Sustainable Supply Chain: การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ช่วยลด Carbon Footprint
Sustainable Supply Chain คืออะไร?
“ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” (Sustainable Supply Chain) คือ แนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance-ESG) ตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) จนถึงปลายน้ำ (Downstream) อาทิ การจัดหาวัตถุดิบ ผลิต การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งและให้บริการกับผู้บริโภค โดยแนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเฉพาะตัวบริษัทเองเท่านั้น แต่ยังมองถึงคู่ค้า (Suppliers) และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ อีกด้วย
สำหรับธุรกิจ SME การบูรณาการแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม เข้ากับการดำเนินงาน ไม่ใช่เพียงการทำตามกระแส แต่เป็นความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโต โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นวิกฤตระดับโลก และผู้บริโภคเริ่มเรียกร้องให้ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น
นอกจากนี้ การลด Carbon Footprint ยังเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรม ลดต้นทุนในระยะยาว และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ซึ่งธุรกิจ SME ที่ริเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต
ทำไม SME ต้องปรับตัวสู่ Sustainable Supply Chain?
การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ช่วยทำให้ธุรกิจให้มีความโปร่งใส สามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ตลอดจนรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมได้ จากการศึกษาของ Euromonitor พบว่า ร้อยละ 64 ของผู้บริโภค เชื่อว่าตนเองสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้ ผ่านการซื้อสินค้าและบริการของพวกเขา ดังนั้น ธุรกิจใดที่ถูกรู้จักในเรื่องความยั่งยืน จะสามารถมัดใจกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ยังช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจาก ในปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกกำลังปรับกฎเกณฑ์ในประเด็นความยั่งยืนให้มีความเคร่งครัดมากขึ้น และจะส่งผลให้ การร้องขอการประเมินด้านความยั่งยืนจากกลุ่มคู่ค้า กลายเป็นแนวปฏิบัติใหม่ ที่มีผลอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากธุรกิจ SME ใดที่สามารถปรับตัวล่วงหน้าได้ ก็จะมีแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ และสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดได้อีกด้วย
กลยุทธ์การบริหารห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
1. การคัดเลือกคู่ค้าที่มีค่านิยมด้านความยั่งยืน โดย UN Global Compact ได้ให้คำแนะนำถึงการจัดทำ แนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ที่ครอบคลุมประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสีย สภาพการทำงานของพนักงาน ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัท ในการสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม
2. การลดของเสียและปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ เช่น การใช้ระบบ Lean Manufacturing เพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต ระบบ Just-in-Time เพื่อช่วยด้านการผลิตแบบทันเวลาพอดี และลดปริมาณสินค้าคงคลัง รวมถึงวางแผนเส้นทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการขนส่งเที่ยวเปล่า (Empty Miles) เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษ
3. Green Transportation และโลจิสติกส์คาร์บอนต่ำ อาทิ การเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) สำหรับการขนส่งระยะสั้น เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานทางเลือก เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพหรือก๊าซธรรมชาติ (NGV) การรวมการขนส่งสินค้าหลายรายการไว้ในเที่ยวเดียวกัน (Consolidated Shipping) เพื่อลดจำนวนเที่ยวในการขนส่ง เป็นต้น
4.Digitalization และ IoT ในการบริหารซัพพลายเชน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสได้เป็นอย่างมาก อาทิ การการใช้ Big Data ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า การใช้ Blockchain ให้สามารถติดตาม แหล่งที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต หรือแม้กระทั่ง การใช้ AI ในการปรับปรุงประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน
เทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุน Sustainable Supply Chain
ในปัจจุบันมี เทคโนโลยีมากมายที่ช่วยสนับสนุน Sustainable Supply Chain อาทิ:
AI และ Machine Learning ที่สามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์ความต้องการสินค้าได้แม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังโดยไม่กระทบต่อระดับการให้บริการ และลดความสูญเสียจากสินค้าหมดอายุ
Cloud Computing และ Blockchain เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการจัดการซัพพลายเชน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจน ช่วยให้สามารถติดตามสินค้าตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบจนถึงผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจระบุปัญหาในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างรวดเร็ว
Renewable Energy และการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต โดย SME สามารถลงทุนในระบบ Solar Cell เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและลดต้นทุนในระยะยาว
Case Study: ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการใช้ Sustainable Supply Chain
เอส แอนด์ พี (S&P) คือ หนึ่งในธุรกิจที่แสดงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน มีการกำหนดและปฏิบัติตาม S&P Code of Conduct for Business Partner อย่างเข้มงวด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งแบบ Forward (Raw material → Finished product) และ Backward (Finished product → Raw material)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายสนับสนุนคู่ค้าที่มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมุ่งมั่นคัดสรรแหล่งวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรและชุมชนไทย ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
สรุปแนวทางที่ SME สามารถใช้เพื่อเริ่มต้นการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
สำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องการเริ่มต้นการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน สามารถปฏิบัติตามแนวทางของ UN Global Compact ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
กำหนดวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
จัดทำแนวปฏิบัติหรือจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct)
ศึกษากิจกรรมต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานและประเมินขอบเขตในการดำเนินงาน
ระบุว่าคู่ค้ารายใดเป็นคู่ค้ารายสำคัญของบริษัท และกำหนดเกณฑ์ในการจัดกลุ่มคู่ค้าให้ชัดเจน
กำหนดบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานภายในองค์กร
จัดให้มีกระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีการ/แนวปฏิบัติที่ชัดเจน
สื่อสารความตั้งใจของบริษัทในการบริหารจัดการความยั่งยืนให้กับคู่ค้า
ติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า
การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย SME ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องมีการปรับตัวเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด จากเดิมที่อาจมุ่งเน้นการแข่งขันเชิงปริมาณ มาเป็นการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลักดันและแบ่งปันความรู้เชิงคุณค่า เพื่อสร้างความอย่างยืนในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา
https://www.euromonitor.com/article/unwrapping-sustainable-packaging#:~:text=Global%20consumers%20are%20highly%20concerned,Sustainability%20Survey%20(fielded%20January%20to
https://unglobalcompact.org/what-is-gc/our-work/supply-chain
https://setsustainability.com/page/sustainable-supply-chain
https://www.tris.co.th/sustainable-supply-chain/