สักการะศาสนสถานย่านชุมชนเก่าสามเสน

Edutainment
01/11/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 24877 คน
สักการะศาสนสถานย่านชุมชนเก่าสามเสน
banner

“สามเสน” แถวสะพานซังฮี้เดิมเป็นย่านชุมชนประมงเล็ก ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นแหล่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 300 ปี บริเวณนี้มีหลากหลายชนชาติ ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันอพยพเข้ามาอาศัย ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส จีน ญวน เขมร เป็นต้น แต่คนเหล่านี้ก็สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสงบบนผืนแผ่นดินไทย

เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นย่อมมีศาสนสถานซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ชุมชนเก่าแก่ย่านสามเสน ประกอบด้วย 5 ศาสนสถานที่เก่าแก่อายุนับร้อยปีที่ยังคงสถาปัตยกรรมอันงดงามทรงคุณค่ารายรอบไปด้วยวิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงรักษาขนมธรรมเนียมของบรรพบุรุษไว้

วันนี้จะชวนไปเดินซอกแซกตามซอยเล็ก ๆ ย่านสามเสน เพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายศาสนาที่ยังคงดำรงอยู่มานานกว่า 300 ปี

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ศาลเจ้าจุ่ยบ่อเนี้ย

คนจีนโพ้นทะเลที่เดินทางโดยเรือสำเภามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาล้วนแต่นับถือ “เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งนับถือเป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล ที่จะช่วยให้ชาวจีนทีเดินทางโดยเรือปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงในท้องทะเล

ศาลเจ้าแม่ทับทิมจึงมีอยู่ทุกหนแห่งที่มีคนจีนอพยพมาอาศัย แต่ ศาลเจ้าจุ่ยบ่อเนี้ย ที่บริเวณสะพานซั้งฮี้นับว่าศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและงดงามมาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปีพ.ศ.2385 และที่พิเศษกว่าที่อื่น ๆ คือเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งเดียวที่สร้างโดยชุมชนไหหลำขนาดใหญ่ในยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กที่ไม่มีหลังคาตามสถาปัตยกรรมฮกเกี้ยน เพื่อให้ควันธูปได้ระบายออก ต่อมาจึงมีการสร้างต่อเติมเป็นลักษณะ “เรือนล้อมลาน มี 4 อาคารล้อมโดยมีพื้นที่โล่งอยู่ตรงกลาง

ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีของสำคัญอย่างหนึ่งคือ กระถางธูปซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 4 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทาน กระถางธูป หลักและรอง รวม 5 กระถางให้แก่ศาลเจ้าแห่งนี้  ส่วนองค์เจ้าแม่ทับทิมสร้างด้วยไม้ สวมเครื่องทรงสีแดงเหมือนทับทิมจึงเรียกขานว่าเจ้าแม่ทับทิม นอกจากชาวไหหลำในย่านที่นับถือแล้ว ยังมีชาวจีนนอกชุมชนมาสักการะเพื่อขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย การเงิน การงาน โชคลาภ บุตรหลานสอบได้ตำแหน่งดี ๆ


วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์

ลึกเข้าไปในซอยมิตตาคามบนถนนสามเสน จะพบชุมชน บ้านญวน” ที่เป็นคริสตังชาวญวนที่อพยพมาเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างศาสนสถานเพื่อให้ชาวคริสต์ได้ประกอบศาสนกิจ เดิมเป็นอาคารไม้ไผ่เล็ก ๆ ใช้ชื่อว่า “วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ 3 ปีต่อมาโบสถ์แห่งนี้ก็ทรุดโทรม จึงมีการก่อสร้างขึ้นใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดนักบุญฟรังซิสเซเวีย

ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ถือเป็นโบสถ์หลังที่ 3 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึงถึง 10 ปี ตัวอาคารก่ออิฐแบกปูน เป็นอาคารที่ไม่มีเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงมาเรียงอยู่ด้านล่างเพื่อไม่ให้วัดทรุด ถือเป็นโบสถ์ที่มีความงามด้วยสถาปัตยกรรมนีโอโกธิค ภายในเป็นโถงขนาดใหญ่ จุดคนได้ถึง 600 คน หน้าต่างตกแต่งด้วยกระจกสีต่าง ๆ สวยงามมาก และรอบ ๆ ยังรูปปั้นของนักบุญต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ด้านหน้าของโบสถ์ยังมีพระรูปพระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอด หรือ พระโต เป็นพระรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ไถ่มา เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ในปี 1897 และได้พระราชทานให้แก่วัดนี้


วัดคอนเซ็ปชัญ

ชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัญนั้นถือเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้กับชาวโปรตุเกสที่ร่วมทำสงครามมะละกาให้กับพระองค์ พร้อมทั้งสร้างวัดคอนเซ็ปชัญขึ้นมาเพื่อประกอบศาสนกิจ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯให้ชาวโปรตุเกสในเขมรและชาวเขมรจำนวน 500 คน ที่หลบหนีลี้ภัยมาจากเขมร มาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสในชุมชนนี้ และตั้งแต่นั้นมาก็มีการเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านเขมร

วัดคอนเซ็ปชัญหลังแรกสร้างด้วยไม้ไผ่และผุพังตามกาลเวลา จึงมีการสร้างขึ้นใหม่ในสมัยบาทหลวงปาลเลอกัว เจ้าอาวาสองค์ที่ 17 ในช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่งปัจจุบันคือ วัดน้อย ซึ่งใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกว่า 300 ปีทั้งของใช้ที่นำมาทำพิธี และเสื้อคลุมสำหรับพระสงฆ์ เป็นต้น

ส่วนโบสถ์หลังปัจจุบันสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2480 โดยใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมตะวันตก เรียกกันว่า อาคารแบบวิลันดา ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน ภายในโบสถ์มีรูปสลักพระแม่มารีที่คณะผู้อพยพอัญเชิญมาจากเขมร ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน


วัดเทวราชกุญชร

วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เดิมชื่อ วัดสมอแครง เป็นพรุอารามหลวงชั้นตรี สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ต้นสกุลมนตรีกุล) พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ จากนั้น กรมพระพิทักษ์เทเวศร หรือ “พระองค์เจ้ากุญชร” (ต้นสกุลกุญชร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบูรณ์ปฏิสังขรณ์อีกครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรับเป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ทรงนำคำว่า เทวราช มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งเป็นพระนามเดิมของ กรมพระพิทักษ์เทเวศร ผู้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้มาก่อน

วัดนี้มีความสำคัญเนื่องจากมีพระอุโบสถขนาดใหญ่มากซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 มีขนาดยาว 36 เมตร กว้าง 17 เมตร ภายในมี พระพุทธเทวราชปฏิมากร” เป็นพระประธานประดิษฐาน ส่วนภาพจิตกรรมภายในพระอุโบสถมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ใช้เป็นภาพเหตุการณ์เหล่าเทวดามาชุมนุมกันขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพภิกษุกำลังปลงอสุภกรรมฐาน ส่วนจิตรกรรมที่ผนังตอนล่างระหว่างช่องประตูหน้าเป็นภาพทศชาติ เรื่อง สุวรรณสาม และด้านหลังเป็นภาพวัดเทวราชกุญชรเดิมก่อนที่จะมีการสร้างพระอุโบสถหลังนี้


วัดราชาธิวาส

วัดราชาธิวาสวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ วัดสมอราย ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร มีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา” เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญยังเป็นวัดแรกที่ถือกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

ตัวพระอุโบสถหลังเดิมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ออกแบบใหม่ ด้วยการผสมผสานศิลปะไทย ศิลปะขอม และศิลปะตะวันตก เข้าด้วยกัน  โดยตั้งใจให้ลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากวัดอื่นและแตกต่างจากแบบแผนจารีตเดิม

ส่วนจิตกรรมฝาผนังของอุโบสถแห่งนี้ก็มีความพิเศษคือผนังทั้ง 4 ด้านที่เหลือมีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดกครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงร่างแบบและให้จิตรกรรมชาวอิตาลีนาม  คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) เป็นผู้ขยายแบบและลงสีโดยใช้เทคนิคการลงสีแบบเฟรสโกหรือการเขียนสีบนปูนเปียก ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนของโลกตะวันตก


หนาวนี้ที่เชียงใหม่ ไหว้พระ 5 วัดจัดไป!! 

วันเดียวเที่ยว 3 สะพาน


 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
765 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
10651 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
13159 | 03/10/2023
สักการะศาสนสถานย่านชุมชนเก่าสามเสน