ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมีท่าทีว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี
แต่ผลกระทบจากโรคโควิดยังไม่จบสิ้น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯกลับจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าสหรัฐฯ
กับจีนปะทุขึ้นมาระลอกใหม่ ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศเลวร้ายตกต่ำสุดขีดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เพราะต่างฝ่ายก็ใช้นโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน สร้างความเสียทางด้านเศรษฐกิจมูลค่าหลายแสนล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ความขัดแย้งครั้งใหม่สหรัฐฯ อาจยกเลิกข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกกับจีน หากจีนไม่ทำตามข้อตกลงการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 2 ปี (วันที่ 1 มกราคม 2563–31 ธันวาคม 2564) และพร้อมจะกลับมาใช้มาตรการกับจีนเพิ่มเติม โดยอ้างเหตุการพบความเชื่อมโยงระหว่างจีนและการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่กำลังสร้างความเสียหายต่อประชากรและเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวาง แต่หากมองในแง่ดีกลายเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะใช้โอกาสในช่วงวิกฤติความขัดแข้งครั้งนี้ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าทดแทนใน 2 ประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิตอันดับต้นๆ ของโลก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ไทยส่งออกสินค้าสหรัฐฯ ขยายตัว 11.8%
ท่ามกลางสงครามการค้าในช่วงปีที่ 2562
ผ่านมา แม้ว่าการส่งออกจากไทยไปจีนจะหดตัว 3.8%
แต่การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.8% และยังมีโอกาสทั้ง 2 ตลาดด้วยความสามารถในการทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯ
และจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน โดยในปี 2562 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 1.35% (จาก 1.26% ในปี 2561)
สินค้าที่เติบโตดีในตลาดสหรัฐฯ อาทิ
อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (ขยายตัว 1.0%)
ผลิตภัณฑ์พลาสติก (ขยายตัว 15.9%) รถยนต์และส่วนประกอบ
(ขยายตัว 6.9%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (ขยายตัว 6.6%) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้านเรือน (ขยายตัว 32.8%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (ขยายตัว 93.1%)
รวมทั้งมีส่วนแบ่งในตลาดจีนเพิ่มขึ้น 2.23% (จาก 2.10% ในปี 2561) สินค้าที่เติบโตดีในตลาดจีน อาทิ กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง
(ขยายตัว 69.7%) เครื่องดื่ม (ขยายตัว 23.4%) เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า (ขยายตัว 21.0%)
และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (ขยายตัว 34.8%)
สำหรับการส่งออกของไทยในปี 2563 พบว่า
สินค้าที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วน 14% ของการส่งออกรวม) กลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือนมกราคม 2563
สะท้อนการปรับตัวของการส่งออกไทย
ทำให้ผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเริ่มลดลง และอานิสงส์จากการที่ไทยสามารถเป็นห่วงโซ่การผลิต
(Supply Chain) ทดแทนสินค้าจีน
ในช่วงโรงงานในอู่ฮั่นปิดทำการจากไวรัสโควิด 19
โดยในไตรมาสแรกของปี 2563
การส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 4.5%
สินค้าที่เติบโตได้ดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัว 8.8%) เครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ (ขยายตัว 229.2%)
วงจรพิมพ์ (ขยายตัว 6.3%) เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์
โทรทัศน์ (ขยายตัว 26.3%)
และการเติบโตกระจายตัวในหลายตลาดมากขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ (ขยายตัว 39.1%) ฮ่องกง (ขยายตัว 1.0%) จีน (ขยายตัว 14.6%) สิงคโปร์ (ขยายตัว 22.8%) เวียดนาม (ขยายตัว 20.4%) ไต้หวัน (ขยายตัว 28.7%) เกาหลีใต้ (ขยายตัว 6.5%) และอินโดนีเซีย (ขยายตัว 7.1%)
จีน-ญี่ปุ่น
แห่ย้ายฐานการผลิตเข้าไทยหนีสงครามการค้า
ประเทศไทยยังเป็นอันที่ 1 ในกลุ่ม 10
ชาติอาเซียนที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศยังให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนด้วย
เนื่องจากเป็นศูนย์กลางส่งออกของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากจีน
ถือว่าเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอันหนึ่ง 1 แซงหน้าญี่ปุ่นมานับตั้งแต่ปี 2561
โดยคิดมูลค่าลงทุน 2.62 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 7.31 หมื่นล้านบาทต่อปี
และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนจากจีนเตรียมหนีภัยสงครามการค้าเข้ามาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า
100 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องขอความสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) ส่วน 5 บริษัทผู้ผลิตล้อยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ลงนามเซ็นสัญญาก่อนหน้าจะย้ายฐานผลิตเข้ามาลงทุนกับไทยผ่านบีโอไออย่างแน่นอน
ประกอบด้วย บริษัทจงเซ่อ, เซ็นจูรี, แอลแอลดี, แม็กซิส และหวาอี้
เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่ตั้งฐานผลิตในประเทศจีน
ต่างเตรียมย้ายฐานผลิตมายังประเทศไทย อาทิ พานาโซนิค, โตชิบา, ไดกิ้น, ฟูจิตสึ และชาร์ป ซึ่งยังไม่รวมอีกหลายร้อยบริษัทต่างพาเหรดเตรียมย้ายฐานผลิตหนีภัยสงครามมาลงทุนในไทยและชาติอาเซียน
เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตในประเทศจีน เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่มีท่ายุติความหมาดหมางและยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ตราบใดที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
แม้ “ไบเดน” โค่น ”ทรัมป์” ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ
ก็คงไม่ญาติดีกับจีน
ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
2563 หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี ทรัมป์
จากพรรครีพับลิกัน แบบแข็งกร้าวตลอดระยะเวลา 4 ปี ต่างก็ส่งเชียร์ นายโจ ไบเดน
จากพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ รวมทั้งประเทศจีน หาก ทรัมป์
ถูกโค่นลงจากอำนาจในช่วงปลายปีนี้ไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตามบรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองสหรัฐฯ
และจีนต่างก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่จีนก็ยังคงเผชิญกับเรื่องลำบากอยู่ดี
รัฐบาลของไบเดนจะยึดมั่นในข้อเท็จจริงและเหตุผลมากกว่า
การใช้คำพูดโจมตีกันและเล่นการเมืองแบบรุนแรง
สอดคล้องกับบริษัทต่างๆ
ในจีนต่างก็เชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ตามได้เข้ามาบริหารสหรัฐฯ
ก็ยังคงมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนต่อไป ซึ่งไม่ว่าพรรคเดโมแครต หรือพรรครีพับลิกัน
ได้ครองทำเนียบขาว วุฒิสภา หรือรัฐสภา
ก็ไม่มีเหตุผลที่พวกเขาจะผ่อนคลายความแข็งกร้าวที่สหรัฐฯ มีต่อจีน
หากไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน
ในภาวะความขัดแย้งของสองชาติมหาอำนาจรอบใหม่ครั้งนี้ จะกลายเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะดึงดูดกลุ่มนักลงทุนมาลงทุนด้วย เพราะไม่เพียงแต่เป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ข้างใดข้างหนึ่งแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนเชื่อมโยงตลาดโลกจึงเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด