ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ESG
29/02/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 5125 คน
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร
banner

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาสนใจการใช้พลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่ที่กำลังเป็นที่จับตาและเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น คือ ‘พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว’ ที่ปัจจุบันมีหลายประเทศได้พัฒนา โครงการไฮโดรเจนสีเขียว ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานทางเลือก ที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน


เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนา อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย วันนี้ Bangkok Bank SME มีข้อมูลจาก โครงการไฮโดรเจนสีเขียวใหญ่ที่สุดในโลก ที่น่าศึกษาเพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในบ้านเรา ให้สามารถเปลี่ยนผ่าน (Transition) ไปสู่ยุคพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานของไทยได้อย่างไร?



ทำไมต้องเป็น ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’


ก่อนอื่นต้องบอกว่า ‘พลังงานไฮโดรเจน’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการคิดค้นเพื่อใช้งานมานานมากแล้ว เป็นธาตุที่ค้นพบได้ปริมาณมาก มีองค์ประกอบของน้ำ (H₂O) สารประกอบที่มีมากสุดในโลก มีคุณสมบัติอยู่ได้ในทั้ง 3 สถานะ คือ ของแข็ง, ของเหลว และก๊าซ โดยจะเปลี่ยนสถานะไปตามอุณหภูมิและแรงดัน ซึ่งข้อดีของพลังงานไฮโดรเจน คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ปล่อยมลพิษ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


แต่ถ้าจะเป็นพลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์ ควรเลือกขั้นตอนการผลิตแบบ ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่ผลิตจากการนำพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนออกจากน้ำ โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว กลายเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ทางเลือกที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ (Net Zero Commitment)


ดีขนาดนี้ ทำไม ? ยังไม่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย


สำหรับสาเหตุที่ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ยังไม่ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย เพราะยังคงมีข้อจำกัดหลัก ๆ คือ

1. ยังมีต้นทุนที่สูง

2. จัดเก็บและขนส่งยาก เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา มีคุณสมบัติกัดกร่อน ทำให้ยากที่จะเก็บและขนส่ง

3. มีคุณสมบัติติดไฟง่าย จึงต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเครื่องยนต์สูง


แต่หากนำข้อดีมาเปรียบกับข้อจำกัดแล้ว พลังงานไฮโดรเจน มีความน่าสนใจเพียงพอให้องค์กรทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวให้เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเราแก้ข้อจำกัดเหล่านี้ได้ โลกจะมีพลังงานทางเลือกใหม่ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อโลก ช่วยการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้กลายเป็นศูนย์ เพราะมีคุณสมบัติที่สำคัญ ได้แก่

1. เป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษขณะใช้งาน

2. ประสิทธิภาพเทียบเท่าน้ำมันเชื้อเพลิง

3. ประหยัดกว่าน้ำมัน 40 – 60%

4. มีระบบระบายความร้อนที่ควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์

5. ผลิตจากน้ำเปล่า เป็นธาตุที่ค้นพบได้ปริมาณมาก


ดังนั้นกุญแจสำคัญของพลังงานงานสะอาดจาก “ไฮโดรเจนสีเขียว” คือ ไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะต้องมีราคาถูก และมาจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดนั่นเอง




กรณีศึกษา โมเดล พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวมากขึ้น โดยตั้งเป้าผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง 6% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2020-2030 เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากวิกฤตโลกร้อน บทความนี้จึงมี 3 โครงการไฮโดรเจนสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่น่าศึกษาเพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในไทย ได้แก่




โครงการไฮโดรเจนสีเขียว Sinopec ในจีน


จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก “ความมั่นคงทางพลังงาน” จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของจีน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึง ‘พลังงานไฮโดรเจน’ เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จีนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี 2565 รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน” โดยตั้งเป้าให้มีการใช้ยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างน้อย 50,000 คัน และสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ให้ได้ปีละ 100,000 ถึง 200,000 ตันภายในปี 2568




ทั้งนี้ บริษัท Sinopec เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของจีนด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ มีเป้าหมายสร้างโรงงานผลิตไฮโดรเจนที่มีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 20,000 ตันต่อปี ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 485,000 ตันต่อปี


นอกจากนี้ Sinopec ยังมุ่งพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงกระบวนการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจน โครงการนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจีนในการ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



โครงการ NEOM Green Hydrogen Project ในซาอุดีอาระเบีย


ซาอุดีอาระเบีย ลงทุนมหาศาลใน โครงการ NEOM เพื่อผลิตพลังงานสะอาด และมีแผนที่จะผลิตไฮโดรเจนสีเขียวมากกว่า 650,000 ตันต่อปี ที่มาจากการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2569 และจะมีการนำเทคโนโลยีของบริษัท thyssenkrupp ที่อาศัยกระบวนการนำน้ำมาแยกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ามาใช้ การลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวนี้ไม่เพียงแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังทำให้ประเทศในฐานะผู้ผลิตน้ำมันดิบชั้นนำของโลกอย่างซาอุดีอาระเบียมีภาพลักษณ์ด้านการเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด โดยไม่หวังพึ่งพาธุรกิจด้านน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป



Cr.ภาพจาก https://www.shearman.com/




โครงการ Western Green Energy Hub ในออสเตรเลีย


ออสเตรเลีย มีนโยบายในการนำกรีนไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน


ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับชาติขึ้นในปี 2019 โดยตั้งเป้าหมายเป็นประเทศผู้ผลิตไฮโดรเจนและผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2030 โดยได้จัดทำโรดแมปที่ครอบคลุมทั้งวงจรเพื่อให้ไฮโดรเจนสีเขียวสามารถเป็นทางเลือกด้านพลังงานสะอาด ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย การสร้าง Supply Chain พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมที่รองรับ รวมทั้งสร้างความต้องการในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ


ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่จะทำให้แผนงานบรรลุเป้าหมาย คือ ต้องผลิตไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำได้ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานปล่อยคาร์บอนต่ำแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิม เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 50 ในปี 2050 ได้




ล่าสุด บริษัท InterContinental Energy มีแผนการสร้างฮับพลังงานทดแทนในตะวันตกของออสเตรเลียเพื่อการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในปี 2573 ประกอบด้วยพลังงานลม 30 กิโลวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 20 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้ผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวได้ถึง 3.5 ล้านตัน เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออก




หันมามองสถานการณ์ พลังงานไฮโดรเจนในไทย เป็นอย่างไร


ปัจจุบันการผลิตก๊าซไฮโดรเจนของไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตของก๊าซไฮโดรเจนสีเทา เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่น ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก อย่างเช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) จึงไม่ตอบโจทย์ให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ โดยก๊าซไฮโดรเจนที่อาจช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน และไฮโดรเจนสีเขียว


นอกจากนี้ ไทยยังมีจำกัดในเรื่องของศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประเมินว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีในปัจจุบันจะสามารถรองรับความต้องการได้เพียง 6-10 ปี จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายกำลังการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีน้ำเงิน เพื่อรองรับความต้องการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว ขณะที่ไทยเรามีศักยภาพเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวสูง จึงเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มจะทำให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตและใช้ก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต




แนวโน้มความต้องการใช้ ไฮโดรเจนสีเขียว ของไทย เป็นอย่างไร?

ปัจจุบัน การผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวของไทยส่วนใหญ่เป็นโครงการต้นแบบเพื่อนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ผลิตในเชิงพาณิชย์มากนัก เช่น โครงการไฮบริดกังหันลมลำตะคองเคียงคู่เซลล์เชื้อเพลิง (Wind Hydrogen Hybrid) เป็นโครงการที่แปลงก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตด้วยพลังงานลมมาเป็นไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้ในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง และโครงการบ้านผีเสื้อ ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำใช้ในกลุ่มอาคารบ้านพักของโครงการดังกล่าว


ทั้งนี้ จากการประเมินความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในการผลิตไฟฟ้าของไทยจากโครงการต้นแบบ พบว่า ปัจจุบันมีความต้องการใช้ 80 ตัน/ปี หรือคิดเป็นมูลค่าตลาด 14.6 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 แสนตัน ในปี 2574 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาด 5.3 หมื่นล้านบาท


เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีแผนที่จะให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นกำหนดสัดส่วนการใช้ก๊าซดังกล่าวอยู่ที่ 5% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมดในปี 2574 โดยการประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงร่วมทั้งหมด


นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการที่ไทยมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพียงพอจะรองรับการขยายกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในปี 2574

โดยปัจจุบัน ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากจากแสงอาทิตย์ที่ 3,424 เมกะวัตต์ ขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ประเมินว่า ไทยยังมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (Solar Farm) ประมาณ 184,178 เมกะวัตต์15 ซึ่งกำลังการผลิตที่เหลือราว 180,754 เมกะวัตต์ สามารถรองรับการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวได้สูงถึง 5.96 ล้านตัน/ปี ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในปี 2574 ถึง 11.2 เท่า




นำมาปรับใช้ใน อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย ได้อย่างไรบ้าง?


เมื่อศึกษา โครงการ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของแหล่งพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เมื่อย้อนกลับมาดูแผนการเดินหน้า “อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย” ก็เกิดคำถามว่า เราจะไปต่ออย่างยั่งยืนได้อย่างไร?


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI มองเห็นความสำคัญและโอกาสการเติบโตในกิจการพลังงานไฮโดรเจนที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยการใช้งานพลังงานไฮโดรเจน ส่วนใหญ่จะถูกนำมาประยุกต์ใช้งานใน 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การ จุดระเบิดเครื่องยนต์สันดาป และการใช้งานในรูปแบบของเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง, อาหาร, เภสัชภัณฑ์, โลหะ จนถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ สำหรับในประเทศไทย พลังงานไฮโดรเจน มีการนำมาใช้งานในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานไฮโดรเจนจากพลังงานลมจะช่วยเพิ่มความเสถียรให้กับการผลิตไฟฟ้าได้



การพัฒนา ไฮโดรเจนสีเขียว ใช้ในภาคขนส่งไทย


สำหรับสถานการณ์ภาคขนส่งทั่วโลก ปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้งาน FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) หรือ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงอย่าง ไฮโดรเจน เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่มีใช้งานในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในรูปแบบของรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล รถบัส รถขนส่งสินค้าขนาดเล็กภายในโรงงาน รวมไปถึงรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งข้อดีของรถ FCEV คือไม่มีการปล่อยมลพิษ โดยปล่อยเพียงน้ำออกมาเท่านั้น


ปัจจุบันประเทศไทยติดตั้งสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV แห่งแรกของไทย (Hydrogen Station) ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงของโตโยต้า และจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่งของไทย พบว่า ต้องอาศัยไฮโดรเจนที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By Product) จากโรงกลั่นอยู่ด้วย ซึ่งสามารถผลิตได้ 96,841 kg/day และยังศึกษาว่าเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีความคุ้มค่าและมีราคาถูกกว่าในระยะทางที่เท่ากัน เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่




โอกาสของผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในซัพพลายเชนการผลิตพลังงานไฮโดรเจสีเขียว


แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียว เช่น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ผู้ผลิตก๊าซไฮโดรเจน เป็นต้น แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น เครื่องผลิตก๊าซไฮโดรเจน (Electrolyzer) เพื่อรองรับต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนดังกล่าวในอนาคต


โดยกลุ่มธุรกิจในซัพพลายเชนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้รับประโยชน์จากความต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่


1.กลุ่มผู้ผลิตและจัดหน่ายเชื้อเพลิงและสารตั้งต้นสำหรับการผลิตก๊าซไฮโดรเจน เป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้ในการแยกไฮโดรเจนสีเขียวจากน้ำ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ รวมทั้ง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำที่ใช้ในการแยกก๊าซไฮโดรเจนสีเขียว


2.กลุ่มผู้ผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียว เป็นธุรกิจผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียว โดยการแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำด้วยไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้ง แปรสภาพก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวให้อยู่ในรูปแบบที่จัดเก็บและขนส่งได้ง่าย เช่น แปรสภาพในรูปของเหลว ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการในไทยที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว อย่างไรก็ดี บมจ.ปตท.มีแผนที่จะร่วมลงทุนโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวในไทย กับแอควา พาวเวอร์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีกำลังการผลิตทั้งหมดราว 225,000 ตัน/ปี


3.กลุ่มธุรกิจขนส่งก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวผ่านระบบท่อ เป็นธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ หากลูกค้าเป็นธุรกิจที่ใช้ก๊าซดังกล่าวจำนวนมาก อย่างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องใช้บริการการขนส่งผ่านระบบท่อ โดยสามารถใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในการขนส่งก๊าซไฮโดรเจนสีเขียว ในกรณีที่ขนส่งร่วมกับก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนไม่เกิน 15% ของปริมาตรทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวผ่านระบบท่อส่งโดยเฉพาะ จึงเป็นโอกาสที่ท้าทายของผู้ประกอบการด้านพลังงานเข้ามาพัฒนาธุรกิจนี้


ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุน โครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ที่ศึกษาร่วมกับ กฟผ. และ บริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) จากซาอุดีอาระเบียว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง


โดยตั้งเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศ ประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 252,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับข้อจำกัดว่า ประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนซาอุฯ ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง เมื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสูงกว่า 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน หรือสูงกว่าราคานำเข้า


จะเห็นได้ว่า ความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังภาครัฐของไทยมีแผนที่จะให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต



อ้างอิง

https://www.erc.or.th/th/energy-articles/2890

ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99-%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%A1/

https://www.salika.co/2023/11/08/world-green-hydrogen-model-adapt-with-thailand-industry/

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/72445

https://www.facebook.com/photo/?fbid=747133170786750&set=a.312135114286560

https://shorturl.asia/XNuYp








Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
96 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2828 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3841 | 30/03/2024
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร