Cultured Meat สัญชาติไทย อีกทางเลือกความมั่นคงด้านอาหารอนาคต

SME Update
26/12/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 6541 คน
Cultured Meat สัญชาติไทย อีกทางเลือกความมั่นคงด้านอาหารอนาคต
banner

Cultured Meat หรือเนื้อแห่งอนาคต ซึ่งมีชื่ออื่นๆ เช่น Clean Meat, Synthetic Meat หรือ In Vitro Meat โดยเนื้อดังกล่าวเกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ (Stem cell) ของสัตว์ภายนอกร่างกายของสัตว์นั้นๆ โดยนำไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลองด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่พื้นที่การปศุสัตว์มีจำกัดและการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน




เนื้อแห่งอนาคตกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท Future Meat Technologies Ltd. บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอลอยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานที่กำกับดูแลของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ (Cell-based meat products) ในร้านอาหารต่างๆ ภายในปลายปี 2565

ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว Bloomberg บริษัท Future Meat Technologies เพิ่งเปิดโรงงาน ที่เรียกว่าโรงงานผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งแรกของโลก โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตได้มากกว่า 1,000 ปอนด์ต่อวัน (453.59 กิโลกรัมต่อวัน) และบริษัทกำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเพิ่มเติมในหลายแห่งในสหรัฐฯ

โดยโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตเนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อแกะจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ โดยไม่มีการใช้น้ำเหลือง (Serum) จากสัตว์และไม่มีการใช้การดัดแปลงพันธุกรรม (non-GMO) ขณะที่การผลิต เนื้อวัวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในไม่ช้านี้ นอกจากนี้การผลิตในรูปแบบนี้จะช่วยให้วงจรการผลิตรวดเร็วมากกว่าการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบเดิมถึง 20 เท่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse emission) ลงร้อยละ 80 ลดการใช้พื้นที่ทำฟาร์มลงร้อยละ 99 และลดการใช้น้ำจืดที่ใช้สำหรับการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบเดิมลงร้อยละ 96

สำหรับอุตสาหกรรมนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 75 บริษัทในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากการ เพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ ที่ผลิตเนื้อวัวและเนื้อไก่ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนของมูลค่าทางตลาดสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทั่วโลกภายในปี 2573 ตามรายงานของ McKinsey and Company

 


 

เนื้อหมูเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ Made in Thailand

ล่าสุดเมื่อ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยถึงการพัฒนา เนื้อหมูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่ได้ศึกษาวิจัยกว่า 2 ปีโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตว์แพทย์ ดร.เจนภพ สว่างเมฆ จากศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) เพื่อเป็นนวัตกรรมทางเลือกในการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ไม่ต้องใช้ทรัพยากรสูง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านคุณค่าด้านโภชนาการและความปลอดภัยทางอาหาร

ซึ่งในทุกเนื้อเยื่อจะมีสเต็มเซลล์ซ่อนอยู่ ทีมวิจัยใช้วิธีการที่พัฒนาขึ้นมาแยกเซลล์นั้นออกมา แล้วนำมาเพาะเลี้ยงให้ห้องทดลองเพื่อเพิ่มจำนวน ถ้าได้เซลล์อย่างเหมาะสม เซลล์นั้นจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องได้เรื่อยๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับกระบวนการเลี้ยง การผลิตและการสร้างชิ้นเนื้อขึ้นมา

จุดเด่นของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงคือความสะอาด เครื่องมือและระบบการผลิตเป็นระดับเดียวกับที่ใช้ผลิตยารักษาโรค ทำให้มีความสะอาด - ปลอดภัย แทบไม่มีสิ่งแปลกปลอม โดยจากการวิจัยเป็นเนื้อสุกรในรูปแบบเนื้อแดงและเนื้อสามชั้น เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ส่วนในอนาคตมีการวางแผนเพาะเนื้อเยื่อสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น เนื้อวัว ปลา กุ้ง

โดยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัย เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงให้ผู้บริโภคได้รับประทานในอีก 2-3 ปี โดยจะผลิตเนื้อออกมาในรูปแบบอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์กึ่งสำเร็จรูปหลายแบบที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งจะมีการผลิตเนื้อที่มีมูลค่าสูง เช่น สเต็ก วากิว เนื้อสัตว์ปรุงสำเร็จรูปบรรจุหีบห่อออกมาจำหน่าย

ซึ่งในอนาคตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะเป็นอาหารทางเลือก ที่อาจจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติ ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเพิ่มศักยภาพทางการผลิตเพื่อแข่งขันในตลาดโลกเช่นกัน




ไทย อันดับ 3 ความมั่นคงทางอาหารในอาเซียน 2564

            นิตยสาร the Economist เผยแพร่ดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก ประจำปี 2564 (Global Food Security Index 2021) ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ได้แก่ ความสามารถในการหาซื้ออาหาร ความเพียงพอของอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืน จาก 113 ประเทศทั่วโลก

 

5 อันดับชาติสมาชิกอาเซียนที่มีความมั่นคงด้านอาหารมากที่สุด

1. อันดับ 15 สิงคโปร์

     (ภาพรวม 77.4 คะแนน / ความสามารถในการหาซื้อ 87.9 คะแนน / ความเพียงพอของอาหาร 82.9 คะแนน / คุณภาพและความปลอดภัย 79.1 คะแนน / ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืน 46.7 คะแนน)

2. อันดับ 39 มาเลเซีย

     (ภาพรวม 70.1 คะแนน / ความสามารถในการหาซื้อ 85.6 คะแนน / ความเพียงพอของอาหาร 64.0 คะแนน / คุณภาพและความปลอดภัย 76.3 คะแนน / ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืน 46.6 คะแนน)

3. อันดับ 51 ไทย

     (ภาพรวม 64.5 คะแนน / ความสามารถในการหาซื้อ 81.8 คะแนน / ความเพียงพอของอาหาร 57.3 คะแนน / คุณภาพและความปลอดภัย 59.5 คะแนน / ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืน 50.8 คะแนน)

 


 

4. อันดับ 61 เวียดนาม

     (ภาพรวม 61.1 คะแนน / ความสามารถในการหาซื้อ 68.9 คะแนน / ความเพียงพอของอาหาร 60.4 คะแนน / คุณภาพและความปลอดภัย 64.3 คะแนน / ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืน 44.9 คะแนน)

5. อันดับ 64 ฟิลิปปินส์

     (ภาพรวม 60.0 คะแนน / ความสามารถในการหาซื้อ 74.3 คะแนน / ความเพียงพอของอาหาร 53.9 คะแนน / คุณภาพและความปลอดภัย 61.5 คะแนน / ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืน 43.6 คะแนน)

 

หมายเหตุ : อันดับ 1 ได้แก่ ไอร์แลนด์ และอันดับ 113 ได้แก่ บุรุนดี


แหล่งอ้างอิง : คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต, ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน

https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index/index

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1280 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1650 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1914 | 25/01/2024
Cultured Meat สัญชาติไทย อีกทางเลือกความมั่นคงด้านอาหารอนาคต