ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว แนะขั้นตอนขับเคลื่อนองค์กรสู่แนวคิดยั่งยืน
ในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีแนวทางในการบริหารธุรกิจที่นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยการมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ จากรายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวฉบับประเทศไทย ของ PwC พบว่า 75% ของธุรกิจครอบครัวไทยมีการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในหลากหลายรูปแบบ แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ดำเนินการจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการกุศล หรือการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นมากกว่า แต่ในความเป็นจริงนั้น ธุรกิจครอบครัวควรคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญมากกว่า

ดังนั้น เพื่อสร้างความตื่นตัวและการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธุรกิจครอบครัวที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน ธุรกิจครอบครัวควรยึดหลัก ESG เพื่อให้การดำเนินธุรกิจครอบครัวมุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ธุรกิจครอบครัวจะได้สร้างความน่าเชื่อถือและผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ความยั่งยืน คืออะไร?
แนวคิดความยั่งยืน มีที่มาจากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เป็นวิถีการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report, 1987) ทำให้ในเวลาต่อมา ได้มีการนำมาใช้เป็นหลักการและแนวคิดในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนในชุมชน/สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งให้การดูแลฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้องค์กรธุรกิจได้มีบทบาทในการส่งต่อสังคมคุณภาพ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นต่อไปในอนาคต

จุดเริ่มต้น
หากธุรกิจครอบครัวต้องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควรเริ่มต้นด้วยการนำหลักการ ESG (Environment, Social, Governance) มาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อธุรกิจครอบครัวโดยตรง รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แล้ว ยังส่งผลดีต่อการพิจารณาตัดสินใจเพื่อการลงทุนของนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น เนื่องจากจุดประสงค์ของนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นส่วนมากต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
รวมทั้งยังต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนหรือสังคมส่วนรวม ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวไทยยุคใหม่จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างผลกระทบเชิงบวก หรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สามารถวัดผลลัพธ์ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม
แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการที่นำแนวทาง ESG มาประยุกต์ใช้ในองค์กร สามารถกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social, Governance: ESG) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ดังต่อไปนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เช่น กำหนดแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัดสูงสุด มีนโยบายด้านการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ อาทิ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อมีส่วนร่วมในการบรรลุข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 หรือ มีการบริหารจัดการของเสีย (Waste Management) เพื่อลดปริมาณการปล่อยของเสียจากการผลิต เพื่อให้การจัดการการฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill ) เช่น ใช้แนวทาง BCG (Bio -Circular-Green Economy) ซึ่งได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัว เช่น สร้างคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ ( Waste to Value) ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจครอบครัวแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกเดือด (Global Boiling) เป็นต้น
ด้านสังคม (Social) เช่น ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เคารพสิทธิมนุษยชน ดูแลความปลอดภัยของพนักงานและชุมชนใกล้เคียง ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนทั้งใกล้และไกล ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) เช่น ดำเนินกิจการอย่างเป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน มีนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นต้น

ผลที่ได้รับ
ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเห็นความสำคัญของการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เป็นการลงทุนที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้นักลงทุนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลดีต่อนักลงทุนเอง เนื่องจากทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดย รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ในปัจจุบัน ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติเป็นอย่างมาก ดังข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET ออนไลน์ : 1 กันยายน 2566) พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีรายได้รวมสูงถึง 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงกว่า 101,589 ล้านบาท คิดเป็น 13.6% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบที่กรมสรรพากรจัดเก็บ และ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทจดทะเบียนเหล่านี้มีการจ้างพนักงานรวมสูง 925,256 คน โดยเฉพาะการจ้างงานในกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มบริการ ทำให้บริษัทเหล่านี้มีการจ้างพนักงานในสัดส่วนที่สูงกว่า 60% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ทำให้สรุปได้ว่า การเจริญเติบโตของธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืนจะส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวไปในทิศทางของ ESG จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีการนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบริหารองค์กร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในลักษณะ Win-Win-Win ของทุกมิติ..อย่างแท้จริง !