5 มิติอนาคต 5 ทางรอดธุรกิจ

Library > Economic Outlook/Trends
16/01/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 11910 คน
5 มิติอนาคต 5 ทางรอดธุรกิจ
banner

ภายใต้สังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเร่งเร้าของกระแส Digitization หรือการเปลี่ยนจากยุคอนาล็อกไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ นำไปสู่กระแสที่เรียกว่า Digitalization กระบวนการปรับใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งส่งผลสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน แนวโน้มโลกอนาคต หรือ Megatrends ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทั่วโลก ทั้งในแง่ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และความยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเร่งให้วิถีชีวิต พฤติกรรมของผู้คนในสังคมยุคถัดไปหรือ Next Normal เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ภาพอนาคตต่อจากนี้ จึงเป็นภาพปริศนาที่หลายๆ คนพยายามจะต่อจิกซอว์ให้สมบูรณ์และเห็นภาพชัดเจน เพื่อจะนำไปกำหนดกลยุทธ์เตรียมพร้อมรับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้น       

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

                                                                                                               

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า อนาคตศาสตร์ อยู่คู่กับ 2 สิ่ง คือความไม่แน่นอน และสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดแต่กลับเกิดขึ้น ทำให้การคาดการณ์อนาคตมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เช่น Digital Disruption การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 การกลายพันธุ์ของโรคและโรคอุบัติใหม่ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่อาจก่อให้เกิดวิกฤต Climate Change ปัญหาฝุ่น PM2.5 สิ่งเหล่านี้เป็นภัยใกล้ตัว ที่อาจเกิดเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อไป

“ปัจจุบัน อนาคตอยู่ใกล้ตัวเรามาก ต่างจากที่เคยคิดว่า การมองอนาคต ต้องเป็นเรื่องไกลตัว อีกนานกว่าจะมาถึง แต่สำหรับตอนนี้ อนาคตอาจเป็นแค่อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าก็ได้”

ดร.พันธุ์อาจ ยังได้ฉายภาพปัจจุบัน และมุมมองอนาคตที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยและเศรษฐกิจโลก ที่กำลังถูกเร่งเร้าจากเทคโนโลยี นวัตกรรมทางสังคม และการอุบัติใหม่ของโรค ให้ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในมิติต่างๆ ถึง 5 มิติที่น่าสนใจดังนี้   

 

มิติที่ 1 : ประเทศไทยถูกเร่งให้เกิดสังคมไร้เงินสด

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ไม่เฉพาะสังคมเมือง แต่ยังกระจายไปทั่วประเทศ ผ่านนโยบายรัฐที่ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยใช้แพลตฟอร์มของรัฐ ตลอดจนสถาบันการเงินที่ต่างก็สร้างเทคโนโลยีให้บริการทางการเงินออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้สังคมถูกเร่งเข้าสู่กระบวนการไม่ใช้เงินรูปแบบปกติ เปลี่ยนมาเป็นการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ที่มีความสะดวกรวดเร็ว เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เห็นได้ชัดในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดภาพดังกล่าว

 

มิติที่ 2 : อาชีพทักษะน้อยต้องปรับใหม่ – ตลาดคอนเทนต์กระแสแรง

ในอนาคต อาชีพที่ใช้ทักษะน้อย หรือเน้นการใช้แรงงานอาจต้องปรับบทบาทใหม่ เพราะความต้องการแรงงานคนในภาคอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากปัจจุบันและในอนาคต ประเทศไทยจะไม่ใช่เป็นประเทศที่ค่าแรงต่ำอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains : GVCs) ที่จากเดิมภาคการผลิตมีการเคลื่อนย้ายจากประเทศที่ค่าแรงสูงไปลงทุนในประเทศค่าแรงต่ำ แต่ปัจจุบันต้นทุนค่าแรงแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันมาก ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศมากขึ้น จึงมองว่าในอนาคต อาชีพจะไม่ได้ถูก Disrupt จากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดจากความต้องการแรงงานคนในตลาดลดลงด้วย

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติต่างๆ (Machine Learning) ทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานอีกต่อไป หรืออาจใช้แรงงานคนเพียงเพื่อควบคุมระบบต่างๆ และทำงานควบคู่กับ AI เท่านั้น

ในทางตรงข้าม ความต้องการงานในด้านศิลปะจะเพิ่มขึ้น อนาคตจะเป็นสังคมที่ใช้คอนเทนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือ Content Based Economy & Society การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่แต่เดิมเป็นรูปแบบของภาพยนตร์ ละคร แต่ปัจจุบันจะเป็นซีรีส์ อนิเมชั่น การ์ตูนแนววาย การ์ตูนคาแรคเตอร์ ทำให้ทุกวันนี้นักผลิตคอนเทนต์ไทย หรือสตาร์ทอัพต่างให้ความสนใจและมีผลงานเพิ่มมากขึ้น จึงมองว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะขยับจากอีคอมเมิร์ซมาตลาดคอนเทนต์เพิ่มขึ้น

ในอนาคต อาชีพที่สามารถตอบสนองความต้องการ หรือจริตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้ จะยิ่งมีความต้องการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย

 

มิติที่ 3 : คำทำนายอนาคต AI จะเปลี่ยนไปอย่างไร

ดร.พันธุ์อาจ มองว่าในอนาคต AI อาจเปรียบเหมือน Skynet ในภาพยนตร์เรื่อง Terminator ยุคที่เครื่องจักรครองโลก เมื่อถึงจุดหนึ่งระบบต่างๆ จะมีความเสถียร แม่นยำมากขึ้น และเที่ยงตรงขึ้นกว่าสมองของมนุษย์ แต่จิตวิญญาณอาจไม่เหมือนมนุษย์ ซึ่งไม่รู้เช่นกันว่าจะดีหรือไม่

หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีที่สามารถนำจิตวิญญาณ ความทรงจำของมนุษย์ไปใส่ในหุ่นยนต์ ซึ่งในการประมวลผลต่างๆ จะสั่งการโดยจิตวิญญาณของมนุษย์ อนาคตของเรื่องนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นจริงหรือไม่เช่นกัน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้

 

มิติที่ 4 : เทคโนโลยีหุ่นยนต์กับ SME

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า แม้ทุกธุรกิจจะมองภาพอนาคตซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ ทว่าสำหรับเอสเอ็มอีรายเล็ก อาจยังไม่ถึงเวลาที่ต้องใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ทันสมัย แต่เมื่อถึงจุดที่เอสเอ็มอีเห็นว่า หุ่นยนต์เป็นปัจจัยในการลงทุนที่คุ้มค่า ก็ควรลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ Productivity เพิ่มขึ้น แล้วไปลดต้นทุนในส่วนการ Outsource งานที่ไม่ใช่ Core ของธุรกิจแทน

“สถานการณ์เฉพาะหน้าตอนนี้ สิ่งจำเป็นมากที่สุดสำหรับเอสเอ็มอี คือแผนธุรกิจที่จะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าและรายได้ใหม่ๆ รวมถึงต้องเตรียมสภาพคล่อง รักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้ และเพิ่มทักษะให้สูงขึ้น มิฉะนั้นจะไปต่อไม่ได้ ส่วนหุ่นยนต์ คือภาพของอนาคต ถ้าธุรกิจโตขึ้นจะใช้หุ่นยนต์ก็ได้ แต่ตอนนี้คงต้องทำให้ธุรกิจรอดและโตได้ก่อน”

และการที่ธุรกิจมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยี อาจทำให้งานบางประเภทต้องลดบทบาทคนลง หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องลดจำนวนพนักงานลง หรือไปเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้พนักงานที่อยู่กับบริษัทมานานที่พร้อมเรียนรู้ และอยู่กับบริษัทต่อไป


มิติที่ 5 : แนวคิดคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป

ดร.พันธุ์อาจ ให้คำจำกัดความคนรุ่นใหม่ยุคนี้ว่า Extreme Polarization เป็นรูปแบบการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน ไม่จำกัดเชื้อชาติหรือชนชาติ แต่ชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน มีจริตตรงกัน มีองค์ความรู้เป็นกลุ่มก้อนและแชร์ข้อมูลกัน เกิดเป็น User Innovation หรือนวัตกรรมจากผู้ใช้ ซึ่งบ่งชี้ว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะไม่เชื่อในการเป็นพนักงานบริษัท ไม่ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่เชื่อในการใช้ชีวิตอิสระที่สามารถตอบความต้องการหรือจริตของตัวเองได้

ด้วยเหตุนี้การเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ก็จะสามารถสร้างมูลค่า สร้างรายได้จากอาชีพอิสระได้ เห็นได้จากการเกิดงานใหม่ ๆ ที่คนยุคนี้ให้ความสนใจ อาทิ ยูทูปเบอร์ นักวาดสติ๊กเกอร์ นักเขียนบล็อก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกระบบมากขึ้น มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น และต้องการเรียนรู้การทำธุรกิจในสภาพแวดล้อมจริงๆ มากกว่าการเรียนในสถานศึกษา เรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ

ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันย่อมต้องมีการปรับตัวในหลายด้าน เริ่มสร้างสรรค์บทเรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาดวิชาและผู้เรียน

 

จากการฉายภาพ 5 มิติความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก ได้นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการต้อง Rethinking ธุรกิจใหม่ ปรับใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน และยังกำหนดทิศทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย โดยมุมมองของ คุณกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด ที่จะชี้ให้เห็นชัดว่าสิ่งสำคัญอยู่จุดไหน และต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร

 

ทางรอดที่ 1 : มองอนาคต มองคน คือหนทางอยู่รอด

คุณกฤษณ์ กล่าวว่า การวิเคราะห์อนาคต เป็นการผสมผสานวิชาในตำรากับความรู้ใหม่ เนื่องจากบริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจของทางธนาคารกรุงเทพ ซึ่งการลงทุนในธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องมองแนวโน้ม 3-5 ปีข้างหน้า โดยใช้การสังเกตพฤติกรรมของผู้คน ที่ผ่านมาให้ความสนใจกับกลุ่มธุรกิจ อาทิ   อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง การบริการทางการเงินดิจิทัล (Fintech) ธุรกิจด้านสุขภาพ อาทิ การผลิตยา และวัคซีน รวมถึงธุรกิจเกษตรซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ขณะที่แนวโน้มใน 3-5 ปีข้างหน้าอาจไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจบางประเภทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อาทิ ช่วงโควิด-19 ครั้งนี้ รัฐบาลมีการผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ นับเป็นการ Transform สู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกวันนี้การจ่ายเงินออนไลน์ หรือการสแกนคิวอาร์โค้ด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมอีกต่อไป ตลอดจนพฤติกรรมหลายๆ ด้านของผู้คนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ตั้งแต่ตื่นถึงเข้านอน สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่าในอนาคต ธุรกิจไหนที่จะยิ่งกระแสแรง และเป็นสิ่งที่ควรต้องรีบลงทุนในด้านนั้นๆ ตั้งแต่ตอนนี้

ดร.พันธ์อาจ เสริมว่า ประเด็นที่น่าพิจารณา คือเรื่องอาหารที่ยั่งยืน โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากพืช ในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะยิ่งมีความสำคัญ เพราะทุกวันนี้ แม้คนส่วนใหญ่จะตระหนักเรื่องความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมโลกมากขึ้น แต่ปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นด้วย ในอนาคตอาหารจึงเป็นเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามาก

 

ทางรอดที่ 2 : AI ไม่สามารถทดแทนคนและวัฒนธรรมต่อยอดได้

คุณกฤษณ์ เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงจากการเร่งของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเยอะ หรือการใช้แรงงานคนเยอะแต่ได้ผลิตผลต่ำจะอยู่ยากขึ้น ในส่วนธุรกิจใหม่ๆ อาชีพที่ผสมผสานระหว่างศิลปะกับศาสตร์ จะมีความต้องการของตลาดงานในอนาคตเพิ่มขึ้น และเชื่อเสมอว่าไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนมนุษย์ที่มีส่วนผสมระหว่างอารมณ์และความรู้สึกได้ แต่ก็จะประมาทไม่ได้ เพราะอนาคตข้างหน้าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ (Machine Learning) อาจสามารถอ่านใจคน และเรียนรู้ได้ ซึ่งเป็นอนาคตที่ยังคำนวณไม่ได้

ถึงอย่างนั้น การที่ประเทศไทยมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่าง การผลักดันสินค้า OTOP ให้ต่างชาติรู้จักสินค้าท้องถิ่นของไทยที่มีรากฐานจากวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งน่าจะสามารถยกระดับถึงขึ้น WORLDTOP ได้ แต่การจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ การสร้างคุณค่ากับดีไซน์ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าหรือบริการเหล่านั้น เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ AI ทำไม่ได้แต่คนทำได้

 

ทางรอดที่ 3 : Rethinking รอดได้ในระยะยาว  

คุณกฤษณ์  กล่าวว่า แผนเฉพาะหน้าสำหรับรับมือวิกฤตครั้งนี้ ธุรกิจต้องมีการดูแลเรื่องเงินสดที่จำเป็นต้องใช้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และมองหาการลดต้นทุนในรูปแบบที่เป็นไปได้ แต่โดยมากวิธีที่ธุรกิจขนาดเล็กมักใช้ลดต้นทุนคือ การลดคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่ควรทำการสำรวจธุรกิจ ปรับกระบวนการธุรกิจในมุมมองใหม่ และให้ความสำคัญด้านดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยให้เห็นชัดว่ามีวิธีการลดต้นทุนอีกมากที่สามารถทำได้

“วิธีการคือต้องฟังคนรุ่นใหม่มากขึ้น แล้วนำความคิดเหล่านั้นมาวิเคราะห์ว่าจะปรับกับธุรกิจอย่างไร เมื่อสามารถปรับกระบวนการทำงานได้ ก็จะทำให้เราสามารถหาวิธีใหม่ในการทำธุรกิจ และสุดท้ายก็จะสามารถลดต้นทุนได้ไปในตัว”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 จึงต้องหาวิธีที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ก่อน ซึ่งนอกจากจะต้องสำรองเงินสดไว้อย่างน้อย 12 เดือนแล้ว ยังต้องบริหารคนที่มีอยู่ และใช้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

นอกเหนือจากการทำกำไร และการอยู่รอดในช่วงวิกฤตซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ยังต้องมีการสร้างธุรกิจให้อยู่รอดได้ในระยะยาว หรือมีความยั่งยืน ซึ่งการจะทำได้ ต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรรุ่นใหม่ และRethinking กระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด ทั้งในเรื่องของสินค้า ลูกค้า หรือแม้แต่แนวคิดในการทำธุรกิจ ต้องคิดใหม่ทั้งหมด รูปแบบการทำธุรกิจในอนาคตจึงเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเริ่มคิดเสียตั้งแต่ตอนนี้

 

ทางรอดที่ 4 : ปรับธุรกิจให้สอดรับกับเทคโนโลยีและความยั่งยืน

คุณกฤษณ์ กล่าวว่า Digitalization เป็นสิ่งที่ธุรกิจเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องสังเกตพฤติกรรมของคน และมองให้ออกว่า End to end หรือขั้นตอนตั้งแต่ผู้บริโภคพิจารณาจะซื้อสินค้าไปจนถึงปิดการขายและดูแลหลังการขายนั้น ในแต่ละขั้นตอนผู้บริโภคมีพฤติกรรมอย่างไร หากสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม (Proper technology) จะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และยังช่วยให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ในกระบวนการให้บริการของเรามีจุดไหนไม่จำเป็นหรือไม่ หรือแม้แต่การนำข้อมูลไปพัฒนาสินค้า หรือบริการใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคกำลังมองหาอยู่ แต่ยังไม่มีสิ่งนั้นอยู่ในตลาด

อีกเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ คือ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ในการทำธุรกิจ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีกลยุทธ์ด้านนี้ ซึ่งหัวใจสำคัญคือการจูงใจคนรุ่นใหม่ให้มาทำงานในองค์กร กลับกันถ้าองค์กรไม่มีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนก็ไม่อาจจูงใจคนเก่งรุ่นใหม่ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ทั้งเรื่อง Digitalization และเรื่อง Sustainability อยากให้ผู้ประกอบการมองให้ลึก ซึ่งหากสามารถทำให้เกิดเป็นจิตวิญญาณในบริษัทได้ ก็จะสร้างธุรกิจในระยะยาวได้

 

ทางรอดที่ 5 : จัดการคนกับเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน

คุณกฤษณ์  กล่าวว่า สำหรับด้านบุคลากร เทคโนโลยีในปัจจุบันอาจทำให้การใช้บุคลากรในบางส่วนงานลดบทบาทลง จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจที่ต้องขยับขยายให้มีการใช้ทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น หากเราเป็นผู้ผลิตอาหาร อาจต้องพิจารณาผลิตอาหารที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น ก็จะสามารถบริหารคนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

หรืออาจลองคิดว่า จะเพิ่มสินค้าหรือบริการใดออกไปให้มากขึ้น จากการคิดใหม่ว่า การให้บริการในขณะนี้เป็นอย่างไร เทียบกับในอนาคตว่าเรายังขาดอะไรอยู่ แล้วจะสามารถใช้คนในองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรืออาจดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงานเพิ่มได้อย่างไร

จากบทสรุปมิติความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคต และหนทางรอดของธุรกิจที่ต้องเตรียมรับมือจะเห็นว่า พื้นฐานสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และผู้บริโภค คือตัวแปรสำคัญ และถึงแม้ว่า อนาคตศาสตร์ จะยังมีความไม่แน่นอนและคาดไม่ถึง แต่ข้อมูล ความรู้ และการเตรียมพร้อมจะเป็นเกราะกันภัยให้ธุรกิจสามารถรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ลดผลกระทบให้น้อยที่สุด รวมถึงเป็นการวางรากฐานให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในอนาคตได้


ความคิดเห็น และข้อมูลทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายในงานสัมมนาออนไลน์  “Future World กับความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการ” จัดโดยธนาคารกรุงเทพ เพื่อวิเคราะห์เจาะลึก ความน่าจะเป็น และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ตลอดจนความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือ ดำเนินรายการโดย คุณสิทธิชัย หยุ่น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

สามารถติดตามรับชมงานสัมมนาดีสำหรับผู้ประกอบการได้ที่ Bangkokbanksme แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้สำหรับ SMEs 


สัมมนา 
Future World กับความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการ” 



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1324 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3737 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5038 | 23/10/2022
5 มิติอนาคต 5 ทางรอดธุรกิจ