เที่ยววิถียั่งยืน เทรนด์นักเดินทางยุคใหม่ ที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องใส่ใจ
ข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของนักเดินทางกว่า 29,000 คนใน 30 ประเทศ ที่ Booking.com รวบรวม ระบุว่าการแพร่ระบาดของ โควิด 19 กระตุ้นให้นักเดินทางตระหนักที่จะเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวในวิถียั่งยืน โดย 87% ของนักเดินทางชาวไทยเชื่อว่าต้องลงมือทำทันทีเพื่อรักษาโลกนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งต้องการใช้ตัวเลือกในการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ แทนที่จะใช้แท็กซี่หรือรถเช่า
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ในขณะเดียวกัน 98% ของนักเดินทางชาวไทย ยังต้องการเข้าพักในที่พักรักษ์โลกที่ยึดหลักความยั่งยืนอีกด้วย
เชื่อว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่าย เพราะส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของแต่ละคน กับ 5 แนวคิดต้องรู้ ที่ได้ประโยชน์ทั้งนักท่องเที่ยว และนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ กับกลุ่มผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและโรงแรม แถมยังรักษ์โลกอีกด้วย
5 หลักการ สนุกสุขใจ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
1. การเดินทางต้องหลากหลาย
วิธีการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายความว่า วิธีการเดินทาง และรูปแบบการให้บริการในระบบการคมนาคม หรือการขนส่งทางการท่องเที่ยวจากแหล่งพำนักอาศัยไปยังแหล่งท่องเที่ยว ต้องเน้นการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปได้ให้ใช้รูปแบบของการขนส่งที่คนท้องถิ่นใช้ เช่น การเดินทางด้วยเท้า การเดินทางด้วยรถจักรยานเพื่อชมทิวทัศน์รอบเมืองแทนการขับรถ หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถประจำทาง เพราะวิธีการเดินทางเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมอบโอกาสที่ดีที่สุดให้กับคุณในการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านท้องถิ่น
2. เลือกกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถทำได้ เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตราบเท่าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยาน ปีนเขา เดินป่า ดำน้ำ
3. เลือกที่พักแนวรักษ์สิ่งแวดล้อม
โรงแรมที่พักหลายแห่งเริ่มปรับและพัฒนาเป็นที่พักแนวอีโค่กันมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นที่สังเกตได้ว่า โรงแรมที่สร้างขึ้นโดยอิงเชิงอนุรักษ์นั้นมักจะมีโลเคชันดี ใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พักอย่างสบายใจ ได้ชมวิวสวยๆ แถมยังได้ช่วยรักษ์โลกอีกด้วย ซึ่งการเลือกพักผ่อนในโรงแรม โฮสเทล เกสต์เฮาส์ หรือโฮมสเตย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เที่ยวอย่างสุขใจ และตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติแล้ว ผู้ประกอบการก็มีรายได้อย่างยั่งยืน
4. เป็นมิตรกับคนท้องถิ่น และรักษาวัฒนธรรมสถานที่ไปเยือน
การเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังรวมไปถึงการเป็นมิตรกับชุมชนพื้นเมือง และทำตัวให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของสถานที่ไปเยือน ศึกษาวัฒนธรรมของจุดหมายปลายทางที่คุณวางแผนที่จะไปเยี่ยมชมอย่างทะลุปรุโปร่ง ปฏิบัติตนต่อคนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่างๆ ด้วยความเคารพ
5. เน้นใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ
พยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเองในชุมชน สิ่งเหล่านี้รวมถึงการจัดระบบบำบัดของเสีย ขยะ สิ่งปฏิกูลที่เกิดจากนักท่องเที่ยวด้วย และที่สำคัญเมื่อถึงเวลาซื้อของที่ระลึก จะต้องมั่นใจว่าซื้อสินค้าหัตถรรมในท้องถิ่นเพื่อเป็นของที่ระลึก หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ทำจากปะการังหรือสัตว์ที่กำลังจะใกล้สูญพันธุ์
สร้างจิตสำนึกอย่างไร ทำให้เกิดกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ต้องสร้างทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด
การรับรู้ และตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญกว่านั้นคือ
ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ด้วยความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะการท่องเที่ยวไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการถ่ายทอดและเกิดการลงมือขึ้นจริงจากอดีตที่ใครหลายคนมักมองว่าการเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นเพียงทางเลือกของคนบางกลุ่มเท่านั้น
เช่น นักศึกษาจากชมรมต่างๆ ,กลุ่มจิตอาสาอาสาสมัคร
หรือกิจกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social
Responsibility) ของหน่วยงานต่างๆ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวภายใต้การคำนึงถึงจริยธรรม
ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ไม่ให้ผลตอบแทนมาเป็นสิ่งล่อใจให้หลงไปในทางที่ผิด
และควรมุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้จะคืนกลับสู่โลกใบเดิมใบนี้
ที่ทวีความน่าออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้น
ดังนั้น
ไม่ว่าจะเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ใด ต้องสำนึกและระลึกอยู่เสมอว่า
ต้องอนุรักษ์ความสวยงามของสถานที่ให้คงอยู่
เพราะหากทุกคนช่วยกันรักษาความสวยงานนั้นจะอยู่กับเราไปอีกแสนนาน
ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป
นอกจากนี้ ในสถานการณ์โควิด 19 ยังคงต้องเน้นย้ำและส่งเสริมในการร่วมสร้างมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยการเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่อากาศปลอดโปร่ง หลีกเลี่ยงความแออัด รักษาระยะห่าง ผ่านการรับรองมาตรฐานของสถานประกอบการ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อออกจากที่พัก หรือขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง