Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ESG
14/04/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 2963 คน
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
banner

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การเดินทาง อาหารการกิน การใช้ทรัพยากรทั้ง ไฟฟ้า และน้ำ รวมไปถึงขยะจากเศษอาหารจำนวนมหาศาล สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก


จากรายงานของ International Tourism Partnership (ITP) ระบุว่า ภาคธุรกิจโรงแรมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 90% ภายในปี 2050 เพื่อให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส จึงเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การค้นหาโซลูชั่นของ “การจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืน” แล้วผู้ประกอบการที่สนใจมุ่งสู่ โรงแรมสีเขียวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและโลกเรา ต้องทำอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ



อุตสาหกรรมโรงแรม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน?


จากรายงาน A Net Zero Road Map for Travel and Tourism ของ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ราว 8% ของการปลดปล่อย GHG ทั่วโลก โดยเป็นการปล่อยมาจากภาคธุรกิจโรงแรมทั่วโลกโดยเฉลี่ย 1% นอกจากนี้อุตสาหกรรมโรงแรมยังมีการใช้น้ำมากกว่า 1.3 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มากกว่าการใช้น้ำในครัวเรือนทั่วไปถึง 2-3 เท่า และสร้างขยะมูลฝอยมากกว่า 130 ล้านตันต่อปี บางส่วนถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งส่งผลต่อปัญหามลพิษทางดิน บางส่วนถูกเผา ซึ่งส่งผลต่อปัญหามลพิษทางอากาศ บางส่วนถูกนำไปรีไซเคิล แต่ยังมีปริมาณขยะจำนวนมากที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ที่สำคัญมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 150 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลกเลยทีเดียว


ขณะที่ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization) และ Urban Land Institute ระบุว่า จากสัดส่วน 1% ของการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรมโรงแรมทั่วโลกนั้น ใช้พลังงานมากกว่าสำนักงาน ร้านค้าปลีก ที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเสียอีก


ทั้งนี้ เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศา ตาม Paris Climate Accords อุตสาหกรรมการบริการและโรงแรม จะต้องลดการปล่อยมลพิษลง 66% ภายในปี 2573 ตามรายงานการวิจัยของ International Tourism Partnership


นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้ประกอบการโรงแรมจึงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งการเปลี่ยนโรงแรมของคุณให้เป็น โรงแรมเขียว หรือ Green Hotel ไม่ใช่เพียงเพื่อลดมลพิษเท่านั้น แต่จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ ช่วยประหยัดพลังงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการศึกษาของ JUST Capital พบว่าบริษัทที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งในเรื่องดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้นเฉลี่ยสูงกว่าคู่แข่ง 3%



โรงแรมไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก


ปัจจุบันสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของโรงแรมในประเทศไทย ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย ประกอบกับมีจำนวนผู้ประกอบการไทยที่ตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ยังไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าที่ดำเนินการเรื่องนี้

โดยข้อมูลของ Cornell Hotel Sustainability (เดือนกุมภาพันธ์ 2567) พบว่า ค่าเฉลี่ย GHG Emissions ต่อการพักของลูกค้า 1 ห้อง ของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 0.064 ตันคาร์บอน (tCO2e) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่มี GHG Emissions 0.057 ตันคาร์บอน หรือเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 0.019 ตันคาร์บอน


นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการไทยสนใจดำเนินการเรื่องความยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการวัดผล GHG Emissions และการจัดทำรายงานความยั่งยืน โดยเป็นเพียงเริ่มดำเนินการจากส่วนที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงและทำได้ทันที เนื่องจากธุรกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19




ผลสำรวจแนวโน้มโรงแรมเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ที่นักท่องเที่ยวคาดหวัง


เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีการพูดถึงประเด็นในเรื่องบทบาทของ ESG ต่อธุรกิจโรงแรม และได้มีการยกผลสำรวจที่สะท้อนความคาดหวังของนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจไว้ดังนี้

61% ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในแบบที่มีแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19

73% มีโอกาสที่จะเลือกที่พักที่มีแนวทางแบบยั่งยืน (Sustainable Policy)

68% อยากเห็นว่าเงินที่จับจ่ายใช้สอยในแต่ละพื้นที่กระจายไปสู่ชุมชนที่โรงแรมนั้นตั้งอยู่


สะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นตลอด Customer Journey เลยก็ว่าได้ ซึ่งสอดรับกับจากการสำรวจของ Booking.com เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า นักท่องเที่ยวสมัยใหม่มองหาตัวเลือกโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าโรงแรมทั่ว ๆ ไป อย่างชัดเจน โดย 81% ระบุว่า พวกเขาต้องการพักในที่พักที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันอีก 49% มองว่าปัจจุบันตัวเลือกโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังมีไม่เพียงพอ


ดังนั้น นี่คือเทรนด์ใหม่ที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจโรงแรม ที่ต้องตีโจทย์ให้แตกถึงความต้องการของนักเดินทางที่เปลี่ยนไป และต้องปรับตัว สร้างแผนประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษและคาร์บอนให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์สำคัญที่มีแนวโน้มใส่ใจโลกมากขึ้นทุกที



แนวทางปรับตัวสู่ Green Hotel ด้วย 4 ขั้นตอน

1. ประเมินสถานะปัจจุบัน: ตรวจสอบการใช้น้ำ พลังงาน การจัดการขยะ มลพิษทางอากาศ

2. วางแผนกลยุทธ์: กำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ

3. ตั้งเป้าหมาย: ตั้งเป้าหมายที่ SMART (Specific-Measurable-Achievable-Relevant-Time bound)

4. กำหนดตัวชี้วัด: ติดตามผล ประเมินผล

โดยเราสามารถลงมือทำ จากสิ่งเล็ก ๆ เช่น เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำ คัดแยกขยะ รวมถึงการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

Green Hotel เป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตา ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้เร็ว ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การเดินหน้าสู่ Green Hotel ไม่ได้หยุดเพียงแค่การลดมลพิษ ประหยัดพลังงาน แต่การันตีความยั่งยืนด้วยมาตรฐานสากล สร้างความมั่นใจ ดึงดูดลูกค้า และยกระดับธุรกิจ มาตรฐานสากล เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่ Green Hotel ระดับโลก โดยเราสามารถเริ่มต้นตั้งเป้าหมายสู่มาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น

ISO 20121: ระบบบริหารการจัดการงานอีเวนต์อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์งานอีเวนต์สีเขียว

ISO 9001: ระบบบริหารคุณภาพ สร้างความมั่นใจในคุณภาพบริการ

ISO 14001: ระบบบริหารสิ่งแวดล้อม การันตีความมุ่งมั่นในการลดมลพิษ

ISO 50001: ระบบบริหารการจัดการพลังงาน



การจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Hotel Management)


ปัจจุบัน แนวคิด ‘Green Tourism’ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เพียงมอบความสะดวกสบาย อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และความร่มรื่นตามธรรมชาติ แต่ยังช่วยลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงจัดตั้งโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) มาตั้งแต่ปี 2556 อย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพสถานประกอบการให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ยกระดับมาตรฐานการบริการพร้อมขยายจำนวนเครือข่ายโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมสถานประกอบการสู่การประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล อันจะทำให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์โลกร้อนที่กำลังกลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ



โดยมีเกณฑ์การประเมินโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ประกอบด้วย 7 หมวด ดังนี้

1.นโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางการดำเนินงานด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารและพนักงานร่วมดำเนินการ

2. การพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงานด้านบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากบุคลากรของโรงแรมและลูกค้า

4. การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงคุณภาพ ราคา และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการผลิต

5. การจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน มีการจัดการของเสียและมลพิษให้หมดไปหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

6. การมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและชุมชน ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ด้วยการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

7. การประเมินประสิทธิภาพเพื่อการปรับปรุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อมูลดำเนินงานด้านการให้บริหารดังกล่าวไปปรับปรุงการดำเนินงาน


สำหรับ ผู้ประกอบการโรงแรม SME ควรปรับตัวอย่างไร


โรงแรมที่พักขนาดเล็กถึงขนาดกลางหรือ SME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่แนวทางความยั่งยืน สามารถเริ่มลงมือทำตาม 4 หลักการง่าย ๆ ดังนี้

1. การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนจากหลอดคอมแพ็กต์ฟลูออเรสเซนต์ 8 วัตต์ เป็นหลอดไฟ LED 5 วัตต์, การใช้โซล่าเซลล์ ก่อนเข้าร่วมโครงการอัตราการใช้ไฟฟ้า 20.3 หน่วยต่อปี ลดลงเหลือเพียง 14.4 หน่วยต่อปี

2. จัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ภายในโรงแรม ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมและได้รับเครื่องหมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 50% เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกและซื้อผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวอินทรีย์ปลอดสารเคมี ข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกร วัตถุดิบที่สั่งมาพร้อมใช้เพื่อลดขยะ และเลือกใช้ผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

3. การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ รณรงค์ให้ผู้มาใช้บริการ ใช้ผ้าเช็ดตัวผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนซ้ำ รวมไปถึงการติดตามตรวจสอบอุปกรณ์และระบบท่อภายในโรงแรมอย่างต่อเนื่อง เลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ที่มีระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ ในการช่วยประหยัดน้ำ

4. การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ




ยกตัวอย่างโรงแรมสีเขียวในต่างประเทศ


ปัจจุบัน แนวคิด ‘Green Tourism’ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เพียงมอบความสะดวกสบาย อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และความร่มรื่นตามธรรมชาติ แต่ยังช่วยลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


หนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศที่เดินหน้าจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืน ได้อย่างน่าสนใจ คือ โรงแรม 1 Hotels เป็นเครือโรงแรมบูติกในสหรัฐอเมริกา ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า Eco-chic ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้น ผสานกับดีไซน์ที่โดดเด่น เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของ Sustainable Hotel ได้แก่

- ออกแบบอาคารอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

- เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้รีไซเคิล

- ไม่ใช้กระดาษแต่แทนที่ด้วยกระดานและชอล์กสำหรับจดและขีดเขียนในห้องพัก

- ใช้ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่มที่ทำจากเส้นในออร์แกนิกเป็นมิตรต่อกับสิ่งแวดล้อมและไม่ระคายเคืองต่อผิว

- ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพัก (In-room amenities/Guest supplies) ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100%

- ใช้หินที่มีข้อความต่าง ๆ เป็นป้ายสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อสื่อสารระหว่างแขกกับพนักงานแทนที่จะเป็นพลาสติก

- ใช้กลยุทธ์การออกแบบด้านพลังงานน้ำและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเพื่อไม่ให้สร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์เยอะ เช่น บริการน้ำกรองคุณภาพสูงภายในห้องพักสำหรับแขกใช้ในการบริโภค ตั้งเวลาในการเปิดปิดน้ำจากฝักบัว 5 นาที เพื่อป้องกันการใช้น้ำเยอะเกินไป และใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้บริการแขก

- เชิญชวนให้แขกทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วหรือไม่อยากนำกลับไปเพื่อที่โรงแรมจะได้นำไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้ในมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น

- ในขณะที่การจัดการด้านอาหารและเครื่องดื่มขึ้นอยู่กับผลผลิตตามฤดูกาลและในท้องถิ่น เพื่อลดการขนส่ง




ตัวอย่าง แนวทางปรับตัว สู่ธุรกิจ ‘โรงแรมสีเขียว’ ในไทย


‘บันดาหยา รีสอร์ท’ คือหนึ่งในโรงแรมตัวอย่างในการปรับตัวสู่ Green Hotel ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งมั่นสู่ความเป็นโรงแรมที่ยั่งยืน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไลฟ์สไตล์ Eco-Living การใช้ชีวิตเป็นมิตรกับชุมชนท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน และทรัพยากร แต่ยังมีส่วนร่วมในการช่วยทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมหาศาล

โดยสรุปเป็น 5 แนวทาง ‘บันดาหยาโมเดล’ สู่การปรับเป็นธุรกิจโรงแรมสีเขียว และสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ได้ดังนี้


1. เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า

- ช่วยลดค่าไฟฟ้า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

- ใช้เป็นพลังงานความร้อนในการอบผ้า


2. เปลี่ยนขยะอาหารเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพ

- นำขยะอาหารจำนวนมาก ผลิตเป็นแก๊สประกอบอาหาร

- กากจากก๊าซชีวภาพและใบไม้ ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในสวนผัก


3. สร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร

- น้ำที่ใช้ในโรงแรม จะถูกหมุนเวียนกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ - สนามหญ้า


4. จัดทริปท่องเที่ยว โดยแทรกกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

- เช่น เก็บขยะริมชายหาด, ปลูกปะการัง


5. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

- ใช้ภาชนะใส่อาหารที่ย่อยสลาย หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้

- เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และสุขภัณฑ์ ที่ประหยัดไฟ และน้ำ




สนใจอ่านบทสัมภาษณ์ ‘บันดาหยา รีสอร์ท’ เพิ่มเติมได้ที่

https://bangkokbanksme.com/en/green-hotel



ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นว่า ‘Green Hotel’ ไม่ใช่แค่การลดมลพิษ ประหยัดพลังงาน แต่คือการสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ดึงดูดลูกค้าที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคม ซึ่งพบว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมาก เลือกพักในโรงแรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และดึงดูดนักลงทุนพันธมิตรได้อีกด้วย


ดังนั้น นี่คือเทรนด์ใหม่ที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจโรงแรม ที่ต้องตีโจทย์ให้แตกถึงความต้องการของนักเดินทางที่เปลี่ยนไป และต้องปรับตัว สร้างแผนประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษและคาร์บอนให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์สำคัญที่มีแนวโน้มใส่ใจโลกมากขึ้นทุกที


อ้างอิง

https://greenhotelthai.com/th/introduce

https://www.greennetworkthailand.com/tat/

https://thethinkwise.com/2022/12/15/esg-for-hotel-business/

https://www.sgs.com/th-th/news/2024/03/experience-sustainable-the-eco-friendly-haven-green-hotel-on-a-mission-to-save-the-world

https://bangkokbanksme.com/en/green-hotel



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
338 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2964 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3869 | 30/03/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน