‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

SME in Focus
10/04/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 588 คน
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero
banner

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อหลายภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่จะต้องปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ อย่างอุตสาหกรรมการเกษตรเองก็จะต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน จากกิจกรรมบางส่วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน แต่ในขณะเดียวกันปัจจุบันเทคโนโลยีได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงนับเป็นความท้าทายของ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ วรุณา (VARUNA) ผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนคาร์บอนอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ และได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี AI เข้ามาแก้ไขปัญหา ตั้งแต่การบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว และการเกษตรอัจฉริยะอย่างครบวงจร อีกทั้งช่วยลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และสงสัยกันหรือไม่ว่าเทคโนโลยี AI นี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมและภาคการเกษตรได้อย่างไร Bangkok Bank SME จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก เทคโนโลยีรักษ์โลกนี้ให้มากขึ้นกัน



คุณพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนมุมมองว่า จากปัญหาโลกร้อนที่กล่าวไปนั้น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ยังขาดเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมทางการเกษตรอย่างยั่งยืนอยู่ ซึ่งนับเป็นช่องว่างในตลาดของอุตสาหกรรมการเกษตร จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘วรุณา’ ขึ้นเมื่อปี 2563 โดยเริ่มต้นจากเป็นหน่วยธุรกิจในกลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และพัฒนาโซลูชัน AI เพื่อใช้พัฒนาบริบทเศรษฐกิจและสังคมในไทยยุคใหม่




“วรุณาเริ่มต้นธุรกิจจากการจำหน่ายและการให้บริการโดรนทางการเกษตร ที่มาพร้อม Software Application เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย ทั้งการทำเกษตรไม้ยืนต้นและการทำนาข้าว หันมาทำการเกษตรแบบรักษ์โลก ที่สามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต สามารถแข่งขันได้ และช่วยลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการยกระดับภาคการเกษตร” อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีเข้าไปให้เกษตรกรนับว่ามีความท้าทายมาก เนื่องจากเกษตรกรคุ้นเคยกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม หรืออาจยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เราจึงพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็น Young Smart Farmer



หนุนเกษตรกร ใช้แอปฯ “KANNA” ลดก๊าซมีเทนในการทำนา


วรุณา ร่วมมือกับนักวิชาการ กรมการเกษตร กรมการข้าว สนับสนุนเกษตรกรไทยหันมาเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD (Alternative Wetting and Drying) เพื่อช่วยให้ภาคการเกษตร สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่มีค่ามากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจากเดิมเกษตรกรต้องขังนํ้าในนาไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าในแปลงข้าวโตกว่าข้าว แต่เมื่อปลูกข้าวได้ประมาณ 30 วัน ต้นข้าวจะแข็งแรงโตกว่าต้นหญ้า จึงปล่อยนํ้าออกจากนาได้ เพื่อให้ดินชุ่มชื้นในระดับที่เพียงพอ จนถึงฤดูเกี่ยวข้าว


แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้แล้ว จะลดวันที่ขังนํ้าในนา หรือลดปริมาณนํ้าที่ขังในนาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ซึ่งการลดปริมาณนํ้าที่ขังในที่นานี้เอง ทำให้สามารถลดการสะสมก๊าซมีเทน ที่เกิดจากการหมักของซากพืช ซากสัตว์ลงได้อย่างมาก และยังช่วยลดการใช้นํ้าได้ถึง 50% ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกได้ถึง 13% และที่สำคัญสามารถลดก๊าซมีเทนได้ถึง 80% และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่งด้วย


จากโครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง วรุณา ได้นำนวัตกรรม ‘แอปพลิเคชันคันนา’ (KANNA) ผู้ช่วยประจำแปลงเพื่อเกษตรกรไทยสามารถบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร ด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่ครบครั้น ตั้งแต่การวางแผนการปลูก รายงานข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ทั้งรายวันและรายชั่วโมง ช่วยประเมินการเกิดโรคและแมลง รวมถึงการคาดการณ์ผลผลิต ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บเกี่ยว



ขณะเดียวกัน แอปฯ KANNA สามารถใช้ในการตรวจสอบ 2 ส่วน ส่วนแรก เกษตรกรจะรายงานข้อมูลผ่านแอปฯ KANNA ผ่านการถ่ายรูป บันทึกวันที่ใส่ปุ๋ย วันที่เปิดนํ้าเข้านา ส่วนที่สอง ทีม วรุณา จะใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ตรวจสอบความชื้น ในวันที่เกษตรกรปล่อยนํ้าเข้านาและปล่อยนํ้าออกจากนา เพื่อดูค่านํ้า ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เป็นการติดตามการปล่อยนํ้าออกจากนา ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทนนั่นเอง



คุณพณัญญา อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่เกษตรกรรายงานและการตรวจเช็กผ่านแอปฯ KANNA นี้ วรุณาจะนำไปใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการขอขึ้นทะเบียนโครงการคาร์บอนเครดิต ต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยหลังจากขอขึ้นทะเบียนได้แล้ว ต้องมีการตรวจวัด รายงาน และตรวจสอบการจัดทำ และขอการรับรองว่าภายในระยะเวลา 1-3 ปีจากปีที่เริ่มทำ มีการลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ จึงจะได้คาร์บอนเครดิตมา ผ่าน T-VERs (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)



‘VLM Forest’ เทคโนโลยี บริหารพื้นที่สีเขียว เครื่องมือช่วยลดโลกร้อน


คุณพณัญญา กล่าวว่า ปัจจุบัน วรุณา มีบทบาทสำคัญ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือการใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือการช่วยให้พาร์ทเนอร์บรรลุเป้าหมายการลดโลกร้อน โดยนำเทคโนโลยี ‘VLM Forest’ หรือ "VARUNA Land Monitoring Forest" มาใช้วิเคราะห์และแสดงผลพื้นที่สีเขียว ทั้งพื้นที่ธรรมชาติ และพื้นที่การเกษตร โดยใช้โดรนสำรวจชนิดมัลติสเปกตรัมในการจัดเก็บภาพพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยความละเอียดสูง ร่วมกับการใช้ภาพถ่าย Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) จากดาวเทียม ช่วยให้ได้ข้อมูลสภาพพื้นที่ ที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI จนได้ฐานข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ใช้งานนำไปวางแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ตามเป้าหมายที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ


นอกจากเทคโนโลยี ‘VLM Forest’ จะช่วยประมวลผลการใช้โดรนและดาวเทียมเชื่อมโยงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ วางแผน และบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวแล้ว วรุณา ยังพัฒนาต่อยอดให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ช่วยมอนิเตอร์ให้เห็นชัดเจนว่าในการลงทุนปลูกป่านั้น ได้ผลที่น่าพึงพอใจเพียงใด พร้อมส่งผลประเมินความสมบูรณ์ของป่าเป็นรายปี




“วรุณา ต่อยอดพัฒนา ‘VLM Forest’ ให้มีโซลูชันการตรวจสอบและคำนวณคาร์บอนเครดิตรูปแบบใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งโซลูชันนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมองเห็นโอกาส นำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้วิเคราะห์และประเมินผลการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตขององค์กรตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประโยชน์ในการช่วยตรวจจับพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดไฟป่า ถือเป็นการบริหารป่าไม้อย่างครบวงจรในแพลตฟอร์มเดียว และเป้าหมายสำคัญของวรุณา คือมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการกับองค์กรที่กำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว ผ่านเทคโนโลยีดังกล่าว ให้มาเป็นตัวช่วยสำคัญในเรื่องของฐานข้อมูลคาร์บอนเครดิตอย่างครบถ้วนเพื่อนำไปขอการรับรองต่อไปได้”


แนวโน้มเติบโต และความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย


คุณพณัญญา ให้มุมมองว่า ปัจจุบันคาร์บอนเครดิตจากภาคการเกษตรมีความต้องการมาก วรุณาจึงมีแผนซัพพลายคาร์บอนเครดิตตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าที่มีพื้นที่จำกัดแล้ว พื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยภาคเกษตรสามารถพัฒนาคาร์บอนเครดิตได้อีกถึง 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะ นาข้าว สามารถต่อยอดได้อีกมาก


แม้ปัจจุบันการซื้อขายเครดิต TVERs ยังมีไม่มากนัก แต่ในอนาคตจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีการคาดการณ์ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย ตั้งแต่ปี 2563 – 2573 จะสูงถึงราว 1,600 ล้านตัน tCO2e โดยวรุณามีเป้าหมายในการส่งเสริมเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ฟรี เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันคันนา (KANNA) จากกูเกิลเพลย์ (https://bit.ly/3vyHRSW) และ แอปสโตร์ (https://bit.ly/3JagNMI) โดยแอปฯ ดังกล่าวจะขยายการรองรับกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ เหมือนศูนย์รวมของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของทุกคน



“ปีที่แล้ว วรุณา ขายคาร์บอนเครดิตได้ 1 แสนตัน ปีนี้เรามีขายอีก 2 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันเรามีคาร์บอนเครดิตในพอร์ตที่พร้อมขายประมาณ 1 หมื่นตัน นอกจากเราขายคาร์บอนเครดิตให้ตลาดในประเทศที่ได้ปีละ 2 แสนตันแล้ว เรายังขายคาร์บอนเครดิตให้ประเทศในแถบ South East Asia ได้ประมาณปีละ 20 ล้านตัน ถือว่าเป็นตลาดใหญ่กว่าในประเทศถึง 10 เท่าเลยทีเดียว”


สะท้อนให้เห็นว่า เป้าหมาย Net Zero Emissions จะทำได้ทุกประเทศ ต้องมีการทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ โดยเฉพาะ ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องพยายามช่วยกัน รวมถึงภาคการเกษตรที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 3 รองจากภาคพลังงาน และภาคขนส่ง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก วรุณาเชื่อมั่นว่าหากมีการร่วมกันใช้เทคโนโลยีจากที่ได้กล่าวมาในภาคการเกษตรกันอย่างจริงจังนั้น จะสามารถช่วยลดอุณหภูมิโลกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่สังคม Net Zero ในที่สุด


รู้จัก บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่มเติมได้ที่ :


https://varuna.co.th/


https://www.facebook.com/varunatech/?locale=th_TH


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
64 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
424 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
382 | 22/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero