เรื่องของ Startup ซึ่งเป็นธุรกิจยุคใหม่มาแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจกันอย่างแพรหลาย
ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความหวังที่เกิดขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
เพราะจุดประสงค์ของการถือกำเนิดของ Startup นั้นมาจากการแก้ปัญหา
Pain Point อะไรสักอย่างที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาล เช่น
การเข้ามาของ Grab ที่แก้ปัญหาเรียก Taxi ยาก หรือการเข้ามาของ Lalamove ที่เกิดขึ้นเพื่อกลบปัญหาการส่งของล่าช้า
การเริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ และคาดหวังว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลได้แบบนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนคาดหวังกับการเริ่มต้นของ Startup หน้าใหม่ๆ เป็นจำนวนมากในอดีต โดยไม่มีใครรู้เลยว่า ณ ปัจจุบันนี้มีผู้เหลือรอดชีวิตมาวิ่งตามความฝันต่อได้ไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
เหตุผลที่ทำให้ Startup กว่า 95% ล้มเหลว
สำหรับฝันร้ายที่ทำให้ Startup มากกว่าครึ่ง
หรือเกือบทั้งหมดต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่มี Idea ที่ดี และดูเหมือนจะไปได้ไกล
นั่นเป็นเพราะตัวแปรที่มากมายในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ทุกๆ
อย่างล้วนบรรจบด้วยปัญหาเดียวกัน นั่นคือ...
1. สินค้าและบริการไม่ตรงตามความต้องการ
และผู้ใช้งานไม่มากพอ
ปัญหาแรกนี้เป็นสิ่งที่ Startup เกิน 50% ต้องเจอ
เพราะไอเดียที่อยู่ในหัวนั้นอาจเป็นสิ่งที่ดี เลิศเลอ
และมองว่าตอบโจทย์มากกับคนส่วนใหญ่ เมื่อนำไปถามกับคนรอบตัวก็ได้คำตอบเดียวกัน
แต่ไม่เคยลองถามคนที่ไกลกว่านั้น เช่น ทำ Prototype ไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งเมื่อมันตอบโจทย์คนได้น้อยนิด การจะอยู่รอดของธุรกิจจึงเป็นไปได้ยาก
สุดท้ายไอเดียที่คิดว่าดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่ในโลกธุรกิจเสมอไป
ถ้าผู้ใช้งานในไอเดียนั้นๆ ไม่มากพอ
2. ต้นทุนการผลิตสูงเกินไป
หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจ Startup ต้องปิดตัว ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของปัญหาการเงิน
เนื่องจากธุรกิจแนวนี้ในช่วงเริ่มแรกคุณจะยังไม่สามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน
ต้องใช้เงินในกระเป๋าของตัวเองมาจัดการบริหารสิ่งต่างๆ
จึงไม่แปลกที่จะมีเวทีให้เหล่านักลงทุนและ Startup ได้มาพบปะกันเยอะมากในเมืองไทย
แต่เพราะผู้ชนะในการ Pitching มีได้แค่ไม่กี่คน
ทำให้เงินทุนของ Startup ที่เหลือขาดมือ
และสู้ต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไปของตัวเองไม่ไหว
สุดท้ายต้องล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย
3. ขาดความรู้ในการสร้างโมเดลธุรกิจ
การทำ Startup ก็คือการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณไม่เพียงแค่ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่มันต้องขายได้ด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจับกลุ่มของ Startup ส่วนใหญ่ มักจะมาจากการรวมตัวกันของเหล่า Dev ที่มีความสามารถในด้านการผลิต คิดค้น และพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ซึ่งทำให้ขาดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการตลาดอย่างเหมาะสม จึงทำให้มีโปรดักส์ที่ดี มีไอเดียที่เลิศ แต่กลับขายไม่ได้ เพราะสร้างโมเดลการทำเงินจากตัวโปรดักส์นี้ผิดไป ทำให้อาจได้กำไรในช่วงแรก แต่มันยังไม่ยั่งยืน กระท่อนกระแท่นไปได้ แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลง
อยากเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จ
ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้
1. ดีกว่าของเดิมที่มีอยู่
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นการทำ Startup สุดท้ายก็ยังคงมีแนวคิดแบบเดียวกันไม่เปลี่ยนไป
นั่นคือการเข้ามา Disrupt หรือแก้ปัญหาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น
ถ้าสินค้าและบริการของคุณมั่นใจว่ามันจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีกว่าเดิมได้
นั่นแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว
2. ผู้คนพร้อมใช้งาน
ลำพังแค่ธุรกิจดี โปรดักต์เลิศ
ไม่ได้การันตีว่า Startup ของคุณจะประสบความสำเร็จ
เพราะสุดท้ายตัวแปรสำคัญก็คือ ลูกค้า คุณต้องมั่นใจในเรื่องของเวลาว่าตอนนี้ฐานลูกค้าเค้าพร้อมจะเสียเงินใช้บริการของคุณจริงๆ
เช่น ถ้าคุณเริ่มทำยูทูปเมื่อ 10 ปีก่อน
คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จง่ายๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้แน่ๆ
3. ทีมงานดีทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม
ทีมงานที่คอยเป็นผู้พัฒนา Startup ก็สำคัญ เพราะถ้าไม่เก่งจริง
การจะผลิตแอปหรือเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับผู้ใช้งานเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะนอกจากเรื่องของระบบแล้ว ยังมีเรื่องของศิลปะ ทั้ง UX/UI การจัดวางตำแหน่งปุ่มต่างๆ
ซึ่งแน่นอนสิ่งเหล่านี้กระทบความรู้สึกของผู้ใช้งานว่าอยากจะใช้งานต่อหรือพอแค่นี้
4. ตลาดต้องใหญ่ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ
การจะทำธุรกิจคุณต้องมั่นใจว่ามันจะขายได้
มีคนจำนวนมากพร้อมใจซื้อ เพราะ Startup เองก็ต้องอาศัยการลงทุนเช่นกัน โดยเฉพาะคอนเซปต์ของมันคือ ลงทุนน้อย
แต่ได้ผลตอบรับมาก ดังนั้นการวางเป้าหมายให้ใหญ่ตั้งแต่แรก ถึงจะช่วยให้ธุรกิจนี้มีโอกาสสำเร็จสูงมากขึ้นกว่าปกติ
5. มีความเป็นเอกลักษณ์ลอกเลียนไม่ได้
สุดท้ายแล้วการที่ Startup เล็กๆ หายไป ส่วนใหญ่ก็มาจากการโดน Disrupt โดยธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีทุนหนา และมองเห็นไอเดียที่ Startup เหล่านั้นมี ซึ่งแน่นอนว่าเค้าเหล่านั้นสามารถพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ และยิ่งใหญ่ ระดมงบการตลาดให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายกว่าคุณที่เป็น Startup เล็กๆ แน่นอน ดังนั้นแค่ไอเดียอย่างเดียวไม่พอ ต้องมองหาเอกลักษณ์ที่สามารถลอกเลียนแบบได้ หรือไม่ก็พัฒนาระบบต่อไปแบบที่เค้าไม่มีทางปรับตัวได้ทัน