กาแฟเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันที่หลายคนขาดไม่ได้
สอดคล้องกับภาพของร้านกาแฟที่ยังคงขยายตัวในทุกพื้นที่
แต่ปริมาณการบริโภคกาแฟในประเทศไทย ก็ยังมีอัตราเฉลี่ยที่ต่ำกว่าอีกหลายประเทศ
จึงนับเป็นโอกาสของการเติบโตท่ามกลางความท้าทายของการแข่งขัน
นอกจากนั้นตลาดกาแฟในปัจจุบันยังหันมาให้ความสำคัญถึงการสร้างเอกลักษณ์
ตั้งแต่ต้นทางของแหล่งผลิต กระบวนการผลิต ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
และนี่ก็คือโอกาสอันเป็นทิศทางสำคัญของการเกษตรในระดับสากล
นั่นคือ “วิถีเกษตรอินทรีย์” ที่ขยายตัวเป็นอย่างดีทั่วโลก ส่งผลให้ “กาแฟออร์แกนิค” เป็นที่น่าจับตามอง ทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูก แบรนด์กาแฟ ตลอดจนร้านกาแฟต่างๆ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ตลาดกาแฟ ความเข้มที่ยังหอมอีกยาว
กาแฟเป็นเครื่องดื่มในวัฒนธรรมสากล
กระจายตัวเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น จึงเป็นเสน่ห์ที่เชื่อมโยงศิลปะวัฒนธรรม
และวิถีชีวิตของผู้คนเข้ากับเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชน ประเทศ รวมทั้งตลาดโลก
ปัจจุบันโลกเรามีกาแฟยอดนิยมอยู่ 2
สายพันธุ์ คือ “อาราบิก้า” เป็นกาแฟที่เจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ดีบนที่สูงซึ่งมีอากาศหนาวเย็น
ในเมืองไทยส่วนใหญ่จึงมีการปลูกบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ และ “โรบัสต้า”
ที่เจริญเติบโตได้ดีในแหล่งที่มีอากาศชุ่มชื้น นิยมปลูกทางภาคใต้ แถบจังหวัดชุมพร
สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยปัจจุบันกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า มีผลผลิตราว 79% ของปริมาณการปลูกกาแฟทั้งหมดในประเทศไทย
ขณะที่ตลาดโลกปริมาณการผลิตกาแฟหลัก
อยู่ที่สายพันธุ์อาราบิก้าถึง 60%
และ โรบัสต้า 40% โดยประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลก 50%
ยังคงอยู่ในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในบราซิล ส่วนประเทศแถบเอเชีย
มีปริมาณการผลิตประมาณ 30%
ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในอาเซียน
มีเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นผู้นำทางด้านปริมาณการผลิตในแถบนี้
แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์โรบัสต้า
ส่วนประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตกาแฟรวมเพียง 1% ของอาเซียน
จึงยังต้องอาศัยการนำเข้าอีกมาก
ตลาดกาแฟและการบริโภคของคนไทย
ตลาดกาแฟเป็นมีทิศทางที่น่าจับตามองท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
เนื่องจากเป็นสินค้าพื้นฐานที่มีติดไว้ประจำบ้านและสำนักงาน
รวมทั้งการใช้บริการร้านกาแฟยังคงเป็นวิถีนิยมของคนรุ่นใหม่
ปัจจุบันอัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยอยู่ที่ประมาณ
1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ประมาณ 300 แก้ว)
เป็นอัตราที่ต่ำกว่าคนในยุโรปซึ่งมีอัตราการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 4-5
กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ประมาณ 600 แก้ว)
ขณะที่คนในประเทศญี่ปุ่นมีการบริโภคกาแฟอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
(ประมาณ 400 แก้ว)
ตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 3.7-3.8 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าปี 2563
มีแนวโน้มการเติบโตขึ้นในระดับ 5-8% หรือ 4 หมื่นล้านบาท
โดยกลุ่มกาแฟคั่วบดคือกลุ่มที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโตดีกว่ากาแฟสำเร็จรูปและกาแฟพร้อมดื่ม
กาแฟออร์แกนิค ผลผลิตจากธรรมชาติ
กาแฟออร์แกนิค
คือการเลือกใช้ส่วนประกอบทุกอย่างที่มาจากธรรมชาติ
ต้นกาแฟต้องปลูกบนดินที่ปลอดสารเคมี เติบโตด้วยธาตุอาหารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกจากธรรมชาติ
รวมทั้งการออกแบบระบบการจัดการและการพึ่งพาของธรรมชาติ อาทิ
การปลูกพืชคลุมดินเพื่อการบำรุงดินโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย
และที่สำคัญไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดจะไม่มีการใช้สารเคมีหรือสารกระตุ้นต่างๆ
อย่างเด็ดขาด
ข้อดีของการปลูกกาแฟแบบออร์แกนิค
คือการส่งเสริมระบบธรรมชาติที่สะอาดและปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อผู้ปลูก
ผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นเมล็ดกาแฟออร์แกนิคที่ได้จากธรรมชาติ 100% จะให้รสชาติของสายพันธุ์กาแฟแท้
อันเป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะเข้าถึงในปัจจุบัน พร้อมด้วยราคาที่สูงกว่ากาแฟทั่วไป
ดังนั้นแม้จะต้องอาศัยความใส่ใจและความพยายามอย่างมาก
แต่กาแฟออร์แกนิคคือคำตอบของความยั่งยืนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ยกระดับกาแฟไทย เทียบชั้นพรีเมี่ยม
กาแฟออร์แกนิค
เป็นหนึ่งในแนวทางการยกระดับภาพลักษณ์และมูลค่าของกาแฟไทย ซึ่งปัจจุบันไร่กาแฟออร์แกนิคเริ่มมีความแพร่หลายในประเทศไทย
หลายแบรนด์สามารถจำหน่ายกาแฟออร์แกนิคในราคาสูงกว่าทั่วไปได้หลายเท่าตัว
นอกจากนั้นยังมีทิศทางของการพัฒนาเมล็ดกาแฟในรูปแบบ Specialty Coffee หรือการคัดสรรเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่มีคุณภาพ
ก่อนนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปและคั่วอย่างมีหลักการ
เพื่อสร้างกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัวแตกต่างจากกาแฟปกติ
อันเป็นที่นิยมของคอกาแฟในปัจจุบัน
ส่วนทิศทางที่น่าจับตามองอีกด้าน คือการส่งเสริมเอกลักษณ์การชงกาแฟแบบไทย หรือกาแฟโบราณ ซึ่งเป็นที่สนใจของตลาดเอเชีย รวมทั้งการสร้างสรรค์รสชาติกาแฟที่ผสมผสานกับผลิตทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ กาแฟผสมทุเรียน กาแฟผสมกระชายดำ เพื่อสร้างทางเลือกด้านสุขภาพและรสชาติที่แปลกใหม่
สายโรบัสต้า หนุนอินทรีย์ยกระดับมูลค่า
จ.ชุมพร
เป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้าที่มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกถึง 178,283 ไร่ ผลผลิตรวม 24,424 ตัน/ปี
สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นเงิน 1,500 ล้านบาทต่อปี
แต่ส่วนใหญ่เป็นกาแฟในรูปแบบ 3in1 แบรนด์ต่างๆ
ยังต้องอาศัยจ้างโรงงานของผู้ผลิตรายใหญ่
ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดชุมพร
ได้เริ่มต้นทำสวนกาแฟแบบออร์แกนิคจนประสบความสำเร็จ
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมล็ดกาแฟ เพิ่มเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติ
และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะขยายเครือข่ายไปยังเกษตรกรในพื้นที่
เพื่อยกระดับคุณภาพและราคาของเมล็ดกาแฟโรบัสต้าให้สูงขึ้น
ทิศทางของกาแฟออร์แกนิค ยังนำมาซึ่งประโยชน์ที่ตามมาอีกมาก เช่น ผลผลิตในสวนเดียวกันอย่างกล้วยหรือทุเรียน ต่างได้ชื่อว่าเป็นผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อใจของทุกคน นอกเหนือจากมูลค่าที่ตอบแทนความตั้งใจได้มากกว่าแล้ว กาแฟออร์แกนิคคือหนึ่งในการสร้างสังคมของการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น อันเป็นหัวใจสำคัญของการค้าขายในโลกปัจจุบัน