3 หลักไมล์สู่เส้นชัยในธุรกิจครอบครัว บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ คุณกวาง เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง เพจทำที่บ้าน
80% ของธุรกิจ SMEs ไทยคือธุรกิจครอบครัว แม้สัดส่วนของธุรกิจครอบครัวจะสูงมากเทียบกับธุรกิจทั่วไป แต่หากพูดถึงการส่งต่อธุรกิจได้สำเร็จ กลับมีเพียง 30% เท่านั้นที่ส่งต่อไปยังรุ่นสอง, 13% ส่งต่อไปรุ่นสาม และมีเพียง 3% เท่านั้นที่ส่งต่อไปถึงรุ่นที่ 4
จากตัวเลขสถิติการส่งต่อธุรกิจ จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะได้ยินวลีที่ว่า “รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองสาน รุ่นสามทำลาย” เพราะเมื่อเรานำสถิติมาเทียบกับวลีที่เกิดขึ้น หากใครจะพูดว่าเป็นเรื่องจริงก็คงไม่แปลกนัก
ผมคือหนึ่งคนที่เติบโตมาในตระกูลกงสีของครอบครัว เห็นปัญหาของระบบกงสีมาตั้งแต่ยังเล็ก และเมื่อกลับมาสานต่อธุรกิจของคุณพ่อที่แยกตัวออกมาจากกงสี ยิ่งตอกย้ำว่าการทำธุรกิจครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายปีที่ผ่านมาผมได้เข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจครอบครัวมากมายจากการทำ “ทำที่บ้าน” ซึ่งหากลองนับดูอาจเกิน 100 ครอบครัวเข้าไปแล้ว และในบรรดาครอบครัวนับร้อยเหล่านั้น มีทั้งครอบครัวที่สานต่อ ส่งต่อธุรกิจ พัฒนาธุรกิจได้อย่างสวยงาม แต่ก็มีครอบครัวที่อาจยังติดขัดอยู่บ้าง ซึ่งในธุรกิจครอบครัวที่ดูติดขัดนั้น มักจะมีปัญหาเป็นแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันอยู่ แตกต่างกันเพียงรายละเอียดของแต่ละครอบครัว
จากบทเรียนธุรกิจครอบครัวที่ผ่านมา ผมเรียนรู้ว่า
ธุรกิจครอบครัวคือการเดินทางไกลที่ไม่มีสูตรสำเร็จ
การทำธุรกิจครอบครัวคือการเดินทางที่ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งในแต่ละช่วงก็เต็มไปด้วยความท้าทายที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น ช่วงเริ่มต้น ช่วงส่งต่อ ช่วงเปลี่ยนแปลง หรือช่วงต่อยอด ซึ่งการเดินทางของแต่ละครอบครัวในแต่ละครั้งก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่เราจะลอกเลียนแบบใครได้ บางวิธีการได้ผลกับครอบครัวหนึ่ง แต่หากนำมาใช้กับอีกครอบครัวก็อาจไม่ได้ผล
ถึงแม้ผมจะบอกว่ามันคือการเดินทางไกลที่ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่หากลองถอดบทเรียนจากธุรกิจครอบครัวกลุ่มแรกที่สานต่อได้อย่างสวยงามออกมา เราจะเริ่มเห็นแพทเทิร์นบางอย่างที่ทุกครอบครัวต่างมีเหมือนกัน
การเดินทางไกลครั้งนี้มี 4 หลักไมล์ที่เราต้องผ่านไปให้ได้
หลักไมล์ที่ 1 รับไม้ต่อได้ ส่งไม้ต่อเป็น
การส่งต่อธุรกิจเป็นปัญหาแรกที่หลายครอบครัวพบเจอ เพียงแต่ปัญหานี้เรามักได้ยินจากมุมมองของฝั่งทายาทธุรกิจเท่านั้น เช่น ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง ผู้ใหญ่ไม่เปิดโอกาส นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ให้ แต่ปัญหานี้หากเรามองจากมุมของผู้ใหญ่ พวกเขาก็มีปัญหาไม่แตกต่างกันจากการที่ทายาทเข้ามาในธุรกิจ เช่น ทายาทไม่เข้าใจธุรกิจ ทายาทยังไม่มีผลงาน จะใช้แต่เงิน
การส่งต่อธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะ SMEs มักแตกต่างกับการส่งต่อธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ เพราะจะไม่มีการกำหนดวาระหรือเวลาในการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน ว่าทายาทจะก้าวขึ้นมาตอนไหน แต่เป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ ส่งต่อความเป็นเจ้าของนี้ทีละนิด ๆ ไปเรื่อย ๆ
การที่ธุรกิจครอบครัวจะก้าวผ่านหลักไมล์นี้ให้ได้ สิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การส่งต่อราบรื่น เราไม่สามารถผลักงานส่วนนี้ออกไปให้เป็นหน้าที่ของรุ่นใดรุ่นหนึ่งได้ แต่การส่งต่อจะราบรื่นต้องเกิดจากการปรับจากทั้ง 2 รุ่นพร้อมกัน
ทายาทต้องสร้างผลงาน ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาส
ทายาทควรกลับเข้ามาทำความรู้จัก ศึกษา ทำความเข้าใจธุรกิจให้ลึกซึ้งเสียก่อน มองตัวเองเป็นเหมือนพนักงานคนหนึ่งที่กลับเข้ามาทำงานในธุรกิจแห่งนี้ ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทีละนิด สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อให้เกิดการยอมรับจากผู้ใหญ่ รวมถึงทีมงานภายในองค์กร
ส่วนผู้ใหญ่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องเปิดโอกาสให้ทายาทได้มีพื้นที่ในการออกความเห็น สร้างผลงานออกมา ค่อย ๆ กระจายอำนาจออก อาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ เริ่มจากงานหรือโปรเจกต์เล็ก ๆ ให้ขยายผลออกทีละนิด เพื่อให้ทายาทได้มีโอกาสแสดงผลงานออกมา
การปรับจากทั้ง 2 ทางเช่นนี้ จะทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถส่งไม้ต่อได้ รับไม้ต่อเป็น เพื่อให้สามารถก้าวผ่านหลักไมล์ที่ 1 ไปได้
หลักไมล์ที่ 2 จัดการครอบครัว
จุดแข็งของธุรกิจครอบครัว คือความเป็นครอบครัว
จุดอ่อนของธุรกิจครอบครัว คือความเป็นครอบครัวเช่นเดียวกัน
การที่ธุรกิจครอบครัวจะไปต่อได้ คำว่า “ครอบครัว” เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก เพราะเราจะใช้คำนี้เป็นจุดแข็ง หรือจะกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจ ขึ้นอยู่กับการจัดการ แต่ความยากของการจัดการภายในครอบครัวไม่ได้ยากเพียงเรื่องการจัดการ แต่ยังยากในเรื่องของการสื่อสารด้วย ที่จะต้องสื่อสารให้ทุกคนในครอบครัวเห็นพ้องร่วมกันให้ได้
รูปแบบการสื่อสารที่หลายครอบครัวมักใช้คือการชวนสมาชิกทุกคนให้มาพบปะพร้อมหน้ากัน หรืออาศัยวันสำคัญต่าง ๆ ที่สมาชิกมารวมตัวกัน พูดหาข้อตกลงกันว่าเราจะมีการแบ่งหรือจัดสรรผลตอบแทนในครอบครัวเราอย่างไร
แต่วิธีการที่ดูเหมือนจะง่ายนี้ อาจทำให้การจัดการยากขึ้น เพราะยิ่งมากคน ยิ่งมากความ แทนที่จะแก้ปัญหา อาจสร้างปัญหาและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่กลับเป็นวิธีการที่หลายครอบครัวใช้เมื่อเริ่มวางแผนในการจัดการภายในธุรกิจครอบครัว
วิธีการสื่อสารที่ผมได้มาจากทายาทน้ำมันพืชท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกรุ่นก่อตั้งกว่า 15 คนคือการพูดคุยทีละคน
ในวันที่เขากำลังจะสร้างธรรมนูญครอบครัวเพื่อจัดการภายในครอบครัวของเขา ทายาทท่านนี้ค่อย ๆ เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิกแต่ละคนว่าพวกเขาติดขัดเรื่องไหน มีความต้องการอะไร มีตรงไหนที่ยังไม่สบายใจบ้าง และค่อย ๆ รวบรวมสิ่งที่ทุกคนนำเสนอมาหาจุดลงตัวจนกลายเป็นธรรมนูญครอบครัวที่ทุกคนยอมรับ
นอกจากวิธีการสื่อสารแล้ว หัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการจัดการของเรื่องนี้คือการกำหนดบทบาทและผลตอบแทนของสมาชิกให้ชัดเจน ซึ่งสามารถใช้เฟรมเวิร์ก “3-Circle Model” โดยคุณ Renato Tagiuri และคุณ John Davis ซึ่งวิธีการนำไปใช้คือการระบุให้ชัดว่าสมาชิกของเราแต่ละคนใครอยู่ตรงไหนของเฟรมเวิร์กนี้ ใครเป็นสมาชิกครอบครัวเพียงอย่างเดียว ใครมีหุ้น ใครไม่มีหุ้น ใครทำงาน และใครไม่ทำงาน
การระบุให้ชัดจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความชัดเจนทั้งในแง่ของผลตอบแทนที่แต่ละคนควรจะได้รับ รวมถึงบทบาทและอำนาจที่แต่ละคนมี จะสามารถปิดจุดอ่อนของคำว่า “ครอบครัว” ออกไป และใช้คำว่า “ครอบครัว” เป็นจุดแข็งในทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่
หลักไมล์ที่ 3 จัดการธุรกิจ
สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่ได้ไปต่อ แม้ว่าหลายครั้งจะมาจากปัญหาภายในครอบครัว แต่สาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องล่มสลายไป ส่วนมากเกิดปัญหาจากธุรกิจ
ธุรกิจครอบครัว คำว่า “ธุรกิจ” สำคัญมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่ได้ไปต่อ
ธุรกิจมีช่วงชีวิตของมันอยู่ไม่ต่างอะไรกับชีวิตคน มีช่วงเริ่มต้น - เติบโต - นิ่ง - ถดถอยลง เป็นวัฏจักรที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตามต่างมีการเดินทางแบบนี้ด้วยกันทั้งสิ้น และสาเหตุเรื่องวัฏจักรนี้เอง เป็นสิ่งที่ทำให้เรามักพูดว่า “คำสาปรุ่นสามเกิดขึ้น” เพียงแต่สิ่งที่เราเข้าใจผิดคือในหลาย ๆ ครั้ง รุ่นสามไม่ได้เป็นผู้ร้าย แต่ธุรกิจจบรอบของมันพอดี
เมื่อธุรกิจต่างมีช่วงชีวิตของมันอยู่ ความท้าทายของการทำธุรกิจในแต่ละช่วงก็ย่อมแตกต่างกันออกไป
ช่วงเริ่มต้น สิ่งที่เจ้าของต้องทำคือทำยังไงก็ได้ให้ธุรกิจไปต่อได้ ทำทุกวิถีทาง และส่วนใหญ่เจ้าของต้องลงไปทำเองทุกอย่าง ซึ่งธุรกิจครอบครัวมักได้รับฟังเรื่องราวแบบนี้จากผู้ใหญ่เสมอ แม้จะยากลำบาก แต่ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่สามารถอยู่มาถึงวันนี้ได้
ช่วงเติบโต เจ้าของต้องปรับบทบาทตัวเองลง เน้นการสร้างทีมและขยายธุรกิจออกไปเพื่อให้ธุรกิจเติบโต โฟกัสที่งานเรื่องการสร้างคน การวางระบบในการตรวจสอบการทำงาน เริ่มกระจายอำนาจออกและวางโครงสร้างองค์กร มีคนมารับผิดชอบงานหลายส่วนมากขึ้น
ช่วงนิ่ง คือจังหวะที่ตลาดเริ่มไม่ตอบสนองกับ Business Model เดิมของเราแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือการตรวจสอบระบบ เริ่มเน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น และเริ่มมองหาโอกาสในการสร้าง S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจ
ช่วงถดถอย น่าจะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของคนทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือการที่เราสามารถหา S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจเพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราเข้าสู่ช่วงนี้ให้ได้ แต่หากใครเข้าสู่ช่วงนี้ ควรต้องทำสิ่งที่เรียกว่า Crisis Management ซึ่งเป็นการแก้วิกฤตให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการลดต้นทุน การเพิ่มยอดขาย หรือการจัดการทางการเงินต่าง ๆ
เมื่อเราเข้าใจวัฏจักรของธุรกิจ สิ่งที่เราต้องทำกับธุรกิจครอบครัวคือการกลับมาถามตัวเองว่า วันนี้ธุรกิจเราอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรนี้ และสิ่งที่เราทำอยู่ หรือกลยุทธ์ของธุรกิจเราได้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เรากำลังเจอหรือไม่
หากธุรกิจอยู่ในช่วงเติบโต แต่เรากำลังทำแบบตอนเริ่มต้น หมายถึงเราอาจกำลังเสียโอกาส
หากธุรกิจอยู่ในช่วงนิ่ง แต่เรากำลังทำแบบตอนเติบโต หมายถึงเราอาจกำลังพาธุรกิจสู่ความอันตรายเนื่องจากต้นทุนเพิ่ม ยอดขายไม่เพิ่ม
เพราะหากกลยุทธ์ของเราไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจ นั่นไม่ต่างอะไรกับการหลับตาขับรถ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเรากำลังเดินทางไปถูกทิศทางหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายกับธุรกิจอย่างมาก
ในท้ายที่สุดสิ่งที่ผมอยากย้ำกับทุกคนคือ แม้ผมจะบอกว่ามี 3 หลักไมล์ที่ทุกคนต้องเจอ แต่ทั้ง 3 หลักไมล์นี้เป็นเพียงภาพกว้างของธุรกิจครอบครัวเท่านั้น เพราะในรายละเอียด แต่ละธุรกิจครอบครัวย่อมมีความท้าทาย สถานการณ์ หรือสิ่งที่ต้องพบเจอแตกต่างกันออกไป และอยากย้ำสิ่งที่ได้บอกเอาไว้อีกครั้งว่า ธุรกิจครอบครัวไม่มีสูตรสำเร็จ
การทำธุรกิจครอบครัว เราไม่สามารถลอกเลียนแบบวิธีการของครอบครัวอื่นและมาปรับใช้กับครอบครัวเราได้ทั้งหมด แต่เราสามารถเรียนรู้จากพวกเขาเพื่อนำมาเป็นบทเรียนให้กับเราได้ และการจะได้มาซึ่งวิธีการที่เหมาะสม ต้องเป็นเราที่ออกแบบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง
อ้างอิง
- ธุรกิจครอบครัวกับบทบาทในการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย: https://www.set.or.th/th/about/mediacenter/news-release/article/565-family-business