ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ แตกไลน์ธุรกิจโรงสีข้าว Smart Factory มุ่งสร้างนิคมฯ เกษตร แห่งแรกของไทย
โรงสีข้าว (Rice Mill) ซัพพลายเชน ผู้รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา นำมาแปรรูปเป็นข้าวสาร เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ถือเป็นธุรกิจต้นน้ำของอุตสาหกรรมแปรรูปข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศไทย ปัจจุบัน ธุรกิจโรงสีข้าวยุคใหม่ ปรับเปลี่ยนไปจากบทบาทพ่อค้าคนกลาง สู่การเป็นผู้พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวครบวงจร \
ดังเช่น เส้นทางการพัฒนาธุรกิจของ บริษัท ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจโรงสีข้าว และผู้จัดจำหน่ายข้าวสารรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ บัวชมพู โครงสร้างบริหารเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) โรงสีข้าว ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาปีละประมาณ 1 แสนตัน เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารที่มีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ต่อมาได้ขยายธุรกิจแปรรูปข้าว โดยนำผลพลอยได้จากข้าว (By-Product) มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น
สกัดเป็นน้ำมันรำข้าว เพื่อส่งออกตลาดญี่ปุ่น ตอบโจทย์เทรนด์การใส่ใจสุขภาพ (Health Conscious) นอกจากนี้ในอนาคต ยังมีแผนงานที่จะวิจัยและพัฒนานำแกลบมาสกัดเป็นซิลิก้า ธาตุที่ใช้เป็นสารเคลือบเพิ่มความแข็งแรงในผลิตภัณฑ์แว่นตา และใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย รวมถึงการริเริ่มตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกในประเทศไทยแบบ Smart ที่มีความทันสมัย บนพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อรองรับการลงทุนธุรกิจเกษตรให้เติบโตบนรากฐานที่ยั่งยืน
คุณถวิล ล้อพูนผล กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ จำกัด กล่าวว่า เส้นทางธุรกิจโรงสี เริ่มจาก คุณเสวก ล้อพูนผล (บิดา) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท ได้ลงทุนหุ้นส่วนธุรกิจโรงสีเกียรติรุ่งเรือง ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งธุรกิจโรงสีล้อพูนผล อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ในปี 2547 รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยตรงมาแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายในประเทศ แบรนด์ บัวชมพู จำหน่ายในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง
ในปี 2549 คุณถวิล เรียนจบ ได้เข้ามาช่วยงานธุรกิจโรงสีข้าวของครอบครัว และวางกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจ แตกไลน์สินค้าไปยังกลุ่มต่าง ๆ เพื่อปรับรากฐานธุรกิจข้าวสู่การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร
ขยายธุรกิจโรงสี ปั้นแบรนด์ ข้าวสาร
คุณถวิล ใช้เวลา 20 ปี ปรับรากฐาน บริษัท ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ จำกัด ให้เติบโตอย่างมั่นคง เริ่มจากเพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายสินค้าข้าวสารแบรนด์บัวชมพู จากเดิมที่จำหน่ายเฉพาะในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ได้ขยายสู่การจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศ ผ่านร้านค้าส่ง ห้างค้าปลีกท้องถิ่น เพื่อเพิ่มตัวแทนและสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยข้าวสารแบรนด์บัวชมพู ถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ การกระจายสินค้าและขยายเครือข่ายตัวแทนทั่วประเทศ ทำให้ขายดี มียอดขายสูง ส่งผลให้ทั้งคู่ค้าและธุรกิจมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทได้แตกำลน์เพิ่มแบรนด์สินค้าข้าวสารใหม่อีกหลายแบรนด์ คือ กล้วยไม้, ชบา, สุดคุ้ม, กุ้งทองคำ, กุหลาบ, และชาวนาไทย ฯลฯ รองรับการเติบโตของธุรกิจที่ตั้งเป้าจะจำหน่ายให้ครบทุกจังหวัด การเพิ่มแบรนด์ ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุม และเติมเต็มช่องว่างในตลาด และเป็นการกระจายแบรนด์สินค้าให้คู่ค้า ตัวแทนจำหน่าย ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยใน 1 จังหวัด บริษัทจะมีตัวแทนจำหน่าย 3 ราย เป็นตัวแทนละ 1 แบรนด์
นอกจากนี้ บริษัทในเครือล้อพูนผลไรซ์มิลล์ ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ โดยมียอดขายราว 9 แสน – 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งในส่วนนี้มีน้องสาวคุณถวิลเป็นผู้บริหารธุรกิจ
จุดแข็งของธุรกิจ
1. ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ ธุรกิจมีรากฐานจากธุรกิจโรงสีข้าว มีเครือข่ายเกษตรและผู้ประกอบการเกษตรจำนวนมาก สามารถซัพพลายข้าวคุณภาพดีไว้ขายได้ตลอดทั้งปี มีนวัตกรรม เครื่องจักร เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีประสบการณ์
2. บริการจัดส่งสินค้ารวดเร็ว “โทรมาวันนี้ พรุ่งนี้ไปส่งให้เลย” เป็นข้อดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและขนย้ายเพื่อให้แรงงาน ทำงานได้ง่ายและเร็วขึ้น
ใช้ออโตเมชันเพิ่มขีดความสามารถแรงงาน
ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ ใช้งบลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
คุณถวิล มองว่า การเข้าซื้อเทคโนโลยีออโตเมชัน และหุ่นยนต์ที่ถูกจังหวะ และรวดเร็ว ด้วยการคิดก่อนคนอื่น จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร จากเดิมเป็นการยก หรือแบกกระสอบข้าวสารด้วยแรงงานคน เปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ยกแทน จุดนี้ไม่ได้มองเพียงว่า เทคโนโลยีจะช่วยลดแรงงานได้เท่าไหร่ หรือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจมากแค่ไหน แต่การยกระดับการทำงาน เพื่อคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
ด้วยราคาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เริ่มลดลง จนอยู่ในระดับที่ธุรกิจมีกำลังพอจะนำมาทำประโยชน์ เช่น ช่วยให้ลูกน้องทำงานง่าย เบาแรงลง ทำให้พวกเขามาทำงานสม่ำเสมอ มีรายได้มั่นคงขึ้น สามารถยกระดับงานกรรมกรแบกข้าวสาร ไปสู่การดำเนินการในรูปแบบอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสม คุ้มค่า ช่วยให้งานเสร็จเร็ว จัดส่งสินค้าได้ตรงเวลา
ในแง่ธุรกิจ การผลิต และการขนย้ายที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถจัดส่งสินค้าได้ทันเวลา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการบริการลูกค้า ตลอดจนการนำระบบ ERP มาใช้เพื่อช่วยคำนวณ และควบคุมต้นทุนการจัดการบุคลากรส่วนต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เป็นการสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้น โดยใช้แรงงานเท่าเดิม
“เครื่องมือที่ทำให้คนทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่ง และบริการลูกค้า เป็นแนวทางสร้างธุรกิจบนรากฐานของความยั่งยืน”
ต่อยอดโรงงานสกัดน้ำมันรำข้าว
แนวคิดธุรกิจของคุณถวิล คือการยกระดับธุรกิจเกษตรจากรากฐานของธุรกิจโรงสีข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสร้าง BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ ได้ขยายุรกิจโดยนำผลพลอยได้จากข้าว (By-Product) มาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าต่อยอดมาเป็นโรงงานผลิตน้ำมันรำข้าว ภายใต้การบริหารจัดการในนาม บริษัท แอลพีพี ไรซ์ บราน ออยล์ จำกัด มีกำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน
โดยเริ่มจากส่งออกประเทศญี่ปุ่น ปีแรกที่เปิดโรงงานมียอดขายในตลาดต่างประเทศค่อนข้างดี เนื่องจากช่วงนั้นคู่แข่งตลาดน้ำมันรำข้าวในประเทศบราซิลกำลังประสบปัญหา ทำให้เราส่งออกได้มาก แต่ปีต่อมาแม้ยอดส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ยอดขายในประเทศก็เติบโตขึ้น ภาพรวมธุรกิจนี้จึงยังมีทิศทางที่ดี บริษัทถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรำข้าวดิบอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยปริมาณการส่งออก 6,000-7,000 ตัน เพื่อนำไปผ่านกระบวนการ (Refined Oil) ซึ่งได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
คุณถวิล ยกตัวอย่าง กรณีญี่ปุ่น ผลิตข้าวทั้งประเทศได้ราว 6 ล้านตันต่อปี ซึ่งเก็บไว้สำหรับบริโภคในประเทศ แต่ได้รำที่เป็นวัตถุดิบใช้ทำน้ำมันรำข้าวไม่ถึงร้อยละ 7 ของการบริโภคทั้งหมดของประเทศ จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ มองว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทยซึ่งมีข้าวอยู่มาก สำหรับนำไปสกัดน้ำมันรำข้าวส่งออกไปญี่ปุ่นหรือตลาดโลกได้ จากการที่ไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวและมีศักยภาพผลิตน้ำมันรำข้าวระดับโลก ขณะที่ญี่ปุ่นขาดแคลน ในแต่ละปีจึงมีการนำเข้าน้ำมันรำข้าวจากไทยในปริมาณสูง
น้ำมันรำข้าว เป็นสินค้าสุขภาพ (Healthy Product) ทำให้แนวโน้มความต้องการบริโภคในปัจจุบัน และอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จากกระแสการใส่ใจสุขภาพของคนยุคใหม่ และคุณประโยชน์ที่เป็นองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่ผลิตภัณฑ์น้ำมันทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์เทรนด์ Health Conscious หรือการใส่ใจสุขภาพตามวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน นิยมใช้น้ำมันรำข้าวในเมนูทอด ผัด น้ำสลัด ฯลฯ
ทิศทางตลาดน้ำมันรำข้าวในประเทศไทย เริ่มนิยมใช้มากขึ้นในกลุ่มครัวเรือน ซึ่งหากพฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันรำข้าวที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ธุรกิจบริการเหล่านี้จะปรับตัวตาม ทั้งนี้การนำน้ำมันรำข้าวมาเป็นจุดขาย เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคที่ตระหนักด้านสุขภาพ ทำให้มองว่าตลาดน้ำมันรำข้าวในอนาคตจะมีความต้องการสูงขึ้น
น้ำมันรำข้าวมาจากไหน
น้ำมันรำข้าวเป็น by-product จากกระบวนการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้อง และการขัดมันข้าวขาว จะได้ ‘รำข้าว’ โดยปกติรำข้าวจะถูกขายต่อให้กับโรงงานเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ ต้องการเพิ่มมูลค่ารำส่วนนี้ ด้วยการลงทุนโรงงานสกัดเป็นน้ำมันรำข้าวที่ยังไม่ผ่านกระบวนการ รำข้าว 1 ส่วนจะมีปริมาณน้ำมันร้อยละ 20 ในกระบวนการสกัด ไม่เพียงจะได้น้ำมันรำข้าวดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการ ส่งออกไปให้แบรนด์น้ำมันรำข้าวรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นนำไปเข้ากระบวนการ เพื่อบรรจุลงบรรจุภัณฑ์จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังได้ ‘รำสกัด’ ที่มีค่าโปรตีนเข้มข้น เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีกด้วย
คุณถวิล เผยว่า ได้เตรียมลงทุนในส่วนของการผลิตน้ำมันรำข้าวผ่านกรรมวิธี (Refined Cooking Oil) ที่บรรจุขวดขาย แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หากแล้วเสร็จ โรงงานจะเป็นรายแรกที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก ในการสกัดน้ำมันรำข้าวสำหรับบริโภค คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2568
นอกจากนี้ ยังมีโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิ ‘โรงไฟฟ้าพลังงานแกลบ’ โดยเอาแกลบมาเผา ได้เป็นไฟฟ้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และต่อยอดด้วยการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการนำขี้เถ้าจากแกลบที่นำไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า มาสกัดเป็น ‘ซิลิกา’ สำหรับใช้เคลือบแว่นตา และส่วนประกอบในรถยนต์ สอดรับกันเทรนด์ BCG แนวคิดคือการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า และทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกันเพื่อความยั่งยืน
ตั้งนิคมฯ เกษตรแบบสมาร์ทแห่งแรกของไทย
สำหรับ ‘นิคมอุตสาหกรรมเกษตร’ ที่ตั้งบนที่ดินของล้อพูนผลเนื้อที่กว่า 700 ไร่ ที่ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ มีแผนเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในการก่อตั้ง โดยจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย หรือนิคม Smart Factory ที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานในนิคมฯ กำหนดไว้ 7 พื้นที่สมาร์ท ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย
คุณถวิล กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตร ขณะที่การพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน เรื่อง BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ รองรับอุตสาหกรรมด้านการเกษตรได้อย่างครบวงจร
ปัจจุบัน ‘นิคมอุตสาหกรรมเกษตร’ ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต ล่าสุดมีการเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่น 2 ราย สนใจข้อเสนอเข้ามาลงทุน สำหรับสิทธิประโยชน์นักลงทุน เราได้ประสานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เกี่ยวกับการลงทุน หากเป็นต่างชาติเข้ามาลงทุนสามารถประกอบกิจการได้ 100%
ติดตามเพิ่มเติมที่: https://lppricemill.com/
https://www.facebook.com/Lorphoonpholricemill?locale=th_TH