สรุปประเด็นสำคัญ เทรนด์ ESG สู่ ปี 2024 ความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่จะมาถึงไทย ใครปรับตัวไว ได้เปรียบ!

ESG
29/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 2417 คน
สรุปประเด็นสำคัญ เทรนด์ ESG สู่ ปี 2024 ความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่จะมาถึงไทย ใครปรับตัวไว ได้เปรียบ!
banner
เทรนด์ ESG ยังคงเป็นกระแสหลักในยุคปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2024 จะมีความเข้มข้นสูง เพราะผู้บริโภคนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขาดความรับผิดชอบต่อสังคมเสี่ยงถูกโจมตี ยิ่งเมื่อโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม จนเกิดกฎระเบียบเพื่อให้ธุรกิจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

แม้แต่ธนาคารเองเริ่มหันมาให้ความรู้กับผู้ประกอบการด้านการให้สินเชื่อ หรือการสนับสนุนด้านการเงิน เน้นย้ำต่อไปนี้ บริษัทต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ ESG ดังนั้นธุรกิจจึงควรเร่งปรับตัวให้ทันเทรนด์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและเติบโตอย่างยั่งยืน

ยิ่งในกลุ่มธุรกิจ SME ที่ถือเป็น Backbone ของธุรกิจในประเทศไทยที่จำเป็นอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG มองว่าในปี 2024 ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้การดำเนินการด้าน ESG

เรามาย้อนดูว่าปีที่ผ่านมาในปี 2023 มีเหตุการณ์ หรือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ESG มีกฎระเบียบอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น CBAM เริ่มบังคับใช้ในปีนี้เป็นต้นไปจะมีผลอย่างไรในปี 2024 นี้ เมื่อมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน และอะไรคือโอกาสของผู้ประกอบการ SME ที่จะใช้แนวทาง ESG มาปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อให้ไปต่อได้ หาคำตอบได้ในบทความนี้



สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ESG ที่เกิดขึ้นในปี 2023

     - EU นำร่อง มาตรการ CBAM เข้มสินค้าปล่อยคาร์บอนสูง 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบายและมาตรการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า พบมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ที่ผ่านมา กับ 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.เหล็กและเหล็กกล้า 2.อลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ปุ๋ย 5.ไฟฟ้า และ 6.ไฮโดรเจน ครอบคลุมสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอลูมิเนียม 

ขณะนี้อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน และมีระยะเวลาให้ปรับตัว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ถึง 31 ธ.ค.68 โดยผู้นำเข้าสินค้าในสหภาพยุโรปต้องรายงานข้อมูลรายไตรมาส อาทิ ปริมาณสินค้านำเข้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emission) ซึ่งแต่ละสินค้าจะมีชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ต้องรายงานแตกต่างกัน คือ กลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน รายงานเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กลุ่มปุ๋ย รายงาน CO2 และไนตรัสออกไซด์ (N2O) และกลุ่มอลูมิเนียม รายงาน CO2 และเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องยื่นขอสถานะเป็น CBAM Declarant และผู้ประกอบการไทยด้านส่งออก ต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายใน 31 ธ.ค.67 และ 2.ระยะบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดสหภาพยุโรป (ราคาอยู่ที่ประมาณ 78.23 ยูโร/ตันคาร์บอน ณ วันที่ 2 ม.ค.2567) ทั้งนี้ หลังจากปี 69 อาจพิจารณาขยายขอบเขตไปยังสินค้าอื่นเพิ่มเติม อาทิ เคมีภัณฑ์อินทรีย์และโพลิเมอร์ 
   
เมื่อเจาะลึกสินค้าส่งออกไทย เจอ 3 สินค้าที่ส่งออกไป EU มีมูลค่ารวม 479 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.12 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหภาพยุโรป และเป็นร้อยละ 5.47 ของมูลค่าการส่งออกสินค้า CBAM จากไทยไปตลาดโลก 


ส่วนการเตรียมรับมือของภาคธุรกิจไทย ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านมา พบว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) ซึ่งเป็นการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถนำไปใช้วางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นหน่วยงานรับรอง CFP 

ทั้งนี้ การจัดทำ CFP มีขอบเขตการวัดตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และมีหลักการจัดทำข้อมูลในรูปแบบใกล้เคียงกับ Embedded Emission ผู้ประกอบการที่จัดทำ CFP จึงสามารถนำหลักการมาปรับใช้กับการรายงาน Embedded Emission ของ CBAM ได้ นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมไทย มีการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพื่อรองรับมาตรการ CBAM ที่มีสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 บริษัท โดยเป็นการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งฐานข้อมูลนี้ทำให้ประเทศไทยมีค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม สำหรับการรายงานตามกรอบ CBAM และสามารถต่อยอดปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น    


ทั้งนี้ มาตรการ CBAM เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างแรงกดดันให้กับการค้าโลก ที่จุดกระแสความตื่นตัวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มที่ประเทศอื่น อย่างเช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ล่าสุด สหรัฐอเมริกา ได้เดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง ปัจจุบันหลายประเทศในทวีปเอเชีย ก็เริ่มออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ เช่น โยบาย Green Plan ของประเทศสิงคโปร์ นโยบาย Green New Deal ของประเทศเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาตรการและนโยบายเหล่านี้กระทบต่อผู้ประกอบการไทยแน่นอน เพราะส่งผลต่อต้นทุนและเงื่อนไขในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศนั้น ๆ อย่างแน่นอน 

โดยจะเห็นได้จากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Transition Away from Fossil Fuels) ซึ่งเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทดแทนใหม่ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG มีความสำคัญต่อธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า และพร้อมรับมือกับมาตรการทางการค้าที่หลายประเทศเริ่มทยอยออกมาให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งใครปรับตัวได้ไว ย่อมได้เปรียบคู่แข่งในตลาดอย่างแน่นอน



     - สถาบันการเงินมุ่งสู่ Green Finance

วันนี้จะเห็นได้ว่าภาคการเงินเริ่มออกมาเทคแอ็กชั่นกับเรื่อง ESG มากขึ้นเรื่อย ๆ หันมาให้ความสำคัญเรื่อง Sustainable Finance ผ่านการออกนโยบายต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Green Fund, Green Bond หรือ Green Loan เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงิน ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ SME รายหนึ่งนึงจะมาขอกู้เงินแบงก์ แบงก์บอกว่าคุณต้องทำประเมินเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อมไม่งั้นไม่ให้กู้  ฝั่งธุรกิจตอบกลับมา ไม่ทำไม่ได้เหรอ คือถึงฉันจะไม่มีนโยบายแคร์สิ่งแวดล้อม แต่ฉันหาเงินต้นกับดอกเบี้ยมาคืนคุณได้แน่ๆ 

เพราะบริษัทที่ไม่ทำเรื่อง ESG ในตอนนี้ ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงในอนาคตแล้ว เพราะสถาบันการเงิน อาจเกิดความไม่มั่นใจว่าบริษัทที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว รวมถึงผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มไม่ยอมรับธุรกิจที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นเหล่าสถาบันทางการเงินทั้งในไทยและต่างประเทศออกมาขยับทำนโยบายปล่อยกู้ที่ให้ความสำคัญเรื่อง green มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าในปี 2023 เราจะเห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน 

     - ผู้บริโภคในอาเซียน 81% ยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

พฤติกรรมผู้บริโภคสาย Green ในทศวรรษนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมของเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อาจเป็นเพราะวิกฤตโลกร้อน ที่ทวีความรุนแรงและเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีคนที่ใส่ใจและปฏิบัติตัวเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้นถึง 20% จากปีก่อน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคน Gen Z ที่จะตื่นตัวเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้เกิดมาก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้ออกมาเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ รวมถึงใช้ชีวิตแบบใส่ใจโลกผ่านพฤติกรรมในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น 


จากเห็นได้จากผลวิจัยที่พบว่า คน Gen Z กว่า 54% เต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นอีก 10% หรือมากกว่านั้นเพื่อสินค้าที่เขารู้สึกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง 62% คนกลุ่มนี้กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน และมีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งสถิติทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่านี่คืออีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพสูง ที่มีโอกาสช่วยเพิ่มยอดขาย สนับสนุนธุรกิจให้เติบโตไปได้อีกไกล หากนักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และนำสิ่งที่เคยมีอยู่มาต่อยอดเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ให้พวกเขาเลือกใช้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดต่อสิ่งแวดล้อม


โดยผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ สินค้าและบริการแนว 3R ประกอบด้วย สินค้าที่ลดการสร้างขยะและนำกลับไปรีไซเคิลได้แบบ 100% (Recyclable) สินค้าแนวรีฟิล ที่ให้นำบรรจุภัณฑ์มาเอง (Refillable) และระบบรียูสแพ็กเกจจิ้งสินค้าที่ใช้หมดแล้ว แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuseable)

ทั้งนี้ ตลาดผลิตภัณฑ์รักษ์โลก มีมูลค่าถึง 11.93 ล้านล้านบาท และดูจากเทรนด์แล้วก็มีแนวโน้มว่าจะยิ่งเติบโตขึ้นไปอีก ขณะที่ในตลาดทุกวันนี้ แม้จะมีธุรกิจน้อยใหญ่นำเสนอตัวเลือกออกมาบ้าง แต่ก็ยังไม่มีผู้นำที่ชัดเจน นับว่าเป็นเทรนด์ที่คนทำธุรกิจควรพิจารณา และน่าจะช่วยให้ทุกธุรกิจสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ในอนาคตได้



ตัวอย่าง สตาร์ทอัพไทย ด้าน ESG กระแสดี
 
ภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับ ESG รวมถึงในภาคธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย แม้ทั่วโลกจะมีบริษัทสตาร์ทอัพกำเนิดขึ้นมากมาย แต่สตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจเกี่ยวกับ ESG และประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักในระดับสากล อาจยังมีจำนวนไม่มากนักและมักอยู่ในทวีปยุโรป เนื่องจากทางฝั่งยุโรปเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG ก่อนภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อหันกลับมามองภาพรวมของภาคธุรกิจไทยในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน พบว่าในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) จำนวน 26 แห่ง ซึ่งสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9  (2557-2565) นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยเปิดตัวระบบจัดการข้อมูล ESG Data Platform ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของ บจ. และเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ใช้งานแบบครบวงจร โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลที่ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ และในอนาคต ตลท. มีแผนนำข้อมูลตัวชี้วัด ESG มาใช้ในการประเมินหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) และการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) เพื่อเป็นการลดภาระของ บจ. และลดการส่งรายงานที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย

สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในไทยที่แม้จะยังมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่บางส่วนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว ส่วนกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็น ESG Startup เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วเช่นกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 2 บริษัทสตาร์ทอัพไทยที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ได้แก่ บริษัท โมริน่า โซลูชั่นส์ ที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และบริษัท Find Folk ที่โดดเด่นเรื่องความยั่งยืนของชุมชน



‘โมริน่า โซลูชั่นส์’ 

Tech Startup ผู้พัฒนา Nano Biorobot หุ่นยนต์ชีวภาพจิ๋ว เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยน.สพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร กรรมการผู้จัดการ บริษัทโมริน่า โซลูชั่นส์ จำกัด ที่เริ่มจาก บริษัทกรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (G.I.B.) ดำเนินธุรกิจด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัคซีนสำหรับพืชและสัตว์  ที่ผลิตจากธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อคน 


สำหรับเทคโนโลยีนาโนไบโอโรบอท ปัจจุบันนำมาใช้ในภาคการเกษตร ทั้งพืชและสัตว์ ตลอดจนการรักษาโรคที่เป็นนวัตกรรมการแพทย์ยุคใหม่ อาทิ การผลิตยา วัคซีน เพื่อการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ นาโนไบโอโรบอทที่เป็น Core Technology ของธุรกิจ รูปแบบเหมือนหุ่นยนต์ขนาดเล็กระดับนาโนเมตร สร้างขึ้นจากสารที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยใช้นาโนไบโอโรบอทห่อหุ้มสารสำคัญเพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างกระบวนการ 

“ยกตัวอย่างเช่น การนำส่งพืชโดยใช้ นาโนไบโอโรบอทห่อหุ้ม สร้างภูมิคุ้มกันส่งไปยังส่วนที่พืชต้องการใช้ประโยชน์โดยตรง วิธีนี้จะไม่เกิดการสูญเสียระหว่างกระบวนการส่ง จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาใช้ในภาคเกษตร ปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง จนถึงอุตสาหกรรมด้านการผลิตยา วัคซีน แม้กระทั่งอาหารที่ใช้เพื่อการป้องกันโรค หรืออาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ”

สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่




‘ฟายด์ โฟล์ค’

ธุรกิจการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครบวงจร ก่อตั้งโดย คุณจักรพงษ์ ชินกระโทก ในปี 2561 สตาร์ทอัพนี้มีจุดประสงค์ในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่หลายชุมชนทั่วประเทศ โดยช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เป็นที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์ชุมชนด้านการท่องเที่ยวให้กับย่านท่าเตียนในกรุงเทพฯ ในการจัดเทศกาลท้องถิ่น “ท่าเตียนเฟส” (Tha Tien Fest) 



โดย Find Folk มีหลักการทำงานคือพัฒนาคน พัฒนาทรัพยากร และพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีระหว่างการท่องเที่ยว มีการจัดการที่ดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนท่องเที่ยว โดยหลังจากดำเนินธุรกิจได้ 3 ปี Find Folk ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวด UNWTO Global Rural Tourism Startup 2021 ซึ่งจัดโดยองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ

สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่




ตัวอย่าง สตาร์ทอัพด้าน ESG ในอาเซียนที่น่าสนใจ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศอื่นในอาเซียนก็มีสตาร์ทอัพด้าน ESG ที่น่าสนใจเช่นกัน อย่างที่ สิงคโปร์ เป็นแหล่งกำเนิดสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากมาย เช่น บริษัท Ride Beam ที่มีแนวคิดเรื่องการเดินทางแบบรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้สกู้ตเตอร์ไฟฟ้า (E-Scooter) เป็นหลัก ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการเดินทาง ทำให้การเดินทางในเมืองใหญ่มีความสะดวกคล่องตัวขึ้นด้วยการเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะ 


Cr. FACEBOOK : ridebeamthailand

โดยปัจจุบัน Ride Beam เปิดให้เช่าสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกีและ ได้ขยายการดำเนินงานมาถึงประเทศไทยในนาม Beam Thailand ที่ให้บริการตามเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต อีกทั้งเน้นขยายตลาดไปที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบางแห่ง โดยมีระบบจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและใช้การเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ (Internet of Things: IoT) เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้สกู้ตเตอร์ระหว่างการเดินทาง 

ถือได้ว่า Ride Beam ประสบความสำเร็จในการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษที่เกิดจากการเดินทางในระดับหนึ่ง อย่างเช่น ในออสเตรเลียมีลูกค้าใช้บริการสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าและจักรยานไฟฟ้าครบ 10 ล้านครั้ง ใน 27 เมือง เมื่อช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 โดยผลสำรวจ ระบุว่าลูกค้า 67% ใช้รถยนต์น้อยลง และในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้บรรลุเป้าหมายงดใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยหันมาพึ่งพลังงานทดแทนรูปแบบอื่น ๆ แทน



มาดูเทรนด์ ESG ที่น่าจับตามองในปี 2024 มีอะไรบ้าง

เทรนด์ ESG ปี 2024 ที่น่าจับตามอง คือเรื่องการลดการใช้พลังงาน ประหยัดทรัพยากร ประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมถึงเรื่องของอาหาร Food System ได้รับความสนใจอย่าง เพราะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนปล่อยคาร์บอน

     - บุคลากรด้าน ESG กำลังเป็นที่ต้องการสูง

ภาพรวมงานในอนาคต 55% ของผู้นำธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าการลงทุนในธุรกิจธุรกิจสีเขียว สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะแซงหน้าเทคโนโลยีและเมกะเทรนด์อื่น ๆ ในฐานะผู้สร้างงานหลักในอีก 5 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าจะสร้างงานสีเขียวใหม่ได้มากถึง 30 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลกภายในปี 2023


ปัจจุบัน ความต้องการทักษะและงานที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 70% ของผู้ว่าจ้าง หรือองค์กรทั่วโลกรายงานว่า พวกเขากำลังรับสมัครหรือวางแผนที่จะรับสมัครงานในตำแหน่งงานกลุ่มเหล่านี้อย่างจริงจัง ตามรายงาน Global Insights ล่าสุดของ ManpowerGroup “The Greening World of Work 2023 Outlook ” งานวิจัยใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่ม “People First Green Transition” โดย ManpowerGroup

อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความสนใจอย่างมากในการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตและการผลิต (36%) และการปฏิบัติการและโลจิสติกส์ (31%) นอกจากนี้ยังขยายไปถึงอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น IT (30%), งานขายและการตลาด (27%), วิศวกรรม (26%) เป็นต้น


กระแสเรื่อง ESG เป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรง และเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากในปี 2024 และถือว่าเป็นค่านิยมที่น่าภาคภูมิใจ หลาย ๆ องค์กรใหญ่ออกมาประกาศแสดงจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนให้สอดคล้องกับ นโยบายความยั่งยืน (Sustainability) และ ESG (Environmental, Social, Governance) รากฐานของการสร้างการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจสีเขียว คือ ’แรงงานที่มีทักษะและนวัตกรรม’ ซึ่งจากรายงานของ ManpowerGroup Greening World of Work 2023 ได้เผยสิ่งที่ผู้นำธุรกิจสามารถพิสูจน์การดำเนินธุรกิจขององค์กรตนเองให้สอดคล้องกับ ESG คือ การปรับตัวและเตรียมความพร้อมในปี 2024 ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำของเสียมาแปรสภาพใช้ใหม่ (Recycle) หรือใช้ผลิตใหม่ (Remanufacture) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นต้น



     - ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ จุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 2024

ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ในประเทศไทยมีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง จะเห็นได้จากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า (BEV หรือรถไฟฟ้าแบตเตอรี่) ที่จดทะเบียนใหม่ในช่วง ม.ค. - ก.ย. 66 เฉลี่ยเดือนละ 7,399 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่เฉลี่ยเดือนละ 2,673 คันเกือบ 3 เท่าตัว (อิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก) และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

โดยถ้าพิจารณาจากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ประกอบการในประเทศ ผลิต EV Car ให้ได้ 30% หรือราว 540,000 - 600,000 คันต่อปี ของยอดผลิตทั้งหมดที่ราว 1.8 - 2.0 ล้านคันต่อปีภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่แทบยังไม่มีการผลิตในประเทศ คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิต EV Car จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 - 10 ปีข้างหน้า สอดรับกับเป้าหมายของไทยที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% จากปัจจุบัน 

โดย EV Car ครอบคลุมเป้าหมายด้าน SDG และ ESG ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการใช้งาน ในแง่ของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปซึ่งจะเป็นผลดีต่อ Supply chain ของอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปรับตัวได้เร็ว, โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งรถยนต์, ตัวแทนจำหน่าย EV Car, อุปกรณ์และสถานีชาร์จแบตเตอรี่ รวมถึงภาคการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อและการประกันภัยรถยนต์  ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% จากปัจจุบัน โดย EV Car ครอบคลุมเป้าหมายด้าน SDG และ ESG ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการใช้งาน ในแง่ของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป

ส่งผลให้ ค่ายรถยนต์ที่เคยผลิตรถยนต์สันดาปในประเทศไทย เริ่มเห็นความสำคัญกับการดำเนินแนวทางด้าน SDG และ ESG ของประเทศไทย โดยมีการประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ESG พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะให้เป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอุบัติเหตุ รวมถึงส่งเสริมการสร้าง Smart Ecosystem เพื่อยกระดับนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะในอนาคต



     - เพิ่มโปรตีนจากพืช ลดเนื้อสัตว์ ลดโลกร้อนได้

1 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากระบบอาหาร และ 2 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากระบบอาหารมาจากกระบวนการการผลิตโปรตีนจากสัตว์ แต่ในหลายภูมิภาคทั่วโลกขาดแคลนอาหารและสารอาหาร ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร ที่สร้างความมั่นใจได้ว่าคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันโลกไม่ร้อนไปกว่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

ขณะที่ 80% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดของโลก มีไว้เพื่อผลิตโปรตีนจากสัตว์ ทั้งปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ โรงเรือนเลี้ยงสัตว์และพื้นที่แปรรูป ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเรายังบริโภคโปรตีนจากสัตว์เป็นหลักในรูปแบบเดิม เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจาก 7,900 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 10,000 ล้านคน ในปี 2050 จะนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า และใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมากในการผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนอีก 2,100 ล้านคนที่จะเพิ่มขึ้นมา โดยมีการคำนวณว่าจะต้องใช้พื้นที่เทียบเท่าประเทศไทยทั้งประเทศ 12 แห่งในการทำปศุสัตว์

คุณจักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Madre Brava องค์กรขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนของระบบอาหาร และตัวแทนภาคประชาสังคม ผู้เข้าร่วมการประชุม COP28 ชี้ว่า โปรตีนจากพืช เป็นทางออกที่สำคัญ และให้ความเห็นโปรตีนจากสัตว์เองเป็นแหล่งที่มาของโปรตีนที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างจะต่ำ โดยให้โปรตีนแก่มวลมนุษยชาติไม่ถึง 40% อย่างไรก็ดี มนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเป็นวีแกนหรือทานมังสวิรัติทั้งหมด แต่ควรบริโภคอาหารให้มีความสมดุลทั้งโปรตีนจากสัตว์เดิมและโปรตีนจากพืช ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนทางเลือกจากพืชพื้นฐานโดยทั่วไป เช่น ธัญพืช, เห็ด, ผักบางชนิด หรืออาจจะมีการแปรรูปเบื้องต้น อย่างเต้าหู้ รวมถึงโปรตีนที่มาจากพืช (Plant-Based Protein) หรือการสกัดโปรตีนจากพืชมาผลิตใหม่ให้มีลักษณะคล้ายทานเนื้ออย่างเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-Based Meat)

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขที่น่าสนใจ หากระบบเกษตรไทยลดการบริโภคเนื้อสัตว์ 30% จะทำให้รักษาอุณหภูมิโลกได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ โดยแต่ละประเทศจะมีตัวเลขที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ประเด็นที่สำคัญคือการส่งสัญญาณไปยังอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งในประเทศไทยเองและในสากลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตรายย่อยปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องลดการผลิตลง จึงเป็นโอกาสสำคัญของ ผู้ประกอบการ SME 

โอกาสสุดท้ายของธุรกิจที่ยังไม่เน้น ESG

วันนี้ ธุรกิจที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญของ ESG อาจไปต่อลำบากมาก เพราะ ESG เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และมีคู่ค้าจำนวนมากหลายพันราย จะได้รับแรงกดดันจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงยังถูกสังคมคาดหวังให้ต้องดำเนินการในห่วงโซ่อุปทานนั้นด้วย นั่นหมายความว่า บริษัทจะต้องค้าขายกับคู่ค้าที่มี ESG ในระดับเดียวกัน หรือมีการดำเนินการ ESG ในเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทเป็นผู้กำหนด 

หากคู่ค้าหรือธุรกิจรายใดไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็อาจเสียโอกาสที่จะค้าขายกับบริษัทนั้นได้ จนกว่าจะสามารถปรับปรุงสถานะเรื่อง ESG ได้ตามเกณฑ์


นอกจากนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจอาจ มีต้นทุนเพิ่ม เพราะการดำเนินการ ESG จะเริ่มมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ โดยจะมีบทลงโทษในรูปของค่าปรับหรือบทลงโทษอื่น ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนของธุรกิจที่ยังไม่ดำเนินการด้าน ESG อาทิ กรณีกฎหมาย CBAM ในสหภาพยุโรป หรือ กรณี PDPA ของไทย

ที่สำคัญ ธุรกิจอาจ เสียโอกาสในการเข้าถึงตลาด นอกจากเรื่องของกฎหมาย ข้อบังคับให้ปฏิบัติแล้ว แต่ยังมีการกีดกันจากค้าจากภาคธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการด้าน ESG แม้ไม่มีกฎหมายบังคับก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะคู่ค้ารายใหญ่ ที่จะผลักดันให้มีการดำเนินการด้าน ESG พร้อมด้วยเงื่อนไขหากไม่ดำเนินการหรือไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ด้วยการปฏิเสธสินค้าหรือบริการจากธุรกิจรายนั้นๆ ทำให้เกิดความสูญเสียทางธุรกิจ ทั้งตลาดเดิมที่มีเงื่อนไขใหม่ และการเข้าถึงตลาดใหม่ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขด้าน ESG



ความท้าทายด้าน ESG ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของ ESG ในภาคธุรกิจปี 2024 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย แม้ในความเป็นจริงการดำเนินการด้าน ESG ควรจะเป็นเรื่องความสมัครใจโดยไม่จำเป็นต้องการออกกฎหมายฉบับใหม่มาบังคับ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG อยู่แล้ว ดังนั้นหนึ่งในความท้าทายในปี 2024 จึงเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเฉียบขาด เช่น กรณีทุจริตหุ้น STARK กรณีโกงหุ้น MORE หรือกรณีลักลอบนำเข้าหมู ฯลฯ


การเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงาน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ อย่างกรณีการประชุม COP28 ที่มีการแก้ไขการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการทยอยเลิกใช้ (Phase out) มาเป็นการเปลี่ยนผ่าน (Transition away) ซึ่งจะทำให้การดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจโดยรวมมีความท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่จำเป็นเร่งด่วน และเป็นความเสี่ยงต่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของแต่ละประเทศ



มาตรการคุมเข้ม การฟอกเขียว (Green Washing)

ปัจจุบัน ESG ถูกหยิบมาใช้ในวงกว้าง ไม่เว้นในแวดวงการตลาดที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบัน ESG ส่วนใหญ่ถูกตีความว่าเป็น การฟอกเขียว (Green Washing) ซึ่งคือการดำเนินการที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่า รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น การประกาศตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินจริงหรือที่พิสูจน์ไม่ได้ การแสดงเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยหน่วยงานที่ขาดความน่าเชื่อถือหรือได้มาด้วยการซื้อเครื่องหมายรับรองที่ไม่ได้มีมาตรฐานรองรับ ถือเป็นความท้าทายในปี 2024 และมีแนวโน้มที่ขยายวงเพิ่มสูงขึ้น

โดยจากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ RepRisk บริษัทด้านวิทยาการข้อมูล ESG ที่ใหญ่สุดของโลก ซึ่งเปิดเผยในรายงาน 2023 Report on Greenwashing เมื่อเดือนตุลาคม 2023 แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากการฟอกเขียว โดยจากการสำรวจความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของกิจการทั่วโลก 

ดังนั้น ทางสหภาพยุโรป คือกลุ่มภูมิภาคแรกที่ทยอยนำมาตรการสกัดกั้น คนทำดีแค่สร้างภาพอย่างเข้มข้น ผ่านทางกฎหมายหลายด้าน เช่นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฟอกเขียว คือการห้ามการทำกรีนวอช สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดการสภาพอากาศ ที่จะเริ่มชัดขึ้นในปี 2026 โดยมีโทษปรับแรงตั้งแต่4% ของผลประกอบการ หากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

มาตรการเหล่านี้ถูกนำออกมาบังคับใช้เพื่อเป็นกรอบในการกำกับดูแล ธุรกิจที่ชอบเคลมความเป็นธุรกิจสีเขียว แค่ฉาบไว้ แต่ข้างในมีหลากหลายสี เป็นเข็มทิศในการสร้างมาตรฐานธุรกิจสีเขียว จะต้องมีมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้า การบริการ การตลาด โดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับ

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2024 เทรนด์ ESG ถือปีแห่งความเปลี่ยนแปลง ของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยจะมีความสำคัญและมีความเข้มข้นในการใช้กฎระเบียบเรื่องสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับความกดดันจากพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ธุรกิจลดการปล่อยมลพิษ ส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจ SME ที่ทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น SME ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ ก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสู่พัฒนาที่ยั่งยืน


อ้างอิง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
151 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2861 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3843 | 30/03/2024
สรุปประเด็นสำคัญ เทรนด์ ESG สู่ ปี 2024 ความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่จะมาถึงไทย ใครปรับตัวไว ได้เปรียบ!