จากกองภูเขาเศษหนังเหลือทิ้ง สู่แบรนด์ ‘THAIS’ เครื่องหนังรักษ์โลกสุดคูล
‘ESG’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ที่ผู้ประกอบการทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญ และเริ่มนำมาปรับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีธุรกิจ SME หลายแบรนด์ ที่ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการดำเนินกิจการภายใต้กรอบดังกล่าว หนึ่งในนั้น คือ ‘THAIS’ (ธาอีส) ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่ผลิตจากเศษหนังเหลือทิ้งจากโรงงานตัดเย็บ ซึ่งถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ที่น่าจับตามองอย่างมาก ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ‘คืนชีพเศษหนัง’ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง พร้อมทั้งสร้างรายได้คืนสู่ชุมชน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับผู้ผลิตนวัตกรรมเครื่องหนังรีไซเคิล แบรนด์ ‘THAIS’ โดย คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด ให้ได้รู้ถึงแนวคิด วิสัยทัศน์ และมุมมองของการทำงาน ที่มีแรงบันดาลใจจากความชื่นชอบเครื่องหนังแฮนด์เมดเป็นการส่วนตัว จนกลายเป็นธุรกิจในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นจากงานอดิเรก
THAIS หรือ ธาอีส กำเนิดขึ้นจาก Pain Point ที่ คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล มองหาคุณค่าของ 'เศษหนัง' ที่กลายเป็นขยะไร้ค่า ถูกทิ้งไว้มากมายในกระบวนการผลิตเครื่องหนัง

คุณธันยวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาแบรนด์ ‘ธาอีส อีโคเลทเธอร์’ (THAIS ECOLEATHERS) เล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากงานอดิเรกของเราทั้งสองคน คือการทำเครื่องหนัง จากความชื่นชอบในกลิ่นอายและคาแรคเตอร์ของหนัง ถึงขั้นไปเรียนและศึกษาการตัดเย็บเครื่องหนังอย่างจริงจัง คุณธันยวัฒน์ สะท้อนปัญหาว่า พอเราเริ่มทำหนังไปเรื่อย ๆ เราก็พบ Pain Point คือ ‘เศษหนัง’ ที่เหลือจากการผลิตหลังจากการตัดเย็บ เริ่มกองสูงเป็นภูเขา พอสะสมมาก ๆ เข้าก็ไม่สามารถนำไปทิ้งได้ จึงคิดหาวิธีจัดการกับขยะเศษหนังให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง

‘เศษหนัง’ สร้างมลพิษขนาดไหน?
ทราบหรือไม่ว่า ? ข้อมูลจากกรมมลพิษ ระบุว่า ถ้านำขยะเศษหนังมากองรวมกันจะสูงเท่ากับ 6 ตึกมหานคร และเศษหนังที่ต้องทิ้งเหล่านี้ เมื่อมีการย่อยสลายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการขับรถจากเชียงรายไปเบตงถึง 63,000 รอบ โดย 90% ไม่มีใครนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องมีการฝังกลบหรือนำไปเผา มีเพียง 10% เท่านั้น ที่สามารถนำกลับไปผลิตเป็นสินค้า จากเศษวัสดุได้ เช่นทำสายกระเป๋า หูจับ พวงกุญแจ เป็นต้น
คุณธันยวัฒน์ สะท้อนปัญหาว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมี ‘เศษหนัง’ เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเครื่องหนังสูงกว่า 10,000 ตัน ซึ่งหากกำจัดด้วยวิธีการเผา จะทำให้เกิดสารคาร์ซิโนเจน (Carcinogen) และสารไดออกซิน (Dioxins) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือเมื่อนำไปฝังกลบก็จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากและปนเปื้อนลงสู่ชั้นดิน ส่งผลกระทบต่อส่งแวดล้อมอย่างมาก
ในขณะที่ การฝังกลบจะส่งผลกระทบให้เกิดก๊าซมีเทน รวมถึงปล่อยสารเคมีจำนวนมาก ที่จะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนอยู่ในชั้นน้ำใต้ดิน ทำให้ดินเสียนั่นเอง แต่หากจะใช้วิธีการเผา ‘ต้องเผาอย่างถูกวิธี’ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ที่สำคัญคือ ถ้าเผาอย่างไม่ถูกต้องจะเกิด PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อต่อสุขภาพร่างกาย จากการได้รับสารก่อมะเร็งนั่นเอง
ค่าใช้จ่ายดังกล่าว คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 36 ล้านบาท ที่โรงงานตัดเย็บเครื่องหนังในประเทศไทย ต้องสูญเสียไปในแต่ละปี เพื่อนำเศษหนังเหล่านี้ไปทำลายทิ้งอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าการจัดการขยะมีพิษ ที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกด้วย

จุดเปลี่ยนสำคัญสู่การทำธุรกิจรักษ์โลก
เมื่อเห็นเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปจำนวนมากขนาดนั้น ทำให้ คุณธันยวัฒน์ คิดหาวิธีการที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเริ่มศึกษาว่า คนอื่นเขาจัดการกับเศษหนังเหล่านี้กันอย่างไร จากการค้นหาข้อมูลพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกหนังอันดับ 4 ของโลก มีโรงงานตัดเย็บเครื่องหนังที่ลงทะเบียนไว้ประมาณ 3,600 แห่ง นั่นหมายความว่า ปัญหาเศษหนังที่เหลือจากการผลิตต้องมีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน
จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ‘Thais EcoLeathers’ แบรนด์เครื่องหนังของคนไทยที่มีความพิเศษ โดยหนังที่นำมาใช้ทั้งหมด ผลิตมาจากเศษหนังไร้ค่าที่ทางแบรนด์พลิกโฉมขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลับไปสร้างมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเป็นแน่นอน
ซึ่งหมายความว่า ยิ่งใช้ไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงได้เข้าไปปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนว่าขยะเหล่านี้สามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง แต่คำตอบที่ได้กลับมา คือ มีคนถามแบบนี้เข้ามาเยอะมาก แต่ก็ยังไม่เคยมีใครที่สามารถนำเอากลับมาใช้งานได้จริง จึงเป็นการจุดประกายอยากชุบชีวิตใหม่ให้กับเศษหนัง เลยหันมาจริงจังกับการหาวิธีรีไซเคิล เพื่อจัดการขยะเศษหนังเหล่านั้นให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง จนสามารถนำมาผลิตเครื่องหนังจากเศษหนังใช้แล้ว ภายใต้แบรนด์ ‘THAIS’ ในที่สุด
THAIS หมายถึงอะไร?
สำหรับคำว่า THAIS (ธาอีส) มาจากภาษากรีก แปลว่า อันเป็นที่รัก เรานำมาพ้องกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ THAI ด้วยความภูมิใจที่จะสื่อสารว่าสินค้าที่ส่งออกไปขายในหลายประเทศนี้ เป็นของคนไทย

จาก ‘กองขยะเศษหนัง’ สู่แบรนด์ THAIS เครื่องหนังรักษ์โลก
นวัตกรรมของ THAIS สามารถรีไซเคิลเศษหนังให้นำกลับไปใช้ใหม่ได้ 100% โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการรีไซเคิล และยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้า 50% ส่งผลให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 30% จึงเป็นผลิตภัณฑ์หนังรักษ์โลก ที่นำไปแปรรูปเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น กระเป๋า แผ่นหนังบุเฟอร์นิเจอร์ แผ่นรองจาน เคสใส่แก็ดเจ็ท หรือแม้กระทั่ง งานคราฟท์ งานแฟชั่น หรือเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านก็ผลิตได้ เพราะหนังนวัตกรรมนี้ มีลวดลายและสีสันแปลกตา

“จากเดิมที่โรงงานต้องขายออกไปเพื่อไปทำลายทิ้ง เราก็รับซื้อมาคัดแยกต่อ สุดท้ายความภูมิใจของเราคือเมื่อเศษหนังไม่ต้องถูกเอาไปทำลาย คาร์บอนฟุตปริ้นต์ของประเทศก็ลดลง มลภาวะก็น้อยลงไปด้วยเพราะการเผาทำลายก่อมลภาวะมากมาย ตอนนี้เราสามารถผลิตวัสดุจากเศษหนังได้หลากหลายรูปแบบ โดยนำมาคัด ย่อย และอัดรีดขึ้นมาใหม่ แต่ในอนาคตเมื่อปริมาณ วิธีการ และตลาดเติบโตมากขึ้น เราจะพัฒนาให้การจัดการขยะเศษหนังเหล่านี้ถูกกำจัดไปเป็นสินค้าดีไซน์ได้มากขึ้น

ผู้บริหารหนุ่ม เผยวิสัยทัศน์ว่า สิ่งที่ THAIS ต้องการคือ การแก้ปัญหาจากต้นทางคือ ลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปทิ้งจากโรงงานตัดเย็บ โดยสิ่งที่เราเป็นคือ การเป็น Eco Material Provider และเรามีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง นอกจากนี้เรายังเป็นบริษัทที่วิจัยในเรื่องเศษวัสดุต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ด้วย

“ดังนั้นการนำเศษหนังมารีไซเคิลเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็เท่ากับว่าแบรนด์ THAIS ช่วยลดปริมาณขยะ และลดมลพิษให้กับโลกนี้ได้ รวมถึงเชื่อมโยงชุมชนเป็นแรงงานผลิต ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดประโยชน์ครบวงจร”

ชุบชีวิตเศษหนังไร้ค่า ให้กลายเป็น ไลฟ์สไตล์โปรดักส์ สุดคูล!
คุณธันยวัฒน์ ให้มุมมองว่า การนำขยะมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้นั้น ดูเหมือนจะเป็นวิธีช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่หากจะมองถึงความยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงด้วย เขาจึงให้ความสำคัญกับการนำสีสัน ลวดลาย และงานดีไซน์ เข้ามาใช้ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเกิดความสนใจ และเลือกนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อหากระบวนการรีไซเคิล 'เศษหนัง' ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ซึ่ง THAIS ทำการทดลองจนสำเร็จเป็น Regenesis Process หรือ นวัตกรรมรีไซเคิลเศษหนังที่จดสิทธิบัตรในเวลาต่อมา ด้วยเพราะเป็นนวัตกรรมแรกที่ไม่ซ้ำแบบใคร
ปัจจุบันเรานำแผ่นหนังรีไซเคิลมาทำสินค้าต่าง ๆ เพื่อขายลูกค้าในประเทศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน เช่น วอลอาร์ต แผ่นรองจาน - รองแก้ว ฯลฯ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋า สมุดโน้ต แก็ดเจ็ต ฯลฯ และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เช่น โซฟา เป็นต้น สินค้าของเรามีจุดเด่นที่ ‘ลายหินอ่อน’ ลวดลายและผิวสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร ด้วยทีมออกแบบของเราเอง
คว้ารางวัล การันตีคุณภาพระดับโลก
สำหรับด้านรางวัลการันตีคุณภาพ คุณธันยวัฒน์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า พอวิธีการของเราจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชิงการรับรู้ได้ จึงทำให้เราได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ โดยรางวัลสูงสุดและใหญ่สุดที่เราได้รับคือ รางวัล Global CleanTech เป็นรางวัลระดับโลกจาก UNIDO หรือองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะมอบรางวัลทุก ๆ 4 ปี จาก 12 ปีที่ผ่านมา มีบริษัท 3 แห่งในไทยที่ได้รางวัลนี้ และ THAIS เป็นบริษัทไทยแห่งเดียวที่เป็นผู้ชนะในเรื่องของเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ UN ที่รับรองนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนในประเทศ เราได้รับรางวัล TOP SME Awards ปี 2020 และรางวัล 7 Innovation ปี 2022 สาขาสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งได้ทุนวิจัยจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อีกด้วย ส่วนปีนี้ เราเพิ่งได้รับรางวัล Thailand Green Design Awards เป็นรางวัลเกี่ยวกับการลดมลพิษต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึง ปริมาณที่ลดได้ ซึ่งเราผ่านเกณฑ์นี้ทั้งหมด
สิ่งเหล่านี้ช่วยเน้นย้ำว่าแบรนด์ของเรามาถูกทาง เพราะไม่ใช่แค่สินค้ามีดีไซน์ แต่มีประโยชน์ต่อภาพรวมของระบบนิเวศที่เราทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันด้วย


ลูกค้าที่ซื้อไปจะรู้ได้อย่างไร ว่าสินค้ารักษ์โลกจริง?
คุณธันยวัฒน์ เผยถึงวิธีการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์จาก THAIS ว่า ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเราไป จะสามารถรู้ได้ทันทีว่า เขาช่วยลดการปล่อยมลพิษไปเท่าไหร่ ช่วยลดโลกร้อนได้ขนาดไหน เพราะเรามีการประเมิน Carbon Emission ยกตัวอย่าง สินค้าบางชิ้นเปรียบเทียบได้กับการขับรถ 57,000 กว่ากิโลเมตร หรือชาร์จแบตมือถือประมาณ 1.7 ล้านเครื่อง

โดยโครงการที่ลูกค้าสั่งผลิตจากเรา เขาสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามที่เราประเมินให้เป็นใบ Test Report ซึ่งการคำนวณอย่างแม่นยำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ดำเนินการโครงการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในขั้นตอนการนำเสนอเราสามารถคำนวณในเบื้องต้นให้ได้
“ปัจจุบันเรามีเศษหนังที่พร้อมเข้ากระบวนการรีไซเคิลถึง 80 ตัน ที่จะสร้างมูลค่าได้มากกว่า 45 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำไปทำลายทิ้ง ประมาณ 7 แสนกว่าบาท และปีนี้ ก็น่าจะได้ประมาณ 1.2 ล้านบาทเลยทีเดียว”

ในส่วนของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจาก THAIS จะรู้ได้อย่างไรว่า สินค้าชิ้นนั้น ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไหร่ ช่วยลดโลกร้อนได้ขนาดไหน เราจะมีการ์ดแนบไว้กับสินค้าทุกชิ้นที่เราผลิต เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการมีส่วนร่วมช่วยโลกร้อนของเขานั่นเอง

ช่องทางตลาดของ ‘THAIS’
สำหรับด้านการตลาด THAIS วางแผนทำตลาดแบบ B2B (Business-to-Business) โดยส่งออกแผ่นหนังรีไซเคิลให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องหนัง ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาศัยเปิดตลาดผ่านการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีมาก มีออเดอร์จากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, ดูไบ, มัลดีฟ เป็นต้น
จุดเปลี่ยนการทำธุรกิจเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาด B2C (Business-to-Customer)
ปัจจุบัน THAIS มีสินค้าประมาณ 30 SKU แต่เราหันมาเน้น OEM และ Raw Material มากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของกำลังผลิตทั้งหมด
โดยช่องทางตลาดในปัจจุบัน มีทั้งรับผลิตสินค้า ODM และ OEM ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนม และสินค้าพรีเมียมต่าง ๆ ควบคู่กับผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ THAIS ของตัวเอง
ส่วนช่องทางขายออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ www.thais-ecoleathers.com และแฟนเพจ : thais.ecoleathers เป็นต้น


ก้าวต่อไปของ ‘THAIS’
คุณธันยวัฒน์ เผยถึงการต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคตของ THAIS ว่า สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตทั้ง Short Term และ Long Term นั้น คุณธันยวัฒน์ มองว่า ในระยะสั้น ต้องการขยายกำลังผลิต เพื่อรองรับตลาด B2B ที่เชื่อว่า ยังมีความต้องการอีกมาก รวมถึง กำลังพัฒนารีไซเคิลเศษขยะจากวัสดุอื่น ๆ ไม่เฉพาะแค่เศษหนังเท่านั้น เช่น เศษผ้า เศษผ้าจากพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ธรรมชาติ เพื่อให้ “ธาอีส อีโคเลทเธอร์” เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมรีไซเคิล รวมถึงเชื่อมโยงชุมชนเป็นแรงงานผลิต ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดประโยชน์ครบวงจร
เรามีเป้าหมาย นำเศษผ้า ประมาณ 1 แสนตัน มารีไซเคิลด้วยนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเอาเศษหนังกับเศษผ้ามาตัดเย็บเข้าด้วยกัน ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาดีมาก นอกจากนี้ ยังมีเส้นใยจากธรรมชาติที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา เพื่อผลิตออกมาเป็น Eco Material สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ได้
“เราพัฒนาและทดลองการใช้งานวัสดุ Ecoleathers ของเราให้หลากหลายมากขึ้น เพราะถ้ากลับมาคิดถึงจุดเริ่มในการจัดการปัญหาขยะเศษหนังแล้ว การที่เราสามารถเปิดตลาดให้กับวัสดุนี้ได้หลากหลายขึ้นก็จะทำให้เศษหนังถูกนำไปใช้มากขึ้นด้วยเช่นกันนั่นเอง”
ส่วนแผนระยะยาว เรามีความต้องการที่จะขายลิขสิทธิ์นวัตกรรมรีไซเคิลให้แก่ประเทศที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งด้วยแนวคิดดังกล่าว ย่อมสร้างประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่กับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นับเป็นนวัตกรรมจาก SME ไทย ที่พร้อมจะสร้างประโยชน์ในระดับโลก

ฝากแง่คิดถึงผู้ประกอบการ SME
ก่อนจบการสนทนา คุณธันยวัฒน์ ฝากข้อคิดในการดำเนินธุรกิจ 3 ข้อ ข้อแรก ต้องมี Business model ที่มีความชัดเจน แต่ไม่ตึงจนเกินไป สามารถพลิกแพลง ปรับกลยุทธ์ไปตามสถานการณ์ได้ ส่วนข้อต่อมา แน่นอนว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง จำเป็นต้องมีกูรูที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเราเองได้รับความรู้จากสถาบันการเงิน ถือเป็นข้อมูลที่ดีมาก ทำให้เราสามารถกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ประกอบการต้องให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้นักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับธุรกิจเรา ข้อสุดท้ายคือ ไม่ทำธุรกิจแบบฉาบฉวย อย่าง THAIS เรามีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยังไม่เกิดเทรนด์รักษ์โลก ทั้งหมดนี้ถือเป็น Key Success ในการทำธุรกิจของ THAIS ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตจนถึงวันนี้
และนี่คือ ธาอีส อีโคเลทเธอร์ อีกหนึ่งแบบอย่างธุรกิจ ที่มีความตั้งใจ คิดค้นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ที่ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานจริงจากผู้บริโภคด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดความยั่งยืน และจุดประกายให้ผู้บริโภคหันมามองเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์รักษ์โลกกันมากขึ้น
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ SME ที่คนไทยควรชื่นชมและภาคภูมิใจ เพราะ ‘ธาอีส อีโคเลทเธอร์’ มุ่งมั่นสู่เส้นทางธุรกิจสีเขียว พัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว ร่วมสร้างฐานรากความเข้มแข็งให้ประเทศ และยังสอดคล้องกับแนวคิด ESG เทรนด์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
รู้จัก บริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด
เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Thais Ecoleathers
Website : www.thais-ecoleathers.com
Instagram : Thais.ecoleathers