Bnomics | จับตาการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบสองปีในสัปดาห์หน้า

Library > Economic Outlook/Trends
05/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1290 คน
Bnomics | จับตาการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบสองปีในสัปดาห์หน้า
banner
สภาวะทางเศรษฐกิจโดยรวมและการส่งสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า 

โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หลังจากที่ธปท. คงระดับดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% เพื่อช่วยผ่อนคลายสภาวะเศรษฐกิจให้ผ่านวิกฤติการระบาดของโควิด-19



การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อถ่วงดุลการคาดการณ์เงินเฟ้อ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางธปท. ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ มาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง ที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นไปแตะระดับมากกว่า 7% ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อค่าครองชีพของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบมากกว่า
 
แม้เริ่มแรกเงินเฟ้อ จะมีที่มาจากฝั่งอุปทาน ด้วยต้นทุนของสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันและโลหะที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างมาก ซึ่งเป็นส่วนที่นโยบายการเงินไม่สามารถจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่เมื่อเงินเฟ้อสูงเริ่มคงอยู่นานและขยายตัวไปสู่ราคาสินค้าโดยทั่วไป มันก็จะไปถ่วงการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนในระยะกลางถึงยาวให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางธปท. ไม่อยากให้เกิดขึ้น 

ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินเพื่อชะลอเศรษฐกิจโดยตรง 
ยังเป็นการส่งสัญญาณเพื่อสื่อสารว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยถ่วงดุลการคาดการณ์เงินเฟ้อให้ลดลงมาได้อีกทางหนึ่ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้มีส่วนที่คล้ายคลึงกับช่วงปีพ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤติการเงินโลก GDP ทั้งปี 2553 เติบโตได้ถึง 7.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

จึงทำให้ธปท. ต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปีกลางปี 2553 จนถึงปี 2554 กลับไปสู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติที่ 3.25% รวมแล้วคิดเป็นการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 2% ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับลดลงมา

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ มีความท้าทายกว่าในตอนนั้นพอสมควร อันเนื่องมาจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักของไทยอย่างการท่องเที่ยว ต้องถูกแช่แข็งเกือบจะสมบูรณ์ในช่วงโควิด ขาดรายได้และการจ้างงานมหาศาล การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่กระทบภาคเศรษฐกิจจนเกินไป

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงหลัง เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่ได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยว

ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบาย Thailand Pass และความอัดอั้นต้องการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก
  
ข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 760,000 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 500,000 คน และ 290,000 คน ในเดือนพฤษภาคม และเดือนเมษายนตามลำดับ และรวมครึ่งปี จำนวนนักท่องเที่ยวทะลุระดับ 2 ล้านคน

ข้อมูลการอัตราการเข้าพักอาศัยก็ปรับตัวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 42.58% เป็นระดับดีที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา



โดยหากสมมติให้จำนวนนักท่องเที่ยวในหกเดือนที่เหลือคงที่ที่ 760,000 คนต่อเดือนไปทั้งปี จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสิ้นปีกว่า 6.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6 ล้านคนเสียอีก

แต่ในตอนนี้ แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นไปอีก ทำให้เราอาจจะได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวรายเดือนระดับเกินกว่า 1 ล้านคนเร็วกว่าที่คาด ซึ่งเป็นระดับประมาณ 1/3 ถึง 1/4  ของที่ไทยเคยได้รับในช่วงก่อนวิกฤติโควิดแล้ว

ซึ่งมันก็ส่งผลดีต่อเนื่องมาสู่ภาคบริการโดยรวมในด้านอุปสงค์ จากในแผนภูมิที่ 3 ที่แม้ว่า อุปสงค์โดยรวมจะยังอยู่ในระดับคงตัว แต่ดัชนีภาคบริการยังแสดงทิศทางการฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้



ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี เรายังต้องจับตามองความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่อาจจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ในช่วงต่อไป ซึ่งก็จะส่งผลมาสู่เศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ที่กำลังขยายตัวได้ดีพอสมควรเช่นกัน

โดยหากพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ตัวเลขดัชนีของไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 50.7 มาสู่ 52.4 ซึ่งเป็นการชี้ถึงระดับการขยายตัวทางกิจกรรมเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น

*ระดับ PMI มากกว่า 50 เป็นจุดตัดแสดงว่า โดยรวมกิจกรรมเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ 

แต่ดัชนีเดียวกันนี้ในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยูโรโซน และจีน แม้จะยืนอยู่เหนือ 50 ในสหรัฐฯ และจีน 
แต่ก็ต่างปรับลดลงทั้งหมด แสดงถึงความกังวลใจต่อสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น



อย่างในกรณีของประเทศสหรัฐฯ ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ติดลบไป 0.9% ถือเป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทางเทคนิคแล้ว แต่ทางรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ก็ยังยืนกรานว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ยูโรโซนถือเป็นทวีปที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีปัญหาค่อนข้างมากและหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ยาก อันเกิดมาจากภาวะราคาพลังงานที่สูงจากสงคราม จนหลายประเทศในยูโรโซนจำเป็นต้องทำการปันส่วนการใช้ไฟฟ้ากันแล้ว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ PMI ตกไปต่ำกว่าระดับ 50 แสดงถึงการหดตัวแล้ว

ส่วนที่ประเทศจีน หลังจากดัชนี PMI ฟื้นตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน หลังจากคลายล็อคดาวน์เมืองใหญ่ ก็กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งมาสู่ระดับ 50.4 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก ความกังวลใจในสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย

แต่สถานการณ์ต่างประเทศที่เป็นข่าวดีก็มีเช่นกัน นั่นคือ ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ที่ทยอยปรับตัวลดลงมาอีกครั้งหนึ่ง มาสู่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสงครามในยูเครนแล้ว ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปัญหาอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ในระยะต่อไป ทำให้ธปท. อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงในการควบคุมเงินเฟ้อมาก 

โดยการลดลงของราคาน้ำมันดิบ มีสาเหตุสำคัญสองประการ หนึ่ง คือ ความกังวลใจต่อสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ ที่จะทำให้ความต้องการซื้อน้ำมันลดลง และเหตุผลอีกประการ คือ น้ำมันจากรัสเซียสามารถหาช่องทางการส่งออกไปสู่ประเทศอื่นได้อยู่ แม้จะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

สรุป
ในช่วงต่อจากนี้ไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อปรับเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบปกติ (Policy Normalization) แต่ก็ยังต้องพิจารณาปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด 

โดยมีปัจจัยบวกมาจาก ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่กำลังฟื้นตัว และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยเสี่ยง มาจากโอกาสในการเกิดสภาวะถดถอยในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน เป็นสำคัญ 

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
 
════════════════
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/Slide_Thai_June2022_9cm5d.pdf
https://www.reuters.com/business/energy/oil-falls-demand-worries-stronger-us-dollar-2022-08-03/
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/57509

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1324 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3737 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5038 | 23/10/2022
Bnomics | จับตาการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบสองปีในสัปดาห์หน้า