แนวโน้มกระแสความตื่นตัวของคนไทยที่มีให้กับการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช พิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบที่ไม่ใช้สารเคมี จากการสำรวจพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ซื้ออาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพมากกว่า สัปดาห์ละ 1 ครั้ง บางส่วนมีการซื้อเป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญกลุ่มลูกค้า ยังยินดีจ่ายค่าอาหารที่ตรงนี้จึงเป็นโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจเกี่ยวกับ อาหารเพื่อสุขภาพ ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น
สะท้อนจากข้อมูลจาก Euromonitor International ที่นำเสนอเกี่ยวกับตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทย ในปี 2560 เติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปีมูลค่าราว 187,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีมูลค่า 191,893 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 2.8 ประมาณการณ์ว่าในปี 2565จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 213,099 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเติบโต
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
นี่คือกลุ่มเป้าหมายหลักๆผู้ที่คิดจะทำธุรกิจอาหารสุขภาพต้องรู้
ส่วนการเริ่มต้นในช่วงแรกๆ อาจเปิดร้านเล็กๆ กลุ่มเป้าหมายเป็นคนในละแวกที่อยู่ใกล้เคียง หรืออยู่ในเขตชุมชนที่มีออฟฟิศเยอะๆ เมื่อคนติดใจก็จะบอกปากต่อปากกลยุทธ์การตลาดวิธีนี้ลงทุนน้อยสุด ง่ายสุดแต่ได้ผลที่สุด
ถ้ามีทุนน้อยและยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง อาจขายผ่านระบบออนไลน์ หรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, LINE

ลองดูตัวอย่างคนที่เขา ทำจนประสบความสำเร็จว่าเขาทำกันอย่างไร อย่างเช่น โจนส์สลัด (Jones’salad) ที่เริ่มมาจากความมุ่งมั่นของ "กล้อง" อริยะ คำภิโล ที่ขายสลัดเพื่อสุขภาพ ใช้เวลาไม่กี่ปีขยายสาขาไปแล้ว6สาขา น่าสนใจมากเพราะเกิดมาจากการที่คุณกล้องมีปัญหาเรื่องสุขภาพ อยากดูแลสุขภาพตัวเองและอยากจะแบ่งปันให้คนอื่นด้วย
น้ำสลัดแสนอร่อยสูตรโจนส์สลัด ที่เจ้าของร้านลงทุนบินไปฝึกวิทยายุทธ์ถึงออสเตรเลีย ใช้ผักจาก Jones’ Organic Farm ที่เชียงราย ซึ่งปลูกแบบ ปลอดสารเคมี 100% ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
ความที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจ Jones Salad ควบคู่ไปด้วยโดยทำการ์ตูนอินโฟกราฟิกเกี่ยวกับสุขภาพและตอบปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นคำถามที่เจอในเพจบ่อยๆ จนได้รับการตอบรับดีมากมีแฟนเพจติดตามนับล้าน เป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ

ร้าน Fit Food Always ของ”เชฟ เอฟ”คุณอภินันท์ เศวตวรรณกุล ได้นำประสบการณ์ในการครัวมาทำอาหารกล่องสีสันน่ารับประทาน แล้วโพสภาพอาหารผ่านทาง Social Mediaทำให้คนที่อาศัยในคอนโดเดียวกันเห็น แล้วตามมาด้วยการสั่งมาทาน
ปัจจุบัน Fit Food Always มีบริการคอร์สอาหารเพื่อสุขภาพพื้นฐานทั้งหมด 3 คอร์ส โดยแบ่งตามความต้องการของลูกค้า ทั้งทานเพื่อดูแลสุขภาพ เพื่อลดน้ำหนัก และเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่ละคอร์ส จะตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มมีการจัดทำ “โครงการผูกปิ่นโตข้าว” เพื่อให้ได้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ออแกนิก ให้ลูกค้าได้ทานเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจถึงคุณภาพได้ว่าอาหารทุกมื้อเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์
นอกจากนี้ สอนการทำอาหาร ทำให้ลูกค้าเห็นว่า Fit Food Alwaysใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ใส่ใจในทุกขั้นตอนการปรุงอาหารอย่างมีมาตรฐาน และมีนักโภชนาการมืออาชีพคอยให้คำแนะนำ กลยุทธ์นี้ถือเป็นการสื่อสารให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือและไว้วางใจในคุณภาพอาหาร
สำหรับใครที่คิดจะลงมาลุยธุรกิจอาการเพื่อสุขภาพยังมีโอกาสและช่องทางอีกมาก ถ้าไม่อยากลงทุนตั้งร้านเอง ก็มีเฟรนไชส์อาหารสุขภาพมากมายให้เลือก เพียงแต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อ