Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Library > Economic Outlook/Trends
04/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1333 คน
Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป
banner
เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง

ข้อมูลเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน (PCI) ล่าสุดในเดือนกันยายนแบบปรับผลของฤดูกาลอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อย้อนกลับไปก็จะเห็นว่า เป็นระดับที่ค่อนข้างทรงตัวเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกันแล้ว

แสดงให้เห็นว่า แรงส่งทางด้านการบริโภคภายในประเทศที่เคยถูกคาดการณ์ว่า จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยหลังจากมีการคลายมาตรการล็อคดาวน์โควิด-19 เริ่มจะผ่อนแรงลงแล้ว โดยมีเหตุผลหลักมาจาก แรงกดดันด้านค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน (PII) แบบปรับผลของฤดูกาลก็ปรับลดลงมาเล็กน้อยเช่นกัน จากการลงทุนทางด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างที่ลดลงทั้งสองหมวด แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากพื้นที่ลงทะเบียนขออนุญาตก่อสร้างซึ่งยังปรับตัวสูงขึ้นอยู่ 

แม้เราจะเห็น การเติบโตที่ชะลอตัวลงในด้านการบริโภคและการลงทุนของเอกชนภายในประเทศ แต่ในรายละเอียดก็ยังมีภาคการบริโภคส่วนย่อยที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนนั้น คือ การบริโภคในภาคบริการซึ่งฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จนข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การบริโภคภาคบริการเกือบจะกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 การเติบโตในภาคการบริโภคภาคบริการก็ยังสอดคล้องไปกับการเติบโตของฝั่งผู้ผลิตภาคบริการ ซึ่งก็ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน



แผนภูมิเครื่องชี้การบริโภค

ซึ่งปัจจัยหลักอันเป็นที่มาของการเติบโตของภาคบริการ มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยข้อมูลล่าสุดจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา เดือนกันยายนไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.3 ล้านคน ปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.1 ล้านคน รวมตั้งแต่ต้นปี ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 6 ล้านคน ซึ่งคาดการณ์ว่า ทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเกิน 10 ล้านคน
 


โดยนักท่องเที่ยวชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยมากที่สุดในปีนี้ 5 อันดับแรก ล้วนเป็นประเทศที่อยู่ไม่ไกลจากไทยมาก ได้แก่ 
1. มาเลเซีย 974,844 คน 
2. อินเดีย 572,151 คน 
3. สิงคโปร์ 313,792 คน
4. เวียดนาม 269,442 คน
5. ลาว 259,111 คน 

รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมายังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยปรับดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศซึ่งติดลบในช่วงก่อนหน้าให้กลับมาเป็นบวกได้ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งอ่อนค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐต่อไปในอนาคต

ดัชนี PMI สะท้อนความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก

ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่คู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศมีโอกาสจะเจอสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ซึ่งก็เริ่มสะท้อนออกมาที่ภาคการส่งออกของไทยซึ่งในไตรมาสที่ 3 เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกแล้ว

หนึ่งดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ (Leading Indicator) สำคัญซึ่งกำลังสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของภาคธุรกิจต่างประเทศอยู่ คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager Index หรือ Manufacturing PMI) 



โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และประเทศจีน ซึ่งค่าดัชนี PMI ออกมาต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับแสดงการหดตัวจากเดือนก่อนหน้า หลายเดือนติดต่อกันแล้ว 

ซึ่งในกรณีของสหภาพยุโรป ปัญหาสำคัญของพวกเขามาจากทางด้านพลังงานที่ขาดแคลนและมีราคาสูง จนต้องมีมาตรการปันส่วนพลังงานอย่างเข้มงวด ทำให้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนในกรณีของประเทศจีน มาตรการล็อคดาวน์โควิดและปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทางการจีนต้องจัดการให้เด็ดขาด ซึ่งการจัดการทั้งสองปัจจัยจะกำหนดแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนในช่วงต่อไป

อีกหนึ่งประเทศซึ่งต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะ ค่า PMI ล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ออกมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แล้วที่ 49.9 แสดงถึงการหดตัวจากเดือนก่อนหน้า

ประเด็นสำคัญ คือ PMI ระดับต่ำกว่า 50 ของสหรัฐฯ ในเดือนล่าสุดนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ในตอนกลางปี พ.ศ. 2563 หรือมากกว่า 2 ปีแล้ว

เป็นนัยยะว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะกำลังเข้าสู่จุดที่กำลังจะชะลอตัวลงแล้ว โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยปีนี้พวกเขาขึ้นดอกเบี้ยมาสูงถึง 3.75% แล้ว และก็ยังส่งสัญญาณว่า จะทำการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกในอนาคต เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อให้ราบคาบ 

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงยังส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกด้วย โดยแม้กระทั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินอย่างมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา 

สรุป :
เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยในหลายด้านเริ่มแสดงสัญญาณทรงตัวหรือเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการบริโภคเอกชนและภาคการส่งออก ซึ่งเคยถูกคาดหวังว่า จะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไป อย่างไรก็ดี ภาคบริการของประเทศไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

เพราะได้รับอานิสงส์มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเพิ่มขึ้นได้ ในช่วงถัดไปแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ช่วงชะลอตัวมากขึ้น ส่งผลต่ออุปสงค์ของโลกและทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเตรียมรับความเสี่ยงให้พร้อม 

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics

════════════════
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/MonthlyReport_September2022_ki47q.pdf
https://www.mots.go.th/news/category/657
https://www.reuters.com/markets/asia/japan-likely-spent-record-amount-october-prop-up-yen-2022-10-31/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1334 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3750 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5068 | 23/10/2022
Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป