สุขสมบูรณ์ อาณาจักรปาล์มครบวงจร เดินหน้าสู่ Oleochemical Industry

SME in Focus
22/12/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 8350 คน
สุขสมบูรณ์ อาณาจักรปาล์มครบวงจร เดินหน้าสู่ Oleochemical Industry
banner

ปาล์มทำอะไรได้บ้าง?

มนุษย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากไขมันจากพืชและสัตว์มานับล้านปีก่อนที่จะมีการค้นพบน้ำมันดิบครั้งแรก ขณะที่โลกปัจจุบันต้องการพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พืชที่มีประโยชน์ในการใช้เป็น อาหาร พลังงาน หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมเคมี อาทิ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า น้ำยาซักล้าง ผงซักฟอก ยาสีฟัน หรือแม้แต่จารบี ที่แต่เดิมได้มาจาก by product ในอุตสาหกรรมปิโตเคมี แต่ทราบหรือไม่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ใช้ ปาล์ม ทดแทนได้ !



คุณศุภชัย จินตนาเลิศ ประธานกรรมการ,กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุขสมบูรณ์ น้ำมันปาล์ม จำกัด บอกว่า เราเรียกว่าอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล (Oleochemical Industry) คือ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ ซึ่งในประเทศไทยมีพืชเศรษฐกิจที่มีความมหัศจรรย์ นั่นคือ ปาล์ม ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพืชให้น้ำมันชนิดอื่น ขณะที่เทรนด์ของโลกในยุคใหม่ พลังงานทดแทนถือว่ามีบทบาทสำคัญเนื่องจากพลังงานจากฟอสซิสเริ่มหายากและมีราคาแพง จนนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม Oleochemical

กลุ่มบริษัทสุขสมบูรณ์ โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ได้ริเริ่มและต่อยอดอุตสาหกรรม Oleochemical มากว่า 40 ปี โดยคุณการุณ จินตนาเลิศ ผู้นำปาล์มมาส่งเสริมและปลูกในภาคตะวันออกตอนปี 2542 เพาะมองว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีศักยภาพ ต่อมาจึงก่อตั้งโรงงานแปรรูปสกัดน้ำมันพืชและไบโอดีเซล ซึ่งสุขสมบูรณ์เป็นโรงงานที่มีการลงทุนด้านไบโอดีเซลแห่งแรกๆ ของเมืองไทย

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสุขสมบูรณ์มีการต่อยอดไปสู่โรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) และโรงไฟฟ้าชีวภาพ (Biogas) และทำโรงกลั่นน้ำมัน (Refinery) เพื่อทำบรรจุภัณฑ์ขาย เช่น น้ำมันปาล์มแบรนด์ ไชโย ทับทิม และขยายออกไปในอุตสาหกรรม Oleochemical ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต

 



โรงงานปาล์มครบวงจร สู่ Zero Waste

คุณศุภชัย บอกว่า วัตถุดิบปาล์มในโรงงานจะไม่มีอะไรเสียเปล่า เนื่องจากมีการจัดการแบบ Zero Waste เบื้องต้นจะใช้ปาล์มไปผลิตเป็นพลังงาน ก่อนที่จะนำพลังงานไปกลั่นน้ำมันพืช ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นการนำพลังงานมาหมุนเวียนใช้ในโรงงานทั้งหมด

นอกจากทำโรงกลั่นแล้ว ก็ต่อยอดไปเป็นภาคอุตสาหกรรม Oleochemical เรียกว่าจากปาล์มสู่ Bio economy ที่จะมาทดแทน by-product จากปิโตรเลียมพวกพลาสติก อุตสาหกรรมเคมี น้ำมันเครื่อง น้ำยาซักล้าง สบู่ ผงซักฟอก ทั้งหลายดหล่านี้ทำมาจากปิโตรเลียม แต่จากนี้ไปโลกเข้ามาสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า การใช้รถยนต์แบบเติมน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น by-product จากปิโตรเลียมก็จะลดน้อยลงด้วย ส่งผลให้น้ำมันปาล์มและผลพลอยจากจากปาล์มจะมาทดแทนในตลาดนี้

“น้ำมันปาล์มไปเติมรถยนต์ได้ น้ำมันปาล์มทำเป็นไบโอพลาสติกได้ ใช้ทำผงซักฟอก น้ำยาซักล้าง แชมพู ยาสระผมได้เหมือนกัน กลายเป็นว่ามันยิ่งใหญ่มาก จะสร้างตลาดหรือสร้างการลงทุนใหม่อีกมากมาย”

 

คุณศุภชัย อธิบายอีกว่า ปาล์มเป็นพืชชนิดเดียวในโลกที่มีความคุ้มค่าทั้งในเรื่องต้นทุนและปริมาณ เมื่อเทียบกับ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน หรือน้ำมันอะไรก็แล้วแต่ในพื้นที่ต่อ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตน้อยกว่าปาล์ม 5 ถึง 10 เท่า ดังนั้นไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนน้ำมันปาล์มได้ นี่จึงเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

 


 

SME กับนักวิจัย ต่อยอดอุตสาหกรรมปาล์ม

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่ผ่านมาของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากปาล์ม คือ ยังขาดงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับ แต่คุณศุภชัย มองว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยและนักวิชาการเก่งๆ เยอะ แต่บางครั้งขาดโอกาสและเงินสนับสนุน ด้วยเหตุนี้บทบาทของกลุ่มบริษัทสุขสมบูรณ์ คือการเปิดเวทีให้นักวิชาการ นักวิจัย ได้มาร่วมกันวิจัยและศึกษาปาล์มเพื่อต่อยอดไปสู่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัทสุขสมบูรณ์จะทำงานวิจัยทดลองผลิตภัณฑ์หนึ่ง อาจจะเริ่มจากห้องแลปก่อน แต่ห้องแลปก็ต้องมา Up Scale ให้เหมาะสมและคุ้มค่าในเชิงการลงทุน หมายความว่า ต้องมีขนาดที่ใหญ่พอในระดับที่ทำเสร็จแล้วขายได้เลย แล้วก็เอาเงินมาพัฒนาต่อ

ดังนั้นแลปของสุขสมบูรณ์จึงเป็นมากกว่าแลปทั่วไป นักวิชาการ นักวิจัยสามารถทำงานในระดับสเกลจริงเพื่อจะได้เห็นผลหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ได้แก้ปัญหาจริง แล้วก็สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้จริงที่สำคัญทำแล้วต้องขายได้จริงๆ

 “อุปกรณ์ในห้องแลปแพงมาก แล้วแทนที่เราจะทำงานวิจัยแต่ขายไม่ได้ เราเลยมาคิดใหม่ว่าจะทำงานในห้องแลป ทำเป็นงานวิจัย แล้วจะต้องขายได้ด้วยเลย”

 

Mindset เอสเอ็มอีต้องมีนวัตกรรม

คุณศุภชัย บอกว่า แนวคิดเขาค่อนข้างเป็นแบบเอเชีย คือจะไม่ค่อยสนใจเรื่องสิทธิบัตรอะไรมากนัก เขามองว่า ดีเสียอีกที่จะมีคนพยายามเลียนแบบผลงานหรือสินค้าของเขา และเป็นโอกาสที่จะพัฒนาต่อ รวมทั้งการให้ความสำคัญในเรื่องของเครื่องจักร นวัตกรรม และเทคโนโลยี มีการปรับปรุงและพัฒนาด้านนี้อยู่เสมอ จนสามารถเรียกได้ว่า เทคโนโลยีของสุขสมบูรณ์มีความเฉพาะมาก เนื่องจากเป็นการปรับปรุงและดัดแปลงจากปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเขามีแนวคิดว่า

 “ถ้าไม่มีความรู้อะไร แต่มีเงิน ก็ซื้อเทคโนโลยีที่มีขายอยู่ได้ แต่เมื่อเราซื้อจนครบแล้ว ต่อไปไม่รู้จะซื้อที่ไหนได้ ก็เป็นขั้นตอนที่ต้องทำเอง”

เขาบอกว่ายังจำ 2 เรื่องที่ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพฯ เคยให้คำแนะนำได้ดี คือ เรื่องแรกเป็น SME ต้องมีนวัตกรรม ถ้าไม่มีนวัตกรรม ไม่สามารถเป็น SME ที่แข่งขันได้

และเรื่องที่ 2 ทำธุรกิจจะต้องมีหลักปฏิบัติ 4 อย่าง คือ มีความรู้ มี Know how แก้ไขปัญหาได้เร็ว และ มีเทคโนโลยี เพราะสุดท้าย ไม่ว่าเราทำเป็นโรงงานหรือเป็น SME ก็หนีไม่พ้น 4 ข้อนี้




สร้างระบบ Testability เพิ่มจุดแข็งปาล์มคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระแส Zero Palm Oil รัฐสภายุโรปออกคำสั่ง EU Renewable Energy Directorate II : REDII ที่กำหนดว่ายุโรปต้องใช้พลังงานทางเลือกเฉลี่ยร้อยละ 27 ภาคการขนส่งเป็นร้อยละ 14 และการใช้พลังงานจากน้ำมันปาล์มเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 หรือแม้แต่กระแสการติดฉลาก no palm oil ,palm oil-free บนสินค้าในยุโรป  

คุณศุภชัย มองว่าเป็นการใช้ระเบียบหรือกฎเกณฑ์การค้ามากีดกันปาล์มจากประเทศอาเซียน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ดังนั้นการพัฒนาเรื่องมาตรฐานทุกๆ ด้านจึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาปาล์มทั้งระบบเพื่อเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ดังนั้นนอกจากการส่งเสริมเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อต่อยอดการผลิต ขณะเดียวกันยังมีการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วย อาทิ การพัฒนาแอปพลิเคชัน สุขสมบูรณ์ แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการสวนปาล์มที่มีประสิทธิภาพมาก

ต่อไปเกษตรกรจะขายวัตถุดิบให้สุขสมบูรณ์ เราจะสามารถมีข้อมูลและรู้เลยว่าปาล์มมาจากแหล่งปลูกที่ไหน ปลูกในช่วงเวลาไหน น้ำมันปาล์มที่ได้มาจากที่ไหน เป็นโครงการระบบบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมัน RSPO และการขนส่งอัจฉริยะ Digital Platform : Smart RSPO Palm Oil Plantation and Logistic Management ซึ่งการที่สามารถระบุที่มาของปาล์มได้ ผู้ซื้อ หรือลูกค้าก็ย่อมมั่นใจว่าน้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์จากปาล์มของเรา ไม่ได้มาจากการบุกรุกป่า และสุดท้ายยังจะได้เรื่อง Big data แล้วสามารถไปประมาณการผลผลิตในแต่ละช่วงได้ด้วย   




ปาล์ม กับการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ

อีกบทบาทหนึ่งของศุภชัย จินตนาเลิศ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ขณะที่ปัจจุบันภาครัฐส่งเสริมเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) จึงมีการผลักดันในหลายเรื่อง อาทิ การพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นการลดหรือทดแทนน้ำมันจากปิโตรเลียม แถมยังมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า  

ลองนึกภาพดูว่า หม้อแปลงจากเครื่องยนต์จำนวนมากในบ้านเรายังเติมน้ำมันที่เป็นสารระบายความร้อน หรือสารหล่อลื่นที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่เรากำลังทำให้น้ำมันปาล์มที่มีคุณสมบัติเดียวกันแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาทดแทน ด้วยเหตุนี้ การใช้น้ำมันจากปาล์มจึงยังช่วยในเรื่องของ Supply เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม BCG ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นอนาคตของประเทศ

“เชื่อไหมครับน้ำมันเครื่องแพงๆ หลายอย่างทำจากน้ำมันพืช หรือยกตัวอย่างอุตสาหกรรมอาหารที่มาตรฐานกำหนดว่า จารบี สารหล่อลื่น และน้ำมันเครื่องที่ใช้จะต้องเป็น Food Grade ทุกวันนี้ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นลิตรเป็นพันบาท แต่ปาล์มน้ำมันบ้านเราก็ทำได้เช่นกัน แถมยังสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทยได้อีกด้วย” 

ด้วยเหตุนี้ การสร้างอนาคตปาล์มสู่อุตสาหกรรม Oleochemical ก็ต้องสร้าง Demand ในประเทศ คือ การมีมาตรการหรือข้อบังคับในการส่งเสริมเพื่อผลักดันให้เกิดพัฒนา และการใช้ปาล์มน้ำมันในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างแท้จริง  อุตสาหกรรม Oleochemical ในประเทศไทยจึงถึงจะเกิดได้

 

รู้จักเพิ่มเติมได้ที่ :

www.suksomboon.com

https://www.youtube.com/watch?v=Wnml7IWP8os

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
176 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
275 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
900 | 17/04/2024
สุขสมบูรณ์ อาณาจักรปาล์มครบวงจร เดินหน้าสู่ Oleochemical Industry