การนำ Big
Data มาผสมผสานในด้านการเกษตร นับเป็นประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยต่างมีการจัดทำโครงการในหลากหลายด้าน
นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยการนำข้อมูลที่มีอยู่มาพัฒนาในด้านการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
ปัจจุบันทั่วโลกมีการดำเนินการที่เป็นผลสำเร็จมากมาย อาทิ การใช้บิ๊กดาต้ามาช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบแนวโน้มของผู้บริโภคได้ดีขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในตลาดต่อไป ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพราะการทำการเกษตรนั้นมักต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่โรคในพืชที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งอาจทำลายผลผลิตทั้งหมดและก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจย้อนกลับ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ในที่นี้เรามีกรณีศึกษาของบริดจสโตน
คอร์ปอเรชั่น ที่เผยถึงการพัฒนาระบบที่เพิ่มขีดความสามารถในการปลูกต้นยางพารา โดยใช้
Big Data เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่สวนยางพารา
โดยสวนยางพาราส่วนใหญ่ได้มีการใช้พันธุ์ยางที่แตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ และต้องพบกับปัญหาด้านการจัดการหลากหลายแบบ
อาทิ วิธีการเพิ่มจำนวนต้นยางในแปลงปลูก รวมถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวอย่างไรให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด
ระบบที่ได้รับการพัฒนาใหม่นี้ จะช่วยวางแผนการปลูกยางพาราให้มีประสิทธิภาพมากกว่า
30 ปี เพื่อปรับปรุงและรักษาเสถียรภาพของผลผลิตของสวนยางพารา
นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดการจัดหายางพาราธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ
ภายใต้คำแนะนำเชิงวิชาการจากสถาบันคณิตศาสตร์เชิงสถิติขององค์กรการวิจัยสารสนเทศและระบบ
ในประเทศญี่ปุ่น
ระบบดังกล่าวใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่รวมเอาปัจจัยหลายประการมาพิจารณา ได้แก่
ความสมบูรณ์ของดิน การจัดการกับโรคพืช
และศักยภาพในการขยายพันธุ์ต้นยางจากกลุ่มผู้ทดลอง
ซึ่งแบบจำลองขั้นสุดท้ายถูกกำหนดจากความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสวนยางพาราของบริดจสโตน
การใช้ Big Data เพื่อการวางแผนการปลูกยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่สวนยางพารา ด้วยการใช้แบบจำลองนี้ร่วมกับการประมาณการผลผลิตที่ได้จากข้อมูลสวนยางพารา รวมถึงข้อมูลผลผลิตตามอนุกรมเวลาและข้อมูลสวนยางพาราเชิงพื้นที่นั้น ระบบใช้วิธีการเขียนโปรแกรมจำนวนเต็มแบบผสมเพื่อให้ได้มาซึ่งโซลูชั่นที่ดีที่สุด สำหรับการคัดสรรพันธุ์ยางพาราที่ควรปลูก, ระยะเวลา, สถานที่ และปริมาณการปลูก เพื่อรักษาระดับผลผลิตยางพาราธรรมชาติให้ได้แบบมีประสิทธิภาพ นับจากนี้บริดจสโตนจะทำการปรับแต่งระบบเพิ่มเติมก่อนนำไปใช้งานจริงในพื้นที่เพาะปลูกอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการจัดหายางพาราธรรมชาติทั่วโลกอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ
ภาพ : บริดจสโตน คอร์ปอเรชั่น
ทั้งนี้จากปัจจัยด้านความยั่งยืนของโลก
ซึ่งประเมินว่าในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะแตะที่ 9.6 พันล้านคน
ในขณะที่ผู้ครอบครองยานพาหนะจะมีจำนวนมากกว่า 2.4 พันล้านคน ด้วยเหตุนี้
ปริมาณความต้องการวัสดุสำหรับการผลิตยางรถยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นตามเช่นกัน
และในขณะเดียวกันก็ได้มีการผลักดันให้เกิดการแยกการเติบโตของเศรษฐกิจออกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตามที่กำหนดในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDG
ขณะที่ปัจจุบันยางพาราธรรมชาติที่นำมาผลิตยางรถยนต์นั้น
มาจากยางพาราที่ปลูกในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก
โดยพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับต้นยางพารา ได้แก่
ความเสี่ยงของโรคพืชและการลดลงของป่าฝนเขตร้อน อันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกต้นยางพารา
ด้วยเหตุนี้การมุ่งสู่รูปแบบการทำธุรกิจที่มีความยั่งยืน จึงเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจทั่วโลกต่างมุ่งเดินหน้าไป
ภายใต้โจทย์ใหม่ของโลกที่ทุกธุรกิจนอกจากต้องมุ่งแสวงหากำไร
ยังต้องเป็นมิตรต่อโลกและลดการสิ้นเปลืองได้มากที่สุด
ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราอันดับหนึ่งของโลก อาจจะต้องมองให้ออกถึงโอกาสเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันยางพาราถือเป็นสินค้าหนึ่งที่ถูกจับตาว่าเป็นการทำลายป่า ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาสวนยางในประเทศไทยจึงต้องมีการขึ้นทะเบียน FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งเป็นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต ยางพาราจะต้องเผชิญกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพิ่มขึ้น และผลผลิตทั่วโลกจะลดลง จึงอาจเป็นโอกาสของผู้ผลิตยางในประเทศไทย ที่จะนำเทคโนโลยีและ Big Data มาเพื่อเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์การค้าแห่งอนาคตมากยิ่งขึ้น
สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<