต์ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอย่างรวดเร็ว ด้วยปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม และปัญหาฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะภาคการขนส่งและคมนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในซัพพลายเชนนี้ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการนำยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดมาใช้งาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้วยังเป็นการบริหารต้นทุนด้านพลังงานให้ลดลงได้อีกด้วย

สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ แม้รถ EV จะยังมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์และความคุ้มค่าในระยะยาวแล้ว ก็ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยก็พยายามหันมาใช้รถ EV เพื่อเป็นยานพาหนะหลักและใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ จนส่งผลให้เกิดการต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และขยายผลเชิงธุรกิจเริ่มต้นใหม่ (Start Up) ในหมวดของยานยนต์ไฟฟ้าแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง




แนวโน้ม 2 ล้อ EV มีดีมานด์สูง

จากผลสำรวจพบว่าความต้องการรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐที่ยังมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์และผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่อง

โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,309,474 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 14.14 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 1,780,654 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 10.24 และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 528,820 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 29.58

นอกจากนี้ ยังพบว่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าได้ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น งานด้านการขนส่งรับจ้าง และการเดินทางในชีวิตประจำวัน เนื่องจาก สามารถผ่านการจราจรที่ติดขัดได้ และราคาที่ไม่สูงมาก ทั้งยังใช้เทคโนโลยีมีความซับซ้อนน้อย จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง




รัฐไทยหนุนลงทุนยานยนต์พลังงานไฟฟ้า

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษของยานยนต์ทุกประเภท ดังนี้

ช่วง 2 ปีแรก (ปี 65 - 66) ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ด้วยการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม และสร้างแรงจูงใจดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ใน 2 ปีถัดไป (ปี 67 - 68) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก ยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่คงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป

นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คือ

1. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 65 - 68

2. ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรีที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศ ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน 

3. ผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 67 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 65 - 66) และหากจำเป็นต้องขยายเวลาให้ผลิตชดเชยถึงปี 68

4. ผลิตหรือใช้แบตเตอรีที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด




กรณีศึกษาการใช้จักรยานยนต์ใฟฟ้าในไต้หวัน

ที่ไต้หวันมีสตาร์ทอัพชื่อ Gogoro ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบขนส่งครั้งสำคัญ ด้วยการพัฒนาเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ช่วยก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องแบตเตอรีหมดระหว่างทาง และไม่ต้องใช้เวลานานในการรอชาร์จ ซึ่งผู้ใช้รถสามารถแวะมาสลับเแบตเตอรีลูกใหม่ที่ชาร์จไฟเต็มแล้ววิ่งไปต่อได้เลย 

โดยเทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพราะแบตเตอรีและสถานีไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากเหมือนสถานีชาร์จรถยนต์ แต่มีลักษณะเหมือนกับตู้ขายของอัตโนมัติตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันใน 4 เมืองใหญ่ของไต้หวันมีสถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรีเกิดขึ้นมากมายเทียบเท่ากับจำนวนของปั๊มน้ำมันแล้ว ด้วยจำนวนการแลกเปลี่ยนแบตเตอรีที่มากกว่า 240 ล้านครั้งตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้ Gogoro สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงได้ประมาณ 360,000 ตัน

สอดคล้องกับข้อมูลของรัฐบาลไต้หวันที่ระบุว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 21% ของรถจักรยานยนต์ทั้งหมดในไต้หวัน โดยที่ยอดขายน้ำมันเบนซินแบบดั้งเดิมก็ลดลงทุกๆ ปี ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าธุรกิจการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยายนต์แบบนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น




สถานีสลับแบตฯ รับแรงหนุน Delivery ที่เมืองไทย

ส่วนประเทศไทยในตอนนี้ ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ที่กลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Delivery Service รวมถึงการขยายตัวของตลาด e-Commerce การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคออนไลน์ และเทรนด์เทคโนโลยีที่ทำให้แอปพลิเคชันต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ได้ดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 

จึงเกิดเป็นช่องทางสร้างโอกาสทางธุรกิจ จุดให้บริการ Swap & Go ที่ให้บริการสลับแบตเตอรีสำหรับผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้กับไรเดอร์ แบบไม่ต้องรอชาร์จ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาหลักของคนกลุ่มนี้ที่ทำให้ยังไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้คือ แบตเตอรีที่ต้องใช้เวลานานในการรอชาร์จ จึงไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ทำให้บริการดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การใช้งานของไรเดอร์ที่ต้องการทำรอบวิ่งให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และทำรายได้ต่อวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าตัวแปรที่สำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าอีกอย่างในปัจจุบันคือ ‘แบตเตอรี’ เพราะราคายานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับราคาแบตฯ ด้วย แน่นอนว่าในอนาคตแบตเตอรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มที่ราคาจะถูกลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีซัพพลายมากขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถเข้าถึงสถานีชาร์จได้อย่างง่ายดายภายในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่าเดิมอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง : 
https://www.voathai.com/a/game-changer-e-moped-batteries-spread-from-taiwan-across-asia/6419981.html
สอท. : https://bit.ly/3I7WGfe
รัฐบาลไทย : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/51632
ก.พลังงาน : http://www.eppo.go.th/index.php/th/eppo-intranet/item/17415-ev-charging-221064-04


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1591 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
2030 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
2176 | 25/01/2024
แบตฯ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจุดประกายผู้ประกอบการ SME ไทย ใช้รถ EV ขับเคลื่อนธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม