ภาวะแพ้อาหารในผู้ใหญ่ (แบบเฉียบพลัน)
ที่หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่าเราเองก็ทานอาหารชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก
แต่ทำไมถึงมาเกิดอาหารแพ้ตอนโต นับเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป
ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงภาวะแพ้แบบเฉียบพลัน ที่เกิดจากร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในอาหารบางชนิด
ภาวะเฉียบพลันจะเกิดหลังจากการรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ไปไม่กี่นาทีหรือเกิดภายใน
2 ชั่วโมง อาการแสดงของร่างกายจะพบมากกว่า 1 ระบบขึ้นไป จาก 4 ระบบดังต่อไปนี้
1. อาการทางผิวหนัง : ผื่นคัน ผื่นลมพิษหรือผิวแดงทั้งตัว ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ : คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ ไอมาก แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ด
หรือหายใจไม่ออก
3. อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
: ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตตก อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
4. อาการทางระบบทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว
อาหารที่เป็นสาเหตุที่พบได้ เช่น อาหารทะเล โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปลาหมึก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้ง สาลี ถั่ว ไข่ ผลไม้ บางประเภท เช่น กล้วย แอปเปิ้ล อะโวคาโด กีวี ขนุน เป็นต้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
คลายสงสัย??? กินมานาน
ทำไมเพิ่งจะมาแพ้ตอนผู้ใหญ่
หลักการของการแพ้เฉียบพลัน คือร่างกายจะต้องเคยได้รับการกระตุ้นหรือเรียนรู้จากการรับประทานอาหารประเภทนั้น
หรือได้รับสารที่มีโปรตีนโครงสร้างคล้ายๆ กัน
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า IgE (อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดอี) ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อโปรตีนในอาหารชนิดนั้น ก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้เฉียบพลัน
จากการปล่อยสารฮีสตามีน (histamine) จากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกาย
ความสำคัญก็คือสารภูมิคุ้มกันนี้หลังจากผลิตมาแล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีตลอดไป
ซึ่งหมายความว่าถ้าเราได้รับประทานอาหารชนิดเดิมที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ก็จะมีอาการลักษณะเดิมอีกและไม่สามารถทานอาหารชนิดนั้นได้เป็นปกติอีก
ส่วนการแพ้อาหารแบบอื่นๆ
ที่พบได้ในบางคน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี อาหารทะเล ซึ่งทานได้ปกติ
แต่เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การออกกำลังกาย รับประทานร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID หรือรับประทานอาหารร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เกิดขึ้น
ซึ่งเกิดจากปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นการดูด ซึมสารที่ทำให้แพ้มากขึ้น
เมื่อไหร่ที่ต้องพบแพทย์
หากท่านเคยมีประวัติที่สงสัยว่ามีอาการแพ้แบบเฉียบพลันหลังจากทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้
และมีอาการแสดงมากกว่า 1 ระบบ
หรือมีอาการแค่ระบบเดียวแต่มีความรุนแรงมาก โดยเฉพาะอาการทางระบบหายใจหรืออาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยหลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว เพื่อที่ท่านจะได้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นและป้องกันการแพ้อาหารซ้ำ
โดยเมื่อท่านมาพบแพทย์ จะซักประวัติเรื่องอาหารที่ทาน
ระยะเวลาของอาการแสดงหลังจากรับประทาน ยาที่ใช้ประจำ สิ่งแวดล้อมรอบข้าง
ปัจจัยกระตุ้นการแพ้ โดยการวินิจฉัยจะใช้ประวัติร่วมกับการทดสอบทางผิวหนัง (skin test) หรือการเจาะเลือดเพื่อตรวจสารภูมิคุ้มกัน (specific
IgE) หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน เพื่อประเมินความน่าจะเป็นของอาหารที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้
ในกรณีที่ผลทดสอบให้ผลเป็นลบ จะทดสอบโดยการลองรับประทานอาหารที่สงสัย โดยที่จะต้องทำภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น
ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมา ทำอย่างไรดี ?
ให้ท่านตั้งสติและรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือโทรเรียกรถพยาบาลทันที
ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น จัดท่าทางที่เหมาะสม
ถ้าท่านหรือคนที่เกิดอาการรู้สึกเวียนศีรษะหน้ามืดให้นั่งหรือนอนในท่าที่รู้สึกสบาย
และสามารถหายใจได้สะดวก
ในกรณีฉุกเฉิน
ถ้าบริเวณนั้นหรือท่านมียาแก้แพ้พกติดตัวมาสามารถให้ทานก่อนได้ ระหว่างที่รอรับความช่วยเหลือ
แต่ไม่ได้หมายความว่ายาแก้แพ้จะเป็นยาหลักในการรักษา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้เฉียบพลัน
คือ อะดรีนาลีน ซึ่งจะมีในสถานพยาบาล หรือในกรณีที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและได้รับยานี้พกติดตัว
ให้ใช้ยานี้ฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาก่อนที่จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
โดยแพทย์อาจจะให้ท่านอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 1 วัน
แหล่งที่มา : โรงพยาบาลสุขุมวิท